การจัดการงานวิจัยแนวใหม่ในมหาวิทยาลัย



              

 วันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๑ ผมไปร่วมประชุมทีม SiCORE-M (ทีมจัดการงานวิจัยศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัย) ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล    เป็นทีมงานที่มี อ.นพ.อัครินทร์ นิมมานนิตย์ เป็นหัวหน้า ทำงานเตรียมการได้ดีมาก    โดยผมตีความว่า ช่วงนี้เป็นช่วงศึกษาข้อมูลของ ๓ เรื่อง ที่จะพัฒนาเป็นศูนย์ในอนาคต    คือเรื่องภูมิแพ้, มะเร็ง, และไข้เลือดออก

มองจากมุมของระบบการจัดการ  นี่คือการจัดการเพื่อจัดระบบให้ขีดความสามารถด้านการวิจัยที่อยู่กระจัดกระจาย และมีทิศทางดำเนินการตามความสนใจของนักวิจัย (อาจารย์) เข้ามารวมกัน เสริงพลังกัน ไปสู่เป้าหมายที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ     พัฒนาจากวิจัยตามผลประโยชน์ของนักวิจัย เป็นวิจัยตามผลประโยชน์ของประเทศ   

ศูนย์ที่พัฒนาการก้าวหน้าไปมากที่สุดคือศูนย์ Allergy   ผู้รับผิดชอบคือ รศ.พญ.อรณี แสนมณีชัย   ได้จัดกระบวนการ world café เพื่อทำ mapping นักวิจัย และประเด็นวิจัย    ได้ผลลัพธ์คือวัตถุประสงค์และแผนดำเนินการยังกว้างเกินไป  ยังไม่ได้กำหนดขั้นตอนและระยะเวลา     โดยเน้นที่ผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ตลาดไทย (วัคซีนไรฝุ่น)    กับศูนย์บริการทางคลินิก  

ศูนย์วิจัยไข้เลือดออก    ผู้รับผิดชอบคือ ผศ.ดร.นพ.วรภัทร รัตนอาภา  มีการทำ mapping ความสนใจของนักวิจัย  และเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์     สรุปได้ว่า เป้าหมายหลักคือการพัฒนายารักษาโรคไข้เลือดออก  จากยาที่มีอยู่แล้ว   

ศูนย์วิจัยมะเร็ง    มี ผศ.นพ.สิทธิ์ เป็นผู้รับผิดชอบ    นักวิจัยมีความสนใจ ๓ ด้านคือ Cancer precision medicine, cancer immunotherapy (ศ.ดร.เพทาย เย็นจิตโสมนัส), และ systems pharmacology   

ท่านรองคณบดีฝ่ายวิจัย (ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล) ตั้งคำถามว่า เป้าหมาย (strategic target) เป็น Research excellence เพื่อผลวิจัยตีพิมพ์  หรือเพื่อ translation หาวิธีรักษาโรคแบบใหม่    ผมตั้งคำถามต่อว่า ใครหรือกลไกใด ที่จะเป็นผู้ตัดสินใจต่อคำถามที่ท่านรองคณบดีตั้งในแต่ละ CORE   

ในเรื่อง cancer precision medicine นั้น ศ.นพ.ประเสริฐ ในฐานะผู้บริหารของ สวทช. เคยเชิญนักวิจัยทางจุฬาฯ ศิริราช และรามา ไปคุยที่ สวทช. เพื่อหาทางให้รวมตัวกันดำเนินการ    ผลคือตกลงกันไม่ได้    ผมฟังแล้วได้ความรู้เรื่องเทคโนโลยีนี้ที่มีเป็นมาตรฐานแล้ว เรียกว่า CAR T cell    หากจะพัฒนาเทคโนโลยีในระดับประยุกต์ใช้ขึ้นในประเทศไทย    ก็ต้องรู้ว่าขณะนี้ใครอยู่ในฐานะผู้นำ    หากมีผู้นำอยู่ที่อื่นในประเทศไทย ศิริราชควรแข่งหรือไม่

ผมไม่มีความรู้ในสาระที่เขาคุยกันเลย    เมื่อได้ฟังจึงตระหนักว่า เวลานี้หมอศัลย์ หมอตา เข้าไปทำงานพัฒนา สเต็มเซลล์ รักษาโรคหลอดเลือด   หรือใช้ gene therapy รักษาโรคของจอตา ป้องกันตาบอดในโรคพันธุกรรม   ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้บริหารจะต้องเข้าใจและเลือกสนับสนุน

วิจารณ์ พานิช                        

๒๓ มี.ค. ๖๑


 

หมายเลขบันทึก: 646905เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2018 21:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2018 21:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท