ที่มา ความเป็นไปได้ “การศึกษา 4.0”


​รัฐบาลหรือศธ.ปัจจุบัน กำลังทำสิ่งตรงกันข้าม คิดอย่างทำอย่าง การศึกษายุค Thailand 4.0 ต้องการให้เด็ก เยาวชน หรือคนไทย รังสรรค์นวัตกรรม พัฒนาต่อยอดสิ่งที่เรามีอยู่ จึงต้องการนักคิด คนที่มีเหตุผล ไม่หลงทำตามอะไรง่ายๆ ไม่สักแค่ทำตามๆกันไป ความเป็นตัวของตัวเองต้องมี ขณะการบริหารจัดการในศธ.กลับเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งไม่น่าจะถูกจริตกับการจัดการศึกษา

เดิมไม่เข้าใจว่าการศึกษายุค Thailand 4.0 หมายถึงอะไร แต่พอฟังรายละเอียดจากผู้รู้ รวมทั้งสื่อต่างๆ คำถามจึงเกิดขึ้นอย่างมากมาย การศึกษา 4.0 ต้องการให้เด็กๆ เยาวชน หรือคนไทย รังสรรค์นวัตกรรม พัฒนาต่อยอดจากสิ่งที่เรามีอยู่ ให้สามารถแข่งขัน เพิ่มมูลค่า เทียบเคียงกับนานาอารยประเทศ การจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนจึงต้องเป็น STEM (Science , Technology , Engineering , Mathematics) กระบวนการของศาสตร์เหล่านี้ จะนำไปสู่การผลิตสิ่งใหม่

นับเป็นเรื่องพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินเลยทีเดียว จะเป็นอย่างนั้นได้ ไม่ง่ายดั่งการลั่นวาจา การลงมือปฏิบัติจริง ประกอบด้วยปัจจัยหลากหลาย มีทั้งทำให้สำเร็จหรืออาจล้มเหลว (เหมือนนโยบายอื่นๆ) แค่เข้าใจศาสตร์ต่างๆเป็นอย่างดีแล้ว ก็ได้แค่รู้ปัจจัยพื้นฐาน

การผลิตสิ่งใหม่ การต่อยอดสิ่งที่มีอยู่ อาจเรียกเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม บ้านเรามีผลผลิตทางการเกษตรเป็นหลัก อาทิ ข้าวและยางพาราซึ่งราคาตกต่ำ ต่อไปจะไม่ขายหรือส่งออกในรูปวัตถุดิบ เพราะไม่ได้ราคา ไม่คุ้มค่าการลงทุน ต้องแปรรูป ปรับเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ตามความต้องการของตลาด จะทำให้ราคาสูงขึ้น “ผลิตน้อยลง แต่มูลค่ามากขึ้น” ผู้สันทัดอธิบายไว้ประมาณนั้น

ที่ว่าเป็นเรื่องพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน เพราะวัฒนธรรมคนไทยไม่ใช่นักคิด มักถูกห้ามคิดจากทั้งครอบครัว ผู้อาวุโส หัวหน้า หรือแม้แต่ที่โรงเรียน ครูโบราณๆ ซึ่งยึดติดกับการเรียนรู้แบบครูเป็นศูนย์กลาง ก็มีวิธีการจัดการเรียนการสอนเช่นนี้ ห้ามคิด ห้ามเถียง เพราะครูเป็นครู ครูอาบน้ำร้อนมาก่อน

การผลิตสิ่งใหม่ ต้องอาศัยความคิด ต้องเปลี่ยนคนไทยให้เป็นนักคิด จึงต้องเริ่มที่นักเรียน เยาวชน ทุกคนต้องได้รับโอกาสในการคิด กล้าที่จะคิด ไม่กลัวความผิดพลาด ไม่กลัวถูกไม่ชอบขี้หน้า ไม่กลัวเสียประโยชน์อันพึงมี หรือไม่กลัวเป็นเป้าสายตาใคร

คิดจนเกิดสิ่งใหม่ไม่ธรรมดา สิ่งใหม่มาจากความต่าง ปกติความแตกต่างทำให้เรากลัว กลัวไม่เหมือนใคร กลัวต่างจากคนอื่น กลัวตกเทรนด์ ลักษณะอย่างนี้บ้านเราเยอะ อาจเรียกความไม่เป็นตัวของตัวเองก็ได้ นักคิดต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง

ความไม่เป็นตัวของตัวเองเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง สำคัญสุดคือครอบครัว โรงเรียน และสังคม อีกทั้งเป็นเรื่องเดียวกับนักคิด ถ้ามีโอกาสคิด  กล้าคิด ความเป็นตัวของตัวเองจะเกิด ตรงกันข้าม ถ้ามอมเมาแต่ความเชื่อ ความศรัทธา ไม่ให้โอกาสคิด เราจะได้ผู้ที่ขลาดกลัว ไม่กล้าแม้แต่จะคิด ไม่เชื่อมั่น ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ถ้าจะสร้างนักคิด หรือสร้างความเป็นตัวของตัวเอง ไม่เพียงแค่เปิดโอกาส แต่ต้องสร้างโอกาส ให้คิด ทำ หรือเรียนรู้ด้วยตัวเอง

การจัดการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญจึงจำเป็น วิธีการมีหลากหลายรูปแบบ ปัจจุบันเราพูดถึง Active Learning , Transformative Learning , STEM  ฯลฯ ก่อนหน้านั้นจะเป็น Learning by doing , Project Learning , Discovery  Learning , Cooperative Learning , PBL ฯลฯ

อันที่จริงตั้งแต่มีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แล้ว ที่การจัดการศึกษาบ้านเราถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน ว่าสถานศึกษาต้องจัดการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ใช่ว่าหลักคิดนี้เพิ่งมี สมัยก่อนหลายคนคุ้นหรือคงเคยได้ยิน การเรียนการสอนต้องเน้นคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น

เหล่านี้บอกให้รู้ว่า โดยพื้นฐานคนไทยด้อยในเรื่องคิด ความคิดสำคัญต่อการพัฒนาชาติบ้านเมือง หลักการจัดการศึกษาบ้านเราจึงเน้นย้ำเรื่องนี้มาตลอด ถึงวันนี้ก็ยังพูดซ้ำ วนเวียน แม้ถ้อยคำจะดูแปลกใหม่บ้าง ทว่าสาระสำคัญยังคงอยู่กับเรื่องเดิมๆ นอกจากนั้น ยังฟ้องด้วยว่า การจัดการศึกษาที่ผ่านมา เรายังทำเรื่องนี้ไม่สำเร็จ ไม่คืบหน้าอย่างที่ควร เมื่อเทียบกับบ้านเมืองอื่น โดยเฉพาะกับประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง

การปฏิรูปการศึกษาที่รัฐอธิบายว่าดำเนินการอยู่นั้น สำหรับในชั้นเรียน การเรียนรู้แบบ STEM  ที่ครูบางกลุ่มสาระ อาทิ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี ฯลฯ ถูกระดมให้เข้ารับการอบรมแบบออนไลน์กับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.)ตามศูนย์ต่างๆ ก็ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไร จะสอนให้นักเรียนคิด ครูต้องคิดวางแผนเตรียมการหนักขึ้น ขณะเวลาทำงานมีจำกัด เมื่อเทียบกับภาระงานที่ครูมีอยู่ ไหนจะเรื่องงบประมาณที่ต้องจัดเตรียมสื่ออุปกรณ์เพิ่ม เหล่านี้เป็นอุปสรรคใหญ่

ยิ่งพิจารณาเรื่องการบริหารจัดการด้วยแล้ว วันนี้นับว่าผิดทิศผิดทาง บางคนกระแนะกระแหนว่าออกอ่าวออกทะเล ถ้าจะให้เด็กๆเป็นนักคิดขนาดผลิตนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ต้องเปิดโอกาสให้ครูและโรงเรียนคิดก่อน เนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่าง โรงเรียนก็เช่นกัน การบริหารจัดการแต่ละโรง จึงต้องใช้วิธีการหลากหลาย จึงจะพอสนองความแตกต่างเหล่านั้น

การปฏิรูปการศึกษา ด้วยการเพิ่มตำแหน่งศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด ดั่งรำวงย้อนยุค เพิ่มขั้นตอนการบังคับบัญชา ลดความเรียบง่าย ความรวดเร็ว วันนี้ผลลัพธ์เริ่มก่อตัวให้เห็น เหตุผลจากศธ.ก่อนหน้านี้  เพื่อให้เป็นเอกภาพในการสั่งการ หรือการดำเนินนโยบายแบบเบ็ดเสร็จ(Single Command)

จะเป็นผลเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินนโยบายแบบเบ็ดเสร็จหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ แต่นโยบายศธ.ยุคนี้ พรั่งพรูออกมาจนล้นทะลัก อาทิ โรงเรียนคุณธรรม , โรงเรียนสีขาว , โรงเรียนประชารัฐ , ระบบคัดกรองนักเรียนยากจน , การพัฒนาหรือยกระดับคุณภาพการศึกษาจากการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน(O-NET) , การเรียนรู้แบบ STEM , การพัฒนาการอ่านการเขียนตามแนว PISA , ชุมชนการเรียนรู้วิชาชีพ(PLC) , พัฒนาครูด้วยการเลือกเข้ารับการอบรม(คนละ 10,000 บาท) ฯลฯ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช  เคยพูดถึงการทำงานของราชการไทย ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นจากเหตุทำนองเดียวกันนี้ “ราชการไทยเรา เน้นทำตามรูปแบบหรือคำสั่งจากหน่วยเหนือ ไม่ได้เน้นทำงาน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่แท้จริง”

ลำพังแค่ทำงานตามนโยบาย ก็ทำไม่ทันกันแล้ว อย่างนี้โรงเรียนจะเอาเวลาใดไปคิดเอง ทำเอง แก้ปัญหาของตัวเองที่มีอยู่ ดีที่สุดก็แค่ทำตามบล็อกสำเร็จรูปที่ถูกออกแบบไว้ให้อย่างเสร็จสรรพ อาจจะเหมาะกับบางโรงบ้าง แต่ไม่เหมาะกับทุกโรงแน่ และอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การที่โรงเรียนมีความต่าง ทำให้การจะเหมาตัดเสื้อครั้งเดียวให้พอเหมาะพอดีกับรูปร่างของทุกคนหรือทุกโรงนั้น เป็นไปได้ยาก

ยิ่งไปกว่านั้น การปฏิรูปการศึกษาด้วยการปรับโครงสร้าง เพื่อให้เป็นเอกภาพในการดำเนินนโยบายแบบเบ็ดเสร็จนั้น เป็นการปิดโอกาสคิดเอง ทำเอง แก้ปัญหาเองของโรงเรียน บ่อยเข้าจะนำไปสู่ความไม่กล้าคิด รอแต่ทำตามคำสั่งหรือนโยบาย จนกระทั่งคิดไม่เป็น อย่างนี้โรงเรียนจะสร้างเด็กๆให้เป็นนักคิด มีความเชื่อมั่น เป็นตัวของตัวเอง ขนาดผลิตนวัตกรรมได้ สักปีละกี่คนกัน

รัฐบาลหรือศธ.ปัจจุบัน กำลังทำสิ่งตรงกันข้าม คิดอย่างทำอย่าง การศึกษายุค Thailand 4.0 ต้องการให้เด็ก เยาวชน หรือคนไทย รังสรรค์นวัตกรรม พัฒนาต่อยอดสิ่งที่เรามีอยู่ จึงต้องการนักคิด คนที่มีเหตุผล ไม่หลงทำตามอะไรง่ายๆ ไม่สักแค่ทำตามๆกันไป ความเป็นตัวของตัวเองต้องมี ขณะการบริหารจัดการในศธ.กลับเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งไม่น่าจะถูกจริตกับการจัดการศึกษา มุมมองปฏิรูปการศึกษาของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี สรุปประเด็นหนึ่งไว้ว่า “ระบบบริหารการศึกษาเป็นระบบควบคุม ขัดแย้งกับธรรมชาติการศึกษา ซึ่งเป็นความงอกงามอย่างหลากหลาย อันไม่มีที่สิ้นสุด”

ดังนั้นถ้าหวังจะให้การศึกษา 4.0 เกิดขึ้นจริง การบริหารจัดการของศธ. ต้องให้โอกาสโรงเรียนและครูคิดมากขึ้นกว่านี้ การกำกับติดตามควรพิจารณาเฉพาะผลการจัดการศึกษา สำหรับกระบวนการ หรือวิธีการ โรงเรียนควรได้คิดเอง ทำเอง เพื่อแก้ปัญหาของตัวเอง ซึ่งมีความเฉพาะเจาะจง หรือมีความแตกต่าง การบังคับบัญชาต้องชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อน หลายขั้นตอน รวมถึงนโยบายต่างๆต้องลดจำนวน

โดยสรุปพอเข้าใจว่า การศึกษายุค Thailand 4.0 หมายถึงอะไร คำถามจึงเกิดขึ้นอย่างมากมาย ยิ่งถ้าพิจารณาดูสถานการณ์ที่ผ่านมา และการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นกับการจัดการศึกษาในปัจจุบัน การศึกษา 4.0 ที่ว่านี้ นับเป็นเรื่องพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินเลยทีเดียว

หมายเลขบันทึก: 642920เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2017 22:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ธันวาคม 2017 10:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ใช่เลยครับนโยบายการศึกษาบ้านเราเป็นแบบสั่งการ

ครูมีงานมาแถมโดนสั่งทำหลายเรื่องที่ไม่ใช่การเรียนการสอนนักเรียน

ขอบคุณมากๆครับ

  • วนเวียน คิดแต่เรื่องโรงเรียนครับ(ฮา)
  • ขอบคุณอ.ขจิตครับ

...จาก..ปอเนอะ..ถึง ฮาร์วารด.. เด็กชาย อับดุลฮาลีม บินอิสมาแอล พิศ สุวรรณ ..ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ..ท่านกล่าวไว้น่าฟังทีเดียว..เกี่ยวกับ..4.0 ของไทย..ลองหาฟังดูกำลังแพร่อยู่ในเฟส..และ  ไลน์ในเวลานี้..

ขอแสดงความไว้อาลัยและเสียใจกับการสูญเสียบุคคลที่มีความสำคัญ ของประเทศณ.เวลานี้...

ยายธี

เคยอ่นเจอบทสรุปของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ว่า  " ถามคือสอน สะท้อนคือเรียน   เขียนคือคิด" ผมคิดว่าแนวทางนี้ชัดสำหรับการเปลี่ยนแปลง  

ต้องส่งเสริมให้ครูเขียนบันทึกการเรียนรู้ของนักเรียนและของตนเอง ทำได้ต่อเนื่อง 100 บันทึก หรือ 2 เทอม น่าจะเพิ่มนวัตกรรมการเรียนรู้ของเราเองได้เยอะเลย

  • รู้สึกว่าคนดีคนเก่งไปไว เพราะความรู้สึกเสียดายของคน..
  • ขอบคุณยายธีครับ
  • ลงมือเขียนจะได้คิด ได้ค้น ได้เรียบเรียง เหมือนได้ทบทวน ด้วยเหตุด้วยผลในเรื่องนั้นๆ..รู้สึกอย่างนั้นครับ!
  •  "ถามคือสอน สะท้อนคือเรียน เขียนคือคิด" ท่าจะจริงครับอาจารย์..
  • ขอบคุณอ.ต๋อยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท