๑๗. ห้วยองคต..โครงการพระราชดำริ..บนเส้นทางแห่งความยั่งยืน..


กาลเวลาจะผ่านไป..นานแค่ไหนก็ตาม..พสกนิกรทุกคน จะรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ ๙ อยู่ตลอดเวลา ..คิดถึงกษัตริย์ผู้มองเห็นอนาคต ทุกแห่งหนบนแผ่นดินนี้..จะแย่แค่ไหนก็กลับมาดีได้..

             เช้าวันอาทิตย์..หลังอาหารมื้อเช้า..ที่บุรีธารารีสอร์ท  ผมเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋า แม้ว่าเป้าหมายจะอยู่ที่..อำเภอหนองปรือ กับโครงการพระราชดำริห้วยองคต แต่ยังไงก็ต้องขอแวะเยี่ยมชม..ปางช้างไทรโยค..ที่เคยได้ยินแต่ชื่อมานาน..วันนี้มาอยู่ใกล้แค่นี้เอง....

            สิบโมง..เดินทางถึงปางช้าง มีนักท่องเที่ยวไม่มากนัก..และทุกคนที่เข้ามาชม ต่างก็ให้อาหารช้างและถ่ายภาพกันอย่างสนุกสนาน แม่ค้าที่ขายอาหารบอกผมว่า..ตอนนี้ไม่มีกิจกรรมการแสดงของช้างและก็ไม่มีการขี่ช้างเดินท่องเที่ยวป่าเหมือนเมื่อก่อน..เนื่องจากช้างมีน้อย..และช้างก็ชรามากแล้วด้วย...

            ผมจึงเดินทางออกมาจาก..ปางช้างไทรโยค ด้วยความรู้สึกปลอดโปร่งใจ ที่ได้รับรู้ว่า..ช้างไทยไม่ได้ถูกทรมาน มีความเป็นอยู่ที่สุขสบายพอสมควร...

            ผมต้องขับรถอีกราวๆ ๗๐ กม.เพื่อเข้าสู่อำเภอหนองปรือ โดยผ่านตัวอำเภอบ่อพลอย..เที่ยงตรง..ถึงหนองปรือ..รถยังต้องขับเคลื่อนต่อไป ห้วยองคตยังไกลออกไปอีก ๒๕ กม..

            ทางคดเคี้ยว..แต่ร่มรื่น สองข้างทางเป็นไร่อ้อย มองเลยไร่อ้อยไป ก็จะเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ทอดตัวยาว..เห็นแล้วสะดุดตาพาให้เพลิดเพลินใจ เป็นพื้นที่รอยต่ออำเภอด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ที่มีบรรยากาศใกล้เคียงกับทางไทรโยค..

            ป้ายบอกทาง..โครงการพระราชดำริ..มีให้เห็นตลอดทาง พอใกล้จะถึงตัวโครงการฯ รถวิ่งเข้าไปในท่ามกลางต้นไม้ที่เขียวครึ้ม ผ่านอุโมงค์ต้นไม้ ส่วนใหญ่เป็นไม้สะเดา..ผมผิดสังเกตเล็กน้อย..ที่เห็นต้นสะเดาลดลงไปมาก...

            ชื่นใจ..หายเหนื่อยเลย เมื่อรถจอดหน้าตึกอำนวยการฯ สภาพทั่วไปดูเงียบเหงาเพราะเป็นวันหยุดยาว..แต่สำนักงานและอาคารทั่วไปดูสะอาดเรียบร้อยมาก...  

             นิทรรศการก็จัดได้อย่างสมพระเกียรติ ข้อมูลมีความพร้อมและภาพถ่ายก็ชัดเจนน่าสนใจ โต๊ะ เก้าอี้ และวัสดุอุปกรณ์จัดวางอย่างเป็นระเบียบ บ่งบอกการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ใส่ใจในโครงการมาโดยตลอด..น่าชื่นชมยิ่งนัก...

            เจ้าหน้าที่ที่อยู่เวรยาม ออกมาต้อนรับ บอกผมว่า..เจ้าหน้าที่ฝ่ายบรรยายและนำชมไม่อยู่ จึงขอแนะนำโครงการฯพอเป็นสังเขป..ซึ่งผมก็ยินดี..แต่ขอถ่ายภาพก่อน...

            ขณะที่ถ่ายภาพ..ผมก็ถามเจ้าหน้าที่ไปด้วย ว่าทำไมอุโมงค์ต้นไม้ ถึงมีต้นไม้น้อยลง เจ้าหน้าที่บอกว่า ต้นสะเดาถูกหนอนกินยืนต้นตายไปหลายต้น..หน้าฝนนี้..เขาจะเร่งปลูกใหม่..ให้สวยงามเหมือนเดิม...

            ผมถ่ายภาพอย่างจุใจ..เดินเข้ามาใกล้แผนผังขนาดใหญ่ แสดงที่ตั้งและอาณาเขตของโครงการพระราชดำริห้วยองคต ..เจ้าหน้าที่ก็เริ่มบรรยายความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของโครงการฯ...

            โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี ก่อตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2533 โดยมีพระราชกระแสรับสั่งกับ นายสุเมธ ตันติเวชกุล  เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ว่าได้ทราบจากพระราชญาณรังสี (พระอาจารย์จันทร์ คเวสโก) ได้ไปดำเนินการพัฒนาพื้นที่บริเวณตำบลหนองปรือ อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนเป็นอย่างดี    

            พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงให้เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาไปนมัสการ พระอาจารย์จันทร์ คเวสโก เพื่อช่วยประสานและสนับสนุนการดำเนินงานในโครงการดังกล่าวนี้ ซึ่งต่อมาได้พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการจัดหาที่ดินจำนวนหนึ่ง เพื่อนำมาวางแผนและจัดทำโครงการ เพื่อพัฒนาและช่วยเหลือประชาชนในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว และพระราชทานชื่อว่า “โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ”     

            อีกทั้งได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ และเงินจากมูลนิธิชัยพัฒนาเข้าร่วมสนับสนุนโครงการ โดยมี พระอาจารย์ญาณรังสี (พระอาจารย์จันทร์ คเวสโก) วัดป่าชัยรังสี อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร พระราชมงคลญาณ วัดปากน้ำ เป็นผู้ร่วมสนับสนุนและประสานการดำเนินงานต่างๆ อันเป็นแนวทางพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ที่ให้ฝ่ายต่างๆประสานการทำงานร่วมกันทั้งภาคราชการ ราษฎรและศาสนา 

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเน้นเรื่อง “การบริหารและจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยให้ราษฎรได้อยู่อาศัยและทำกินร่วมกับการคงอยู่ของธรรมชาติอย่างเกื้อหนุนกัน คือไม่ทำลายซึ่งกันและกัน ตามหลักการฟื้นฟูและสร้างสมดุลในระบบนิเวศวิทยา ทำให้ทุกชีวิตมีความผาสุก และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

           เจ้าหน้าที่ที่บรรยายบอกผมว่า..พื้นที่โครงการแห่งนี้ แต่เดิมนั้นเป็นพื้นที่อับฝน พอโครงการพระราชดำริเข้ามา มีแหล่งน้ำเกิดขึ้น ราษฎรปลูกพืชไร่และพืชสวน การทำมาหากินก็ไม่ฝืดเคือง ผลผลิตอุดมสมบูรณ์ มั่นคงและยั่งยืนมาถึงทุกวันนี้...

            ผมจึงคิดเสมอว่า..กาลเวลาจะผ่านไป..นานแค่ไหนก็ตาม..พสกนิกรทุกคน จะรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ ๙ อยู่ตลอดเวลา ..คิดถึงกษัตริย์ผู้มองเห็นอนาคต ทุกแห่งหนบนแผ่นดินนี้..จะแย่แค่ไหนก็กลับมาดีได้..

            แล้วชีวิตของเราล่ะ..ในปีที่ผ่านมา..พบปัญหาและอุปสรรคใดบ้าง?...ปัญหาใหญ่น้อย..มองให้เล็กลงได้ไหม.?.แล้วนำวิธีคิดที่เปี่ยมด้วยคุณค่าของพระองค์มาใช้เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น..

            ท้ายที่สุดนี้..ผมคิดถึงพระราชดำรัสของพระองค์ที่พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ ๒๕๔๘..จากข้อความพระราชดำรัส ทำให้เห็นว่า..”การดำรงชีวิตตามปกติ ไม่ใช่จะสามารถเรียกหาแต่ความสุข แต่ทว่า..ทุกข์ สุข ต่างหาก คือเรื่องปกติของชีวิต..ชีวิตมีขึ้นมีลง ราวกับคลื่นในทะเล หรือเป็นธรรมชาติของทุกสรรพสิ่ง..”

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑  มกราคม  ๒๕๖๑


 

          

           

 

หมายเลขบันทึก: 643726เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2018 17:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2018 19:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ส้มขอขอบคุณที่แบ่งปัน อาจารย์ เขียนได้เห็นภาพตาม ซาบซึ้ง คิดถึง พระองค์ท่านจริงๆ ค่ะ

ส้มขอขอบคุณที่แบ่งปัน อาจารย์ เขียนได้เห็นภาพตาม ซาบซึ้ง คิดถึง พระองค์ท่านจริงๆ ค่ะ


มีความสุข ด้วย..ความ"ไร้โรคอันเป็นลาภอันประเสร็ฐยิ่งแล"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท