​ครูพระพิราพ : บรมครูนาฏศิลป์และการดนตรีไทย



ครูพระพิราพ บรมครูนาฏศิลป์และการดนตรีไทย

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อแสดงความเคารพบูชาครูเทพ ครูมนุษย์ และครูพักลักจำที่ให้การประสิทธิ์วิชาการดนตรีแก่ผู้เขียน หากบทความนี้มีคุณประโยชน์ ผู้เขียนขอน้อมถวาย อานิสงส์แด่ครูทุกท่านด้วยความเคารพยิ่ง

ในบทละครรามเกียรติ์ ฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 กล่าวว่าพระพิราพเป็นอสูรเทพบุตร มีฤทธิ์มาก พระอิศวะทรงกำหนดเขตป่าให้อยู่ ณ เชิงเขาอัศกรรณ์ หากมีสิงห์สาราสัตว์หรือผู้ใดพลัดหลงเข้าไปในเขตป่าพระพิราพมีสิทธิ์จับกินได้ ความว่า

"มาจะกล่าวบทไป
ถึงพิราพขุนมารหาญกล้า
อยู่เชิงอัศกรรณบรรพตา
มีอานุภาพเป็นพ้นนัก
เมื่อจะแผลงฤทธิอำนาจ
หวาดไหวดินฟ้าอาณาจักร
นักสิทธ์วิทยาสุรารักษ์
กลัวเดชขุนยักษ์ทั้งธาตรี
พระอิศวรเอากำลังสมุทรไท
ทั้งพระเพลิงแบ่งให้ยักษี
แล้วประทานบริเวณพนาลี
อสุรีสร้างสระอุทยาน
ต่อสิงสัตว์ล่วงลัดเข้าในถิ่น
จึ่งให้จับกินเป็นอาหาร
นอกนั้นไม่ทำสาธารณ์
ขุนมารกลัวเจ้าภพไตร
ได้ต้นชมพู่พะวาทอง
เป็นของต้องอัธยาศัย
แบกด้วยกำลังว่องไว
ตรงไปยังสวนมาลี ฯ"

ส่วนใน สมญาภิธานรามเกียรติ์  กล่าวถึงพระพิราพความว่า 

"พิราพพิโรธร้าย           เริงหาญ
แรงราพคอนคชสาร     สิบได้
สีม่วงแก่กายมาร          วงทัก ษิณานอ
สวนปลูกพวาทองไว้     สถิตย์แคว้นอรรศกรรณฯ"

เมื่อพระรามและคณะเดินดงผ่านเข้ามาในป่าจึงถูกเหล่าพลยักษ์เฝ้าสวนเข้าลุมจับ แต่ก็ถูกพระลักษณ์ฆ่าตายไปเสียมาก พวกที่เหลือก็พากันหลบซ่อน เมื่อพระพิราพออกไปเที่ยวสวนจับช้างกินได้เห็นต้นไม้น้อยใหญ่กิ่งหักล้มระเนระนาดจึงโกรธกริ้วโยนช้างทิ้ง ส่งเสียงร้องสนั่น ยักษ์ที่หลบซ่อนอยู่จึงรีบออกมาแจ้งข่าวที่เกิดขึ้น เมื่อทราบข่าวพระพิราพจึงตามไปต้นรังใหญ่ที่คณะพระรามนั่งพัก จึงได้ต่อสู้กับพระราม สุดท้ายพระพิราพต้องศรพรหมมาศของพระรามล้มลง

ชาวดนตรี โขน ละคร นาฎศิลป์ไทยถือพระพิราพเป็นบรมครูสูงสุดร่วมกับพระนารถฤาษี ในงานพิธีไหว้ครูจะมีการจัดโต๊ะเครื่องสังเวยให้กับพระพิราพแยกต่างหาก ซึ่งต้องใช้ของสดของคาวเท่านั้น

พระพิราพอาจหมายถึง "ไภรวะ" ภาคดุร้ายของพระศิวะ หรืออาจหมายถึงเทพพื้นเมืองของชาวฮินดูที่เกี่ยวข้องกับป่า ซึ่งข้อนี้ผู้เขียนเองยังหาข้อสรุปไม่ได้ ขอให้เป็นหน้าที่ของนักวิชาการในการสืบหาความจริงต่อไป

ในบทความเรื่องความเป็นมาของท่ารำองค์พระพิราพ : ข้อสันนิษฐานใหม่ โดยคมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ในหนังสือ ภารตะ-สยาม ผี พราหมณ์ พุทธ? ได้อธิบายว่าท่ารำองค์พระพิราพนั้นเกิดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 6 ผู้คิดท่ารำคือคุณหญิงนัฏกานุรักษ์ (เทศ สุวรรณภารต) ภรรยาพระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) ครูโขนในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้รำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพเป็นคนแรก จากนั้นก็มีการถ่ายทอดสืบต่อกันมาเช่นครูรงภักดี (เจียร จารุจรณ) ครูอร่าม อินทรนัฏ ครูเอกรินทร์ พงษ์พันธ์เดชา เป็นต้น 

ผู้ที่ได้รับการต่อท่ารำเพลงหน้าพาทย์นี้จะต้องมีความสามารถเชี่ยวชาญและเป็นที่ไว้วางใจจากครูผู้ใหญ่ผู้ที่จะได้รับมอบเพลงหน้าพาทย์ จะต้องเป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ได้รับการบวชเรียนมาแล้ว ก่อนจะต่อท่ารำจะต้องมีการถือศีลกินเพล 7 วันเมื่อครบกำหนดจะต้องไปรับการรดน้ำมนต์เพื่อทำให้กายและใจพ้นจากเสนียดจัญไรให้เป็นผู้มีจิตใจบริสุทธิ์เสียก่อนแล้วจึงเริ่มพิธี  การต่อท่ารำจะต้องเข้าไปต่อในโบสถ์สองต่อสองระหว่างครูกับศิษย์เท่านั้น ผู้อื่นนอกจากผู้บรรเลงเพลงปี่พาทย์แล้วจะไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือมองดูได้เลย เวลาต่อท่ารำผู้รับมอบจะต้องถอดเสื้อแล้วให้ครูผู้ใหญ่เขียนเลขยันต์ด้วยปูนลงลายทักษิณาวรรตบนร่างกายทั้งส่วนหน้าและหลัง เชื่อกันว่าหากเกิดการรำผิดจังหวะท่าทางปูนที่ครูเขียนไว้นั้นจะลบไม่ออก ต้องรำจนกว่าจะถูกต้องปูนจึงสามารถลบออกจากร่างกายได้

การรำองค์พระพิราพ ถือว่าเป็นพิธีกรรมสำคัญของแวดวงนาฏศิลป์การดนตรีไทยที่ให้ความสําคัญและให้ความเคารพยำเกรงอย่างสูงสุด ส่วนเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพรอนนั้นถือว่าเป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงสุดทางดนตรีไทยและนาฏศิลป์ เป็นเพลงศักดิ์สิทธิ์ ตัวผู้เขียนเองได้มีโอกาสเข้าร่วมพิธีไหว้ครูดนตรีไทยหลายครั้งและทุกครั้งที่ได้ฟังเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพรอน ก็รู้สึกว่าหัวใจเต้นแรง มือไม้สั่นเหมือนจะควบตุมตนเองไม่ได้ ท่วงทำนองเพลงแสดงถึงฤทธานุภาพขององค์พระพิราพได้เป็นอย่างดี เห็นผู้คนที่เข้ามาร่วมงานบางคนไม่สามารถควบคุมตนเองได้ลุกยืนออกท่าออกทางไปเลยก็มีไม่น้อย

ภาพประกอบ พระพิราพ จิตรกรรมฝาผนังระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ห้องที่ 20 ตอน พระราม พระลักษณ์ นางสีดาเข้าสวนพิราพ ฆ่าพิราพตาย เขียนโดยนายสุก สนิทแนบ เขียนซ่อมโดย พ.ท.ศิริ จินดา ถ่ายเมื่อ ตุลาคม 2560

หนังสือประกอบการเขียน
คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง. (2560). ภารตะ-สยาม ผี พราหมณ์ พุทธ?.กรุงเทพฯ: มติชน.
จตุพร รัตนวราหะ. ( 2519).เพลงหน้าพาทย์กรุงเทพฯ: ประพันธ์สาส์น. 

คำสำคัญ (Tags): #พระพิราพ
หมายเลขบันทึก: 643395เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2017 20:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2017 20:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท