หมอมาเรียนมานุษยวิทยา เหรอ


ผมรู้สึกมาเสมอว่า การได้ดูแสงสุดท้ายของวันบนความสูงกว่า ๓ หมื่นฟุตนั้น มันสุดยอดมากเลย

ความหลงใหลใน belt of Venus หรือเส้นขอบฟ้าที่เห็นแสงอาทิตย์ค่อยๆลับหายจากสันคมของขอบโลกโค้งๆไปนั้นมันทำให้ผมต้องเลือกที่นั่งอยู่ริมหน้าต่างทางทิศตะวันตกเสียทุกครั้งไป

เฉกเช่นครั้งนี้

ซึ่งผมไม่ได้เห็นแสงนั้น 

นั่นเป็นเพราะเที่ยวบินท้ายสุดที่ลงหาดใหญ่ในเย็นวันนี้มันออกจากสนามบินเสียเกือบทุ่มหนึ่งไปแล้ว

แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะในช่วง ๒ วันที่ผ่านมา ผมได้มาสัมผัสกับศาสตร์บางอย่างที่มันเกี่ยวกับ “การบิน” แม้นไม่เห็นซึ่งแสงที่ต้องตา แต่มาเรียนในเรื่องต้องใจ มันก็น่าจะเจ๊ากันได้

เอ๊ะ! มันยังไงกัน

“non-technical skill” คือเรื่องที่ผมต้องขึ้นมาเป็นนักเรียนในคราวนี้ครับ

(ความลับในวงเล็บปิด แค่เห็นชื่อเรื่องที่ต้องเรียน ก็ไม่ได้อยากมาเรียนกับเขาหรอก แต่ครั้นเมื่อเห็นว่า คนที่จะมาเป็นทีมในการสอน คือนักบินและทีมพัฒนาบุคลากรของการบินไทย มันจึงทำให้ผมยกมือเสนอตัวแทบจะเป็นคนแรกเลย)

“การบินคืออุตสาหกรรมที่มีความปลอดภัยที่สุดในโลก” กัปตันพี่ต้วงเอ่ยขึ้นมาในช่วงเปิดการอบรม

“ด้วยความเร็วบนท้องฟ้าราว ๘๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง และราว ๓๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมงเวลาร่อนลงจอด เรายังได้ข่าวการเกิดอุบัติเหตุน้อยมาก” ผมพูดตามต่อในใจ

“นั่นเป็นเพราะเรารู้ว่าสาเหตุของความผิดพลาด เกิดขึ้นจากคน เราจึงแก้ปัญหาโดยการจัดการที่คน หาเครื่องมือในการแก้ปัญหามาให้คนใช้ และใช้คนให้น้อยที่สุด เอ๊า..” กัปตันคงสื่อสารแบบนั้น แต่คนความจำสั้นอย่างผมเอามาแปลแบบนี้

“การฝึกอบรมที่มีความสำคัญอย่างมาก ก็คือ การฝึกให้กัปตันมองเห็น SA”

ผ่าง! มาแล้ว มันเริ่มมีศัพท์ชั้นสูงเข้ามาแล้ว

หึหึ อันที่จริงมันก็ไม่ได้สูงส่งอะไรหรอกครับ SA แท้จริงแล้ว มันก็คือ situation awareness หรือกระบวนการรับรู้สิ่งต่างๆที่อยู่รอบๆตัวเรา ผ่านการสังเกตุ วิเคราะห์ และประเมินข้อมูลออกมา ซึ่งการมองเห็น SA นั้น จะทำให้เราคาดเดา หรือประเมินเหตุการณ์ข้างหน้าได้ว่า มันจะเกิดอะไรขึ้น และจะเตรียมตัวรับมือกับมันได้อย่างไร

ผมจะลองยกตัวอย่างให้ดูแบบง่ายๆนะครับ

คนไข้ตั้งครรภ์ที่เคยถูกผ่าท้องคลอดมาก่อน กำลังจะมารับการผ่าท้องคลอดอีกครั้งในวันนี้

มันก็อาจจะเป็นการผ่าตัดปกติชนิดที่เรียกได้ว่า “just a routine operation” หลายคนอาจจะคิดเช่นนั้น แต่ในความเป็นจริง มันมี SA ซ่อนอยู่หลายอย่างทีเดียว มีอะไรบ้างครับ

อายุครรภ์ที่จะผ่าวันนี้เหมาะสมไหม

รกเกาะที่ตำแหน่งใด มีการเกาะบริเวณที่จะผ่าตัดไหม 

การผ่าท้องคาดว่าจะมีพังผืดมากันบริเวณแผลผ่าตัดหรือไม่

การล้วงเอาทารกออกมาจากท้องในกรณีนี้มันจะยากกว่าปกติไหมนะ 

มีการเตรียมเลือดไว้หรือไม่

ยาปฏิชีวนะที่จะให้ได้เตรียมหรือยัง

ใครจะเป็นคนผ่าตัด มีประสบการณ์มากน้อยแค่ไหน

นี่คือ SA ซึ่งเชื่อไหมว่า หมอแต่ละคนจะมองเห็นมันไม่เหมือนกันและไม่เท่ากัน

มีอะไรตั้งหลายปัจจัยที่จะทำให้เรามีความสามารถในการมองเห็น SA ไม่เท่ากัน ส่วนหนึ่งที่น่าจะเป็นสาเหตุได้ก็เช่น ประสบการณ์ ความเหนื่อยล้าจากการทำงาน มีงานยุ่งเข้ามาพร้อมกันหลายๆงาน ความดุของอาจารย์ ความช่างคุยจนเสียสมาธิง่ายของคนในทีม ฯลฯ อะไรทำนองนี้

ผมจึงรู้สึกว่า เค้ากำลังสอนเราให้ใช้ common sense มากขึ้น โดยที่ต้องใช้หลักการด้วยนะครับ มันคือกระบวนการคิดอย่างมีระบบด้วย คล้ายๆกับเรียนคณิตศาสตร์เรื่องความน่าจะเป็นตอน ม.๕ มิใช่มาแบบลูกทุ่งอย่างเดียว

เอาเหอะ มันโคตรสนุกเลย

สนุกเพราะนี่คือเรื่องใหม่ที่มันใกล้ตัวที่สุด ความผิดพลาดทางการแพทย์มันเกิดขึ้นได้ และมีคนตายจากความผิดพลาดนั้นได้จริงๆ

สนุกเพราะวิธีการสอนมันสนุก มันแทบไม่มีการบรรยายใดๆเลย มันหยิบยกเอากรณีศึกษามาวิเคราะห์กันมากกว่า

สนุกเพราะวิทยากรเก่ง มีลูกล่อลูกชนเยอะแยะ (นี่ผมยังรวมถึงทีมอาจารย์ตั้ว อาจารย์แนน และอาจารย์แป้ง จากศิริราชด้วยนะครับ)

แล้วผมจะเอาไอ้ที่เรียนมาทำอะไรล่ะ

เออ นั่นสินะ จะเอามาทำอะไร

ผมมีคำตอบอยู่แล้วครับ ว่าจะเปลี่ยนใจตัวเองก่อน จัดการระบบการคิดของตัวเองสักระยะ แล้วค่อยมาจัดการลูกทีม ผมกำลังหมายถึง วันหนึ่งผมจะเป็นคนสอนแบบนี้บ้าง (โห เล่นใหญ่เลยนะเนี่ย)

ยังครับ ความสนุกมันยังไม่หมด แม้ว่าการเรียนจะจบลงไปแล้ว ความพี๊คมันอยู่ตรงเรื่องการบินบ้างล่ะครับ (ก็ผมมาเพื่อสิ่งนี้!)

“เอิ่ม พี่ครับ ผมมีเรื่องหนึ่งที่ยังค้างคาใจ” ผมยืนละล้าละลังที่จะถามอะไรบางอย่างจากกัปตันพี่ต้วง

“ครับ ว่ามา” เมื่อเขาอนุญาต ผมก็ลุย

“เวลาเครื่องบินมันแท็กซี่ไปนั้น พี่เลี้ยวมันยังไงครับ แล้วทำไมล้อเครื่องบินมันจึงวิ่งได้ตรงเส้นบนพื้นเป๊ะๆนัก” ฮ่าๆๆ นี่มันคือความอยากรู้ขั้นสูงสุดของวันนี้เลยทีเดียว และเมื่อกัปตันได้กรุณาตอบข้อแรกมา ข้อต่อๆไปจึงพรั่งพรู เอาให้สมกับที่ผมเก็บกดมานาน

“ผมเคยอยากเป็นนักบินนะครับ ตอนเรียนใกล้จบ เคยบอกแฟนว่าจะไปสมัครเป็นนักบิน แต่เธอไม่ยอม” ผมเล่าให้ฟังถึงความกังวลใจของแฟนสาวขณะนั้น

“ให้ผมเดามั้ย ว่าทำไมเค้าจึงไม่ยอม ผมมองเห็น SA อย่างที่แฟนของอาจารย์เห็นนั่นแหละ” กัปตันพี่ต้วงว่ามาอย่างนั้น

“เอิ่ม.. ไม่ต้องก็ได้นะครับ อันที่จริงผมน่ะ เป็นคนรักเดียวใจเดียว รักใครก็รักได้ทีละคนเท่านั้นเอง” ผมรีบจบการสนทนา

 

ธนพันธ์ ชูบุญต้องมายืนหน้าชั้นเล่าเรื่องจับงูชวนคิดเรื่อง SA ฮาฉี่เล็ด

๓๑ พค ๖๑

ปล. SA คือความสามารถที่ฝึกกันได้ และจำเป็นต้องฝึก

Nontech skill แท้จริงแล้วมีหลายอย่าง เป็นต้นว่า การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การจัดการกับความเหนื่อยล้า จัดการปริมาณงานทึ่เหมาะสม การเข้าใจผู้ร่วมงานทุกคน การตัดสินใจในภาวะฉุกเฉิน (และยังไม่ฉุกเฉิน) ทักษะการต่อรอง 

โอย เยอะแยะ

หากมองดูให้ดี ผมว่า มันคือ วิชามนุษยศาสตร์ชัดๆ

หมายเลขบันทึก: 647838เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2018 08:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2018 08:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท