บูรณภาพและสุขภาวะสังคมในแนวผสานวิถีแห่งประชารัฐโดยพระสงฆ์กับหมู่วิทยากรคฤหัสถ์



เมื่อเสาร์อาทิตย์ 12-13 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา ผมไปเป็นทีมวิทยากรกระบวนการ เวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ พัฒนาธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติพระสงฆ์ วัดส่งเสริมสุขภาพ และการรรับฟังความคิดเห็นเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ณ ห้องประชุมโรงเรียนแม่ห้องสอน อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ผู้เข้าร่วมกลุ่มหลักประมาณ 150 รูป ประกอบด้วยเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอทุกอำเภอ พระเถรานุเถระ และพระสงฆ์ที่เป็นพระคิลานุปัฏฐากนำร่องการพัฒนาระบบสุขภาพภายใต้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติของจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอนอยู่ในกลุ่มจังหวัดเขตพื้นที่สุขภาพเขต 1 ซึ่งมี 8 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และเป็น 1 ใน 20 จังหวัดนำร่องของทั้งประเทศ ในการขับเคลื่อนการบูรณาการการพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตเพื่อประชาชนด้วยธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เต็มพื้นที่จังหวัด

ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมดแล้ว ทีมวิทยากรและคณะผู้จัด ตัวแทนของหน่วยงานและองค์กรกำกับแผนดำเนินการเชิงนโยบายของรัฐบาลในระดับท้องถิ่น องค์กรท้องถิ่น และตัวแทนหน่วยงานที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ ก็ขอให้ผมเป็นผู้นำทีม กราบนมัสการและกล่าวขอขมาต่อหมู่พระภิกษุสงฆ์สามเณร ที่เข้าร่วมการประชุม ที่ทีมได้ร่วมกันจัดกิจกรรมและนำกระบวนการ รับใช้สังคมในการพัฒนาระบบสุขภาพเพื่อกลุ่มประชากรพระสงฆ์ซึ่งเป็นที่พึ่งหนึ่งของสังคมและหมู่ชน แต่อาจจะพลั้งเผลอหรือกระทำการล่วงเกิน ไม่เหมาะสม ทั้งกาย วาจา ใจ ทั้งระลึกได้และไม่ได้

ดังนั้น จึงพร้อมใจกัน ให้ผมพาน้อมกราบขอขมาหมู่สงฆ์ พระคุณเจ้า ครู อุปัชฌาจารย์ เพื่อเชิดชูพระสงฆ์และพระรัตนตรัยให้สูงส่งเพื่อเป็นพลวัตรความยั่งยืนในระบบสังคมเหนือตนเอง มิให้มัวหมอง ถูกตำหนิติเตียน มิให้เสียความเคารพ ถูกจาบจ้วงล่วงเกิน อีกทั้งเพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ และความเป็นสิริมงคลต่อหมู่ทีมวิทยากรและคณะผู้จัด มิให้มีผิดบาป หรือเป็นเหตุแห่งความไม่สบายกายไม่สบายใจแม้เพียงเล็กน้อย และให้ได้มีความสุขความเจริญงอกงาม ยิ่งๆขึ้นต่อไป

เมื่อกล่าวเสร็จ ก็มอบให้ตัวแทนนำพานดอกไม้ไปถวายต่อพระเดชพระคุณท่านเจ้าคณะจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตัวแทนของหมู่พระภิกษุสงฆ์และสามเณร จากนั้น ก็น้อมกราบพร้อมกัน

ในขณะที่ร่วมกันกราบสามครั้งนั้น ฉับพลัน โดยที่ไม่ได้คาดหมายและไม่รู้มาก่อน พระสงฆ์และสามเณรทั้งห้องประชุมก็พร้อมกันสวดชยันโต บทสรรเสริญและให้พร แก่คณะวิทยากร ดังกระหึ่มซึมซาบเข้าไปในโสตวิญญาณ

ผมนั้น ได้เคยเล่นแตรวงมาแต่เด็ก ได้อยู่กับธรรมเนียมประเพณีทางศาสนาและเป็นเด็กวัดมาก่อน จึงพอได้ยินแล้ว ก็เลยพอจะทราบได้ว่า บทสวดให้พรชยันโตที่คณะสงฆ์จังหวัดแม่ฮ่องสอนกำลังสวดสาธยายแก่คณะวิทยากรนั้น เป็นคาถาและการสวดให้พรแก่ผู้ที่ได้ทำสิ่งดีที่ยิ่งใหญ่ อันควรสรรเสริญให้ได้รับการอนุโมทนาบุญกันไปจนทั่วทั้งในหมู่เทวดา นรก สวรรค์ จัดว่าเป็นความดีที่มีกำลังมาก เมื่อครั้งเล่นแตรวงนั้น หากพระสวดชยันโตแบบนี้จบ ก็จะต้องเล่นเพลงมหาฤกษ์มหาชัยเฉลิมฉลองให้เลยทีเดียว ผมจึงแสนจะตื้นตันใจแทนคณะทีมวิทยากรและทุกคนที่อยู่ ณ ที่ประชุมแห่งนั้น เป็นอย่างมากไปด้วย

สาระสำคัญที่อยู่ในบทสวดให้พรชยันโต กล่าวโดยสรุปและโดยประมาณด้วยภาษาพูดได้ว่า เป็นการทบทวนและสาธยายหลักแห่งการสร้างความสุขและมุ่งความเจริญงอกงามในทุกมิติของปัจเจกและสังคม การมุ่งเข้าถึงความเป็นมงคลและความเป็นเลิศทั้งปวงดังที่พึงปรารถนาด้วยวิถีแห่งพุทธองค์หรือการใช้สติปัญญาของการตื่นรู้ พึ่งการปฏิบ้ติแก่ตนเอง เป็นที่พึ่งได้ของผู้อื่นและของสังคมส่วนรวม ให้เหนือกว่าการพึ่งฤกษ์ยาม สิ่งงมงาย การเอาชนะและความเป็นมงคลฉาบฉวยภายนอก

ชาวบ้านและคนทั่วไนั้น เมื่อได้ยินบทสวดชยันโตก็มักจะนึกถึงกำลังแห่งมนตราและความศักดื์สิทธิ์ เพราะเป็นการสรรเสริญสิ่งอันเป็นความดียิ่งใหญ่เหนือหมู่สรรพสัตว์ เทวดา ฤกษ์ยาม ชัยชนะ และความเป็นมงคลทั้งปวง แต่หากพิจารณาเนื้อความให้ดีแล้วก็จะเห็นว่าไม่ได้เกี่ยวกับเวทย์มนตร์หรือความศักดิ์สิทธิ์อะไรเลย ทว่า เป็นแก่นของหลักพุทธธรรมคำสอน ซึ่งกล่าวให้สั้นเพื่อความเข้าใจอย่างชาวบ้านได้ ก็คือ พระท่านกล่าวขอบคุณและสรรเสริญการปฏิบัติ ผ่านการร่วมกันบรรยายและถ่ายทอดปัญญาปฏิบัติที่มีอยู่ในหลักแห่งพุทธธรรมคำสอนด้วยวิธีมุขปาฐะมามาให้สดับฟังในจังหวะที่เหมาะสมด้วยกัน ว่า ... สิ่งที่ทำนั้นดีแล้ว เป็นกำลังแห่งความดีงามอยู่ในตนเอง ขอให้นำไปปฏิบัติเป็นที่พึ่งแห่งตนและเป็นที่พึ่งแก่ผู้อื่นต่อไป ทำนองนั้น ซึ่งจัดว่าเป็นหลักคิดของการดำเนินไปบนมรรควิถีหนึ่งในหลักพุทธธรรม ที่หมู่คณะวิทยากรได้มีมรรคผลทางการปฏิบัติ เป็นองค์ประกอบพื้นฐานเพื่อการได้เพิ่มพูนความดีงามยิ่งๆขึ้นต่อไปอยู่แล้ว นั่นเอง   

กระบวนการทั้งหมด ประกอบสร้างองค์รวมของการอำนวยอวยพร เป็นบรรยากาศและภาวะผุดบังเกิด ที่เกิดขึ้นท่ามกลางการถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบและชุดเหตุปัจจัย ให้ทุกคนในขณะนั้น ได้สามารถเข้าถึงและได้ประสบการณ์เชิงสัมผัสด้วยตนเอง ต่อสิ่งที่เรียกว่าสุขภาวะสังคมของสังคมไทยและความปีติสุข ที่มีอยู่ในต้นทุนสังคมวัฒนธรรมและบนวิถีปฏิบัติบนความเป็นตัวของตัวเองของสังคม

กระบวนการแบบนี้และสุขภาวะอย่างนี้ของสังคม เป็นด้านที่ภาคส่วนอื่นของสังคมจะไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้เลย จึงนับว่าเป็นภาวะผู้นำจำเพาะที่จะมาจากระบบสุขภาพพระสงฆ์และสถาบันทางศาสนา จึงเป็นรูปแบบบูรณาการการพัฒนาสุขภาพเพื่อพระสงฆ์ กับการส่งเสริมการเผยแผ่ธรรมสู่วิถีชีวิต ให้ดำเนินไปด้วยกันได้อย่างกลมกลืนและส่งเสริมเกื้อหนุนซึ่งกันและกันเป็นอย่างดียิ่ง. 

..........................

ขอบคุณและเครดิตภาพ :
เกียรติทนงศักดิ์ จินาศรี
เจ้าหน้าที่อาวุโส สำนักงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 1 ภาคเหนือ เชียงใหม่

หมายเลขบันทึก: 647385เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2018 17:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2018 05:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

วิทยากรกระบวนการ ที่ออกแบบกระบวนการให้กับพระสงฆ์ 

น่าสนใจค่ะ

อยากทราบวิธีการออกแบบช่วงกระบวนการทำยังไงบ้างคะ

สวัสดีครับ อ.อุบลครับ

สำหรับกระบวนการของจังหวัดแม่ฮ่องสอนนี้ สรุปเป็นแผนภาพแบบรวมๆดังในภาพน่ะครับ  แต่ว่า การพัฒนารูปแบบและพัฒนาการต่างๆนั้น มีความต่อเนื่องและมีรายละเอียดทั้งปลีกย่อยและเริ่มลงลึกได้ในหลายด้าน ผมขอนำมาแลกเปลี่ยนโดยสรุปและอาจจะช่วยวิพากษ์ มองสำรวจ เพิ่มเติม ให้ไปด้วยกันได้นะครับ

(1) รูปแบบหลัก มองจากทีมผสมและองค์กรสนับสนุนทางวิชาการของเครือข่ายการทำงานในครั้งนี้ พัฒนารูปแบบการบูรณาการการทำงานเชิงพื้นที่ของวัด ชุมชน พระสงฆ์ ประชาชน องค์กรนโยบายทางสุขภาพ เครือข่ายวิชาการและเครือข่ายพระนักพัฒนา โดยใช้เครื่องมือและวิธีการต่างๆ และทำเพื่อศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ในหลายพื้นที่ แนวคิดหลักคือ การสร้างสุขภาพและสุขภาวะสาธารณะระดับชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด กลุ่มทจังหวัด และภูมิภาค ผ่านกระบวนการ Participatory and Community-engagement โดย เครื่องมือและวิธีการที่สำคัญคือ PBL - Project-based and problem based learning / เครื่องมือ 7 ชิ้น ของนายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ / ธรรมนูญสุขภาพ ของ สช. / Collaborating ของทีมและเครือข่ายนักสานพลัง ของ สช. ผมเข้าไปช่วยเสริมโดยการประสานงานของ สช. / พระผู้นำการพัฒนาธรรมนูญสุขภาพ / สปสช. โดยนำเอาข้อมูลและบทเรียนจากพื้นที่ต่างๆ ไปศึกษาและร่วมกันถอดบทเรียน สังเคราะห์เป็นกรอบแนวคิดเอาไว้ใช้ตรวจตรา เป็นฐานคิดออกแบบการทำงาน และใช้ทำงานเพื่อการติดตามดูแลทั้งในระดับภาพรวมและในระดับปฏิบัติการเฉพาะพื้นที่หรือเฉพาะโครงการ แล้วนำมาบูรณาการกับกระบวนการ PBL-ของพระสงฆ์ เครือข่ายพระนักพัฒนา และเครือข่ายโครงการของพระนิสิต จาก มจร.เชียงใหม่ ที่วัดอำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่

(2) การสังเคราะห์อีกครั้งที่สูงเม่นนี้ ผมประมวลภาพให้มีลักษณะเป็นวงจร D-R-D-C ภาคขยายของ R&D model development ที่ครอบคลุมกระบวนการนำร่องด้วย PBL และมีมิติ การเผยแพร่สื่อสารและการจัดการความรู้เพื่อสะสมบทเรียนภาคปฏิบัติไปบนการเผยแพร่ไปด้วย ในภาพรวมของการออกแบบ จึงเป็นการทำให้มีองค์ประกอบของ (1) การสร้าง Direct observation ผ่าน PBL และ Community learning ให้การทำงานและองค์ประกอบที่ต้องการต่างๆบูรณาการไปด้วยกัน ได้แก่ การแก้ปัญหา การขับเคลื่อนงานเชิงนโยบาย การเรียนรู้สุขภาพ การคืนข้อมูล การพัฒนาสุขภาพและบทบาทการดำเนินงานของวัดและพระงฆ์ การสร้างสุขภาวะชุมชน (2) การทำให้มีกระบวนการ วิเคราะห์แบบกลุ่มและชุมชนปฏิบัติเรียนรู้ Group analysis และ Community of practice analysis (3) การทำให้เกิดการสะท้อนข้อมูลแบบ Reflection และบูรณาการหลอมรวม (Integration and convergence) เพิ่มพูนทั้งแนวกว้างและเชิงลึกบนกระบวนการเวที ด้วยการวิเคราะห์ภายในกลุ่มและข้ามกลุ่ม สลับและหมุนเวียนกันของกลุ่มย่อยๆหลายรอบ ซึ่งนำเอาเทคนิค Snowball technic มาออกแบบให้เหมาะสม และการพิถีพิถันต่อการเกิดประสบการณ์ เข้าถึงสุนทรียปัญญา (4) การทำให้มีการบันทึก เผยแพร่ สื่อสาร บูรณาการทั้งการสื่อสารบอกเล่าและการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการสื่อสารสมัยใหม่ 

(3) นำเอารูปแบบและวงจนนี้ ไปออกแบบกระบวนการเวทีและบูรณาการงานพัฒนาเชิงนโยบาย งานพัฒนาการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ การพัฒนารูปแบบบูรณาการกระบวนการทางการศึกษากับเครือข่ายงานในพื้นที่ภาคเหนือ การพัฒนาวิธีการทำงานความรู้และการวิจัย บนเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติของเครือข่ายสุขภาพภาคเหนือกับองค์กรนโยบา่ยส่วนกลางระดับชาติ

ทีมที่ทำงานบนเวทีแม่ฮ่องสอนในครั้งนี้ จึงมีพื้นฐานร่วมกันและมีเครื่องมือทำงานระดับออกแบบแนวคิด และเลือกสรรกิจกรรม รวมทั้งเทคนิควิธีการต่างๆ เพื่อตอบโจทย์การทำงานบนเงื่อนไขต่างๆ มาแล้วระดับหนึ่ง อีกทั้งเป็นคนทำงานใกล้ชิดข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาก ทั้งในระดับชาติ ระดับภาค และระดับประเด็นบนขอบเขตพื้นที่ต่างๆ

(4) พอถึงตอนจะทำงานเวทีที่แม่ฮ่องสอน ก่อนถึงวันงานสักประมาณเดือนหนึ่ง ทีมเลยไปประชุม ระดมความคิด แล้วก็ออกแบบกระบวนการโดยรวมของเวทีที่บ้านผม จากนั้น ทีมของจังหวัดและผู้ประสานงานที่เป็นเจ้าของงานหลักของ สช. ก็นำไปพิจารณาและออกแบบรายละเอียดให้สะท้อนแนวนโยบายและจินตภาพตามต้นทุนและข้อมูลที่มีเกี่ยวกับแม่ฮ่องสอน โดยมีกรอบแนวคิด ข้อวิพากษ์ ข้อพิจารณา และข้อแนะนำต่างๆ ทั้งจากผมและจากที่ประชุม ไปแนวทำงานเชิงเทคนิค 

(5) ทางด้านการเข้าถึงสิ่งที่ต้องการและบูรณาการสะท้อนหลอมรวมสุนทรียปัญญา ทางจังหวัดได้ออกแบบให้เป็นการสวดมนตร์ การนั่งสมาธิ และสร้างปฏิสัมพันธ์กับศาสนสถานบนดอยพระธาตุกองมู

ที่เหลือก็เป็นการผสมผสานการทำงานซึ่งทีมและเครือข่ายได้ทำและรู้ทางกันจนแทบจะเป็นวัฒนธรรมของชุมชนปฏิบัติ ที่ทำงานในแนวทางอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็น Deep dialogue / BAR-AAR / Reflection / Collective knowledge compilation and presentation / Empowerment Facilitation ซึ่งก็แล้วแต่จะเห็นและออกแบบดำเนินการเองให้เหมาะสมของแต่ละคนเหมือนเล่นสด โดยผมได้ช่วยประชุมกลุ่มเพื่อ brief งานและสร้างกรอบรวม ให้เป็นเครืองมือและแนวคิดในภาพรวมร่วมกันก่อนกระจายกันทำงาน

ประมาณนี้แหละครับ

แต่ว่าทีมนี้มีลักษณะเฉพาะ ที่เป็นพื้นฐานเอื้อต่อการทำงานกับพระสงฆ์และในแนวนี้น่ะครับอาจารย์อุบล โดยผู้นำทีมนั้นเป็นพระคุณเจ้าซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ผ่านการศึกษาอย่างสูงสุดทั้งทางโลกและทางธรรม คือ ปธ.9 และปริญญาเอก และมีบทบาทมากต่อการสร้างพระนักพัฒนาให้กับประเทศและจากประเทศเพื่อบ้าน ส่วนในทีมนั้น ผู้เป็นเจ้าของงานหลักทางด้านต่างๆ 2-3 คน ก็เป็นเด็กวัดและผู้บวชเรียนมาก่อน

เมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมเลยถ่ายทอดเรื่องราวจากกรณีศึกษาอย่างนี้ให้กับผู้บริหารของ สช. สปสช. และ สสส. ในสองเรื่องที่สำคัญว่า (1) รูปแบบการบูรณาการการพัฒนาสุขภาพกับมิติอื่นๆที่นำโดยพระสงฆ์และบทบาทของวัดนี้ มิใช่เพียงเป็นการครอบคลุมบริการทางสุขภาพให้กับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะอีกกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่สามารถขับเคลื่อนและเคลื่อนไหวไปสู่พัฒนาการให้เกิดระบบสุขภาพอีกระบบหนึ่งเลยทีเดียว เพราะกลุ่มเป้าหมายมีขนาดใหญ่มาก อีกทั้งเป็นสถาบันที่สำคัญด้านหนึ่งของสังคม  (2) ควรมีการสร้างคนทำงานทางด้านต่างๆที่จำเป็น สำหรับทำงานให้เหมาะสมกับพระและวัด อย่างเป็นการเฉพาะเลย.. ทั้งวิทยากร / นักวิจัยและติดตามประเมิน / ผู้ประสานงานและบริหารจัดการโครงการ ...ฯ ซึ่งมีแต่คนเห็นด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท