องค์ประกอบของ PLC ?


อาทิตย์ที่ผ่านมา (๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๗) ไม่น่าเชื่อว่า ผมจะมีโอกาสได้มาเป็นหนึ่งในคนที่นิสิตปริญญาเอก(อย่างน้อย ๓ ท่าน) เรียกว่า "ผู้เชี่ยวชาญ" ขอขอบพระคุณที่ให้เกียรติผมถึงกับเชิญไปเป็นผู้เชี่ยวชาญร่วมทำ Focus Group ในขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรที่จะนำ PLC เป็นเครื่องมือในการพัฒนาทักษะของครูเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนต่อไป

ผมได้อ่านงานเขียนเค้าโครงวิจัยของนิสิตท่านหนึ่ง ท่านสืบค้นทบทวน (Review) เกี่ยวกับองค์ประกอบของ "ชุมชนเรียนรู้วิชาชีพ" (Professional Learning Community) หรือ PLC  (ผมชอบชื่อ "ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์" ที่ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ท่านเรียกมากกว่า เพราะแค่เพียงชื่อก็สื่อ "ค่านิยมร่วม" ได้ชัดเจนแล้ว โดยไม่ต้องมาอธิบายอะไรกันมากมาย) ผมเห็นว่าน่าสนใจเลยนำมาบันทึกเชิงวิพากษ์ไว้ เผื่อจะมีประโยชน์ต่อไป

ผมพบว่า

  • ลักษณะ(รูปแบบ (กรอบ)) ของการทบทวน เป็นการทบทวนที่เน้นเอา "ทฤษฎีตะวันตก" เป็นคำสำคัญคือ "PLC" หรือ "Professional Learning Community" เป็นศูนย์กลางในการสืบค้น สังเกตจากที่มีเฉพาะทฤษฎีที่มาจากนักศึกษาชาวตะวันตกเช่น Peter Sange, Michael J Marquardt, Shirley M Hord, Dufour & Eaker ฯลฯ ทั้งที่อ้างอิงโดยตรงและอ้างอิงผ่านงานของนักการศึกษาไทย ไม่พบ "ทฤษฎีตะวันออก" ที่มี "เป้าหมาย ลักษณะ องค์ประกอบ หรือ โครงสร้าง" คล้ายๆ กัน เช่น "Jugyo Kenkyuu" (จูเคียว เคนจู) หรือ "Lesson Study" ซึ่ง ศ.นพ.วิจารณ์ บอกว่าเป็น PLC แบบหนึ่ง (อ่านที่นี่ และที่นี่ เป็นต้น)  ซึ่งกำเนิดขึ้นในญี่ปุ่นและเป็นวัฒนธรรมของครูญี่ปุ่น เหมือนๆ กับที่ครูไทยให้ความสำคัญเรื่อง "เขียนแผน" และทำให้การศึกษาของญี่ปุ่นเข้มแข็ง
  • นอกจากนี้แล้วการทบทวนยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับความสอดคล้องกับบริบทของตนเอง ไม่ได้กล่าวถึงภูมิหลังของนิสัยใจคอ วัฒนธรรม หรือความแตกต่างระหว่างครูต่างชาติกับครูไทยซึ่งจะเป็นกลุ่มเป้าหมาย  จึงไม่ได้สืบค้นว่า ในประเทศไทย โรงเรียนไหน กลุ่มใดบ้างที่ได้นำ "PLC" มาเป็นเครื่องในการพัฒนาครูและประสบผลสำเร็จแล้ว เช่น โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา (ติดตามงานของครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง ได้ที่นี่) และ โรงเรียนเพลินพัฒนา (ติดตามงานของครูวิมลศรี ที่นี่)ฯลฯ

ผมทดลองนำทฤษฎีต่างๆ ที่นิสิตกล่าวถึงมาวาดเป็นรูป "จาน ๕ เหลี่ยม" เพราะส่วนใหญ่ทฤษฎีเหล่านั้น บอกว่า PLC มีองค์ประกอบ ๕ ประการ และบอกว่า PLC เป็นลักษณะสำคัญขององค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization: LO) จึงได้นำเอาทฤษฎีเกี่ยวกับ LO มาเป็นองค์ประกอบของ PLC (ซึ่งตรงนี้ผมเห็นด้วย)  ผมพบว่า เป็น "จาน ๕ เหลี่ยม" ใบเดียวกัน เพียงแต่ "วางคนละแบบ" หรือ "มองคนละมุม" เท่านั้น ดังรูป 

ผมมีความเห็นว่า

  • การทบทวนทฤษฎีหรืองานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ควร "ยึดทฤษฎี" เป็นตัวตั้ง แต่ควร "ยึดปัญหา" เป็นตัวตั้ง คือแทนที่จะสนใจว่า "PLC คืออะไร" ควรจะให้ความสำคัญกับคำถามว่า "PLC แก้ปัญหาอะไร ได้อย่างไร ทำไมต้องมี PLC"  
  • เมื่อตั้งเอา "ปัญหาเป็นฐาน" (Problem-based) จะนำมาสู่การทบทวนที่ให้ความสำคัญกับ "บริบท" และลักษณะเฉพาะของกลุ่มเป้าหมาย ในที่นี้คือ "ครูชาวไทย" วัฒนธรรม นิสัยใจคอของคนไทย 
  • ควรจะเรียนรู้ทบทวนแบบ "PLC" แบบ "KM" หรือ "PAR" ด้วย คือเน้นการปฏิบัติและมีส่วนร่วมจริงๆ  โดยไม่ยึดติดกับระเบียบวิธีวิจัยแบบ R&D เช่น นิสิตควรจะไปลองทำเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และระดมปัญหากับกลุ่มเป้าหมายจริงๆ ก่อนที่จะนำผลมาออกแบบแนวทางของการพัฒนา ...  ผมเองมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจนใน สพป.มค.๓ และ สพป.กส.๑ ตอนนี้ผ่านกระบวนการนี้แล้ว จึงได้ทราบบริบท ปัญหา และวัฒนธรรมองค์ของของคนที่เกี่ยวข้อง (โรงเรียน ชุมชน สำนักงานเขตฯ) พอสมควรแล้ว และตอนนี้กำลังขับเคลื่อนฯ ในขั้นต่อไป (อ่านได้ที่นี่ มีลิงค์รายงานฉบับสมบูรณ์ที่นี่)
  • องค์ประกอบของ "PLC" ควรจะ "ออกมา" จาก "PLC ของกลุ่มเป้าหมาย" จริงๆ ซึ่งหากนำ "กรอบ" หรือ "รูปแบบ" ทฤษฎีลงไป จะส่งผลต่อรูปแบบและวิถีที่ควรจะเป็นในการพัฒนาตนเอง และความภาคภูมิใจในตนเอง ไม่มากก็น้อย...

ผมคิดว่า การศึกษา เป็นเรื่อง  "เฉพาะคน" "เฉพาะที่" "เฉพาะสังคม" แต่ละคน แต่ละที่ แต่ละสังคม จะแตกต่างกันไปในรูปแบบและวิถี สังเกตจากผลลัพธ์ทางการศึกษาคือ "วัฒนธรรม" ที่ต่างกัน ..... ดังนั้น ถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องหันมาหาตนเอง เรียนรู้ตนเอง โรงเรียนของเราเอง ชุมชน และสังคมของเราเอง เพื่อลูกหลานของเราเอง .... เราต้องพึ่งตนเองให้ได้ในเรื่องการศึกษา .....นี่เป็นหลักคิดของ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา" ประการสำคัญ 

หมายเลขบันทึก: 572631เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2014 08:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กรกฎาคม 2014 09:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

PLC ความรู้ใหม่ที่ได้รับจากบันทึกนี้

ขอบพระคุณค่ะอาจารย์

ขอบคุณค่ะอาจารย์ ครูเราเพิ่งจะตื่นตัวพร้อมไปกับ ไทยแลนด์ 4.0 ...ต้องปรับวัฒนธรรมการทำงานด้วยไหมคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท