กรณีศึกษาเรื่องการคิดเงินผู้ป่วยของคุณหมอชีวกโกมารภัจจ์


     เรื่องการคิดเงินผู้ป่วยยังไม่เคยได้ยินว่ามีอาจารย์แพทย์ที่ไหนสอน ทั้งๆที่น่าจะมีความสำคัญ อาจก่อให้เกิดปัญหาระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย เราอาจจะพอเรียนรู้ได้บ้างจากกรณีศึกษานี้       
     ในช่วงหนึ่งของพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสารเป็นพระเจ้าแผ่นดินแคว้นมคธ เมืองหลวงคือกรุงราชคฤห์ มีสตรีชื่อสาลวดี โฉมสะคราญตาน่าเสน่หาได้รับคัดเลือกให้เป็นหญิงงามเมือง นางตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ ต้องหาอุบายปกปิดไม่ให้คนรู้ เมื่อคลอดแล้วได้ให้ทาสีนำเด็ก ใส่กระด้งไปวางไว้ที่กองขยะ เจ้าชายอภัยโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าพิมพิสารเสด็จผ่านมาพบ ทรงเก็บมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ตั้งชื่อให้ว่า ชีวกโกมารภัจจ์ ครั้นโตขึ้นได้รับรู้เรื่องราวของตน เห็นว่าจำเป็นต้องมีวิชาติดตัว จึงหนีออกจากวังเดินทางไปศึกษาวิชาแพทย์ที่เมืองตักกสิลา ศึกษาอยู่ 7 ปี เมื่อผ่านการสอบโดยสามารถสรุปได้ถูกต้องว่า "ไม่มีสิ่งใดที่ไม่เป็นตัวยา" อาจารย์จึงอนุญาตให้กลับบ้าน โดยให้เสบียงติดตัวไปด้วยเล็กน้อย เมื่อคุณหมอเดินทางมาถึงเมืองสาเกต ซึ่งยังอีกไกลกว่าจะถึงกรุงราชคฤห์เสบียงก็หมด จำเป็นต้องอาศัยวิชาชีพหาเงิน ซื้อเสบียง จึงบอกกับชาวบ้านอย่างไม่กลัวถูกกล่าวหาว่าโฆษณา "ใครเจ็บไข้บ้าง ฉันจะรักษา" ชาวเมืองจึงบอกให้ว่ามีภรรยาเศรษฐีคนหนึ่งปวดศีรษะ 7 ปีแล้วไม่หาย คุณหมอไปรักษาให้ซิ เมื่อคุณหมอไปถึงบ้านเศรษฐีก็บอกกับคนเฝ้าประตูว่าเป็นหมอจะมารักษาภรรยาเศรษฐี ครั้นภรรยาเศรษฐีรู้จากคนเฝ้าประตูว่าคุณหมอยังหนุ่มอยู่ จึงฝากให้มาบอกว่า "หมอหนุ่มๆจักทำอะไรแก่ฉันได้ นายแพทย์ทิศาปาโมกข์ใหญ่ๆหลายคนมารักษาก็ไม่สามารถรักษาให้หาย ขนเงินไปเป็นอันมาก" (ฟังคุ้นๆ) คนเฝ้าประตูนำความกลับมาบอก คุณหมอก็ฝากกลับไปว่า "ขอคุณนายอย่าเพิ่งให้อะไรๆ ต่อเมื่อรักษาหายโรคแล้ว คุณนายประสงค์จะให้ สิ่งใดจึงค่อยให้สิ่งนั้นเถิด" (น่าจะจำไว้ใช้เพราะได้ผล) ภรรยาเศรษฐีจึงยอมให้เข้าบ้าน คุณหมอตรวจภรรยาเศรษฐีแล้ว ก็ขอเนยใสมาละลายยาที่มีติดตัวมา ให้ภรรยาเศรษฐี นอนหงาย นัตถุ์ยาเข้าทางจมูก ขณะนั้นเนยใสที่เข้าทางจมูกพุ่งออกจากปาก ภรรยาเศรษฐี ถ่มเนยใสนั้นลงกระโถน แล้วสั่งทาสีให้เอาสำลีซับเนยใสนั้นไว้ คุณหมอชีวกเห็นแล้ว คิดในใจว่า "แม่บ้านคนนี้ช่างสกปรก เนยใสนี้จำเป็นจะต้องทิ้ง ยังให้ทาสีเอาสำลีซับไว้ ส่วนยาของเรามีราคาแพงมากกว่าปล่อยให้เสีย แม่บ้านคนนี้จะให้ขวัญข้าวอะไรแก่เราบ้าง" ภรรยาเศรษฐีสังเกตรู้อาการคุณหมอจึงพูดว่า "ดิฉันชื่อว่าเป็นคนมีเหย้าเรือน จำเป็นต้อง รู้จักสิ่งที่ควรสงวน เนยใสนี้ยังดีอยู่ ใช้เป็นยาสำหรับทาเท้าพวกทาสหรือกรรมกรก็ได้ ใช้เป็นน้ำมันเติมตะเกียงก็ได้ อาจารย์ท่านอย่าได้กังวลเลย ค่าขวัญข้าวของท่านจักไม่ลดน้อย" 
      คราวนั้นคุณหมอชีวกโกมารภัจจ์รักษาโรคปวดศีรษะของภรรยาเศรษฐีซึ่งเป็นมา 7 ปี ให้หายด้วยวิธีนัตถุ์ยาเพียงครั้งเดียว ภรรยาเศรษฐีหายโรคแล้วได้ให้รางวัลคุณหมอชีวก เป็นเงิน 4,000 กษาปณ์ เศรษฐีบุตรชายและสะไภ้เมื่อทราบข่าวก็ให้เพิ่มอีกคนละ 4,000 กระษาปณ์ รวมเป็นเงิน 16,000 กษาปณ์ (เทียบกับค่าตัวของนางสาลวดีซึ่งกล่าวว่าแพงมาก คือคืนละ 100 กษาปณ์) และยังแถมให้ทาสทาสีและรถม้าอีกด้วย เมื่อเดินทางกลับถึง กรุงราชคฤห์แล้ว คุณหมอชีวกขอถวายเงิน 16,000 กษาปณ์ รวมทั้งทาสทาสีและรถม้า ที่ได้จากการประกอบวิชาชีพครั้งแรกนี้เพื่อตอบแทนคุณเจ้าชายอภัยที่ได้เลี้ยงดูมา เจ้าชายอภัยมิได้รับไว้ ทั้งยังรับสั่งให้สร้างบ้านอยู่ในวังด้วยกัน
     (บทเรียนข้อที่หนึ่ง แม้ผู้ป่วยจะขี้เหนียว แต่ถ้ารักษาโรคหาย เขาก็ยินดีให้ค่าตอบแทนสูง)  


     ผู้ป่วยรายที่สองของคุณหมอชีวกก็คือ พระเจ้าพิมพิสาร พระองค์ประชวรโรคริดสีดวงทวาร พระภูษาเปื้อนพระโลหิตอยู่บ่อยๆ จนพระสนมแอบนินทากันว่าทรงมีระดู ทรงขอให้เจ้าชายอภัยช่วยหาหมอให้ เมื่อคุณหมอชีวกตรวจพบว่าเป็นริดสีดวงอย่างที่คิดไว้ก็ทาด้วยตัวยาที่เตรียมมา โรคของพระเจ้าพิมพิสารหายขาดด้วยการทายาเพียงครั้งเดียวนั้นเอง พระเจ้าพิมพิสาร จึงมีรับสั่งให้สตรี 500 นางที่ตกแต่งเครื่องประดับ ให้เปลื้องออกทำเป็นห่อเพื่อพระราชทาน ให้คุณหมอชีวก คุณหมอชีวกกราบทูลว่า "อย่าเลย พระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์ทรงโปรด ระลึกว่าเป็นหน้าที่ของข้าพระพุทธเจ้าเถิด " พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงแต่งตั้งให้คุณหมอชีวก เป็นหมอหลวง 
     (บทเรียนบทที่สอง กรณีที่เป็นหน้าที่ตามปกติ อย่าคิดค่ารักษา สิ่งตอบแทนที่ตามมา จะมากกว่ามาก")


     ผู้ป่วยรายที่สาม เป็นเศรษฐีคหบดีในกรุงราชคฤห์ เป็นโรคปวดศีรษะ 7 ปีรักษาไม่หาย เช่นเดียวกับผู้ป่วยรายแรก และก็อีกนั่นแหละที่ "นายแพทย์ทิศาปาโมกข์ใหญ่ๆหลายคน มารักษาก็ไม่สามารถรักษาให้หาย ขนเงินไปเป็นอันมาก" ชาวเมืองที่นับถือเศรษฐีรายนี้จึง นำความกราบบังคมทูลพระเจ้าพิมพิสารขอตัวหมอหลวงหนุ่มไปช่วยรักษา โปรดสังเกต การเจรจาระหว่างคุณหมอกับผู้ป่วยรายนี้
     "ท่านคหบดี ถ้าฉันรักษาท่านหายโรค จะพึงมีรางวัลอะไรแก่ฉันบ้าง"
     "ท่านอาจารย์ ทรัพย์สมบัติทั้งปวงจะเป็นของท่าน และตัวข้าพเจ้าก็ยอมเป็นทาสของท่าน ฯลฯ"
     หลังจากตกลงกันแล้ว คุณหมอก็ให้เศรษฐีนอนบนเตียง มัดตัวไว้กับเตียง ถลกหนังศีรษะ เปิดรอยประสานกะโหลกศีรษะ นำสัตว์มีชีวิตออกมาสองตัว...แล้วปิดแนวประสานกะโหลก ศีรษะ เย็บหนังศีรษะแล้วทายาสมานแผล สามสัปดาห์ต่อมาก็หาย คุณหมอชีวกจึงกล่าวกับ เศรษฐีว่า
      "...ท่านหายป่วยแล้ว ท่านจงรู้จะได้รางวัลอะไรแก่ฉัน"
      "ท่านอาจารย์ ก็ทรัพย์สมบัติทั้งปวงจงเป็นของท่าน ตัวข้าพเจ้าก็ยอมเป็นทาสของท่าน" 
      "อย่าเลย ท่านคหบดี ท่านอย่าได้ให้ทรัพย์สมบัติทั้งหมดแก่ฉันเลย และท่านก็ไม่ต้องยอม เป็นทาสของฉัน ท่านจงทูลเกล้าถวายทรัพย์แก่พระเจ้าอยู่หัว 100,000 กษาปณ์ ให้ฉัน 100,000 กษาปณ์ก็พอแล้ว "ซึ่งเศรษฐีก็ยินดีปฏิบัติตามนั้น
     (บทเรียนบทที่สาม น่าจะพอสรุปได้ว่า เรื่องเงินไม่ต้องห่วง สมดังพระราชหัตถเลขาของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ ที่ว่า "...ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเปนที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษเปนกิจที่หนึง ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพย์ ไว้ให้บริสุทธิ.....")      


     ยังมีกรณีผู้ป่วยรายที่สี่บุตรเศรษฐีชาวกรุงพารารณสีป่วยโรคเนื้องอกลำไส้ ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด และรายที่ห้าพระเจ้าปัชโชตแห่งกรุง อุชเชนี ทรงประชวรโรคผมเหลือง รายหลังนี่คุณหมอชีวกแทบเอาชีวิตไม่รอด แต่ในที่สุดก็รอดมาได้และได้ค่าตอบแทนด้วย โปรดหาอ่านได้ ทางอินเตอร์เนตโดย Google ด้วยคำว่า "กำเนิดชีวกโกมารภัจจ์84000" ก็จะพบกับ พระวินัยปิฎกเล่มที่ 5 มหาวรรคภาค 2 สนุกกว่าที่ผมเล่าอีก

นายแพทย์อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

24 พฤษภาคม 2561
     

หมายเลขบันทึก: 647603เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2018 16:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2020 21:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท