ฮีต ครรลอง ความเชื่อ และความกตัญญู : สู่แนวการปฏิบัติตามความเชื่อและศรัทธา : เอาบุญ(หลัก)บ้าน บ้านโนนก่อ


พี่น้องเอ๋ย อย่าสิไลลืมถิ่มพงศ์พันธ์ุพี่น้องเก่า อย่าสอละเผ่าเซื้อไปญ้องผุอื่นดี ให้เฮามาสืบสร้างเมืองอิศาณให่เฮืองฮุ่ง อิศาณเฮาเจริญพุ่ง เฮืองขึ่นกั่วแต่หลัง สาแหล่ว


ฮีต ครรลอง ความเชื่อ และความกตัญญู 

ของพี่น้องชาวบ้านโนนก่อ ตำบลหนองแวง อำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร

ข้าพเจ้า ขอเอ่ยถึงความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้เสียก่อน บ้านโนนก่อ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๖ ตำลหนองแวง อำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร ติดถนนชยางกูร หมายเลข ๒๑๒ ห่างจากตัวเมืองมุกดาหาร ๒๐ กิโลเมตร ห่างจากตัวอำเภอนิคมคำสร้อย ๖ กิโลเมตร มีประชากรประมาณ ๓๐๐ กว่าคน ๑๐๗ หลังคาเรือน

บ้านโนนก่อ ชุมชนบ้านนอก ที่เจริญมากขึ้น การดำเนินชีวิตในอาชีพเกษตรกรรม ค้าขาย มีให้เห็นเป็นจำนวนมากของพี่น้องชาวบ้านโนนก่อ ที่แห่งนี้เกิดจากการรวมตัวกันของหลากหลายชนเผ่า คนจากหลายพื้นที่ที่อพยพมายังบ้านโนนก่อแห่งนี้ แต่เดิมก่อนตั้งบ้าน บ้านโนนก่อขึ้นกับบ้านป่งแดง  จนมีพี่น้องย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่มากขึ้น จึงขอตั้งเป็นหมู่บ้าน โดยให้ชื่อว่า "บ้านโนนก่อ" โดยประเพณีครั้งนี้ ดำเนินการขึ้นที่ศาลหลักบ้าน ณ ศูนย์ส่งเสริมการเย็บผ้าตำบลหนองแวง ถนนชยางกูร อยู่ระหว่างสองคุ้มของบ้านโนนก่อ คือ คุ้มเหนือ(โนนเทิง) และคุ้มใต้(โนนก่อ) โดยบ้านโนนก่อเเบ่งตามออกเป็นสามคุ้มหลัก ซึ่งดูจากสภาพแวดล้อมของภูมิประเทศ อันได้เเก่ คุ้มใต้ หรือคุ้มโนนก่อ คือคุ้มบ้านหลักที่อยู่ติดถนนชยางกูร มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่บนเนินที่ไม่สูงมากถ้ามองจากทางนิคมคำสร้อยไปมุกดาหาร คุ้มที่ ๒ คือคุ้มเหนือ หรือ ช้าวบ้านเรียกโนนเทิง (เทิง หมายถึง ข้างบน,เหนือ,ขยับขึ้นไป) ซึ่งคุ้มนี้จะอยู่เหนือคุ้มใต้ขึ้นไป ซึ่งจะมีระยะทางที่ไม่ห่างมันมากตามสายถนนชยางกูร และคุ้มที่ ๓ คือ คุ้มห้วยทราย คุ้มนี้จะเป็นคุ้มเล็กสุด โดยมีสภาพพื้นที่ติดลำห้วยทราย จึกเรียกคุ้มห้วยทรายมาตลอด บ้านโนนก่อ จึงมี ๑ บ้าน ๒ วัด ๓ คุ้ม 

เหตุแห่งชื่อ บ้านโนนก่อ มีชื่อมาจากสภาพภูมิประเทศของพื้นที่ที่ตั้งอยู่บนเนิน หรือ โนน ตามภาษาอีสาน โดยบริเวณดังกล่าวนี้ มีต้นไม้ชนิดหนึ่ง คนในพื้นที่เรียกว่า บักก่อ,หมากก่อ เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีเมล็ดขนาดลูกมะนาว มีหนามแหลมแข็งคลายเงาะ แต่มีความแข็งและแหลมกว่า โดยสามารถนำมารับประทานได้ ด้วยวิธีการกะเทาะเปลือกออกแล้วนำมาเผาไฟหรือต้ม มีเนื้อคล้ายเม็ดเกาลัด ตอนเด็กๆข้าพเจ้าก็เคยนำมาทานบ่อยครั้ง ทำให้บ้านแห่งนี้ ชื่อว่า บ้านโนนก่อ นั่นเอง

สู่ ฮีต ครรลอง ความเชื่อ และความกตัญญู ของชาวโนนก่อ 

     เช้าวันจันทร์ วันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๑ วันนี้เป็นวันนัดหมายของชาวบ้านโนนก่อทุกคน โดยการดำเนินงานของคณะกรรมการหมู่บ้าน ข้าพเจ้าก็โดนปลุกให้ลุกตั้งแต่เช้าตรู่จากมารดาผู้บังเกิดเกล้า (เป็นอะไรที่ยากมากสำหรับการตื่นเช้าของนิสิตมหาวิทยาลัย) แต่ก็จำใจต้องตื่นด้วยเสียงที่ดังเข้าหูตลอดเวลา เพื่อเตรียมตัวให้ทันการตักบาตรเช้า ก็รีบเร่งอาบน้ำแต่งตัว การแต่งกายวันนี้อยากนุ่งสโร่ง เบี่ยงผ้าแพร ให้ดูดีแตกต่างจากคนอื่นนิดๆก็เกรงไม่เป็นไปตามที่คาด ด้วยเครื่องแต่งกายส่วนใหญ่อยู่ที่ห้องพัก ณ มหาวิทยาลัยทั้งสิ้น ก็คว้าได้สโร่งผืนเก่าของพ่อ พร้อมผ้าขาวม้าผืนขาดผืนเดิม มุ่งหน้าสู่บริเวณจัดงานด้วยพาหนะคู่ใจ ไปไหนไปกัน

พิธีการทางศาสนา

     พอมาถึงงานก็วิ่งไปรับกระติ๊บข้าวแทบไม่ทัน เพราะทางมัคทายกท่านจะปิดฝาบาตรแล้ว ก็รีบไปใส่บาตรให้ทันท่วงที วิถีการใส่บาตรเช้าของบ้านโนนก่อเรา คือจะนำบาตรของพระสงฆ์มาจัดเรียงไว้บนโต๊ะที่รองด้วยผ้าขาวดิบตามลำดับพรรษา จากพระผู้ใหญ่ไปจนถึงสามเณร จากนั้นจะให้ประชาชนเดินนำสิ่งของที่จัดเตรียมมาใส่ลงในบาตรตามลำดับ โดยพระสงฆ์ท่านจะนั่งรอที่อาสน์สงฆ์เพื่อรอพิธีทางศาสนาต่อไป

     หลังจากใส่บาตรเสร็จ ก็เข้าสู่พิธีทางศาสนา เป็นการกราบพระรับศีล และการกล่าวคำถวายสังฆทาน โดยได้รับความเมตตาจากคณะสงฆ์พร้อมสามเณรจากวัดเทพรัตนมงคล(วัดบ้านมหานิกาย) และวัดสมานสังฆวิเวก(วัดป่ามหานิกาย วิปัสนา) ของบ้านโนนก่อทั้งสองวัด โดยการนำของพระอธิการบุญกรานต์ อนุตโร เจ้าอาวาสวัดสมานสังฆวิเวก พร้อมด้วยพระอุทาน โชติวโร เจ้าสำนักสงฆ์วัดเทพรัตนมงคล ในการรับภัตตาหารเช้าในวันนี้

     สิ่งที่น่าจะเห็นได้อย่างทั่วถึงในทั่วทุกท้องถิ่นก็น่าจะเป็นตอนกรวดน้ำรับพรนี่แหละครับ จากที่มีเสียงพูดคุยกันบ้างในช่วงถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ เมื่อเสียงประธานสงฆ์กล่าวขึ้นว่า "เตรียมตัวรับพร" เสียงในศาลาพิธีเงียบกริบ ทุกคนดูตั้งใจกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแต่บรรพบุรุษอย่างพร้อมเพรียมกัน สาธุในอานิสงฆ์แห่งการทานของพี่น้องชาวบ้านโนนก่อ

      เมื่อเสร็จสิ้นการกรวดน้ำรับพรเสร็จสิ้น ก็รับน้ำพระพุทธมนต์จากพระอาจารย์ใหญ่ของชาวบ้านโนนก่อ คือพระอธิการบุญกรานต์ อนุตโร ประธานสงฆ์ในงานวันนี้ จากนั้นคณะสงฆ์ก็ฉันภัตตาหารเช้า ทางคณะกรรมการ คุณพ่อคุณแม่ผู้นำชุมชนก็เตรียมสถานที่ โดยหลังจากพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จ ทางพ่อแม่พี่น้องก็จะรับประทานอาหารร่วมกันก่อน ซ่งก็เห็นบรรยากาศของชาวบ้านที่มีส่วนร่วมและเป็นการสานความสัมพันธือันดีงาม มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยปรึกษาหารือกันและกัน

     หลังจากที่คุณตาคุณยาย พ่อใหญ่แม่ใหญ่ พ่อแม่พี่น้องรับประทานอาหารเสร็จ ก็ได้จัดเตรียมสถานที่ โดยกราบนิมนต์คณะสงฆ์ให้ท่านได้รอเพื่อให้ลูกหลานชาวบ้านได้สรงน้ำขอพรจากพระสงฆ์ในโอกาสอันนี้ครั้งนี้

พิธีสรงน้ำขอพรพระสงฆ์ และ รดน้ำดำหัวพ่อใหญ่แม่ใหญ่

     เริ่มต้นโดยการขอขมาพระสงฆ์ นำกล่าวโดย แม่ใหญ่ลาน สตรีผู้มีความรู้ความสามารถในการดำเนินการด้านศาสนาคนหน่งของบ้านโนนก่อ จากคุ้มเหนือ (ชาวบ้านเรียก คุ้มโนนเทิง) โดยนำพี่แม่พี่น้องชาวบ้านนำกล่าวคำขอขมาต่อพระสงฆ์สามเณร ก่อที่จะสรงน้ำขอพรในวันนี้

     เมื่อเสร็จสิ้นการขอขมาพระสงฆ์แล้ว พ่อแม่พี่น้องชาวบ้านโนนก่อก็ได้เริ่มการสรงน้ำคณะสงฆ์ โดยสรงน้ำตามลำดับของพระสงฆ์จนถึงสามเณรน้อย ที่ได้บวชภาคฤดูร้อน และกลับมาอยู่วัดกับพระอาจารย์เพื่อเรียนรู้ธรรมวินัยก่อนเปิดภาคเรียนนี้ บรรยากาศของพิธีสรงน้ำพระสงฆ์ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และความเป็นสิริมงคลแก่ลูกหลานชาวบ้านโนนก่อ เพื่อแสดงถึงความนอบน้อมและความกตัญญูต่อผู้สืบทอดและดำรงค์พระศาสนาของพระพุทธโคดม สัมมาสัมพุทธเจ้า นั่นเอง



     หลังจากสรงน้ำขอพรพระสงฆ์เสร็จสิ้นไป ก็จะเข้าสู่การรดน้ำดำหัวขอพรผู้สูงอายุทุกท่านของชาวบ้านโนนก่อ คือพ่อใหญ่แม่ใหญ่ทุกคน เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อผู้มีพระคุณอันมีพ่อใหญ่แม่ใหญ่ผู้สร้างบ้านแปงเมืองให้เจริญรุ่งเรืองมาก่อน เพื่อให้ลูกหลานได้มีที่อยู่ที่ทำมาหากิน และที่สำคัญของงานครั้งที่คือจัดวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๑ ก็ยังคงเป็นวันหยุด เพื่อให้ลูกหลานชาวบ้านโนนก่อที่เดินทางจากต่างจังหวัด กลับมาบ้านในเทศกาลสงกรานต์ได้อยู่ร่วมงาน ได้รดน้ำดำหัวขอพรจากผู้เฒ่าผู้แก่เพื่อความเป็นศิริมงคลและน้อมรำลึกแสดงความกตัญญูในครั้งนี้ด้วย

พิธีกรรมตามความเชื่อ เลี้ยงปู่หลักบ้าน

     เสร็จสิ้นในส่วนของการรดน้ำขอพรจากพ่อใหญ่แม่ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้เเก่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้เข้าสู่ส่วนของพิธีกรรม ความเชื่อ อันเป็นสิ่งที่ได้ปฏิบัติมาอย่างยาวนานของชาวบ้านโนนก่อ โดยเพื่อความเป็นศิริมงคลตามความเชื่อ พุทธ พราหมณ์ และผี โดยเริ่มที่บริเวณศาลหลักบ้านและศาลปู่ตาบ้าน โดยจัดตั้งเครื่องสักการะบูชา อันมีผลหมากรากไม้ อาหารหวานคาว เหล้าไหไก่โต เพื่อถวายเป็นสักการะให้ปู่หลักบ้านอันเป็นภูมิเจ้าที่ของหมู่บ้านโนนก่อ ของเรา

     โดยในทุกๆปีจะมีร่างทรางของปู่หลักบ้าน หรือที่เรียนกว่า เฒ่าจ้ำ โดยปู่หลักบ้านจะเป็นผู้เลือกเองในเวลาอันสมควร เพื่อให้ผู้ที่ได้รับเลือกนั้นเป็นร่างทรงในปีถัดไป ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่ร่างทรง ตัวแทนชาวบ้านโนนก่อ คือ แม่ใหญ่ปื๋อ ซึ่งได้ทำหน้าที่นี้มาหลายปีแล้ว

     อันดับแรก เมื่อถึงเวลาที่สมควร เฒ่าขะจ้ำจะนุ่งผ้าแดง ใช้ผ้าแดงโพกหัว ซึ่งมีให้เป็นอยู่บ่อยครั้ง โดยเมื่อเตรียมตัวเสร็จท่านก็จะมานั่งรออยู่บริเวณหน้าศาล โดยสักพักเมื่อพี่น้องชาวบ้านเข้ามาหุ้มล้อมได้สักพัก เฒ่าขะจ้ำจะแสดงอาการที่ต่างจากปกติออกไป คืออยากสูบยาสูบ พูดจาเสียงเอื่อย พูดช้า โดยในตอนนี้ชาวบ้านก็จะหุ้มล้อมเฒ่าขะจ้ำและสอบถามถึงความเป็นไปของบ้านเมือง เฒ่าขะจ้ำในร่างทรางของปู่หลักบ้านก็จะบอกถึงความเป็นไป เมื่อพูดได้สักพัก ท่านก็จะบอกว่าอยากได้สิ่งใดบ้าง โดยสิ่งที่ท่านใช้เป็นพาหนะคือม้าก้านกล้วยที่ได้จัดเตรียมไว้ให้ปู่หลักบ้าน จากนั้นท่านจะลงมาเล่น (ลงมาเล่นตามคำพูดของชาวบ้านคือ การรับเครื่องสังเวย และแสดงความสนุกสนานที่ท่านเห็นลูกหลานมาร่วมงานเยอะ) 

     เมื่อปู่หลักบ้านท่านได้รับม้าก้านกล้วย ท่านก็จะขี่ม้า โดยมีชาวบ้านหุ้มล้อมแห่แหนตามปู่ไปบริเวณหน้าศาล ซึ่งในตอนนี้ชาวบ้านบางส่วนก็จุดธูป และสรงน้ำขอพรจากปู่หลักบ้านเพื่อความศิริมงคล ให้ปู่คุ้มครองลูกหลานเพื่อความสุขสงบร่มเย็นของช้านโนนก่อ ทั้งการเดินทางให้ปลอดภัยทั้งไปและกลับ

     ร่างทรงปู่หลักบ้าน ลงรับเครื่องสักการะ เครื่องสังเวย ซึ่งปีนี้ ปู่ลงรับเครื่องสักการะ ลงเล่นนานกว่าปกติ คือระยะเวลาที่ทรงร้างเฒ่าขะจ้ำยาวนานกว่าปกติ ซึ่งก็มีชาวบ้านเข้าไปสอบถามเรื่องราวความเป็นไปของบ้านเมือง ของหมู่บ้านตลอดเวลา ซึ่งหลังจากนั้นสักพักผมได้ยินเสียงของเฒ่าขะจ้ำกล่าวว่า "ปู่ดีใจ ปู่อิ่ม" จากนั้นไม่นาน ร่างทรงเฒ่าขะจ้ำก็ล้มลง นั่นแสดงให้เห็นว่าสิ้นสุดของพิธีกรรมการเลี้ยงปู่หลักบ้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านก็ช่วยกันพยุงร่างของเฒ่าขะจ้ำขึ้นมาพัก ผมได้มีโอกาสสอบถามท่านเพียงเล็กน้อยถึงอาการ ท่านก็ตอบเพียงว่าเหนื่อยมาก "เหมื่อย เหมื่อยหลาย" จากนั้นชาวบ้านก็เตรียมเก็บสิ่งของต่างๆ เป็นการร่วมแรงร่วมใจเก็บงาน และเลี้ยงสังสรรค์กันตามวิถีชาวบ้าน

สิ่งที่สะท้อนความเป็นฮีต วัฒนธรรม และประเพณีอันดีงามของชาวบ้านโนนก่อ คือการร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อสืบทอดจารีตประเพณีจากพรรบุรุษเพื่อสืบทอดให้เป็นมรดกและวัฒนธรรมแก่รุ่นลูกรุ่นหลานสืบต่อไป บ้านโนนก่อ ดินแดนแห่งความหลากหลายชนเผ่า ผ่านกาลเวลาหลายชั่วอายุคน เกิดการแล้วหลอมรวมทางวัฒนธรรมกันมาเป็นสิ่งที่เห็นในปัจจุบัน ถึงแม้นสิ่งที่ทำขึ้น อาจจะไม่ยิ่งใหญ่ ไม่โด่งดัง แต่ยังคงเป็นจารีตวัฒนธรรมที่ดีงามของพื้นที่ในเขตชนบทที่ความเจริญเข้าถึงแล้วทุกอย่าง ทำให้หลายๆคน หลายๆพื้นที่อาจจะต้องมองย้อนกลับไปว่า สิ่งที่ควรรักษา และประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัยนั้น มีสิ่งใดบ้างที่สมควรให้มี ให้อยู่ และให้เป็นที่จดจำของลูกหลานเยาชนคนรุ่นใหม่ต่อไป

แทนธรรม (ธ) วงศ์สุขโข ลูกหลานบ้านโนนก่อ หนองแวง นิคมคำสร้อย มุกดาหาร

เริ่มบันทึก ๑๖ เมษายน ๒๕๖๐

สิ้นสุดบันทึก ๒๐ เมษายน ๒๕๖๐

หมายเลขบันทึก: 646563เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2018 07:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 เมษายน 2018 09:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท