ส.ค.ส. ๒๕๖๑ “ปีใหม่ กับ เศรษฐกิจพอเพียง” ความทรงจำจาก ๒๕๔๐ ถึง ปัจจุบัน


ส.ค.ส. ๒๕๖๑ “ปีใหม่ กับ เศรษฐกิจพอเพียง”ความทรงจำจาก ๒๕๔๐ ถึง ปัจจุบัน

(๑) ใครก็ตามที่อายุอานามเฉียดเลข ๕ นำหน้าขึ้นไป จะต้องจดจำวิกฤตเศรษฐกิจ ‘ต้มยำกุ้ง’ ในปีพ.ศ.๒๕๔๐ ได้เป็นอย่างดี ผมเป็นผู้หนึ่งซึ่งมีความอ่อนหัดในสิ่งที่เรียกว่า ‘ธุรกิจ’ ประกอบกิจการถ่ายภาพในขณะนั้นก็เป็นหนึ่งในผู้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ปีนี้ผมอายุย่าง ๖๔ ปี ส่ง ส.ค.ส.มานับไม่ถ้วนทั้งทางไปรษณีย์และแบบอิเล็คทรอนิคส์ในปัจจุบัน แต่มี ส.ค.ส.เพียงฉบับเดียวเท่านั้นที่ผมไม่เคยลืมเลือน นั่นคือ ส.ค.ส.ที่เก็บเป็นตัวอย่างอยู่ในมือขณะนี้

(๒) กลางปี พ.ศ.๒๕๔๐ เพื่อนๆร่วมอาชีพหลายคน ต้องเปลี่ยนอาชีพเดิม มุ่งกลับบ้านต่างจังหวัด กลับไปสู่ถิ่นกำเนิด อาศัยครอบครัวและเครือญาติดูดซับบาดแผลจากการวิกฤตซึ่งเกิดขึ้นทั้งปัจจัยภายในประเทศและภายนอกประเทศร่วมกัน

(๓) อยากส่ง ส.ค.ส. แต่งบไม่มี จะทำอย่างไรดี เมื่อไม่มีรายได้ ก็ต้องจ่ายให้น้อยที่สุด ในปีนั้นเรามีคอมพิวเตอร์ที่ความเร็วไม่สูงนัก แต่พอจะออกแบบ ส.ค.ส.ฉบับเล็กๆ เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทแบบสีก็มี แต่จะเอางบที่ไหนไปซื้อหมึกมาพิมพ์รูปสวย ๆ ทำเป็น ส.ค.ส.ให้ผู้หลักผู้ใหญ่ ญาติมิตร รวมทั้งเพื่อนฝูงได้ ส.ค.ส.ขนาด A6 จากกระดาษ A4 น้ำหนัก ๘๐ กรัม พับสองครั้งให้ดูมีน้ำหนักเหมือนการ์ด (ไม่มีงบไปซื้อการ์ดแข็งๆ) พิมพ์ข้อความ ‘พระราชดำรัสฯ’ ในมือวันนี้ จึงเป็นความทรงจำที่ภาคภูมิใจที่สุดของการออกแบบให้ลงตัว หรือเกิดความ ‘สมดุล’ ทั้งความปรารถนาดี ความงาม เนื้อหา และงบประมาณ

(๔) ผมเชื่อว่าในปีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จากโครงสร้างของประเทศที่ไม่สมดุลนั้น พสกนิกรของพระองค์ต่างรอความหวังๆหนึ่ง เพราะทุกๆวันที่ ๔ ธันวาคม พระองค์จะได้พระราชทานวโรกาสให้บุคคลสำคัญและตัวแทนของประชาชนกลุ่มต่างๆ เข้าเฝ้าฯ ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สำหรับผู้ที่ไม่ได้เข้าเฝ้า ก็จะรอฟังการถ่ายทอดสดจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ และนำมาออกอากาศซ้ำโดยสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ในช่วงข่าวราชสำนักโดยไม่มีการตัดต่อใดๆ

(๕) ในเวลานั้นผมมิได้ประสีประสาอะไรกับคำว่า ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ยังไม่สามารถแยกแยะระหว่าง ‘เกษตรทฤษฎีใหม่’ และ ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ จำได้แต่ว่ามีประโยคหนึ่งของพระองค์ที่สะกิดใจตัวเองมาก แต่จดไม่ทันต้องรอจนเช้าวันรุ่งขึ้น ไปที่แผงหนังสือพิมพ์ ซื้อไทยรัฐมาหนึ่งฉบับ และกวาดสายตามองหาประโยค “การจะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกิน และมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพออยู่พอกิน..." ซึ่งผมได้อัญเชิญมาเป็นข้อความส่งความสุขปีใหม่ ๒๕๔๐ และยังความประทับใจแก่ผู้หลักผู้ใหญ่ตลอดจนญาติมิตรและเพื่อนๆที่ได้รับ ความสุขแบบประหยัดนี้

(๖) จากวันนั้นที่ไม่ประสีประสาถึงวันนี้ ผมก็ค่อยๆได้ศึกษาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ได้ทำงานให้กับมูลนิธิรากแก้ว มีโอกาสได้ทำความกระจ่างจากงานที่ปฏิบัติและโชคดีที่ได้ผู้รู้จริงอีกท่านหนึ่งมา ‘ติว’(หรือบรรยาย) ให้เป็นการส่วนตัว คือ ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา ท่านได้มอบหนังสือมากองใหญ่ในวันนั้นให้ผมได้อ่าน ประกอบกับการได้เรียนรู้จากปราชญ์ในท้องถิ่นอีกนับไม่ถ้วน ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น เรียนรู้การน้อมนำ ฯ ของท่านอาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผ่านท่านกำนันเคว็ด ประวิทย์ ภูมิระวิ ที่โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ จังหวัดชุมพร ต่อเนื่องมายังพระครูสุพรหมธรรมาภิวัฒน์ หรือ พระอาจารย์โต้ง, พระอาจารย์สังคม ธนปัญโญ วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม และเรื่อยมาจนไม่สามารถระบุในที่นี้ได้ รวมทั้งผู้ที่เพิ่มความหลงใหลหลักปรัชญา ฯ แบบถึงที่สุดและให้ความรู้คำปรึกษาผมมาโดยตลอด คือ รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์ แห่งภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ดร.ฤทธิไกร ไชยงาม อาจารย์รุ่นน้อง แห่งมหาวิทยาลัยสารคาม ฯลฯ ล้วนเป็นผู้ทำให้ผมได้กระจ่างชัด และเกิดความหลากหลายอย่างยิ่งในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

(๗) ในปลายปี พ.ศ.๒๕๕๘ ผมได้มีโอกาสนำเสนอสิ่งที่ผมได้ตกผลึกทางความคิด นั่นคือ ‘ธุรกิจพอเพียง’ ต่อคุณณรงค์ เพชรล้ำ สำนักมัธยมปลาย สพฐ. และเป็นที่มาของหนึ่งในสีรูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ ตามแนวทางการจัดการทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ ที่เน้นสมรรถนะทางสาขาวิชาชีพ ของสำนักมัธยมศึกษาตอนปลาย สังกัดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

(๘) ในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ อันเป็นวันสุดท้ายของพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ผมได้เสนอข้อคิดผ่านทางเฟสบุ๊คว่า ... “ไม่มีพระราชมรดกใดๆที่จะสำคัญไปกว่า ‘ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง’ <https://www.facebook.com/peerawas.keesiri/posts/10155797689473686> และถึงวันนี้ผมก็ยังอยากจะเชิญชวนให้เพื่อนๆทุกท่านได้ให้ความสำคัญกับพระราชมรดกนี้ให้ลึกซึ้งกว่าการนึกเอาเองโดยถ้อยคำ

(๙) เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ ๒๕๖๑ นี้ เราต่างส่ง ‘ความสุข’ หรือความปรารถนาดีต่อกันและกันอย่างกว้างขวาง เพราะค่าใช้จ่ายปัจจุบันนี้ไม่เหมือนกับสมัยต้องใส่ซองปิดแสตมป์ ส่งทางไปรษณีย์ จากกระดาษ A4 พับสองครั้งเหลือขนาด A6 อันเป็นความทรงจำต่อ ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ อย่างหาที่เปรียบมิได้แล้ว ผมก็ปรารถนาที่จะให้ทุกท่านเรียนรู้คำว่า ‘ความสุขที่แท้’ ต้องเป็นความสุขที่ ‘สมดุล’ ไม่เบียดเบียนตนเอง ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ หรือรวมทั้งโลกใบนี้ ไม่ว่าในด้านใดๆก็ตาม

(๑๐) ขอพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวง จงปกป้อง คุ้มครอง รักษา ให้ทุกท่านมีความสุข คิดกุศลสิ่งใดขอให้ท่านได้สิ่งนั้นสมตามความปรารถนา.


พีรวัศ กี่ศิริ 

๑ มกราคม ๒๕๖๑ 

บ้านจิรายุส ซอยหม่อมแผ้วถนนพระรามที่ ๖ 

พญาไท พญาไทกรุงเทพมหานคร

หมายเลขบันทึก: 643718เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2018 12:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มกราคม 2018 12:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท