PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๒ : อบจ.ขอนแก่นโมเดล


วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ผม ครูตุ๋มศิริลักษณ์ ชมภูคำ และคุณเสือ มานะ ภูพันนา มีโอกาสได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ (PLC) เพื่อพัฒนาการศึกษาขององค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น (อบจ.ขอนแก่น) ผมได้เรียนรู้ลักษณะและรูปแบบ PLC ตัวอย่างของโรงเรียนหนองโนประชาสรรค์ จากการฟังเรื่องเล่าถ่ายทอดประสบการณ์ของ ผอ. อำนาจ โพธิ์ศรี และประมวลต่อยอดกับกระบวนแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ด้วย "THEWA Model" (รูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาแบบใหม่) ของ ศน.เทวา ตั้งวานิชกพงษ์ จึงสรุปสังเคราะห์รูปแบบ PLC ดังรูป ผม AAR ว่านี่คือ PLC ที่เป็น BP ต้นแบบอันหนึ่งได้ จึงขอตั้งชื่อเพื่อสื่อสารต่อไปว่า "PLC อบจ.ขอนแก่นโมเดล"



อย่าตกร่อง PLC และ LS

อะไรคือ PLC? สิ่งที่กำลังทำอยู่นี่ คือ PLC ไหม? Lesson Study หรือ LS คืออะไร? PLC กับ LS เหมือนกันไหม? ..... เหล่านี้คือคำถามที่เราถกกันในวงผู้อำนวยการนานพอสมควร

ผมเน้นกับผู้อำนวยการทุกท่านว่า "เราต้องไม่ตกร่อง PLC หรือ Lesson Study" คือต้องไม่ให้ความสำคัญถึงขั้นว่า จำเป็นต้องทำ PLC หรือ LS เท่านั้นที่จะแก้ปัญหาของเราได้ ไม่ยึดติดในนิยามและข้้นตอนของ PLC และ LS ของต่างประเทศมาใช้โดยไม่คำนึงถึงบริบทของตนเอง หลักคิดสำคัญคือ ปัญหาของราคืออะไร? หลักการของ PLC หรือ LS คืออะไร? และเราจะสามารถแก้ปัญหาโดยเอาหลักการนั้น ๆ มาปรับใช้แก้ปัญหาได้หรือไม่? ... อะไรที่เราทำได้ดีอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องทำ PLC หรือ LS

PLC และ LS เป็นวัฒนธรรมการทำงานเป็นทีม ไม่มีนิยามตายตัว PLC เป็นวัฒนธรรมการทำงานของครูที่อเมริกา มีผู้นิยามกระบวนการและองค์ประกอบของ PLC ไว้หลากหลาย (ผมเคยเขียนไว้ที่นี่) ส่วน LS เป็นวัฒนธรรมการทำงานของครูญี่ปุ่นที่ใช้มากว่าร้อยปี (มีผู้ให้ความหมายไว้ที่นี่) ต่อมาได้รับความนิยมไปถึงอเมริกาด้วย ทั้ง PLC และ LS กำลังได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการในขณะนี้ (๒๕๖๐) เพื่อเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานสอนเดี่ยวของครูไทยในปัจจุบัน

หลักการของ PLC และ LS

หลักการของ PLC และ LS คือหลักการเดียวกัน นักการศึกษาทั่วไป บอกว่า LS ก็คือ PLC ของครูนั่นเอง จากการศึกษาและประสบการณ์จากการพยายามสร้าง PLC ในเขตพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ผมเข้าใจว่า PLC มีหลักสำคัญ ๓ ประการ ได้แก่

๑) ทำงานเป็นทีมด้วยความสามัคคี หมายถึง ความสามัคคีของครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่มาร่วมมือกันแก้ปัญหาและพัฒนาการทำงานวิชาชีพ ในที่นี้คือก็วิชาชีพครู

๒) พึ่งพาตนเอง แก้ปัญหาด้วยชุมชนตนเอง คือ เราต้องเข้าใจตรงกันว่า ไม่มีใครที่ไหนจะสามารถแก้ปัญหาหน้างานของเราได้ดีไปกว่าพวกเราเอง การอบรมพัฒนาหรือหนุนเสริมจากนักวิชาการภายนอกเป็นเพียงส่วนหนุน เท่านั้น

๓) สร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้ นี่คือ เป็าหมายใหญ่ของการใช้ PLC อย่างต่อเนื่องยาวนาน สำเร็จจนสามารถกลายเป็นวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ นักเรียนก็มีอุปนิสัยใฝ่รู้ ครูก็เรียนรู้เป็นผู้เรียน (Learner) ผอ. ศน. ทุกคน เป็นผู้ใฝ่รู้และเรียนรู้ตลอดชีวิต นั่นคือ PLC คือเครื่องมือที่ใช้สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ หรือก็คือ CoP หรือ ชุมชนนักปฏิบัติ (Cooperative of Pratice) ในทฤษฎีการจัดการความรู้นั่นเอง

นิยามของ PLC และ LS สำหรับ "อบจ.ขอนแก่นโมเดล"

PLC และ LS เป็นวัฒนธรรมการทำงาน เป็นหลักคิดและหลักปฏิบัติในการทำงานเป็นทีมสำหรับแก้ปัญหาร่วมกัน ดังนั้น ไม่ต้องห่วงเรื่องลิขสิทธิ์หรือคิดมากเรื่องนิยามความหมายมากเกินไป อย่างไรก็ดี เข้าใจว่า ในทางการศึกษา เวลาจะกล่าวอะไร ต้องให้นิยามให้ชัดเจน จึงขอนิยามไว้ให้สื่อสารตรงกันต่อไป

PLC (Professional Learning Community) คือ ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ (คำนี้นิยามโดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผมเข้าใจว่าท่านเป็นคนแรกที่พยายามนำเอาเครื่องมือนี้มาสู่ประเทศไทย) หรือ ชุมชนเรียนรู้วิชาชีพ (คำนี้นักการศึกษาไทยใช้กันทั่วไป) หมายถึง วัฒนธรรมการทำงานเป็นทีมของชุมชนคนที่มีอาชีพเดียวกัน ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา คิดหาหรือค้นหาวิธีแก้ปัญหา และนำเอาประสบการณ์การแก้ปัญหามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพื่อพัฒนาผลลัพธ์ ความเชี่ยวชาญ และสร้างองค์ความรู้หรือนวัตกรรมตามวิชาชีพของตน ๆ

ส่วนองค์ประกอบของ PLC มีหลากหลาย มากมาย ไม่มีควรมาท่องจำ หรือนำเอาองค์ประกอบเหล่านั้นไปปฏิบัติตาม เพราะ PLC ที่แท้จริง คือวัฒนธรรมการทำงานที่สมาชิกในชุมชนเป็นคนสร้างขึ้นมาร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น Lesson Study คือ PLC ของครูญี่ปุ่น เป็นต้น

อย่างไรก็ดี วิธีสื่อสารกับสมาชิกในชุมชนที่ดี คือ กำหนดให้องค์ประกอบของ PLC มี ๓ ประการ คือ ๑) มีเป้าหมายเพื่อพัฒนางานพัฒนาวิชาชีพ นั่นคือ Professional ในที่นี้หมายถึงวิชาชีพครู อาชีพครู ๒) มีการเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการทำงาน นั่นคือ Learning และ ๓) มีลักษณะเป็นชุมชนของคนอาชีพเดียวกัน คือมีการสื่อสาร แบ่งปันและร่วมมือร่วมใจกัน นั่นคือ Community

LS (Lesson Study) คือ การศึกษาบทเรียนจากการปฏิบัติงานในชั้นเรียนร่วมกันของครู ร่วมกันเตรียมการสอนหรือวางแผนการสอน ร่วมกันสอนและสังเกตการสอน มีการประเมินการสอนและสะท้อนป้อนกลับผลการสังเกตการสอน นำมาปรับปรุงแผนการสอน เพื่อร่วมกันพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้ดีขึ้น

ผอ. อำนาจ โพธิ์ศรี ท่านกำหนดให้ LS คือกระบวนการทำงานร่วมกันสำหรับชั้นเรียนหนึ่ง ๆ เป็นทีมครูที่อยู่ในสาขาวิชาเดียวกัน (หรือกำลังสอนวิชาเดียวกัน หรือกลุ่มครูที่ต้องแก้ปัญหาเดียวกัน มีเป้าหมายที่เฉพาะเดียวกัน) ส่วน PLC คือ กระบวนการแก้ปัญหาร่วมกันของครูทั้งหมดในโรงเรียน และรวมถึงบุคลากรด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อช่วยหนุนเสริม LS ในโรงเรียน

เพื่อธิบาย "อบจ.ขอนแก่นโมเดล" ให้ชัดขึ้น ขอนำเสนอแผนผังเดิมอีกครั้ง ดังรูป

คำอธิบาย "อบจ.ขอนแก่นโมเดล"

รูปแบบของ PLC ของโรงเรียนหนองโนประชาสรรค์ แบ่งเป็น ๒ ส่วน ได้แก่ ส่วน LS (บางท่านเรียก PLC ในช้้นเรียน) และส่วน PLC ในโรงเรียน ส่วนรูปแบบการหนุนเสริมของ อบจ.ขอนแก่น ที่นำโดย ศน.เทวา สามารถแบ่งเป็น ๒ ส่วนสำคัญเช่นกัน ได้แก่ การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ หรือเรียก "PLC ในเขตพื้นที่การศึกษา" และการนิเทศการศึกษาแบบเสริมพลัง โดย "THEWA Model" โดยมีวิธีการดำเนินการดังนี้

๑) ให้ครูแต่ละกลุ่มสาระเดียวกัน ตั้งเป็นปลุ่ม LS ขึ้นมา ในรูปแสดงไว้ ๕ กลุ่มศึกษาชั้นเรียน คือ LS1 LS2 .... LS5 แล้วดำเนินการดังนี้

  • ร่วมกันเลือกหน่วยการเรียน หรือสาระเนื้อหาที่เป็นปัญหาที่สุด โดยพิจารณาจากข้อมูลที่เชื่อได้ เช่น ผลทดสอบ หรือแบบประเมินคัดกรอง ฯลฯ
  • ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา กำหนดแนวทางการแก้ไข เขียนแผนการสอนร่วมกัน
  • ร่วมกันสอน ขณะที่คนหนึ่งสอน คนอื่นให้เป็นผู้สังเกตนักเรียน สังเกตการสอน
  • ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาการสอน มีการสะท้อนป้อนกลับ (feedback) ให้ผู้สอนทราบ และร่วมกันปรับปรุงแผนการสอน

ทั้งสี่ขั้นตอนนี้คือวิธีศึกษาชั้นเรียน ต้องทำวนไปเป็นวงจรจนปัญหาได้รับการแก้ไข และขยายผลไปยังหน่วยการเรียนอื่น ๆ จะเห็นว่า นี่คือการทำวิจัยในชั้นเรียนเป็นทีม (Team Aciton Research) นั่นเอง ทำให้นักการศึกษาหลายคนเรียก LS ว่า การวิจัยชั้นเรียน หรือ RS (Research Study)

ในขั้นตอนนี้ นอกจากเพื่อนครูในทีมสาขาวิชาเดียวกันที่ไปสังเกตการสอนแล้ว ยังมีผู้อำนวยการและศึกษานิเทศก์เข้าร่วมสังเกตด้วยในบางครั้ง แล้วแต่ความเหมาะสม

๒) ทำ PLC ในโรงเรียน โดยจัดให้มีการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นประจำ เพื่อระดมสมองและความร่วมมือจากทุกคนในโรงเรียน ปัญหาพบในชั้นเรียนบางประการ อาจต้องการการหนุนเสริมหรือสนับสนุนจากเพื่อนครูและผู้อำนวยการในโรงเรียน โดยผู้อำนวยการเองก็สื่อสารและสร้างความร่วมมือกับชุมชนและผู้ปกครองผ่านคณะกรรมการสถานศึกษาเป็นประจำเช่นกัน

๓) สร้างเครือข่ายชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ ให้เกิด วง PLC ของครูในสาขาวิชาเดียวกันจากโรงเรียนต่าง ๆ ในเขตพื้นที่การศึกษา (ในที่นี้หมายถึงโรงเรียนในสังกัด อบจ.ขอนแก่น) โดยผู้อำนวยการเรียนรู้คือ ศึกษานิเทศก์ อาจเรียกว่า "PLC ครูระหว่างโรงเรียน" ในขณะเดียวกันก็สร้างความร่วมมือกับผู้อำนวยการ ทำ PLC ผอ. เพื่อหาทางหนุนเสริมและบริหารจัดการให้การทำงานของ PLC ระหว่างโรงเรียนและในโรงเรียน โดย ผอ.เขตพื้นที่ฯ ต้องมาร่วมวงด้วย นอกจากนี้แล้ว ควรจะมี PLC ของศึกษานิเทศก์อีกวงหนึ่ง เพื่อพัฒนางานด้านการหนุนเสริมและการประกันคุณภาพการศึกษา โดย ผอ.เขตพื้นที่ฯ ต้องลงมาดูด้วยตนเอง

๔) การนิเทศแบบเสริมพลัง ถือเป็นกลไกสำคัญให้ PLC ทุกชั้นดำเนินไปอย่างมีพลัง เป็นตัวจักรสำคัญที่จะแบ่งปันทั้งทางด้านทรัพยกรการสนับสนุน ด้านวิชาการความรู้ ด้านพลังเสริมแรงบันดาลใจ สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ครูทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผมขอแนะนำให้ท่าน ศน. เทวา เผยแพร่ผลงานเรื่องการสร้างเครือข่ายชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์และการนิเทศแบบเสริมพลังด้วย THEWA Model ทาง www.gotoknow.org เพื่อให้รายละเอียดประสบการณ์ในการทำงานของท่าน สร้างสรรค์ PLC ครูระดับเขตพื้นที่การศึกษา หรือเกิด PLC ร่วมกันพัฒนาระดับประเทศต่อไป







หมายเลขบันทึก: 626114เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2017 01:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2017 08:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท