โรงเรียนนกฮูก


ผมพยายามนั่งนึกถึงความทรงจำสมัยเรียนชั้นประถม ซึ่งมันมีอยู่เพียงหยิบมือ

“โรงเรียนอนุบาลสุราษฎร์ธานี”



วันแรกที่เข้าเรียนในชั้นอนุบาล ๒ มีครูประจำชั้นคือครูสมบูรณ์



ผมจำวันที่ถูกครูตีเพราะไม่ยอมนอนช่วงบ่าย ครูน่าจะอารมณ์เสียเพราะผมเห็นครูเดินร้องไห้เข้ามา เมื่อเจอผมนั่งเล่นอยู่ ผมจึงถูกฟาดเอาฟาดเอา



ผมคงเป็นนักเรียนน่ารัก เข้ามาปีแรกเลยถูกจับเต้นรำในงานวันเด็ก “แซซี้อ้ายลือเจ็กนั้ง” เพลงนี้ทำให้ผมถูกจับใส่ชุดแพรสีแดงเป็นอาเจ็ก พี่สาวจับผมแต่งหน้าเป็นคนจีน เขียนหนวดยาวย้อยลงมาจนถึงคาง

“นี่ หนวดคนจีนต้องแบบนี้ จะมาเขียนสั้นกุดเหมือนหนวดคนไทยได้อย่างไร” ผมต้องยอมรับมันโดยดุษฎี เพราะแม่คงไม่มีปัญญาแต่งให้ได้ขนาดนี้ ตอนนั้นรู้สึกได้เลย ว่าอายชิ้บหาย เพื่อนๆหนวดสั้นกุด มีนานแป๊ะคนเดียวที่หนวดยาวเฟิ้ม



ผมถูกจับให้เต้นรำในงานวันเด็กอีก ๒ ครั้ง แต่ได้ขึ้นเวทีเพียงครั้งเดียว เพราะในวันแสดงก็ป่วยหนัก สงสัยว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่ เพราะปวดกระดูกเสียเต็มประดา แม่ต้องลุกขึ้นมาเช็ดตัวให้ทั้งคืน



ผมต้องถือพานไหว้ครู ๓ ครั้ง



ผมเป็นกรรมการนักเรียนตอน ป.๖



การฉีดวัคซีนที่แสนทรมานด้วยเข็มเหล็กที่ถูกต้มแล้วมาใช้ซ้ำ



และที่ไม่เคยลืมคือ ความรักครั้งแรกตอน ป.๔ ป.๕ และ ป.๖



เออ คิดไป ความทรงจำต่างๆเหล่านี้ ล้วนยังแจ่มชัดเลยจริงๆ



แต่ผมรู้สึกตกใจมาก ที่เมื่อพยายามนึกว่า ในวันสุดท้ายของการเรียนชั้น ป.๖ นั้น มันเป็นเช่นไร ความสัมพันธ์กับเพื่อนๆในวันนั้นเป็นอย่างไร ผมร้องไห้ไหม มีใครมาร่วมอาลัยกับผมบ้าง และผมได้บอกรักเธอสักครั้งหรือยัง



ว่าแล้วก็เดินไปเปิดเฟรนด์ชิ้พเล่มนั้น

............



๑๖ มีนาคม ๒๕๖๑ เป็นวันที่ลูกสาวคนเล็กเรียนจบจากโรงเรียนนกฮูกอย่างเป็นทางการ

หากจะนับเวลารวมๆที่ผมต้องเทียวรับเทียวส่งลูกๆมาโรงเรียนนี้ก็คงต้องนับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๖ นั่นคือพี่แป้งเข้ามาเริ่มเรียนในชั้นเนอร์สเซอรี่



ตอนนั้นผมคิดมากจนหัวแทบแตก ว่าจะให้ลูกสาวเข้าเรียนที่ไหนดี ผมอยากให้ลูกมีความสุขในการเรียน ผมไม่อยากให้ลูกต้องทำการบ้านมากมาย ผมอยากให้ลูกรู้สึกอยากไปโรงเรียนทุกวัน ผมเกลียดเด็กผู้หญิงผมสั้นถึงติ่งหู (ฮ่า ฮ่า อันที่จริงไม่ได้เกลียดเด็ก แต่เกลียดครูที่ชอบมายุ่งกับหัวเด็ก)

แล้วผมก็มารู้จักโรงเรียนนกฮูกโดยบังเอิญ

“แป๊ะ เธอว่างไหม ช่วยพาเราไปรับพร้อมเฟรมหน่อย” นั่นคือเสียงเรียกจาก “หมี” เพื่อนผู้ส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียนนกฮูกอยู่ก่อนแล้ว

ผมขับรถพาหมีไปยังโรงเรียนที่ว่า เธอบอกว่ามันอยู่ในซอยตรงข้ามโรงเรียนหลวงประธานฯ ซึ่งนั่น..เฮ้ย.. นั่นมันร้านอาหารจายเบียร์เก่านี่หว่า



ผมจำไม่ผิดหรอกครับ ร้านอาหารที่พวกเราสมัยนักศึกษาแพทย์ และขณะที่เป็นแพทย์ใช้ทุนนิยมมานั่งทานอาหารเย็นกัน ตอนนี้มันกลายมาเป็นโรงเรียนอนุบาลไปเสียแล้ว



“มันน่าตื่นเต้นมากที่มีโรงเรียนเล็กๆ ดูแนวๆแบบนี้” ผมอุทานในใจ



แล้วแป้งก็ได้มาเรียนที่นี่จริงๆ หลังจากที่ผมได้ลองมานั่งคุยกับคุณครูซึ่งเป็นทั้งครูใหญ่ เจ้าของ และหัวหน้านักเรียน “น้าไก่”

“เธอจะทำโรงเรียนให้เหมือนบ้าน” ผมเชื่อเธอ เพราะโรงเรียนแห่งนี้ถูกดัดแปลงมาจากอาคารที่ดูเหมือนบ้านมากๆ

“เด็กต้องพัฒนาสมองไปพร้อมๆกับการเล่น” ผมเชื่อเธอ เพราะลูกสาวตัวเล็กๆของผมต้องปั้นดินน้ำมันทุกวัน เล่นทรายทุกวัน และสกปรกทุกวัน

“ไม่มีการบ้าน” ผมเชื่อเธอน้อยลง เพราะทุกวันศุกร์ แป้งจะได้การบ้านมาเล่นที่บ้าน มันเป็นการบ้านที่สนุกจนพ่อกับลูกแย่งกันทำ



นั่นน่าตื่นใจไปยิ่งกว่านั้น เมื่อลูกจบชั้นอนุบาล เธอก็เริ่มอ่านหนังสือออกแล้ว นั่นคือ เล่นไปเรียนไปนะครับ และเรื่องจริงก็คือ เล่นมากกว่าเรียน



เด็กๆลูกๆของเรา ควรเหลือพื้นที่ในสมองเพื่อให้เขาได้รีเซ็ตและพร้อมสำหรับการเรียนรู้ในทุกๆวัน ไม่ใช่เรียนกันจนชิ้บหายวายป่วง ทำการบ้านกันจน growth hormone สะอึก เรียนพิเศษกันจนลืมวันลืมคืน

และแน่นอนว่า ลูกผมทั้งคู่ได้สิทธิ์ในการมีเนื้อที่ว่างสำหรับการรีเซ็ตสมองทุกคืนในขณะที่เรียนชั้นอนุบาลที่นี่



ผมเริ่มให้ลูกสาวเรียนที่นี่ตั้งแต่โรงเรียนยังไม่เป็นรูปร่างโรงเรียน (บอกแล้วไง เขาจะทำให้เหมือนบ้าน) เรียกได้เลยว่า ผมเอาชีวิตการเรียนของลูกเป็นเดิมพัน



แล้วเมื่อลูกโตขึ้น โรงเรียนมีนักเรียนมากขึ้น เค้าก็จำเป็นต้องย้ายมาเปิดชั้นประถมซึ่งเป็นที่ตั้งในปัจจุบัน มันคืออาคารเรียนเก่าของโรงเรียนดรุณศึกษา และมีชื่อโรงเรียนว่า “ธำรงวัฒนา พัฒนาเยาวชน” ชื่อโคตรยาวเลย ผมแทบจะขี้เกียจจำ ความทรงจำของผมคือ “โรงเรียนนกฮูก”



“ทำไมต้องนกฮูก” มีคนเคยถามครูตื๊อ ซึ่งผมก็ยังไม่ค่อยแน่ใจนัก ว่าแกคือครูใหญ่ หรือเจ้าของโรงเรียน หรือเป็นสามีเจ้าของโรงเรียน หรือจะอะไรก็เถอะ ผู้ชายอ้วนๆดูอบอุ่นคนนี้ก็จะยืนดูนักเรียนของตัวเองอยู่แทบทุกวัน

“เมื่อก่อน สมัยที่โรงเรียนอยู่ที่ร้านอาหาร มันมีรูปนกฮูกอยู่ด้านหน้าโรงเรียนครับ เราตั้งใจจะใช้นกฮูกเป็นสัญลักษณ์ เพราะนกฮูกเป็นเสมือนตัวแทนของความรอบรู้” นั่นคือคำตอบอย่างมีหลักการ เพียงแต่ผู้ปกครองอย่างเราๆคงคิดได้เพียงว่า ชื่อนกฮูกมันน่ารักดี



นี่คือเรื่องราวที่ผิวเผินที่สุดสำหรับโรงเรียน แต่เรื่องที่เป็นสาระที่สุดก็คือ “สาระการเรียนรู้” ซึ่งผมนี่โคตรเกลียดคำนึ้เลย กระทรวงศึกษาชอบคิดคำสวย แต่กระบวนการห่วยที่สุด

โรงเรียนจัดการเรียนการสอนตามสาระที่ถูกกำหนดอย่างครบถ้วน ซึ่งจนถึงตอนนี้ ผมเลิกดูรายละเอียดมันแล้ว กระทรวงสั่งให้สอนแม่งมันทุกอย่าง ยกเว้นแต่สาระชีวิต



เด็กป.๕ เรียนอนุกรมวิทาน ท่องไฟลั่มกันมากมาย เรียนเอาไปทำห่าไรวะ (ของขึ้น) เด็กประถมเรียนเรื่องชนิดของหิน หินอัคนี หินชั้น หินแปร มึงจะให้เลือกเอาหินไปทำป๊ะหรือไร (ของขึ้นอีกรอบ)

แต่นั่นแหละ นอกจากสาระเหลวของกระทรวงนั่นแล้ว ลูกๆของผมทั้ง ๒ กลับได้พบสิ่งที่แตกต่างจากเด็กประถมที่อื่นอีกมากมายนะครับ



เอาทีละเรื่อง



วิชาดนตรี

ผมอยากให้มาดูที่นี่ ครูดนตรีมีทั้งครูไทยและครูญี่ปุ่น ไม่รู้เค้าสอนกันอย่างไร ที่สุดท้ายแล้ว เด็กๆทั้งห้องสามารถเป่าเมโลเดี้ยนออกมาเป็นเพลงได้อย่างน่ารัก เขาต้องมีการแสดงดนตรีกันทุกปีนะครับ

ส่วนเด็กๆป.๖ เมื่อเค้ามาเป็นพี่ชั้นสุดท้าย ผลงานปลายปีก็คือ เพลงประจำรุ่น

มันเริ่มมา ๓ รุ่นแล้ว ในรุ่นแรก เพลงของพวกเขาได้เป็นเพลงประจำโรงเรียนเป็นที่เรียบร้อย

ปีนี้เป็นปีของเจ้าจ้า เพลงประจำรุ่นเพิ่งแต่งออกมาเสร็จราวเดือนเศษ น่ารักเชียว



วิชาศิลปะ

ครูผู้สอนมี ๒ คนและต่างสไตล์ รายหนึ่งนั้นเป็นครูอาวุโส มีทฤษฎีมากมายมาสอนนักเรียน มีผลงานส่งประกวดทุกปี ซึ่งเจ้าจ้าก็ได้ไปแข่งกับเขาด้วยถึง ๒ ครั้ง แม้นไม่ถึงฝัน แต่หัวใจดวงน้อยโลดแล่นและมีเครือข่ายเพิ่มขึ้นอีกมากมาย ส่วนอีกครูหนึ่งนั้น เด็กๆเรียกว่า “พี่ฝน” ครูคนนี้คลุกกับลูกสาวทั้งสองของผมมาตั้งแต่ชั้นอนุบาล เธอเป็นผู้ปั้นน้องจ้าอย่างแท้จริง ผลงานของน้องจ้าที่ได้โชว์ออกมาทางสื่อต่างๆ ก็เพราะครูคนนี้



วิชาสังคม

เรียกว่าเด็ดดวง เพราะโรงเรียนสอนการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ สอนการวิจารณ์ที่มาของผู้บันทึกประวัติศาสตร์ มันจึงเป็นที่มาของการแต่งกายนุ่งซิ่นไปวัดต่างๆของเจ้าจ้าในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมาที่ผมได้เคยเล่าไว้แล้ว

“แป้งชอบวิชาประวัติศาสตร์มากที่สุด” เธอเคยบอกผมตอนอยู่ชั้น ป.๖ ซึ่งผมว่าไม่น่าแปลกใจ และน้องจ้าก็คงรู้สึกอย่างนั้น และมาถึงตอนนี้ “แป้งเกลียดวิชาประวัติศาสตร์มากที่สุด” ลูกสาววัยมัธยมเล่าให้ฟังเมื่อขึ้นรถในวันหนึ่ง

โรงเรียนในชีวิตจริงมันได้เข่นฆ่าความสุขของการเรียนลูกสาวคนโตผมไปจนได้



เรื่องการจัดการกิจกรรม



เรื่องนี้ผมเล่ามาหลายครั้ง กิจกรรมที่ผมรักมากที่สุดของโรงเรียนก็เห็นจะเป็น “กีฬาสี” กิจกรรมที่เด็กๆตั้งตารอคอย และช่วยกันจัดการจัดงานได้อย่างดี แม้จะมีเพียง ๒ สี ผลงานออกมาดิบๆ ไร้การปรุงแต่งที่น่าเกลียด และกีฬาสีนี่เอง ที่ทำให้พ่อแม่ได้มาพบปะพูดคุยทำความรู้จักกัน และเล่นสนุกด้วยกัน



กิจกรรมหน้าเสาธง ซึ่งเป็นงานเป็นการเอามากๆ ในทุกๆเช้าจะมีนักเรียนออกมาเล่าเรื่อง ออกมาแสดงการทดลอง ออกมาเล่าข่าว มีการมีส่วนร่วมของผู้ฟัง เช่น พี่ตอบคำถามน้อง เป็นต้น งานนี้เล่นเอาพ่อเครียด เมื่อได้ยินเสียงแจ้วๆ “พ่อ แป้งจะพูดเรื่องอะไรดี”

แล้วมันก็ผ่านไป ตอนเย็นๆ ลูกจะเล่าเสมอว่า มันน่าตื่นเต้นตรงไหน



กิจกรรมการพูดในที่สาธารณะผ่านกระบวนการของโทสมาสเตอร์ ซึ่งเรื่องนี้ผมก็เล่าแล้ว และท้ายที่สุดเมื่อลูกจบชั้น ป.๖ เด็กสามารถพูดเล่าเรื่องเป็นภาษาอังกฤษได้ยาวเหยียดให้ครูฝรั่งฟังได้สบายๆ



กิจกรรม “วิชาการคาเฟ่” กิจกรรมนอกสายตาของผมมาตลอดหลายปี เพราะความรับรู้แรกนั้น กิจกรรมนี้คงเป็นการนำเสนอความรู้ในรูปแบบต่างๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องเรียนของเด็กๆนั่นแหละ กอปรกับในช่วงนั้น ผมรับหน้าที่บริหารโรงพยาบาล งานมันมากจนผมต้องเลือกอยู่ที่ทำงาน

ที่ไหนได้ มันกลับเป็นอีกงานหนึ่งที่เจ๋งที่สุดก็ว่าได้ จ้าบอกว่า “นอกจากกีฬา ก็วิชาการคาเฟ่นี่แหละที่เด็ดที่สุด”

ในช่วงเช้า นักเรียนจะออกร้านขายของ ไอ้เราก็นึกว่าไร้สาระ แต่แท้จริงแล้วมันคือ การบริหารธุรกิจขนาดย่อมเลยทีเดียว เด็กๆต้องวางแผนร่วมกันว่าจะขายอะไร ต้นทุนเท่าไหร่ แล้วร่วมกันจัดการ มีการประชาสัมพันธ์ การจัดสรรผลกำไรอย่างเป็นธรรม ในงานวันนี้ ช่วงบ่ายจึงจะมีงานวิชาการของเด็กๆ ซึ่งผมก็ไม่เคยมาร่วมดู



โอย....รู้สึกฟุ้งซ่าน

มันยังมีอะไรอีกตั้งหลายอย่างที่อยากเล่า

แต่จริงๆแล้ว จะเล่าอย่างไรก็คงไม่เหมือนให้ลูกได้มาเรียนเอง

...............................



ปีนี้โรงเรียนจัดให้มีกิจกรรมวิชาการคาเฟ่ในวันสุดท้ายของการเรียน

ที่เหมือนเคยก็คือการออกร้านขายของ แต่ต่างกันตรงที่มีร้านขายของส่วนตัวด้วย ต่างคนก็ต่างทำของที่ตนถนัดมาขาย ตังค์ก็เข้ากระเป๋าตัวเองล้วนๆ



แต่ปีนี้ไม่ธรรมดา



“วัฒนธรรมไทย” คือธีมงานหลัก

“ห้องจ้าทำเรื่องงานชักพระนะพ่อ”

“เออ ทำอะไรก็ทำไป” ผมบอก



แล้วผมก็เริ่มเห็นลูกสาวหมกมุ่นอยู่กับการพร่ำบ่นเรื่องเรือพระ ผมเห็นจ้ามานั่งวาดลายไทยอยู่หลายวัน

“นี่จะเอาไปแต่งข้างๆเรือพระนะพ่อ” เธอโชว์ลายเส้นชดช้อยงดงามให้ผมดู



ใกล้วันงานเข้ามา ความตื่นเต้นในดวงตาของนักเรียนมันยิ่งเด่นชัด



และวันศุกร์ที่ ๑๖ มีนาคม ก็มาถึง

จ้านุ่งซิ่มห่มสไบ เฉกเช่นกับเพื่อนๆและน้องๆของเธออีกหลายคนที่แต่งชุดไทยไปโรงเรียนแต่เช้า อย่าว่าแต่เด็ก ครูก็แต่งชุดไทย พ่อแม่ก็แต่งชุดไทย ผมลาพักร้อนช่วงบ่าย กลับมาเปลี่ยนเสื้อเป็นชุดพื้นบ้าน ส่วนจิ๋มก็นุ่งซิ่นเสียงดงาม

“ไหนว่ากลัวแก่” ผมแซว

“แล้วพ่อว่าแก่มั้ยล่ะ” เบื่อจริง คำถามบังคับตอบแบบนี้

“กรึงแน่นดีแล้วนะ เดี๋ยวหลุดในงานล่ะเกรงใจคนอื่นแย่”



เรา ๒ คนรีบไปโรงเรียนช่วงบ่าย เจ้าตัวเล็กโทรมาเรียก ๒ รอบแล้ว

“รำตะลีกีปัสของน้องป.๑ จะเริ่มแล้วนะพ่อ” เสียงเรียกมาจากปลายสาย

เรามาสายไปนิด เลยพลาดการแสดงชุดแรกไป



แต่ที่อยากจะดูมากกว่านั้นคือ “ลิเกฮูลู” ของเด็ก ป.๒ อันนี้สิเด็ดดวง มันน่ารักจนผมไม่รู้จะบรรยายว่าอย่างไร



การแสดงของ ป.๖ มาก่อน ป.๕

นั่นคืองานชักพระจำลอง ผมจึงได้เห็นเรือพระที่มีหัวเป็นพญานาค ๓ เศียร เห็นบุษบก เห็นการตกแต่งที่สวยงาม

ถึงตอนนี้ก็เข้าใจ วิชาการคาเฟ่คืออะไร มันไม่ใช่แค่การแสดง แต่เป็นการค้นคว้าหาที่มาของเรื่องราวที่รับมอบหมาย แล้วมาบรรยายในรูปแบบของพวกเขาเอง

มันสุดยอดมาก



การแสดงของ ป.๕ มาท้ายสุด เพราะเขาแสดงมโนราห์

ไอ้เราก็รู้จักแต่มโนราห์กับพรานบุญ แต่เด็กๆได้เกริ่นว่า ที่มาของการรำมโนราห์มาจาก ๒ สาย เค้าเลือกแสดงเรื่องราวของกษัตริย์ที่ขับลูกสาวออกจากเมืองที่ตั้งท้องจากการกินน้ำเกษรดอกบัว

มันเป็นการแสดงที่ดีที่สุดของวันนี้เลยเชียว นางรำ หนุ่มรำ มันช่างน่าเอ็นดูเสียจริง



งานนี้ปิดท้ายด้วยมโนราห์ของจริง ที่โรงเรียนไปเชิญนักแสดงมาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏที่สงขลา เด็กๆตื่นเต้น พ่อแม่ตื่นตา พรานบุญได้ออกมาจับนางมโนราห์ให้เห็นก็คราวนี้นี่เอง



เป็นอันว่าจบกิจกรรมวิชาการคาเฟ่อย่างอลังการจริงๆ

....................



เอาเข้าจริงๆ ผมก็ยังจำวันสุดท้ายของการเป็น ป.๖ ของตัวเองไม่ได้เลย

ป.๖ ของพี่แป้ง ถูกจัดขึ้นที่สโมสรอาจารย์ของม.อ. วันนั้นผมไปราขการที่อื่น แม่เธอส่งรูปลูกสาวร้องไห้ตาบวมมาให้ดู น้องสาวตัวเล็กวัยป.๑ กับเพื่อนๆก็มาร่วมกันร้องไห้ในวันปัจฉิมประหนึ่งจะต้องจากกันไปไหนไกล (อันที่จริงมันก็ยังคงอยู่บ้านเดียวกันนั่นแหละ)

งานนี้ผมไม่อิน เพราะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่ก็เข้าใจว่ามันต้องเป็นเช่นนั้น นักเรียนป.๖ กับน้องทุกชั้น มันสนิทกันจะตาย งานแบบนี้จึงเรียกน้ำตาของการจากลาได้เสียทุกที



จนมาถึงรุ่นน้องจ้า



จบจากวิชาการคาเฟ่ก็ย้ายเข้ามาปัจฉิม

งานนี้เริ่มต้นด้วยการให้เด็กๆมอบของที่ระลึกให้คุณครูทุกคน รวมถึงแม่ครัว และพี่ๆภารโรง ก็รับของที่ระลึกกันถ้วนหน้า

ครูก็มีให้นะครับ

“หมวกสามารถตรานกฮูก” น้าตื๊อทำให้ทุกปี ผมว่า หมวกนี้ก็เป็นสิ่งที่เด็กๆรอคอยเหมือนกัน



เมื่อถึงเวลาก็พากันไปในห้องโถงอีกแห่ง



เก้าอี้ถูกจัดเป็นวงกลางห้องเพื่อเชิญครูทุกคนไปนั่ง แล้วเด็กๆนั่งพื้นตามวงของเก้าอี้

มาลัยมะลิถูกจัดวาง



“ปาเจราจริยาโหนติ คุณุตตรานุสาสกา” เมื่อเสียงนี้ดังขึ้น คำกล่าวบูชาครูจึงถูกร้องต่อเนื่องกันไปจนจบ



“ลูกๆคะ กล่าวคำขออโหสิกรรมต่อคุณครูค่ะ” น้ามลของเด็กๆ เป็นผู้ดำเนินรายการในช่วงนี้

เด็กและครูเริ่มเช็ดน้ำตา เสียงเปล่งวาจาของเด็กๆ ทำให้ผมต้องกลืนน้ำตา

การหมอบกราบ มอบมาลัยให้ครูในยามนี้ มันกินใจผมจริงๆ



น้าเอ๋ น้าหลิน ป้ากุ้ง เตรียมด้ายดิบเส้นใหญ่มาหลายช่อ เธอนำไปวางให้ครู การผูกข้อมือในเย็นวันนี้จะเป็นปัจฉิมโอวาทแก่ลูกๆป.๖ ของคุณครู



เด็กๆค่อยๆยื่นมือให้ครูผูกข้อมือกันทีละคน

“เจ้ามิว” หนุ่มร่างโตที่สุดในห้องร้องไห้ก่อนใคร

“ฮาฟิซ” ตาแดงๆ แล้วปล่อยน่ำตาร่วงเผลาะ

“ปราณ” หนุ่มเซอ ร้องไห้สะอึกสะอื้น ร้องเป็นเรื่องเป็นราวเสียงดัง

“ฟอร์ชและเฟิร์ส” ก็ปล่อยน้ำตาหยดจนแม่ๆ ต้องคอยส่งกระดาษทิชชู่ให้



มันน่ารัก ไอ้เจ้าเด็กผู้ชายซนๆใครว่ามันกระด้าง นี่ก็เห็นกันอยู่ว่าการจากลาสะเทือนใจมันแค่ไหน ร้องไห้กันไม่ยั้ง

สาวๆที่ร้องจนตัวโยนก็เห็นจะเป็น “มีญ่า” ไอ้ตัวเล็กหัวฟูหน้าตาน่าเอ็นดู “เป้ย” ร้องไห้จนต้องออกมาโผกอดพ่อเป็นพักๆ “ปลายฝนและบัว” กอดครูบ้าง กอดกันเองบ้าง

ครูก็ไม่แพ้กัน

“ครูป้อม” คงเป็นครูคนหนึ่งที่เด็กๆรักมาก ผมเห็นเค้าร้องไห้ทุกปี

“ครูฝน” ทำท่าอดทนมาตั้งนาน ท้ายที่สุดก็ปล่อยน้ำตาออกมา

“ครูไก่” กอดเด็กๆไปก็ร้องไห้ไป รายนี้ เมื่อครั้งพี่แป้งเรียนชั้นอนุบาล น้าไก่เธอเป็นหัวหน้าทีมเด็กวิ่งเล่นไล่จับกันในโรงเรียน ซึ่งผมก็ยังงง ว่าเธอสร้างโรงเรียนมาเพื่อหาเพื่อนเล่นกันหรือไร



พ่อแม่แต่ละคนต่างก็สะกดอารมณ์ไว้ไม่อยู่

ผมคนหนึ่งล่ะที่นั่งมองเหตุการณ์ต่างๆโดยเลือกที่จะไม่เดินถ่ายรูป ช่วงเวลาแบบนี้ ต้องมองด้วยตา สัมผัสด้วยใจเท่านั้น แต่จะว่าไป มองก็ไม่ค่อยชัดเท่าไหร่นักหรอก ภาพมันพร่ามัว เพราะน้ำตามันเอ่อและพาลจะไหล ต้องรีบสะกดและกลืนมันลงคอไวไว



คนเข้มแข็งอย่างผมต้องไม่เสียน้ำตาให้ใครเห็น หึหึ

..........................



ผมหยิบเฟรนด์ชิ้พของชั้น ป.๖ ขึ้นมาเปิดดูอีกครั้ง

เนื้อกระดาษมันกรอบแข็งจนผมต้องค่อยๆแย้มมันออกทีละหน้าอย่างช้าๆ

ความทรงจำจากลายมือเพื่อนๆที่เขียนมานั้นมันกระจ่างขึ้นมาอีกหน่อย แต่กระนั้น ผมก็ยังจำป.๖ ของตัวเองในวันสุดท้ายไม่ได้สักที

..................



ผมเขียนเรื่องโรงเรียนนกฮูกในมุมมองของผมมาราว ๑๐ ปีเห็นจะได้ หลายคนมาอ่านแล้วนำลูกมาเข้าเรียน หลายคนสมใจ หลายคนผิดหวัง ซึ่งอันนั้นก็แล้วแต่จริตซึ่งมันคงไม่มีทางเหมือนกัน



แต่สำหรับครอบครัวของผม

อันนี้นี่แหละ ที่เราต้องการ



เสียดายที่มีลูกแค่ ๒ คน

นี่ถ้ามีลูกกับเมียน้อยได้อีกสักคน ก็จะพามาเรียนที่นี่แหละ ผมเชื่อว่า ครูตื๊อ ครูไก่ ย่าณี ครูพี่บิว ครูโอ๋ ครูนง ครูพี่บี และยายหนุ่ย แม่ครัวคนโปรดของลูกสาว ก็คงจะเห็นดีด้วย นะครับ



ธนพันธ์ ชูบุญ ณ โรงเรียนนกฮูก

๑๗ มีนาคม ๒๕๖๑

คำสำคัญ (Tags): #โรงเรียนนกฮูก
หมายเลขบันทึก: 645978เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2018 13:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2018 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

-สวัสดีครับ

-โรงเรียนนกฮูก..

-มีกิจกรรมน่าสนใจตลอดเวลานะครับ

-เรียนแบบเล่นๆ เล่นแบบเรียน ได้ความรู้

-ตั้งใจอยากจะมีโรงเรียน

-แต่เป็น FarmSchool

-มีผู้ใหญ่และเด็กๆ มาเรียนรู้ที่นี่ครับ

อยากให้โรงเรียนอนุบาล/ประถมเป็นแบบนี้ทั้งประเทศค่ะ

คุณหมอก็เล่าเก่งเหลือเกินแทบน้ำตาไหลตามเลยค่ะ วันอำลาอันน่าประทับใจ

รู้สึกหลงรักคุณหมอเสียแล้วค่ะ  ชอบมากกับการเล่าเรื่องของคุณหมอแป๊ะ ขอเป็นแฟนเพจนะค่ะ

สวัสดี​ค่ะ​คุณหมอรร.อนุบาลนกฮูต้องสอบเข้ามั๊ยค่ะอนุบาล1

ขอบคุณ​มาก​ค่ะ​

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท