Lesson Study นวัตกรรมการพัฒนาครูให้เรียนรู้ไปบนหน้างานจริง (๑)


 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๓ ผศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะ ได้กรุณาเดินทางมาหลายร้อยกิโลเมตร เพื่อมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคณะครูโรงเรียนเพลินพัฒนา ในเรื่อง “การศึกษาชั้นเรียน” (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ซึ่งเป็นกระบวนการพัฒนาครูของญี่ปุ่นที่เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๗๐ จนกระทั่งกลายมาเป็นระบบการพัฒนาวิชาชีพครู และวัฒนธรรมการเรียนการสอน และวัฒนธรรมการเรียนรู้ร่วมกันของประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน

 

 

“การศึกษาชั้นเรียน” จึงเป็นกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ในหน้างานครู และเป็นการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนไปในขณะเดียวกัน การทำงานในลักษณะนี้จึงเป็นวงจรการทำงานต่อเนื่อง เหมือนที่อาจารย์ไมตรีใช้อุปมาว่า “แต่งแล้วหย่าไม่ได้” นั่นเอง

 

 

การศึกษาชั้นเรียน  (Lesson Study) คือ ระบบการพัฒนาวิชาชีพครูแบบหนึ่งของญี่ปุ่นที่ใช้โรงเรียนเป็นฐานของการพัฒนา ซึ่งครูญี่ปุ่นจะต้องได้รับการพัฒนาตั้งแต่เริ่มต้นวิชาชีพครู ลักษณะที่สำคัญของระบบดังกล่าวคือ กลุ่มครูญี่ปุ่นจะพบกันเป็นระยะๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาแผนการสอน สร้างสรรค์นวัตกรรมการสอน การทดลองใช้แผนการสอนดังกล่าวในห้องเรียนจริง และการปรับปรุงแผนร่วมกัน 

 

แนวคิดพื้นฐาน : วิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการปรับปรุงและพัฒนาการเรียนการสอนในห้องเรียน ก็คือการพัฒนาและปรับปรุงบทเรียนในบริบทของห้องเรียนจริง สิ่งที่ท้าทายคือ

  • การกำหนดการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการให้เกิดขึ้นเพื่อการพัฒนาการเรียนรู้  ของผู้เรียนในชั้นเรียน
  • การแลกเปลี่ยนความรู้และปัญหาในห้องเรียนร่วมกันกับครูคนอื่น และการให้กลุ่มครูรับรู้เป้าหมายของการสอนร่วมกัน

 

ขั้นตอนการพัฒนาวิชาชีพครูด้วย “การศึกษาชั้นเรียน”

 

ขั้น ๑ ขั้นการกำหนดปัญหา (Defining the Problem) “การศึกษาชั้นเรียน(Lesson Study) เป็นระบบที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหา และการทำให้การกำหนดปัญหานำไปสู่แรงจูงใจและการกำหนดกรอบในการทำงานของกลุ่มครู

 

ปัญหาอาจเริ่มในลักษณะกว้างหรือทั่วไป เช่นจะทำให้นักเรียนสนใจคณิตศาสตร์ได้อย่างไร หรือเป็นประเด็นเฉพาะเจาะจงเช่น จะพัฒนาความเข้าใจของนักเรียนในการบวกเศษส่วนที่ส่วนไม่เท่ากันอย่างไร ปกติปัญหาที่ครูเลือกมักจะเป็นปัญหาที่มาจากประสบการณ์การสอนในห้องเรียนที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน หรืออาจเป็นปัญหานโยบายระดับชาติ

 

ขั้น ๒ ขั้นการวางแผนบทเรียน (Planning the lesson) เมื่อเป้าหมายการเรียนรู้ถูกกำหนดหรือเลือกโดยกลุ่มครู กลุ่มครูจะเริ่มประชุมปรึกษาหารือเพื่อวางแผนบทเรียน เป้าหมายของการวางแผนบทเรียนไม่เพียงแต่เพื่อให้ได้บทเรียนที่มีประสิทธิภาพ และสร้างความเข้าใจได้จริง

 

แผนการเรียนรู้ที่กลุ่มครูสร้างขึ้นจะต้องนำไปเสนอต่อที่ประชุมครูในระดับโรงเรียน เพื่อรับฟังการสะท้อน และนำข้อมูลที่ได้รับกลับมาปรับพัฒนา ขั้นการวางแผนนี้อาจใช้เวลาเป็นเดือนหรือหลายเดือนก่อนที่จะนำไปสู่การใช้จริงในห้องเรียน

 

หมายเลขบันทึก: 365037เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2010 17:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับคุณครูใหม่

มาร่วมเรียนรู้นวัตกรรมการพัฒนาครูฯ ด้วยคนครับ

น่าสนใจและน่านำไปปรับใช้ยิ่งครับ

ขอบคุณสาระที่ดีดีครับ

สวัสดีค่ะคุณบินหลาดง ยังมีสาระดีๆ เกี่ยวกับ LS และ OA ให้ติดตามกันอีกหลายตอนเลยล่ะค่ะ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท