PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๔ : ถอดบทเรียน "การแก้ปัญหาอ่านไม่คล่องเขียนไม่คล่อง"


วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๐ ทีม CADL ไปช่วยทีมขับเคลื่อนการศึกษาของ อบจ.ขอนแก่น ทำเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียน ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ (PLC) ณ โรงแรมมันตราวารี อ.เมือง จ.ขอนแก่น กลุ่มเป้าหมายเป็นคุณครูภาษาไทยประมาณ ๓๐ ท่านจากโรงเรียนในสังกัด อบจ.ขอนแก่น ที่เกาะติดแก้ปัญหาอ่านไม่คล่องเขียนไม่คล่องของนักเรียนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เวทีแรก (อ่านที่นี่) และเวทีที่สอง (อ่านได้ที่นี่)  หลังจากผ่านมาเกือบ ๒ ปี วันนี้ทีมท่าน ศน.เทวา จัดเวทีถอดบทเรียน เพื่อนำไปขยายผลต่อไป

กระบวนการไร้รูปแบบ

โดยส่วนตัว ผมประทับใจวิธีการทำงานของทีมงานของ อบจ. อย่างยิ่ง เป็นมืออาชีพแต่ไม่มีพิธีรีตองอะไรให้เสียเวลา เมื่อคุณครูมาพร้อมกันก็เริ่มลุยกันเลย 

เราออกแบบกิจกรรมถอดบทเรียนเป็น ๓ ตอน ได้แก่ ๑) BAR ด้วยการตั้งคำถามว่า "ถอดบทเรียนแล้วได้อะไร?" แล้วให้ระลึกถึงสิ่งที่ภูมิใจจากผลสำเร็จ ๒) ถอดกระบวนการหรือวิธีการของความสำเร็จนั้น เพื่อให้ได้ "บทเรียน" เชิงกระบวนการ ที่ผู้อ่านผู้ฟังสามารถจะนำไปทำบ้างหากสนใจ ๓) โชว์แอนด์แชร์ (Show&Share)เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ... บันทึกนี้ตั้งใจจะนำเอาองค์ความรู้จากการปฏิบัติ หรือที่เรียก "ปัญญาปฏิบัติ" มาแบ่งปันให้ท่านผู้อ่าน เผื่อเป็นประโยชน์ในกาลต่อไป 

ผมสังเกตว่า คุณครูมีศรัทธาต่อการนำพาของทีมขับเคลื่อนของ อบจ. และคุณครูรู้จักมักคุ้นกันระหว่างโรงเรียน เป็นกันเอง แลกเปลี่ยนเรียนรู้และชื่นชมกันระหว่างโรงเรียน สะท้อนถึงความสำเร็จของการทำเวที PLC และกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง 

ถอดบทเรียนแล้วได้อะไร?

เครื่องมือของขั้นตอนนี้คือคำถาม ถามว่า ถอดบทเรียนแล้วได้อะไร?  คำตอบไม่มีผิดถูกตายตัว แต่สามารถสรุปลงที่ ถอดบทเรียนต้องได้ "บทเรียน"  บทเรียนอันเกิดจากประสบการณ์ของครูผู้ปฏิบัติ เรียกว่า ถอดบทเรียนคือการถอดประสบการณ์ก็เข้าใจง่ายดี การถอดบทเรียนจะทำให้ได้องค์ความรู้อันเกิดจากประสบการณ์การปฏิบัติ ที่นักจัดการความรู้เรียกว่า "ปัญญาปฏิบัติ" ก็อันเดียวกัน

วิธีการการหนึ่งในการอธิบายความหมายของการถอดบทเรียน คือ การอธิบายด้วยรูปการเปลี่ยนความรู้ฝังลึกในตัวคน (Tacit Knowledge) รากฐานภูเขาน้ำแข็ง เป็นความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) เช่น แนวปฏิบัติ ทฤษฎี กฎ เป็นต้น ที่คนที่ได้อ่านสามารถนำไปปรับใช้ได้ด้วยตนเองและพัฒนาต่อไป



อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์ขับเคลื่อน PLC มาหลายปี พบว่า ไม่มีใครสามารถนำเอา "บทเรียน" ของคนอื่นไปใช้แล้วได้ผลทันทีโดยที่ไม่ได้ปรับอะไรเลย สิ่งที่พบคือการนำแนวคิดหรือไอเดียและเครื่องมือไปปรับใช้ สุดท้ายจะเกิดประสบการณ์ใหม่ เคล็ดลับใหม่ ... ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือที่เราเรียกว่า "ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์" ต่อไปจนกลายเป็น "วิถี" ต่อไป

ผลลัพธ์การถอดบเรียน 

ด้วยกำหนดเวลาตามหลักสูตรเร่งรัด ๑ วัน กระบวนการถอดบทเรียนจะเน้นไปที่ประสบการณ์การปฏิบัติ แก้ปัญหาการอ่านไม่คล่องเขียนไม่คล่องของครูรายโรงเรียน และใช้รูปแบบเรขาคณิตมาช่วยเป็นเครื่องมือคิดสร้างขั้นตอนการแก้ปัญหาพัฒนาเป็นโมเดล 

ในช่วงกิจกรรม Show&Share เราจัดเป็นตลาดนัดความรู้ และแจกเงินให้กับเพื่อนครูคนละ ๑ บาท แล้วให้เลือกซื้อ "องค์ความรู้" ที่ประทับใจที่สุดจากเพื่อนครูผู้นำเสนอ  มี ๒ กลุ่มที่เสนอโมเดลประทับใจจนขายได้ถึง ๘ บาท  ... ผมวาดเป็นภาพได้ดังรูป



ผมส่งรูปภาพนี้ให้เจ้าของโมเดล และชวนให้ทีมอาจารย์จากโรงเรียนนางิ้ววิทยาสรรค์เขียนอธิบายด้วยตนเอง ... ท่านผู้อ่านที่สนใจโปรดอดใจรอสักไม่นาน


ผมชอบโมเดลนี้มากเพราะเหตุที่พ้องกับหลักคิด ๓ ห่วงตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  และยังสอดคล้องเชื่อมโยงได้กับแต่ละห่วงด้วย เช่น
  • เพื่อนหรือพี่ คือคีย์ความสำเร็จที่สำคัญที่สุดของโมเดลการแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ด้วยกระบวนการนักเรียนจิตอาสา (ครูตุ๋มศิริลักษณ์ ชมภูคำ) ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าสำเร็จและสร้างเด็กดีได้ ฉันใดก็คล้ายกัน เป็นการเหมาะสม "เหตุผล" อย่างยิ่ง 
  • แบบฝึก เป็นเหมือนคู่มือและเครื่องมือ ที่จะนำวิธีการและขั้นตอนที่ถูกต้อง "พอประมาณ"
  • ครู  ในกรณีการแก้ปัญหาของนักเรียน ครูคือผู้เป็น "ภูมิคุ้มกัน" ของทุกก้าวย่างไปสู่ความสำเร็จของนักเรียน 
เช่นเดียวกัน .... ผมส่งภาพนี้ให้คุณครูโรงเรียนเสมาวิทยาเสริมและโรงเรียนบ้านคูขาด (สถิตย์อุปถัมภ์)  มีโอกาสจะไปอธิบายให้ท่านผู้สนใจอ่าน 

มีโมเดลหนึ่งที่แม้จะไม่ได้ถูกรับซื้อเป็นอันดับต้น ๆ  แต่ท่านอาจารย์กรรณิการ์ จินตภานันท์ ครูเพื่อศิษย์ที่ผมตั้งใจไว้นานแล้วว่าจะถอดบทเรียนประสบการณ์ความสำเร็จท่านมาแบ่งปันครูผู้อ่าน ...  ด้านล่างคือแผนภาพกระบวนการ ๖ ขั้นบันไดที่แทบจะไร้รูปแบบในขั้นปฏิบัติ 


โอกาสหน้าจะมาอธิบายด้วยบันทึกครับ...

โมเดลอื่นๆ ก็น่าสนใจยิ่งเช่นกัน ... แต่ขอแบ่งปันโอกาสหน้านะครับ วันนี้ขอรวบรวมเล่าเป็นภาพเก็บไว้ เผื่อเป็นประโยชน์ในการต่อไป 













ขอจบบันทึกไว้ตรงนี้ ...ครับ

หมายเลขบันทึก: 640491เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2017 00:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2017 16:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท