KM โรงเรียนเพลินพัฒนา (4)



ตอนที่ ๑ (๒๕ มีนาคม ๒๕๕๙)    ตอนที่ ๒ (๒๕ มีนาคม ๒๕๕๙)    ตอนที่


ในตอนที่แล้วผมสะท้อนคิดเขียนบันทึกจากการกลับเข้าไปอ่านข้อความในรูปที่ถ่ายมาจากนิทรรศการ    ตอนนี้ก็ขอสะท้อนคิดจากการอ่านข้อความในภาพต่อ   

ต่อไปที่โปสเตอร์ด้านกีฬา    ครูแม็ค หน่วยวิชากีฬา ช่วงชั้น ๒ เขียนโปสเตอร์เรื่อง “สนุก =  เรียนรู้สิ่งใหม่   เล่าเรื่องการสอนกีฬารักบี้ ประกอบภาพ สั้นๆ    แต่สื่อคุณค่าของ การเล่น” แบบอิสระ ที่เด็กเล่นกันเอง    แต่มีคุณค่าต่อทักษะชีวิตของตน    ผมตีความว่า ทักษะชีวิตที่สำคัญที่สุดคือ ทักษะการเรียนรู้ ที่ตนเองเป็นผู้บงการ    หรือการเรียนรู้อิสระนั่นเอง

ครูอ้น หน่วยวิชากีฬา ช่วงชั้น ๒  เขียนเรื่อง ผู้สร้างแรงบันดาลใจ เล่าเรื่องการเรียนกระโดดเชือก ว่าเป็นการฝึก EF   และเมื่อฝึกในช่วงเวลาเรียนแล้ว นักเรียนช่วงชั้น ๒ ยังไปฝึกช่วงพักเรียน    ซึ่งก็มีนักเรียนช่วงชั้น ๑ (ป. ๑ - ๓) มาร่วมเล่นด้วย    เป็นการเล่นที่สนุก ฝึกไม่ยาก แต่ให้คุณค่าสูง

ถัดไปเป็นโปสเตอร์ของ หน่วยแนะแนว   เรื่อง “รู้จัก แต่ไม่สนิท (OLE)ของ ครูจูน แนะแนว ช่วงชั้น ๒    ใครอยากรู้จัก OLE (Objective, Learning Experience, Evaluation) ที่เป็นแก่นทักษะ การทำหน้าที่ครู ให้มาอ่านโปสเตอร์ ๔ แผ่นนี้   ที่ได้จากการตีความประสบการณ์ตรงของครูจูน   

ผมได้เรียนรู้ว่า ปีนี้โรงเรียนเพลินพัฒนานำหลักการ OLE เข้าไปเสริม PLC   ทำให้การเรียนรู้ของครู เป็นระบบและเพิ่มพลังขึ้นมาก    นี่คือสภาพของการเรียนรู้จากการปฏิบัติ ที่อบอวลอยู่ในโรงเรียน เพลินพัฒนา  

ครูจูนเล่าเรื่องการเปิดกลุ่มประสบการณ์ วาดเล่นเป็นเรื่อง    เล่าโดยใช้โครงสร้างการจัดชั้นเรียน ด้วย OLE    เล่าแผนการสอน และเทคนิคตอนสอน   โดยให้นักเรียนวาดรูปเกี่ยวกับตนเอง ๑๐ เรื่อง     แต่หักมุมตอนจบคือ ครูจูนใช้ OLE ไม่เฉพาะต่อตนเอง    แต่ให้นักเรียนเป็นผู้ใช้ OLE ด้วย    โดยนักเรียนทำ AAR เป้าหมาย กระบวนการเรียนรู้ และผลการเรียนรู้ของตนเอง    ผมตีความว่า นักเรียนที่ผ่านกระบวนการ ทำความเข้าใจ OLE ของแต่ละบทเรียนซ้ำๆ จะพัฒนาเป็นผู้มีทักษะ กำกับการเรียนรู้ของตนเอง”  (self-regulated learner)

โปสเตอร์ ใช้ OLE นำทางสร้างห้องเรียนพ่อแม่ ของ ครูเบียร์บี๋ ครูแนะแนวชั้น ๖   ครูใหม่อายุงานไม่ถึงปี    แต่มีประสบการณ์น่าสนใจหลายอย่าง เช่น กิจกรรมเพศศึกษา   กลุ่มประสบการณ์ creative drama เป็นต้น   และข้อเขียนที่น่าสนใจคือ ครูบี๋รอคอยโอกาสสร้างห้องเรียนพ่อแม่อย่างใจจดใจจ่อ    เราต้องการครูที่มีแรงบันดาลใจสูงเช่นนี้  

ครูบี๋เขียนว่า การสร้างห้องเรียนพ่อแม่จะเป็นพื้นที่สื่อสารสร้างสรรค์    เป็นขุมพลังบวกเพื่อให้ ผู้ปกครองแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน   ถึงทักษะที่จำเป็นสำหรับการฝึกฝนตนเองและพัฒนาเด็กอย่างถูกต้อง และเหมาะสม บนพื้นฐานวินัยเชิงบวก

โปรดสังเกตว่า โรงเรียนพ่อแม่ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อให้พ่อแม่ร่วมมือกับโรงเรียนหรือครู เป็นเป้าหมายหลักนะครับ    เป้าหมายสูงส่งกว่านั้นมาก ดังข้อความข้างบน

ที่จริงโรงเรียนเพลินพัฒนามีรายการโรงเรียนพ่อแม่มาตลอดอย่างเป็นระบบ    โดยครั้งที่ ๑ เรื่อง มารู้จัก Executive Functions กันเถอะ   ครั้งที่ ๒ เรื่อง เท่าทันอารมณ์ ข่มความปรี๊ด    ที่ครูบี๋นำมาเล่า รายละเอียดเป็นครั้งที่ ๓ เรื่อง สื่อสารอย่างไรให้ได้ใจลูก  

โปสเตอร์เรื่อง วงปี รวม ๕ แผ่นของ ครูเก้า ในฐานะหนึ่งในสามครูแนะแนว  เป็นการสะท้อนคิด ชีวิตครูในหนึ่งปี   เป็นชีวิตเรียนรู้จากการปฏิบัติ    และการปฏิบัตินั้นคือการจัดโรงเรียนพ่อแม่    การปฏิบัติตั้นเองนำมาสู่การเรียนรู้ของครูผ่านกานรมองเชิงระบบ คือ OLE    ข้อเขียนของครูเก้า ช่วยเสริมข้อเขียนของครูบี๋พอดี    ทำให้ผมเข้าใจพลังของ OLE ต่อการเรียนรู้ของครู  นักเรียน  และพ่อแม่ มากขึ้น 

ครูโอ๊ต ครูวิชาดนตรีชีวิต ช่วงชั้น ๒ เสนอโปสเตอร์เรื่อง สุนทรียภาพที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ของชั้นเรียน  เริ่มจากการตั้งคำถามความหมายของ สุนทรียภาพทั้งความหมายที่มีผู้กำหนดไว้แล้ว  และสุนทรียภาพในการปฏิบัติของตัวเด็ก    อ่านถึงตรงนี้ผมนึกในใจว่า นี่คือส่วนสำคัญของการเรียนรู้ ที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง    คือครูหมั่นตั้งคำถามกับตัวเองว่าเด็กได้อะไร

ผมได้เข้าใจเป็นครั้งแรก ในสุนทรียภาพจากการสื่อสารความเคลื่อนไหวในจินตนาการ    และตีความว่า นี่คือศิลปะที่มีชีวิต    และเป็นศิลปะที่เหมาะต่อเด็ก เพราะเด็กชอบเคลื่อนไหว    ผมนึกอยากให้หลานของผมได้เรียนกับครูที่มีความละเอียดอ่อนเช่นนี้   

ต้องอ่าน AAR ของนักเรียนในโปสเตอร์แผ่นที่ ๓ ซึ่งเป็นแผ่นสุดท้ายของครูโอ๊ตนะครับ    จะเห็นว่าเด็กอายุ ๑๑ - ๑๒ ปี สามารถมีจินตนาการสุนทรียภาพได้ละเอียดอ่อนเพียงใด  

ครูนุ่น ครูภูมิปัญญาภาษาไทย ชั้น ๑ เป็นครูปีแรก  เขียนโปสเตอร์ สอนด้วยใจ..ให้ด้วยรัก จำนวน ๒ แผ่น    เล่าประสบการณ์เข้าชั้นเรียนสอนแทน ให้นักเรียนเรียนคำที่มีสระอุ    โดยใช้วัสดุประกอบการเรียน ที่ครูใหม่ให้ยืมใช้    สนุกและกินใจจนเธอได้รับเลือกให้อ่านข้อความในโปสเตอร์ต่อที่ประชุมในตอน ช่วงเวลาแลกเปลี่ยนเรียนรู้    โดยหัวใจคือ การที่ครูนุ่นได้เข้าใจ OLE จากการลงมือทำ

ครูอ้อ ครูคณิตศาสตร์ชั้น ๒  เสนอโปสเตอร์เรื่อง เปิดใจที่จะยอมเปลี่ยน เป็นการสะท้อนคิดเปิดใจ ต่อการที่โรงเรียนเพลินพัฒนานำระบบ OLE เข้ามาใช้    ครูอ้อเล่าเรื่องที่ตนนำ OLE ไปใช้ในชั้นเรียน คณิตศาสตร์ชั้น ป. ๒   ครูอ้อบอกอย่างเปิดเผยว่า ยังไม่บรรลุผลในเรื่อง E  

ครูยุ้ย ครูวิชามานุษและสังคมศึกษา ชั้น ๖ เสนอโปสเตอร์เรื่อง คืนความเป็นเจ้าของให้เจ้าของงาน เล่าเรื่องโครงงานภาคสนามที่บ้านขุนสมุทรจีน    โดยเปลี่ยนบทบาทของครู มาเป็น ผู้เติมแรงบันดาลใจ และทำหน้าที่ให้การสะท้อนผล    ตามแนวทาง OLE  ที่เชื่อมไปถึงผู้ปกครอง  

 

อ่าน ๓ หน้าในภาพที่ผมถ่ายมาจากโปสเตอร์ทำให้ผมได้ความรู้มาก     ทั้งในด้านการเรียนภาคสนาม ของนักเรียนชั้นประถม ที่ทำงานกันแบบเดียวกันกับงานของผู้ใหญ่    กับการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ที่บ้านขุนสมุทรจีน     

โอ้โฮ    ผมเขียนบันทึกได้ถึงสองบันทึกแล้ว     ยังไม่เริ่มเปิดงานของวันที่ ๑๗ ตุลาคม เลยนะนี่   (ต่อตอนที่ ๕)


วิจารณ์ พานิช

๒๓ ต.ค. ๖๐


 

หมายเลขบันทึก: 642144เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2017 23:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2017 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท