ฒ.ผู้เฒ่าเบิกบาน ขับขาน-รำวง“ดีดดิ่ง”


ทุกเย็นเมื่อถึงเวลา ผู้สูงอายุจะทยอยออกมาร่วมกิจกรรม ครั้งละ 30-40 คน ซึ่งยังไม่สามารถดึงออกมาได้ทั้งหมู่บ้าน แต่ก็เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในส่วนของคนติดบ้านร่วม 20 คน ตอนนี้ออกมาร่วมกิจกรรมราว 10 คน ขณะที่ครอบครัวก็เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ มีการดูแลตามหลัก 3 อ. ได้แก่ อาหาร อารมณ์ และออกกำลังกาย รวมถึงปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น สำหรับผู้สูงวัยเองก็มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมกับคนในครอบครัว และชุมชนมากกว่าเดิม

“หนาวลมใจสั่น จิตใจไหวหวั่นเมื่อยามค่ำ

ยามหนาวใครเล่าจะฟ้อนรำ ยามค่ำใครเล่าจะดีดดิ่ง (ซ้ำ 2 รอบ)

ดี๊ด ดีด ดีด ดิ่ง ดีด ดี๊ด ดิ่ง ดีด ดิ่ง ดีด ดิ่ง (ซ้ำ 2 รอบ)

ฟังเพราะเสนาะเหลือเกิน ฉันฟังเพลิน เพลินกะเสียงซอ

ออ อี้ ออ ฟังเสียงซอ เสนาะใจฉัน”

 

เสียงร้องขับขานที่เข้าจังหวะกับเสียงกลอง และฉิ่ง ฉาบ เร่งเร้าอารมณ์ผู้เฒ่าจากบ้านหมู่สี่พัฒนา ต.บ้านแก่ง อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ กว่า 40 คน ที่มารวมตัวกันในลานกว้าง ให้ออกมาวาดลวดลายรำวงอย่างคึกคัก

กรณ์ภัสสรณ์ นาคคชสีห์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่สี่พัฒนา และผู้รับผิดชอบโครงการสร้างเสริมให้เกิดครอบครัวอบอุ่น เพิ่มบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุ บ้านหมู่สี่พัฒนา เล่าว่าการใช้แบบสำรวจครอบครัวอบอุ่น ของสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม จำนวน 180 ครัวเรือน จากทั้งหมด 239 ครัวเรือน ประชากร 821 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 89.11 พบว่ามีผู้สูงอายุ 145 คน คิดเป็นร้อยละ 17.66 สูงกว่าเกณฑ์ของประเทศ และยังมีปัญหาด้านสัมพันธภาพในครอบครัว ความอบอุ่นโดยรวมอยู่ที่ร้อยละ 41.02 สมาชิกในครัวเรือนไม่เข้าใจในการดูแลผู้สูงอายุ ระดับความสุขของครัวเรือนมีแค่ร้อยละ 42.76 ทั้งยังขาดการออกกำลังกายในผู้สูงอายุอีกด้วย

            สภาผู้นำของหมู่ 4 ที่ประกอบด้วยคณะกรรมการหมู่บ้าน กับตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ ที่เลือกกันเอง จำนวน 30 คน จึงได้จัดประชุม และทำประชาคม วางแนวทางข้อตกลงร่วมกันในการแก้ไขปัญหา ก่อให้เกิดการรวมตัวกันของผู้สูงอายุภายในชุมชน ในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ร่วมกันเพาะกล้าไม้เพื่อนำมาปลูกบนคันดินบริเวณริมคลองน้ำลัดภายในหมู่บ้าน รวมถึงสืบสานประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ที่จัดติดต่อกันมาถึง 25 ปี ทุกวันที่ 15 เมษายน ของทุกๆ ปี และที่สำคัญคือมีการฟื้นฟู “รำดีดดิ่ง” ซึ่งเป็นการละเล่นที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ ในยุคที่ยังใช้วัวควายในการนวดข้าว

 “การละเล่นนี้เกือบสูญหายไปจากชุมชน มักจะจัดขึ้นเฉพาะช่วงประเพณีสงกรานต์ โชคดีมีนักศึกษาจากวิทยาลัยพยาบาลมาลงพื้นที่และเก็บข้อมูล จึงพบว่ามีรำวงพื้นบ้าน ที่มีเพลงร้องเฉพาะถิ่นเป็นของตัวเอง แต่ละเพลงมีท่ารำ และมีแม่เพลงสูงอายุที่ยังคงจดจำเนื้อเพลงกับท่ารำได้ 10 กว่าเพลง คอยถ่ายทอดสู่คนอื่นๆ เช่น เพลงดีดดิ่ง, จันทร์วันเพ็ญ, โอ้ นี่ละหนา, กุหลาบเนื้อเย็น, เห็นกันอยู่ทุกวัน เป็นต้น” ผู้รับผิดชอบโครงการ อธิบาย

            ทุกเย็นเมื่อถึงเวลา ผู้สูงอายุจะทยอยออกมาร่วมกิจกรรม ครั้งละ 30-40 คน ซึ่งยังไม่สามารถดึงออกมาได้ทั้งหมู่บ้าน แต่ก็เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในส่วนของคนติดบ้านร่วม 20 คน ตอนนี้ออกมาร่วมกิจกรรมราว 10 คน ขณะที่ครอบครัวก็เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ มีการดูแลตามหลัก 3 อ. ได้แก่ อาหาร อารมณ์ และออกกำลังกาย รวมถึงปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น สำหรับผู้สูงวัยเองก็มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมกับคนในครอบครัว และชุมชนมากกว่าเดิม

 ยายประคอง ขำคม ผู้สูงอายุวัย 86 ปี และเป็นแม่เพลงคนสำคัญที่คอยถ่ายทอดบทเพลง ตลอดจนท่ารำสู่คนอื่นๆ บอกว่า จำเนื้อร้องได้ทุกเพลง เพราะเคยเป็นละครวิทยุมาก่อน สมัยเป็นเด็กนักเรียน ครูก็ให้รำ แต่ละเพลงมีท่ารำต่างกันไป ทั้งยังต้องแสดงออกทางสีหน้าท่าทางถึงอารมณ์ ความรู้สึก ตามเนื้อเพลง จึงรู้สึกดีใจที่มีการรื้อฟื้นรำวงดีดดิ่ง และสนุกสนานทุกครั้งที่ได้ร้องรำ

            “ก่อนหน้านี้เคยอยู่บ้านคนเดียว พอหลานเห็นว่าอายุมากแล้ว เริ่มมีปัญหาสุขภาพ เช่น ข้อเข่า หรือเรี่ยวแรงที่ลดลง จึงให้ไปอาศัยอยู่ด้วย แต่ยังออกมาร้องรำทุกครั้ง คอยแนะนำคนอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่แค่ความบันเทิง ยังมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เล่าสู่ถึงชีวิตประจำวัน และปัญหาต่างๆ ที่แต่ละคนพบพาน มีการกระเซ้าเย้าแหย่กันบ้าง คลายเครียดได้เป็นอย่างดี” แม่เพลงคนเดิม กล่าว

 ทุกวันนี้ การได้ออกมารำวงช่วงเย็น กลายเป็นสิ่งที่ผู้สูงวัยหลายคนรอคอย เพื่อร่วมพูดคุยกับผู้สูงวัยคนอื่นๆ ได้หัวเราะ พูดคุย ถกเถียง กันในเรื่องต่างๆ กลายเป็นความสุขเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ และกระจายสู่วัยต่างๆ ที่สังเกตได้ว่าเริ่มเข้ามาร่วมวงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเด็กๆ  หรือวัยกลางคนที่ยังอายุไม่ถึง 60 ปี เมื่อกลับจากทำงานในไร่สวน ส่วนหนึ่งจะแวะรำวงก่อนเข้าบ้าน เป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ตึงเครียดจากการทำงานมาตลอดทั้งวัน และร่วมพูดคุยสรวลเสเฮฮากับกลุ่มผู้สูงอายุ เสริมสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้นอีกด้วย

 


หมายเลขบันทึก: 644864เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2018 21:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2018 21:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท