Learning Activities 4.0


นโยบายความเป็น 4.0

นโนบายหลัก Thailand 4.0
นโยบายการพัฒนาประเทศในยุคนี้ คือ Thailand 4.0 เป็นทิศทางการพัฒนาประเทศไทย โดยการพัฒนาเศรษฐกิจไปอย่างต่อเนื่อง โดย แบ่งตามยุคสมัยเพื่อก้าวข้ามอดีต ออกเป็น 4 ยุค ได้แก่
ประเทศไทย 1.0  เน้นการเกษตรเป็นหลัก
ประเทศไทย 2.0 เน้นอุตสาหกรรมแต่เป็นอุตสาหกรรมเบา
ประเทศไทย 3.0  เป็นอุตสาหกรรมหนักและการส่งออก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์
ประเทศไทย 4.0 เป็นยุคเทคโนโลยี Creative และ Innovation เน้นการสร้างให้คนไทยสามารถคิดเองได้

การศึกษาในยุค 4.0 ก็ปรับตามกระแส นโนบายหลัก ได้แก่ 
การศึกษารูปแบบ 1.0 คือการศึกษาที่ผู้สอนเป็นผู้ป้อนความรู้ 
การศึกษารูปแบบ 2.0 คือการศึกษาที่ผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้ผ่านสื่อออนไลน์ได้ 
การศึกษารูปแบบ 3.0 คือการศึกษาที่ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ได้ 
การศึกษารูปแบบ 4.0 คือการศึกษาที่ผู้เรียนสามารถสร้างนวัตกรรมได้
    Education 4.0 คือ การเรียนการสอนที่สอนให้ผู้เรียนสามารถนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่งบนโลกนี้ มาบูรณาการเชิงสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ มาตอบสนองความต้องการของสังคม (วิรัช ปัณฑ์ศิริโรจน์,2560) 


กิจกรรมเพื่อการเรียนรู้(Learning Activities) 4.0

กิจกรรมเพื่อการเรียนรู้เป็นเรื่องของการศึกษา เพราะกิจกรรมเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ที่ช่วยให้ผู้เข้าร่วมอบรมเกิดองค์ความรู้ ประสบการณ์และทักษะที่จำเป็น โดยมีพื้นฐานของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 จิตวิทยาการศึกษา และทฤษฎีทางการศึกษาเป็นตัวตั้งเป็นหลักคิดในการเปลี่ยนแปลง หากตีความจากการศึกษาแบบ 4.0 มาเป็นกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้แบบ 4.0 อาจมองได้ ดังนี้

กิจกรรมแบบ 1.0 = วิทยากรบรรยาย การสื่อสารทางเดียว วิทยากรเป็นศูนย์กลาง
กิจกรรมแบบ 2.0 = เริ่มมีกิจกรรมสนุกสนาน  เริ่มมีกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้อบรมมากขึ้น แต่ยังติดกรอบความรู้เดิม ไม่มีการสร้างองค์ความรู้ใหม่
กิจกรรมแบบ 3.0 = กิจกรรมเน้นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ กิจกรรมแนว Action Learning มีกิจกรรมสนุกสนาน ปูพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์ มีการสะท้อนผลบทเรียน(AAR) เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ของการเรียนรู้ที่คาดหวัง
กิจกรรมแบบ 4.0 = กิจกรรมเน้นการสร้างนวัตกรรม เป็นกิจกรรมที่นำเอาความคิดสร้างสรรค์ออกมาเป็นนวัตกรรม ทั้งนี้เกิดจากความต่อเนื่องของการเรียนรู้แบบ 3.0 มีกระบวนการโค้ชที่เหมาะสม เงื่อนไขสำคัญ บรรยากาศอำนวย เวลาเหมาะสม จึงจะเกิดขั้นนี้ได้

สิ่งที่เราต้องเปลี่ยน คือ การอบรมแบบเดิมๆ ที่เกิดการเรียนรู้น้อยมาก กิจกรรมเป็นเรื่องของการศึกษาและการพัฒนา เมื่อการศึกษาเปลี่ยนแล้ว การจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ก็ต้องเปลี่ยนแปลงด้วย ทั้งนี้หลักคิดสำคัญของการเปลี่ยนแปลงห้องกิจกรรม หรือห้องเรียนนั้น อาจไม่ใช่เรื่องใหม่เลยเสียทีเดียว เพราะดูเหมือนว่าในด้านวิชาการศึกษาจะเปลี่ยนแปลงก่อนมีนโยบายนี้มาหลายปี โดยเฉพาะกระแสเรื่องการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 การจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้มีหลักการศึกษาสำคัญอื่นๆที่สอดคล้องกับแนวคิด ที่นำไปสู่กิจกรรมแบบ 4.0 อีกมาก ยกตัวอย่าง เช่น ปีรามิด แห่งการเรียนรู้ ที่อธิบายได้ชัดเจน เรื่อง ลำดับขั้นการจดจำ วิธีการสอน และยุคสมัยของการเรียนรู้

จากแผนภาพปีรามิด จะเห็นว่า หากเราจัดอบรมแบบบรรยายโดยวิทยากร ผู้เข้าร่วมอบรมแทบไม่ได้ความรู้ ความจำอะไรเลย เพราะเปอร์เซ็นที่กำหนดนั้น มีตัวแปรในสถานการณ์จริงที่เข้ามา ได้แก่ สภาพอากาศ ศักยภาพของผู้เข้าร่วม เทคนิคของวิทยากร บรรยากาศการเรียนรู้ เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้เปอร์เซ็นที่ได้เรียนรู้ลดน้อยถอยลงตามลำดับ หากเราจัดกิจกรรมแบบได้อธิบายกลุ่มขึ้นไป มั่นใจได้เลยว่าผู้เข้าร่วมจะจดจำความรู้ได้มากกว่าการบรรยายปกติเป็นสองเท่า ซึ่งจะคุ้มค่าต่อการลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ธีระวุฒิ  ศรีมังคละ 
เขียนเมื่อ วันที่ 2 มกราคม 2560


การอ้างอิง

กลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สพป.นครปฐม เขต 2. (2559). Education 4.0. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 เดือนมกราคม 2560, จากเว็บไซต์: http://chaisri-nites.hi-superv...

จันทรา เทพอวยพร.  (2560).  การศึกษาไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0.  สืบค้นเมื่อวันที่ 1 เดือนมกราคม 2560, จากเว็บไซต์:  http://km.li.mahidol.ac.th/tha...

วิรัช ปัณฑ์ศิริโรจน์. (2559). Education 4.0. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560. จากเว็บไซต์ :  https://www.applicadthai.com/a...
ภาพประกอบ "ปิรามิดแห่งการเรียนรู้ จาก https://www.google.co.th/url?s...

หมายเลขบันทึก: 643722เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2018 16:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มกราคม 2018 08:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท