๖๗๒. ​ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ปูชนียบุคคลด้านการศึกษา..บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย


“..การทำความดี ต้องดีอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ด้านนอกคือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แต่ด้านในคือรากฐานของตัวเรา ไม่ว่าข้างนอกจะเปลี่ยนแปลงสักแค่ไหน ตัวเราอย่าเปลี่ยนตาม ต้องซื่อสัตย์ต่อตนเองรู้จักปล่อยวางอย่าให้ใครเดือดร้อนจากกิเลสของเรา...”


            ข่าวการอนิจกรรมของศาสตราจารย์ระพี สาคริก ด้วยวัย ๙๕ ปี เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา..ทำให้ผมติดตามและเรียนรู้ประวัติ/ผลงานของท่านอย่างละเอียด ด้วยท่านเป็นนักการศึกษาที่รับใช้เบื้องพระยุคลบาท มาตลอดรัชสมัยรัชกาลที่ ๙ และเป็นบุคคลที่ปฎิบัติธรรม รับใช้สังคม..ที่น่ายกย่องเป็นอย่างยิ่ง

            ศาสตราจารย์ระพี  สาคริก เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2465  เป็นบุคคลที่มีนิสัยรักธรรมชาติ  รักการศึกษาและเรียนรู้  รักการคิด  และสนใจต่อชีวิตที่มีการต่อสู้กับปัญหาต่างๆ อย่างอิสระเสรีมาตั้งแต่ชีวิตยังเยาว์วัยมาก

            จากการที่ได้แสดงออกมาตั้งแต่เล็ก  ถึงความฝังจิตฝังใจและผลการเรียนที่สูงมากทางด้านวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ และการประดิษฐ์คิดค้นเช่น เครื่องบินเล็ก  เครื่องส่งวิทยุ  และเครื่องมือจัดรูปภาพ  ซึ่งในยุคนั้นมิใช่สิ่งแพร่หลายนักสำหรับเด็กไทย

            ในด้านศิลปะในสมัยนั้นยังเด็ก  ก็ได้แสดงออกถึงความมีจิตวิญญาณด้านนี้อยู่ในอุปนิสัยใจคอ  มีความรักธรรมชาติ  รักต้นไม้  รักสัตว์เลี้ยง  รักการเขียนภาพ  ถ่ายภาพ  และรักการดนตรี    ดังเช่นการเล่นไวโอลินมาตั้งแต่อายุเพียง 9 ขวบ และมีผลงานการแต่งเพลงอยู่ในวงดนตรีสุนทราภรณ์และเค.ยูแบนด์ด้วย

            สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งก็คือ   เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยสุภาพอ่อนโยน   มีความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์มาตั้งแต่เด็ก   จนเป็นที่รักของบรรดาเพื่อนๆ  ที่รู้จักมาโดยตลอด   เมื่อมีภาวะความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างเพื่อนๆ ที่อยู่กันเป็นจำนวนมากมักได้รับการขอร้องให้เป็นผู้ประสานรอยร้าวเสมอๆ

            กล้วยไม้เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งศาสตราจารย์ระพี  สาคริก  ได้แสดงออกถึงความรักความสนใจมาตั้งแต่อายุได้เพียง 10 กว่าขวบปี   และการดำเนินชีวิตที่สัมพันธ์อยู่กับสิ่งที่รักที่สนใจอย่างจริงจัง   ที่ทำให้พบความใจแคบของคนในสังคมได้เป็นแรงผลักดันอย่างสำคัญที่ทำให้ ศาสตราจารย์ระพี  สาคริก  ต่อสู้กับสิ่งที่สวนทางกับความคิดความเชื่อของตนเองอย่างทุ่มเทให้ด้วยชีวิตและจิตใจ

            ท่ามกลางภาพที่สะท้อนให้ ศาสตราจารย์ระพี  สาคริก เห็นว่า  เมืองไทยเป็นแหล่งที่มีกล้วยไม้ป่าอยู่ในธรรมชาติเป็นจำนวนมาก  แต่การเลี้ยงกล้วยไม้ก็จำกัดตนเองอยู่แต่เพียงในกลุ่มคนผู้สูงอายุ  ผู้มีเงินทอง  และมียศฐาบรรดาศักดิ์กลุ่มเล็กๆ   และท่ามกลางกระแสความคิดความเชื่อว่า กล้วยไม้เป็นของไร้สาระ  เป็นของฟุ่มเฟือย  และเป็นของคนแก่ คนมีเงิน ที่ปิดตนเองอยู่ในกลุ่มแคบๆ และยังใช้กล้วยไม้เป็นสิ่งซึ่งดูถูกดูแคลนผู้อื่น  

            กับความคิดของ ศาสตราจารย์ระพี  สาคริก  ที่ทวนกระแสดังกล่าวโดยเหตุที่เชื่อว่า  กล้วยไม้เป็นสิ่งที่ไม่มีส่วนรู้เห็นต่อการเป็นเช่นนั้น  แต่คุณภาพของความสามารถของคนต่างหากที่ทำให้เป็นเช่นนั้นไป  จึงเกิดเป็นแรงดลใจให้ตนเอง  รู้สึกท้าทายต่อการก้าวลงไปพิสูจน์ความจริงด้วยการกระทำจริงด้วยตนเอง

             ผลงานการค้นคว้าและส่งเสริมกล้วยไม้ทั้งในด้านการปรับปรุงพันุธุ์ ขยายพันธุ์ตลอดจนด้านธุรกิจการส่งออก ทำให้กล้วยไม้ไทยกลายเป็นสินค้าส่งออกด้านเกษตรที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย ด้วยเหตูนี้ ศาสตราจารย์ระพี สาคริกจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขาเกษตรศาสตร์  นอกจากนี้ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ อีกด้วย

          ศาสตราจารย์ระพี สาคริกเคยดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ รวมทั้งตำแหน่งอื่นๆ ที่สำคัญอีกมากมาย แม้จะเกษียณอายุราชการนานแล้วก็ตาม ศาสตราจารย์ระพี สาคริกก็ยังได้รับความเคารพยกย่องเป็นปูชนียบุคคล โดยเฉพาะในวงการศึกษาและวงการกล้วยไม้ จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็น บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย

          แนวคิดของศาสตราจารย์ระพี สาคริก..ที่สมควรยึดเป็นแบบอย่างก็คือ..

         “..การทำความดี ต้องดีอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ด้านนอกคือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แต่ด้านในคือรากฐานของตัวเรา ไม่ว่าข้างนอกจะเปลี่ยนแปลงสักแค่ไหน ตัวเราอย่าเปลี่ยนตาม ต้องซื่อสัตย์ต่อตนเองรู้จักปล่อยวางอย่าให้ใครเดือดร้อนจากกิเลสของเรา...”

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๘  กุมภาพันธ์  ๒๕๖๑

รวบรวมและเรียบเรียง จากการศึกษาข้อมูลใน YouTube

 

หมายเลขบันทึก: 644860เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2018 19:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2018 19:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท