คุณลักษณะของครูที่ดี


ลักษณะของครูที่ดี

 

        ความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประทานให้แก่ครูอาวุโสประจำปี พ.ศ.2522 เมื่อวันอังคารที่ 28 คุลาคม พ.ศ.2523 “...ครูที่แท้นั้นเป็นผู้ทำแต่ความดี คือ ต้องหมั่นขยันและอุตสาหะพากเพียร ต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเสียสละ ต้องหนักแน่น อดกลั้น และอดทน ต้องรักษาวินัย สำรวม ระวังความประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในระเบียบแบบแผนที่ดีงาม ต้องปลีกตัวปลีกใจจากความสะดวกสบาย และความสนุกสนานรื่นเริงที่ไม่สมควรแก่เกียรติภูมิของตน ต้องตั้งใจให้มั่นคงแน่วแน่ ต้องซื่อสัตย์ รักษาความจริงใจ ต้องเมตตาหวังดี ต้องวางใจเป็นกลาง ไม่ปล่อยไปตามอำนาจอคติ ต้องอบรมปัญญาให้เพิ่มพูนสมบูรณ์ขึ้น ทั้งด้านวิทยาการ และความฉลาดรอบรู้ในเหตุและผล...”

        จากพระบรมราโชวาทข้างต้นนี้ กล่าวให้เห็นถึงคุณลักษณะที่ดีที่ควรพึงมีอยู่ในตัวครู เพราะครูเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนการสอน ทั้งยังมีอิทธิพลต่อการสร้างคนหรือนักเรียนอย่างมาก นักเรียนจะมีความคิดที่ดี มีความรู้ความสามรถทั้งในด้านวิชาการและวิชาชีพ ซึ่งเหล่านี้ควรได้รับการอบรมสั่งสอนจากครู และบุคลิกภาพของครูย่อมส่งผลไปสู่นักเรียน ดังคำกล่าวที่ว่า “อยากรู้ว่าตัวครูเป็นฉันใด จงดูได้จากศิษย์ที่สอนมา” (ม.ล.ปิ่น  มาลากุล)

 

1. อุดมการณ์ของครู

        ครูจำเป็นต้องมีหลักยึดเพื่อนำตนไปสู่สิ่งสูงสุดหรือเป็นอุดมคติของอาชีพ นั่นก็คือการมีอุดมการณ์ครู เป็นหลักการที่จะยึดไว้ประจำใจทุกขณะที่ประกอบภากิจของครู มีอยู่ 5 ประการ ดังนี้

        1.1 เต็มรู้ คือ มีความรู้บริบูรณ์ ด้วยความรู้ 3 ประการ คือ

                  1.1.1 ความรู้ด้านวิชาการและวิชาชีพ

                            ครูจะต้องแสวงหาความรู้ที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมให้ผู้เรียน ได้เรียนอย่างครบถ้วน เหมาะสมตามระดับความรู้นั้น

                  1.1.2 ความรู้ทางโลก

                            นอกเหนือจากตำราวิชาการ ครูต้องแสวงหาความรู้รอบตัวด้านอื่นๆ ให้บริบูรณ์ โดยเฉพาะความเป็นไปของกฎระเบียบ ประเพณี สังคม และวัฒนธรรม

                  1.1.3 ความรู้เรื่องธรรมะ

                            ครูต้องมีความรู้ด้านธรรมะ จะสามารถหยิบยกเรื่องธรรมะมาเป็นอุทาหรณ์สำหรับสั่งสอนศิษย์ได้

        1.2 เต็มใจ คือ ความมีใจเป็นครู คนที่จะเป็นครูนั้นต้องสร้างใจที่เต็มบริบูรณ์ด้วยการมีใจเป็นครู การทำใจให้เต็มมีความหมาย 2 ประการ คือ

                  1.2.1 ใจครู

                            การทำใจให้เป็นใจครู จะต้องมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพ เห็นว่าอาชีพครูมีเกียรติ มีกุศล ได้ความภูมิใจ แสวงหาวิธีสอนที่ดีเพื่อศิษย์ และมีใจรักศิษย์ เสียสละเพื่อศิษย์ได้

                  1.2.2 ใจสูง

                            ครูควรพยายามทำให้ใจสูงส่ง มีจิตใจที่ดีงาม มองเห็นคุณค่าของมนุษย์โลก คิดสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้แก่โลก ยอมรับข้อดีและข้อเสียของตนเองและผู้อื่น ไม่คิดว่าตนเองฉลาดหรือเก่งกว่าผู้ใด คิดอย่างเป็นธรรมว่าตนเองมีข้อบกพร่องเช่นกัน

        1.3 เต็มเวลา คือ การรับผิดชอบ การทุ่มเทเพื่อการสอน และใช้ชีวิตครูอย่างเต็มเวลาทั้ง 3 ส่วน คือ

                  1.3.1 งานสอน

                            ครูต้องใช้เวลาในการเตรียมการสอน อย่างเต็มที่ วางแผนการสอน ค้นคว้าหาวิธีการที่จะสอนศิษย์ในรูปแบบ ต่างๆ           

                  1.3.2 งานครู

                            ครูต้องให้เวลา แก่งานธุรการงานบริหาร บริการและงานที่จะทำให้สถาบันก้าวหน้า     

                  1.3.3 งานนักศึกษา       

                            ให้เวลาให้การอบรมแนะนำสั่งสอนศิษย์เมื่อศิษย์ต้องการคำแนะนำหรือต้องการความช่วยเหลือ   

        1.4 เต็มคน คือ การพัฒนาตนเองให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ การพัฒนาตนเองให้เป็นแม่พิมพ์หรือพ่อพิมพ์ที่คนในสังคมคาดหวังไว้สูง ครูจึงจำเป็นที่จะต้องมีความมั่นคงทั้งในด้าน ร่างกาย จิตใจ อารมณ์สังคม สำรวมกาย วาจา ใจ เป็นแบบอย่างที่ดี     ปฏิบัติงานถูกต้อง หมั่นคิดพิจารณาตนเองเพื่อหาทาง แก้ไขปรับปรุงตนเองให้มีความบริบูรณ์อยู่เสมอ

        1.5 เต็มพลัง คือ การทุ่มเทพลังสติปัญญาและความสามารถ ในการสอนครูจะต้องใช้ความสามารถอย่างเต็มที่        ทุ่มเทไปเพื่อการสอน และอุทิศตนอย่างเต็มที่ เพื่อผลงานที่สมบูรณ์นั้น    ก็คือการปั้นศิษย์ให้มีความรู้ ความประพฤติงดงาม เป็นที่พึงประสงค์ของสังคม

 

2. หลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่ใช้ในการปฏิบัติงาน

        คุณธรรม มีความหมายว่า สภาพคุณงามความดี ความประพฤติที่ดี การทำให้เกิดคุณงามความดี อุปนิสัยอันดีงาม    ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่อยู่ ภายในจิตใจของบุคคล

        2.1 กัลยาณมิตตธรรม 7 ประการ

             พระราชวรมุนี(ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้กล่าวไว้ในหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสตร์แบบประมวลธรรมว่า กัลยาณมิตตธรรม 7 ประการ เป็นองค์คุณของกัลยาณมิตรหรือมิตรแท้ คือท่านที่คบหาแล้วจะเป็นเหตุให้เกิดความเจริญและความดีงาม

             1. ปิโย หมายถึง น่ารัก ในฐานะที่เป็นที่สบายใจและสนิทสนม ชวนให้เข้าไปปรึกษาไถ่ถาม

             2. ครุ หมายถึง น่าเคารพ ในฐานะประพฤติสมควรแก่ฐานะ ให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจเป็นที่พึ่งได้แลปลอดภัย

             3. ภาวนีโย หมายถึง น่าเจริญใจหรือน่ายกย่อง ในฐานะทรงคุณ คือความรู้และภูมิปัญญาแท้จริงทั้งเป็นผู้ฝึกอบรมและปรับปรุงอยู่เสมอ ควรเอาอย่าง ทำให้ระลึกและเอ่ยอ้างด้วยความซาบซึ้งใจ

             4. วัตตา หมายถึง รู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจ้งให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอะไร อย่างไร คอยให้คำแนะนำ ว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี

             5. วจนักขโม หมายถึง อดทนต่อถ้อยคำ คือพร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษา ซักถาม         คำเสนอแนะ วิพากษ์วิจารณ์ อดทนฟังได้ไม่เบื่อไม่ฉุนเฉียว

             6. คัมภีรัญจักถัง กัตตา หมายถึง แถลงเรื่องได้ล้ำลึก สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยาก ซับซ้อน ให้เข้าใจ และให้เรียนรู้เรื่องราวอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป

             7. โน จัฏฐาเน นิโยชเย หมายถึง ไม่ชักนำในเรื่องที่เหลวไหล หรือชักจูงไปในทางที่เสื่อม

(niralai,2011)

        2.2 ธรรมโลกบาล

             หมายถึงธรรมที่คุ้มครองโลก ที่ใช้ปกครอง ควบคุมจิตใจมนุษย์ไว้ให้อยู่ในความดี มิละเมิดศีลธรรม ร่วมกันด้วยความสงบสุข ไม่เดือดร้อน สับสน วุ่นวาย ซึ่งประกอบด้วย 2 ประการ ดังนี้

             1. หิริ ได้แก่ ความละอายแก่ใจตนเองในการ ทำความชั่ว

             2. โอตตัปปะ          ได้แก่ ความเกรงกลัวบาป เกรงกลัวต่อการทำความชั่วและผลของกรรมชั่วที่ได้กระทำขึ้น

        2.3 ธรรมที่ทำให้งาม

             ประกอบด้วย 2 ประการ คือ

             1. ขันติ ได้แก่ ความอดทนต่อความทุกข์ ต่อความ ลำบาก ต่อความโกรธ ความหนักเอาเบาสู้เพื่อให้บรรลุจุดหมายที่ดีงาม

             2. สรัจจะ ได้แก่ ความสงบเสงี่ยม ความมีอัธยาศัยงดงาม รักความประณีต และรักษาอากัปกิริยาให้เหมาะสมเรียบร้อย เป็นลักษณะอาการที่ต่อเนื่องจากความมีขันติ

        2.4 ธรรมที่ทำให้งานสำเร็จ

             ธรรมที่ทำให้งานสำเร็จ คืออิทธิบาท 4 ประกอบด้วย

             1. ฉันทะ ได้แก่ การสร้างความพอใจในการทำงาน

             2. วิริยะ ได้แก่ ความเพียรพยายามทำงานตามบทบาทหน้าที่

             3. จิตตะ ได้แก่ การเอาใจฝักใฝ่ ไม่ทอดทิ้งธุระ

             4. วิมังสา ได้แก่ การหมั่นตริตรอง พิจารณาแก้ไข ปรับปรุงงานที่ต้องปฏิบัติอยู่เสมอ

        2.5 สังคหวัตถุ

             เป็นหลักธรรมแห่งการสงเคราะห์ช่วยเหลือ เป็นคุณธรรมในการยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้อื่นไว้ มี 4 ประการ ดังนี้

             1. ทาน คือ การแบ่งปัน เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่กัน

             2. ปิยวาจา คือ การพูดจาด้วยถ้อยคำที่สุภาพ เป็นที่นิยมนับถือ

             3. อัตถจริยา คือ การประพฤติที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น

             4. สมานัตตา คือ ความมีตนเสมอ ไม่ถือตัว ร่วมทุกข์ ร่วมสุข

        2.6 พรหมวิหาร

             เป็นหลักธรรมของพรหม ธรรมประจำใจอันประเสริฐของผู้ใหญ่ ของผู้มีคุณความดียิ่งใหญ่     ประกอบด้วย                               

             1. เมตตา ได้แก่ ความต้องการที่จะให้ผู้อื่นเป็นสุข                                                     2. กรุณา ได้แก่ ความต้องการที่จะให้ผู้อื่นพ้นทุกข์                                                   3. มุทิตา ได้แก่ ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี เห็นผู้อื่นประสบความสำเร็จก็ยินดี                       4. อุเบกขา ได้แก่ ความวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียง ด้วยความชอบหรือชังความวางใจเฉยได้  ไม่ยินดียินร้าย เพื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นผลอันเกิดขึ้นอันสมควรแก่เหตุ

        2.7 ฆราวาสธรรม        

             เป็นธรรมของผู้ครองเรือน ประกอบด้วย

             1. สัจจะ คือ ความซื่อสัตย์ต่อกัน

             2. ทมะ คือ ความฝึกฝนปรับปรุงตนให้รู้จักข่มใจ ควบคุม อารมณ์  ควบคุมตนเองและปรับตัวให้เข้ากับงานและสิ่งแวดล้อม                                    

             3. ขันติ คือ ความอดทนต่อการปฏิบัติงานตามหน้าที่

             4. จาคะ คือ          ความเสียสละเผื่อแผ่ แบ่งปัน มีน้ำใจ

 

 

 

3. คุณธรรมพื้นฐาน

        “8 คุณธรรมพื้นฐาน” ตามนโยบายเร่งรัดการปฏิรูปการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ ประกอบไปด้วย

        3.1 ขยัน คือ ความตั้งใจ เพียรพยายามทำหน้าที่การงานอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมออดทนความขยันต้องปฏิบัติควบคู่กับ การใช้สติปัญญาแก้ปัญหาจนเกิดผลสำเร็จ ผู้ที่มีความขยัน คือ ผู้ที่ตั้งใจทำอย่างจริงจังต่อเนื่องในเรื่องที่ถูกที่ควรเป็นคนสู้งานมีความพยายาม ไม่ท้อถอย กล้าเผชิญอุปสรรค รักงานที่ทำ ตั้งใจทำอย่างจริงจัง

        3.2 ประหยัด คือ การรู้จักเก็บออมถนอมใช้ทรัพย์สินสิ่งของแต่พอควรพอประมาณให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า ไม่ฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ ผู้ที่มีความประหยัด คือ ผู้ที่ดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย รู้จักฐานะการเงินของตนคิดก่อนใช้ คิดก่อนซื้อ เก็บออม ถนอมใช้ทรัพย์สินสิ่งของอย่างคุ้มค่า รู้จักทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย รายออม ของตนเองอยู่เสมอ

        3.3 ซื่อสัตย์ คือ ประพฤติตรงไม่เอนเอียงไม่มีเล่ห์เหลี่ยม มีความจริงใจ ปลอดจากความรู้สึกลำเอียง หรืออคติผู้ที่มีความซื่อสัตย์ คือ ผู้ที่มีความประพฤติตรงทั้งต่อหน้าที่ ต่อวิชาชีพตรงต่อเวลา ไม่ใช้เล่ห์กล         คดโกง ทั้งทางตรงและทางอ้อม รับรู้หน้าที่ของตนเองและ ปฏิบัติอย่างเต็มที่ถูกต้อง

        3.4 มีวินัย คือ การยึดมั่นในระเบียบแบบแผน ข้อบังคับและข้อปฏิบัติ ซึ่งมีทั้งวินัยในตนเองและวินัยต่อสังคม ผู้มีวินัย คือ ผู้ที่ปฏิบัติตนในขอบเขต กฎ ระเบียบ ของสถานศึกษาสถาบัน/ องค์กร/สังคมและประเทศ โดยที่ตนเองยินดีปฏิบัติตามอย่างเต็มใจและตั้งใจ

        3.5 สุภาพ คือ เรียบร้อย อ่อนโยน ละมุนละม่อม มีกิริยามารยาทที่ดีงาม มีสัมมาคารวะผู้ที่มีความสุภาพ คือ ผู้ที่อ่อนน้อม ถ่อมตนตามสถานภาพ และกาลเทศะ ไม่ก้าวร้าวรุนแรงวางอำนาจข่มขู่ ผู้อื่นทั้งโดยวาจา และท่าทาง แต่ในเวลาเดียวกันยังคงมีความมั่นใจในตนเอง เป็นผู้ที่มีมารยาท วางตนเหมาะสมตามวัฒนธรรมไทย

        3.6 สะอาด คือ ปราศจากความมัวหมองทั้งกาย ใจ และสภาพแวดล้อม ความผ่องใสเป็นที่เจริญตา ทำให้เกิดความสบายใจ แก่ผู้พบเห็นผู้ที่มีความสะอาด คือ ผู้รักษาร่างกาย ที่อยู่อาศัยสิ่งแวดล้อมถูกต้องตามสุขลักษณะฝึกฝนจิตใจมิให้ขุ่นมัว จึงมีความแจ่มใส อยู่เสมอ

        3.7 สามัคคี คือ ความพร้อมเพียงกันความกลมเกลียวกัน ความปรองดองกัน ร่วมใจกันปฏิบัติงานให้บรรลุผล ตามที่ต้องการเกิดงานการอย่างสร้างสรรค์ปราศจากการทะเลาะวิวาท ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน    เป็นการยอมรับความมีเหตุผล ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิดความหลากหลายในเรื่องเชื้อชาติ ความกลมเกลียวกันในลักษณะเช่นนี้เรียกอีกอย่างว่า ความสมานฉันท์ผู้ที่มีความสามัคคี คือ ผู้ที่เปิดใจกว้างรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รู้บทบาทของตน ทั้งในฐานะผู้นำและผู้ตามที่ดี มีความมุ่งมั่นต่อการรวมพลัง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพื่อให้การงานสำเร็จลุล่วง แก้ปัญหาและขจัดความขัดแย้งได้       เป็นผู้มีเหตุผลยอมรับความแตกต่างหลากหลายทาง วัฒนธรรมความคิด ความเชื่อ พร้อมที่จะปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติ

        3.8 มีน้ำใจ คือ ความจริงใจที่ไม่เห็นแก่เพียงตัวเอง หรือเรื่องของตัวเอง แต่เห็นอกเห็นใจเห็นคุณค่าในเพื่อนมนุษย์ มีความ เอื้ออาทร เอาใจใส่ ให้ความสนใจในความต้องการ ความจำเป็นความทุกข์สุขของผู้อื่นและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน ผู้ที่มีน้ำใจ คือ ผู้ให้ และผู้อาสาช่วยเหลือสังคมรู้จักแบ่งปัน เสียสละความสุขส่วนตนเพื่อทำประโยชน์แก่ผู้อื่น เข้าใจ เห็นใจผู้ที่มีความเดือดร้อน อาสาช่วยเหลือสังคมด้วยแรงกาย สติปัญญาลงมือปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาหรือร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้เกิดขึ้นในชุมชน

 

4. คุณลักษณะของครูที่ดี

        คุณลักษณะของครูที่ดีนั้นมีมากมายหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของแต่ละบุคคล คุณลักษณะที่สำคัญจะประกอบด้วย การมีบุคลิกภาพที่ดี มีความรู้ ความคิดสร้างสรรค์       มีความเชื่อมั่นในตนเอง การสอนดี และปกครองดี มีความประพฤติดี มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี

        4.1 คุณลักษณะของครูที่ดี 10 ประการ

             4.1.1 ความมีระเบียบวินัย หมายถึง ความประพฤติทั้งทางกาย วาจาและใจ ที่แสดงถึงความเคารพในกฎหมาย ระเบียบ ประเพณีของสังคม และความประพฤติ ความหวังของตนเอง โดยให้ยึดส่วนรวมเป็นสำคัญ

             4.1.2 ความซื่อสัตย์สุจริต และความยุติธรรม หมายถึง การประพฤติที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ไม่เอาเปรียบ หรือคดโกงผู้อื่น หรือส่วนรวม ให้ยึดถือหลักเหตุผล ระเบียบแบบแผนและกฎหมายของ สังคมเป็นเกณฑ์                             

             4.1.3 ความขยัน ประหยัด และยึดมั่นในสัมมาอาชีพ หมายถึง ความประพฤติที่ไม่ทำให้เสียเวลาชีวิต และปฏิบัติกิจอันควรกระทำ ให้เกิดประโยชน์แก่ตนและสังคม            

             4.1.4 ความสำนึกในหน้าที่และการงานต่างๆ รวมไปถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ หมายถึง ความประพฤติที่ไม่เอารัดเอาเปรียบและไม่ก่อความเสียหายให้เกิดขึ้นแก่สังคม

             4.1.5 ความเป็นผู้มีความคิดริเริ่ม วิจารณ์และตัดสินอย่างมีเหตุผล หมายถึง ความประพฤติในลักษณะสร้างสรรค์และปรับปรุง มีเหตุมีผลในการทำหน้าที่การงาน

             4.1.6 ความกระตือรือร้นในการปกครองในระบบ ประชาธิปไตย มีความรักและเทิดทูนชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หมายถึง ความประพฤติที่สนับสนุนและให้ความร่วมมือ ในการอยู่ร่วมกัน โดยยึดผลประโยชน์ของสังคมให้มากที่สุด

             4.1.7 ความเป็นผู้มีพลานามัยที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ หมายถึง การรู้จักบำรุงรักษาร่างกายและจิตใจให้สมบูรณ์ มีอารมณ์แจ่มใสมีธรรมะอยู่ในจิตใจอย่างมั่นคง

             4.1.8 ความสามารถในการพึ่งพาตนเองและมีอุดมคติเป็นที่พึ่ง ไม่ไหว้วานหรือขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นโดยไม่จำเป็น                              

             4.1.9 ความภาคภูมิและการรู้จักทำนุบำรุง ศิลปวัฒนธรรมและทรัพยากรของชาติหมายถึง ความประพฤติที่แสดงออกซึ่งศิลปะและวัฒนธรรมไทย มีความรักและหวงแหนวัฒนธรรมของตนเอง และทรัพยากรของชาติ  

             4.1.10 ความเสียสละ และเมตตาอารี กตัญญูกตเวที กล้าหาญ และความสามัคคีกันหมายถึง ความประพฤติที่แสดงออกถึงความแบ่งปัน เกื้อกูลผู้อื่น ในเรื่องของเวลา กำลังกายและกำลังทรัพย์

 

5. หลักสิบประการของความเป็นครูดี

        5.1 มุ่งมั่นวิชาการ ครูมีบทบาทหน้าที่ในการเสาะแสวงหาความรู้เพื่อนำไปถ่ายทอดให้แก่ศิษย์ คือ

             (1) ศาสตร์ที่จะสอน ครูต้องติดตามความก้าวหน้าของวิชาที่จะถ่ายทอดจากหนังสือเอกสาร วารสารตามสื่อต่างๆ ตลอดจนเข้าประชุมเพื่อรับรู้ความคิดใหม่ๆ ข้อค้นพบที่มีความรู้ทันสมัยต่อเหตุการณ์

             (2) ศาสตร์การสอน แม้ครูจะมีความรู้ดีในศาสตร์สาขาที่ชำนาญ หากครูยังขาดความรู้เรื่องของการถ่ายทอดวิชาการเหล่านั้น จำเป็นต้องติดตาม ศึกษา ค้นคว้า ให้ทันต่อความก้าวหน้า

             (3) ศาสตร์การพัฒนาคน โดยที่อาชีพครูเป็นอาชีพสร้างคนที่มีศักยภาพให้แก่ประเทศชาติ ต้องเอาใจใส่และถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องพัฒนาคนให้มีความพร้อมด้านวิชาการ วิชาชีพและการดำรงตน ให้เป็นคนดีที่สังคมปรารถนา      

        5.2 รักงานสอน ครูต้องมีความศรัทธาต่อวิชาชีพของตน ต้องมีความรัก สนใจที่จะพัฒนาการสอนให้น่าสนใจ         เปลี่ยนแปลงวิธีการสอน รู้จักวิธีถ่ายทอดที่ทำให้ผู้เรียนเข้าใจง่าย เรียนด้วยความสุข         5.3 อาทรศิษย์ ครูต้องเมตตา รัก เข้าใจ และเอาใจใส่ดูแลลูกศิษย์ ช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ    ให้เกียรติ ยอมรับในความแตกต่าง และไม่ดูถูกลูกศิษย์                  

        5.4 คิดดี ครูต้องมีความคิดที่ดี ที่เป็นบวกต่อศิษย์ การสอนวิชาชีพต่อสถาบัน และเพื่อนร่วมงาน ให้คิดอยู่เสมอว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่มีคุณค่าที่สุด ครูต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

        5.5 มีคุณธรรม   คุณธรรมมีความจำเป็นต่อวิชาชีพครู ได้แก่ ความยุติธรรมด้านการสอนการประเมินผล ความต้องการให้ลูกศิษย์ประสบผลสำเร็จ มีความอดทน ระงับอารมณ์ ไม่ทำร้ายศิษย์เสียสละ และมีหลักศาสนายึดเหนี่ยวจิตใจ รู้จักประพฤติตนให้ถูกต้องตามระเบียบประเพณีและวัฒนธรรมของสังคม

        5.6 ชี้นำสังคม ครูต้องช่วยชี้นำสังคม ทำตน เป็นแบบอย่าง เช่น เรื่องของขยะสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงาน ทั้งการแก้ปัญหาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของสังคม และการช่วยนำสังคมให้เป็นสังคมที่เอื้ออาทรสมานฉันท์

        5.7 อบรมจิตใจ ครูจึงต้องช่วยให้ข้อคิดที่ดี อบรม ตักเตือน สั่งสอนให้ศิษย์ประพฤติดี ดำรงอยู่ในศีลธรรม ปลูกฝังจิตใจให้ศิษย์มีคุณธรรมจริยธรรมอยู่เสมอ

        5.8 ใฝ่ความก้าวหน้าไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ เผยแพร่ผลงานวิชาการให้แก่ชุมชน ครูจะต้องทำประโยชน์ให้แก่ตนเอง ศิษย์ สังคม  และประเทศชาติ

        5.9 วาจางาม คำพูดเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การเรียนการสอนประสบความสำเร็จ ทำให้ผู้เรียนเกิดกำลังใจมีความมุมานะ ครูจึงต้องฝึกการพูดให้ถูกต้องตามกาลเทศะ จูงใจและส่งเสริมทำให้ศิษย์เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีงามและถูกต้อง

        5.10 รักความเป็นไทย สถาบันการศึกษาเป็นศูนย์กลางการพัฒนาคนให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของประเทศชาติ        ครูจึงต้อง ส่งเสริมพัฒนาเอกลักษณ์ไทย ธำรงรักษาเอาไว้ให้เกิดอัตลักษณ์เฉพาะตน ธำรงไว้ให้มั่นคง แม้ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปได้ไกลจนทำให้แต่ละชาติสามารถติดต่อ        รับรู้และถ่ายทอดวัฒนธรรมซึ่งกันและกันได้ก็ตามแต่อัตลักษณ์เฉพาะของคนในชาติ เช่น เรื่องของ   ความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามควรช่วยกันสืบสาน ส่งเสริม และธำรงไว้เพื่อทำให้เยาวชนเกิดความรักความภาคภูมิใจ

 

6. สิ่งที่ครูไม่พึงปฏิบัติ

        6.1 ครูมาสาย คติประจำใจ คือ สอนน้อยหน่อย สายมากหน่อย อร่อยกำลังเหมาะ      

        6.2 ครูค้าขาย คติประจำใจ คือ ครูที่มีความเพียรต้องทำโรงเรียนให้เป็นตลาด ครูที่มีความสามารถ ต้องทำตลาดให้เป็นโรงเรียน       

        6.3 ครูคุณนาย คติประจำใจ คือ อยู่อย่างคุณนาย สบายทุกอย่าง หนทางสะดวกพรรคพวกมากมี

        6.4 ครูสุราบาล  คติประจำใจ คือ ศุกร์เมา เสาร์นอน อาทิตย์ถอน จันทร์เกียจคร้าน อังคารหยุด พุธลา พฤหัสก้มหน้าไม่สู้คน       

        6.5 ครูเกียจคร้าน คติประจำใจ คือ          สอนมั่ง ไม่สอนมั่ง สตางค์เท่าเดิม 

        6.6 ครูหัวโบราณ คติประจำใจ คือ คิดเป็นก็คิดไป แก้ปัญหาเป็นก็แก้ปัญหาไป แต่ฉันจะสอนอย่างไร ใครอย่ามายุ่งกับฉัน

        6.7 ครูปากม้า คติประจำใจ คือ นินทาวันละมากๆ ปากผ่องใส

        6.8 ครูหน้าใหญ่ คติประจำใจ คือ ใหญ่ที่โรงเรียน ไปเป็นเสมียนที่อำเภอ เห่อเจ้านายได้สองขั้น   6.9 ครูใจยักษ์ คติประจำใจ คือ หน้าตาขมึงขึงขัง ดุด่าไม่ฟังเหตุผล

อ้างอิง

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. คู่มือเส้นทางครูมืออาชีพสำหรับครูผู้ช่วย.          กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2553.

Niralai. (2554). คุณลักษณะของครูที่ดี. สืบค้นวันที่ 15 ตุลาคม, 2560, จากSlideshare web site:         https://www.slideshare.net/niralai/ss-9127415

Naracha Nong. (2554). คุณลักษณะครูที่ดี. สืบค้นวันที่ 15 ตุลาคม, 2560, จากSlideshare web          site: https://www.slideshare.net/Nar... กรมวิชาการ. (2540). ประทีปแห่งการศึกษา : พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสด้านการศึกษา.           กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว.

หมายเลขบันทึก: 646903เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2018 20:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2018 20:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท