เรียนรู้มหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคมที่สหราชอาณาจักร ๗. หุ้นส่วนโรงเรียนกับมหาวิทยาลัย



School-University Partnerships Initiative (SUPI) เป็นโครงการสำคัญของขบวนการขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรเข้าไปใกล้ชิดกับสังคม    ผมตีความว่าเป้าหมายหลักของ SUPI คือสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนให้เห็นคุณค่าของชีวิตนักวิจัย หรือนักวิชาการ    โดยการนำ “cutting-edge research into the classroom”   ตามในเอกสาร School-University Partnerships : Lessons from the RCUK School-University Partnerships Initiative (SUPI)     (https://www.publicengagement.ac.uk/sites/default/files/publication/nccpe_supi_lessons.pdf )    


ในที่นี้ “หุ้นส่วน” มี ๓ ฝ่ายคือ นักเรียน ครู และนักวิจัย    โครงการนี้สนับสนุนทุนโดย RCUK เริ่มปี ค.ศ. 2013   ในช่วง ๔ ปีที่ผ่านมาใช้เงินไป ๒.๔ ล้านปอนด์    และตามในเอกสารระบุวัตถุประสงค์ ๔ ข้อ    ตีความได้ว่าเขาต้องการให้เกิดความร่วมมือระยะยาว (หรือถาวร) ระหว่างมหาวิทยาลัยกับโรงเรียน    เพื่อยกระดับคุณภาพของโรงเรียน  


ที่จริงหากมองตามชื่อ School-University Partnerships  หุ้นส่วนหลักมี ๒ ฝ่าย คือโรงเรียนกับมหาวิทยาลัย    ฝ่ายโรงเรียนมีนักเรียนและครูเป็นผู้ดำเนินการและรับผลประโยชน์    ส่วนมหาวิทยาลัยผู้ดำเนินการและรับผลประโยชน์มี ๔ กลุ่มคือ นักศึกษาระกับปริญญาตรี  นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา  ผู้ฝึกปฏิบัติงานหลังปริญญา  และนักวิจัย (รวมทั้งอาจารย์)    ผมตีความว่า ความร่วมมือนี้ช่วยเปิดพื้นที่การทำงานของคนมหาวิทยาลัยให้กว้างขึ้น    ได้เรียนรู้ในสภาพจริง (ซึ่งในที่นี้คือโรงเรียน) มากขึ้น       


จากเอกสาร จะเห็นว่า RCUK ออกเงินและกำหนดเป้าหมาย  มอบให้ NCCPE บริหารโครงการ    ซึ่งบริหารแบบประสานงาน    แต่ละมหาวิทยาลัยและโรงเรียนที่ร่วมมือกันมีอิสระในการคิดวิธีดำเนินการให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนด    แล้ว NCCPE ติดตามประเมินผล และสังเคราะห์ผลการดำเนินการ ๔ ปี ออกมาเป็นข้อเรียนรู้ ตีพิมพ์เผยแพร่ในเอกสารนี้ และในเว็บไซต์ https://www.publicengagement.ac.uk/work-with-us/current-projects/school-university-partnerships-initiative/supi-lessons  


เอกสารระบุข้อเรียนรู้ ๖ ข้อ   สรุปได้ว่า ภาคีทั้ง ๓ ฝ่ายได้ประโยชน์ ได้เรียนรู้ และได้แสดงศักยภาพในการสร้างสรรค์    โดยเขาใช้หลักการ Co-creation   คือได้ร่วมกันสร้างวัสดุประกอบการเรียน เพื่อให้ครูและนักเรียนได้ใช้ในชั้นเรียนอื่นๆ   และได้สร้างรูปแบบของชมรมวิชาการหลากหลายแบบขึ้นในมหาวิทยาลัย    ให้นักเรียนได้เลือกเข้าร่วมเพื่อการเรียนรู้อย่างอิสระตามความสนใจของตนเอง    ที่ผมเรียกว่า “พื้นที่เรียนรู้ 2/3” (https://www.gotoknow.org/posts/635072) ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย   


ใน Engagement Conference 2017 วันแรก ช่วง Working Sessions มีเรื่อง IRIS : bringing the cutting edge to the classroom  (http://www.sanger.ac.uk/news/view/uk-students-working-scientists-help-prevent-childhood-parasite-infection )  ที่มีการจัดการให้นักเรียนชั้นมัธยมจากโรงเรียนต่างๆ สมัครเข้าทำงาน “นักวิทยาศาสตร์น้อย”   เพื่อค้นหา (annotate) ยีนจาก genome sequence ของพยาธิแส้ม้า (whipworm)    เป็นการเข้าร่วมทีมงานวิทยาศาสตร์จริงๆ    และผลงานก็เป็นผลงานจริง คือค้นพบยีนในจีโนมของพยาธิแส้ม้าของคน    จะเห็นว่าเขามีหน่วยงานการกุศลชื่อ The Institute of Research in Schools  (http://www.researchinschools.org/about-us.html)   ทำงานขับเคลื่อน  “transformation of the student and teacher experience of science”    และในกรณีของโครงการค้นหายีนของพยาธิแส้ม้านี้ IRIS ทำงานร่วมกัยสถาบัน Sanger ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์  


NCCPE ได้จัดทำคำแนะนำการทำงานร่วมกับโรงเรียน  อ่านได้ที่ https://www.publicengagement.ac.uk/do-it/who-work-with/working-with-schools    เป็นคำแนะนำแก่ฝ่ายมหาวิทยาลัย    บอกข้อจำกัดของโรงเรียน  แนะนำให้ปรึกษาหารือกับทางโรงเรียนก่อนคิดโครงการ    และแนะนำกิจกรรมที่สามารถดำเนินการ ๙ ประเภท ซึ่งมีกิจกรรม “after school clubs or national schools’ competitions” ซึ่งตรงกับ “พื้นที่เรียนรู้ 2/3” ดังกล่าวข้างต้น    


คำแนะนำดังกล่าวนำไปสู่ท่าทีของความร่วมมือ ที่ไม่ค่อยตรงกับหลักการ engagement ที่เน้นความเป็นหุ้นส่วน  ไม่ใช่ความช่วยเหลือ    เพราะข้อความในคำแนะนำบ่งไปทางแนะนำฝ่ายมหาวิทยาลัยเป็นฝ่ายไปชวนโรงเรียน    ไม่มีแนะนำฝ่ายโรงเรียนให้เป็นฝ่ายรุกไปชวนมหาวิทยาลัย   ดังนั้นในการประชุมจึงมี feedback ว่าโครงการนี้มองโรงเรียนเป็นฝ่ายรับเกินไป     ซึ่งทาง NCCPE ก็ยอมรับ    


ข้อเรียนรู้สำคัญสำหรับประเทศไทยคือ ควรมี management platform เพื่อใช้มหาวิทยาลัยเป็นหุ้นส่วนร่วมกับภาคีหุ้นส่วนอื่นๆ ในพื้นที่ (เช่น อปท., บริษัทเอกชน, หน่วยงานพัฒนาภาคประชาชน) ดำเนินการร่วมกับโรงเรียน เพื่อพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้รอบด้านของนักเรียนและเยาวชนนอกโรงเรียน   ในทำนองเดียวกันกับ SUPI  แต่ดัดแปลงให้เหมาะสมต่อบริบทไทย     management platform นี้ต้องมีการวิจัยและ M&E (monitoring & evaluation) สำหรับใช้หมุนวงจรเรียนรู้ของโครงการ    นำไปสู่การปรับปรุงโครงการ


ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การมี development platform ต่อ “พื้นที่ 2/3” สำหรับให้นักเรียนมีอิสระในการเลือกทำกิจกรรมที่ตนรัก   อันจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการ ๗ ด้านตาม 7 vectors of identity development ของ Chickering  (https://en.wikipedia.org/wiki/Chickering%27s_theory_of_identity_development)  

วิจารณ์ พานิช

๒๗ ธ.ค. ๖๐

หมายเลขบันทึก: 643730เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2018 21:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มีนาคม 2018 06:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท