‘เกา’ ให้ถูกที่คัน


  

‘เกาให้ถูกที่คัน’ เป็นสำนวนไทยที่มีความหมายใกล้เคียงกับสำนวนฝรั่งว่า ‘hit the nail on the head’ คือการแก้ปัญหาให้ตรงจุด ไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็นการแก้แบบลิงพันแห คือยิ่งแก้มันยิ่งยุ่งบานปลายไม่รู้จบ ซึ่งมักพบว่าต้นตอของปัญหาได้อักเสบสาหัสเกินกว่าการใช้เพียงเพรียวเล็บธรรมดาเข้ากล่อมเกลา เพราะยิ่งเกายิ่งแสบคันปนมันคะเยอบวมปูดเป่งเปิดปากแผลให้ขยายวง ร้อนถึงหมอยาผิวหนังประจำคลินิกชื่อดัง หรือหมอผีพื้นถิ่นแถบใต้ถุนร้าน เข้าปัดเป่าจึงค่อยทุเลาเบาบางลง

คำว่า ‘เกา’ ถือเป็นคำโดดพยางค์เดียวของพวกไทยขยายขึ้นไปถึงไท-ไตอย่างชัดเจน เขียนในภาษาอังกฤษว่า ‘to scratch’ มีคำจำกัดความตามพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ดังนี้

ก. เอาเล็บหรือสิ่งที่มีลักษณะคล้ายเล็บครูดผิวหนังเพื่อให้หายคันเป็นต้น, อาการที่สมอเรือครูดไปตามพื้นท้องน้ำ ไม่ยึดอยู่กับที่.   

ในคำศัพท์พื้นฐานไท-ไตของอาจารย์พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ค.ศ. 2009 ระบุชัดว่าพวกไท-ไตหลายกลุ่ม เช่น Lungchow, Shangsi, Yay และ Saek ต่างเรียกใช้ด้วยคำเดียวกันกับพวกไทยสยาม คือ kawA1 และสืบสร้างเป็นคำโบราณ Proto-Tai ชนิดพยางค์เดียวว่า *kaw A นอกจากนั้นยังพบว่าบางกลุ่มของพวกไหล (Hlai) บนเกาะไหหลำ เช่น Bouhin, Ha Em และ Lauhut เรียกใช้ด้วยรูปคำคล้ายๆ กับพวกไท-ไต ยกเว้นเสียงนำเป็น th- และลากยาวกว่าว่า tha:w1 และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Hlai ว่า *tha:w และขึ้นไปเป็น Pre-Hlai ว่า *ta:w (อ้างอิงจากคำศัพท์พื้นฐานพวกไหลของ Peter Norquest ค.ศ. 2007)

และเมื่อทำการสอบค้นไปทางพวกออสโตรนีเซียนก็พบความละม้ายคล้ายคลึงเป็นอย่างยิ่ง เช่นคัดจากบทความเรื่อง A Revised Inventory of Proto Austronesian Consonants: Kra-Dai and Austroasiatic Evidence โดย Peter Norquest ค.ศ. 2013 ลงในวารสาร Mon-Khmer Studies Volume 42 หน้า 104 ตัวอย่างที่ 1 ในคำว่า ‘scratch’ โดยพวก Bimanese, Proto-Sumba และ Proto-Hawu-Dhao ซึ่งถูกจัดเป็นภาษาพวกหมู่เกาะนูซ่าเติงการ่าตะวันตก (western Nusa Tenggara) อยู่ไปทางฟากตะวันออกของเกาะบาหลี-ลอมบ็อก (Bali-Lombok) และเป็นสาขาหนึ่งของมาลาโย-โพลีนีเซียน เรียกใช้และสืบสร้างว่า kao, *kaʔu และ *kao ตามลำดับ หากเป็นความคล้ายคลึงที่พัฒนาลงมาด้วยกันแบบสนิทแนบหรือไม่ยังคงเป็นคำถามปลายเปิดไว้ก่อนในตอนนี้

และจากคำศัพท์พื้นฐาน Austronesian Basic Vocabulary Database ของ Greenhill, S.J., Blust. R, และ Gray, R.D. ค.ศ. 2008 พบว่ามีการเรียกในลักษณะใกล้เคียงแบบคำสองพยางค์หรือกว่านั้นอยู่หลายกลุ่ม เช่นพวกฟอร์โมซ่าบนเกาะไต้หวัน อาทิ Basay L04 เรียก halaw, Kavalan เรียก kaɣau, qa:ɣáw, qaʀaw, Pazih F69 เรียก kaikaxáu, Saisiyat เรียก koma'ka'aw, kakaaw, kaLkaLaw, Saaroa เรียก kara:ro, karaaru

หรือในพวกมาลาโย-โพลีนีเซียนที่อาศัยอยู่ตามหมู่เกาะต่างๆ นอกไต้หวัน อาทิ พวก Grater Barito อย่าง Mapun และ Bajo เรียก kakayaw, Dayak Ngaju เรียก manqqayau; พวกจามเรียก garao; พวก Malayic อย่างอูรักลาโว้ยเรียก garu, Iban เรียก garuʔ, Kerinci เรียก gaewʔ, ŋaew, Banjarese Malay เรียก garu, Melayu เรียก menggaru; พวก North Borneo อย่าง Belait เรียก mariow, Kelabit (Bario) เรียก ŋaro, kenyah (Long Anap) เรียก ñemayaw; พวก Philippine อย่าง Buhid เรียก kagáw, Bikol (Buhinon) เรียก kaˈɡaw, Hanunoo และ Iraya เรียก kagaw เป็นต้น        

และสืบสร้างเป็นคำโบราณชนิด Proto-Malayo-Polynesian และขึ้นไปเป็นคำดั้งเดิมชนิด Proto-Austronesian แบบคำสองพยางค์เหมือนกันว่า *kaʀaw

ถึงแม้คำว่า ‘เกา’ จะไม่ได้ถูกเปรียบเทียบหาความสัมพันธ์ระหว่างไท-กะไดและออสโตรนีเซียนไว้ในบทความข้างต้นของ Peter Norquest แต่อย่างใด หากผู้เขียนมีความเชื่อระหว่างบรรทัดว่า คำโดดพยางค์เดียวของพวกไท-กะไดว่า ‘เกา’ มีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับคำมากพยางค์ ‘to scratch’ ของทางออสโตรนีเซียน โดยเฉพาะกับคำต้นตำรับว่า *kaʀaw ซึ่งตีความว่าควรเป็นหนึ่งในคำต้นสาแหรก ผู้แตกสานซ่านเซ็นลงมาเป็นคำควบหดสั้นของพวกไท-กะได และคำสองสามพยางค์ของพวกออสโตรนีเซียนทั้งหลาย รวมถึงคำโดดพยางค์เดียวในพวกหมู่เกาะนูซ่าเติงการ่าตะวันตก ที่คลับคล้ายเป็นอย่างมากกับคำไท-กะได หากคงเป็นการพัฒนาอย่างเป็นอิสระต่อกัน หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่าทางใครทางมัน

และที่สำคัญมากไปกว่านั้น คำ Proto-Austronesian ว่า *kaʀaw ควรเป็นคำที่มีรากความเป็นมาจาก ‘คำรากแก้วพยางค์เดียว’ (cross correlated monosyllabic root) ร่วมกันของทั้งไท-กะไดและออสโตรนีเซียน ตั้งแต่ยุค ‘ออสโตร-ไท’ ในรากคำว่า *raw ซึ่งผู้เขียนได้เคยเสนอไว้ว่าน่าจะเป็นอีกหนึ่ง ‘คำรากแก้วพยางค์เดียว’ ที่มีบทบาทเคียงข้างแบบคู่ผัวตัวเมียกับรากคำว่า *law ผู้มีนามธรรมว่า ‘แหล่งรวมต้นกำเนิด’ และอยู่ในฐานะของเพศผัว ในขณะที่ *raw มักเกี่ยวข้องกับความเป็นรูปธรรมมากกว่าและอยู่ในฐานะของเพศเมีย โดยเป็นรากคำต้นกำเนิดซึ่งประกอบไปด้วยคำชั้นลูกหลานที่สามารถตามรอยได้เป็นอย่างดีทั้งในภาษาอินโดนีเซียและไท-กะได

ถ้ามองที่ความหมายพื้นฐานของคำว่า ‘เกา’ ทั้งจากอาการขูดขีดข่วน หรือดังที่พจนานุกรมไทยฯ ให้คำจำกัดความไว้ข้างต้น คงพอออกรูปคำได้ว่าคือ การครูดเสียดสีไปมาของบางสิ่งบนพื้นที่บางอย่าง ซึ่งคงเป็นไปในทำนองเดียวกับการครูดรูดเมือกยางออกจากลำตัว การคราดใบเศษไม้ใต้ลำต้น การขอดเกล็ดปลาให้ผิวเรียบลื่น การขูดเศษดินให้หลุดร่วงจากดอกเห็ด การขุดแซะหัวเผือกหัวมันให้หลุดร่อนจากรากใต้ดิน การขัดเหลาเรียวไผ่เพื่อขึ้นโครงคร่าว หรือแม้แต่ในทำนองเดียวกับการขัดเกลาลำไม้เพื่อทำแหลนหลาวไว้พุ่งแทงพุงปลา

ซึ่งในภาษาอินโดนีเซียนั้น ถึงจะเรียก ‘to scratch’ ด้วยคำที่ค่อนข้างแตกต่างไปว่า ‘garuk อ่านว่า การุก’ (เสียง g = ก+ง) หากกลับปรากฏคำสองพยางค์ที่เกิดจากรากคำ *raw และเกี่ยวโยงใกล้ชิดกับความหมายพื้นฐานของคำว่า ‘เกา’ อยู่หลายคำ เช่น

คำว่า ‘derau อ่านว่า เดอเรา’ แปลว่าเสียงลมดังอื้ออึงท่ามกลางพายุฝน หรือเสียงลมพัดแรงแบบไร้ทิศทาง หรือขยายไปจนถึงคลื่นรบกวนต่างๆ

คำว่า ‘garau อ่านว่า กาเรา’ แปลว่าเสียงโทนใหญ่และลึกล้ำ เทียบกับการใช้ด้วยรากคำ *law เป็น ‘galau’ จะแปลว่าแหล่งรวมขนาดใหญ่ แน่นขนัด ไม่รู้เหนือรู้ใต้

คำว่า ‘kerau อ่านว่า เกอเรา’ แปลว่าตะกร้าขนาดใหญ่ที่ขัดโครงขึ้นจากไม้ไผ่

คำว่า ‘kirau อ่านว่า กิเรา’ แปลว่าแข็งและดิบห้าว มักใช้กับผลไม้ เทียบกับ ‘kilau’ ซึ่งแปลว่าแหล่งส่องแสง แหล่งกำเนิดก็ได้

คำว่า ‘parau อ่านว่า ปาเรา’ แปลว่าเสียงแหบแห้ง เทียบกับ ‘palau’ หมายถึงร่องรอยแผลเก่า  

คำว่า ‘raut อ่านว่า ราอุต’ แปลว่าการขัดเกลาเหลาให้เรียบลื่น เพื่อขึ้นโครงร่าง ก่อสร้าง ปรากฏขึ้น ไปจนถึงแหล่งที่มา เป็นคำคู่กับ ‘laut’ ที่หมายถึงแม่ทะเล

คำว่า ‘sarau อ่านว่า ซาเรา’ แปลเหมือน ‘kerau’ ว่าตะกร้าขนาดใหญ่

และคำว่า ‘serau อ่านว่า เซอเรา’ แปลว่าแยกห่าง กว้าง ตาห่าง ลายผ้าตาห่าง เป็นต้น

(อ้างอิงจาก Kamus Besar Bahasa Indonesia 2012)

ตัวอย่างคำที่ยกขึ้นมานั้นล้วนมีความหมายที่สัมพันธ์กับการขัดเกลา ไม่ว่าจะเป็นเสียงแหบห้าวที่เกิดจากการเสียดสีขูดครูดขึ้นลง ความเกลี้ยงเกลาสะอาดสวยงามของเปลือกผิวที่เคยกร้านดิบ ขยายขึ้นไปจนถึงโครงเคราที่ถูกแต่งเหลา และการขัดสานราวไม้หรือเรียวไผ่ให้เป็นรูปร่างล้อมรวมในตะกร้าตาห่างขนาดใหญ่  

แล้วเมื่อนำไปสอบเทียบกับคำของพวกไท-กะได เท่าที่สืบค้นได้ทั้งจากคำศัพท์พื้นฐานไท-ไต (Tai) ของอาจารย์พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ค.ศ. 2009, คำศัพท์พื้นฐานกระ (Kra) ของอาจารย์วีระ โอสถาภิรัตน์ ค.ศ. 2000, คำศัพท์พื้นฐานไหล (Hlai) ของ Peter Norquest ค.ศ. 2007 และคำศัพท์พื้นฐานก้ำ-สุย (Kam-Sui) ของ Ilya Peiros ค.ศ. 1998 พบคำพูดที่เกี่ยวข้องในพวกไทยลุ่มเจ้าพระยาและพวกไหลบนเกาะไหหลำจำนวนมากมายกว่าพวกอื่น โดยเป็นคำควบกล้ำและคำโดดพยางค์เดียวที่คาดว่าพัฒนาลงมาจากรากคำ *raw แทบไม่แตกต่างจากอินโดนีเซีย ซึ่งแยกออกเป็นสองสายหลักคือ สายหนึ่งพัวพันอยู่กับการขัดเกลาเหลายาวแหลม และอีกสายพัวพันอยู่กับการขึ้นโครงขัดรูปร่าง ดังนี้

สายที่เกี่ยวพันกับการขัดเกลาเหลายาวแหลม:

คำว่า ‘เกลา’ (to polish, to clear, to smooth, to scrape) เป็นคำควบกล้ำที่สำคัญ มีคำจำกัดความตามพจนานุกรมไทยฉบับเดียวกันว่า

 [เกฺลา] ก. ทำสิ่งที่ยังขรุขระอยู่ให้เกลี้ยงหรือได้รูปทรงดีขึ้น เช่น เกลาไม้ไผ่, ทำให้ดีขึ้นหรือเรียบร้อยขึ้น เช่น เกลาสำนวนหนังสือ เกลานิสัย.

ซึ่งว่ากันโดยพื้นฐานแล้วคือเนื้อหนังตัวเดียวกับคำว่า ‘เกา’ จนทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ‘เกลา’ คือคำที่หดสั้นมาเป็น ‘เกา’ เป็นคำควบกล้ำเก่าที่เหลือรอดลงมาจนถึงปัจจุบันในไท-กะไดบางกลุ่ม อย่างน้อยเห็นๆ เช่นพวกไทยลุ่มเจ้าพระยาเป็นต้น และยังพบว่าพวกไหลมากกลุ่มมีการใช้รูปคำในความหมายว่า ‘clear’ ความโปร่งโล่งไม่รุงรังสายตา ใกล้เคียงกับ ‘เกา’ และ ‘เกลา’ มาก เช่น Bouhin เรียก (ka:w1),  Ha Em และ Lauhut เรียก ga:w1, Tongzha และ Changjiang เรียก ga:w4 และ Moyfaw เรียก ɣa:w1 และ Peter Norquest ได้สืบสร้างเป็นคำ Proto-Hlai อย่างน่าสนใจด้วยเสียง ร.เรือ นำว่า *ra:w

คำว่า ‘เสลา’ (to carve,) มีคำจำกัดความตามพจนานุกรมไทยฯ ว่า

 [สะเหฺลา] ว. สวย, งาม, เกลี้ยงเกลา, เปลา, โปร่ง, เฉลา ก็ว่า.

และมักใช้คู่กับ ‘สลัก’ เป็น ‘สลักเสลา’ (to sculpture) ซึ่งมีคำจำกัดความว่า

[-สะเหฺลา] ก. สลักให้เป็นลวดลายเรียบร้อยสวยงาม เช่น เสียเวลานั่งสลักเสลาผักครึ่งวันกว่าจะได้ลงมือทำกับข้าว สลักเสลาเสาหินเป็นลายเทพนม.

ซึ่งให้สังเกตถึงความหมายของคำว่า ‘เปลา’ ที่คือต้นไม้สูงชะลูดขึ้นไปโดยไม่มีกิ่งก้านตามลำต้น และ ‘เฉลา’ คือความสวยงาม เกลี้ยงเกลา ว่าทั้งสองล้วนอยู่ในร่องรอยเดียวกันคือ เป็นแท่งยาวเกลี้ยงเกลาและปลอดโปร่ง ทำให้คิดต่อไปว่ากลุ่มคำเหล่านี้บางทีอาจเป็นที่มาของคำควบสั้นพยางค์เดียวว่า ‘เสา’ เป็น ‘เสา’ ของเรือนยกพื้นใต้ถุนสูง ที่บางอารมณ์อาจไม่ได้เป็นคำหยิบยืมเข้ามาจากผู้อื่น หากเป็นคำของ ‘คนพูดไท’ แท้ๆ ผู้พัฒนาขึ้นมาจากภาษาแห่งการขัดเกลาเหลาโครงร่าง เป็นคำที่มีการเรียกใช้คล้ายๆ กันในหลายพวก เช่น

ไท-ไต: Siamese และ Sapa เรียก sawA1, Bao Yen เรียก thɤwA1, Cao Bang เรียก ɬɤwA1, Lungchow และ Shangsi เรียก ɬawA1, Yay เรียก θawA1 และอาจารย์พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ได้สืบสร้างเป็นคำ Proto-Tai ว่า *sawA

ก้ำ-สุย: Then เรียก za:u.2, Lingam Sui เรียก la:u.1 และ Mak เรียก za:u.1 ซึ่ง Ilya Peiros ไม่ได้สืบสร้างคำเก่าไว้

กระ: Gelao เรียก sa A1, Lachi เรียก ʨi A1, Laha เรียก cou B2 –t, Paha เรียก dʑhuu A1, Buyang เรียก θuu A1, Pubiao เรียก ʨau A1 และอาจารย์วีระ โอสถาภิรัตน์ ได้สืบสร้างเป็นคำ Proto-Kra ว่า *m-tȿu A

คำว่า ‘เหลา’ (to sharpen, to chamfer) มีความหมายแทบไม่แตกต่างจากคำว่า ‘เกลา’ และ ‘เกา’ หากแสดงนัยยะที่ขัดแย้งในตัวอยู่พอควร เพราะทางหนึ่งหมายถึงการลบเหลี่ยมคมทำให้เกลี้ยงเกลาสวยงาม แต่ในอีกทางกลับกลายเป็นการสร้างความแหลมคมขึ้นมา โดยเฉพาะตรงด้านปลายของเรียวไม้ ซึ่งมีคำจำกัดความตามพจนานุกรมไทยฯ ว่า

[เหฺลา] ก. ทำให้เกลี้ยงเกลาหรือให้แหลมด้วยเครื่องมือมีมีดเป็นต้น เช่น เหลาตอก เหลาดินสอ. 

ที่น่าสนใจคือ การเหลาเกลากลึงได้ถูกนำไปใช้เรียกเครื่องมือขุดแซะที่มีด้ามจับเป็นไม้ท่อนยาวเรียว โดยพวกไหลกับคำภาษาอังกฤษว่า ‘spade’ เช่น Bouhin, Ha Em, Lauhut, Moyfaw และ Baisha เรียกเหมือนกันว่า za:w2, Tongzha, Zandui และ Baoting เรียกว่า ɬa:w2, Yuanmen เรียกว่า tsa:w2 และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Hlai ว่า *lja:wɦ และเป็นคำ Pre-Hlai ว่า *Cila:wɦ

คำว่า ‘เพลา’ (shaft) แกนยาวสำหรับหมุนล้อ เช่น เพลาเกวียน มีคำจำกัดความว่า

(๑)  [เพฺลา] น. แกนสำหรับสอดในดุมรถหรือดุมเกวียน, โดยปริยายหมายถึง แกนสำหรับให้ล้อหรือใบจักรหมุน (๒) น. ไม้สำหรับขึงใบเรือ.

คำว่า ‘หลาว’ (spear) เป็นคำที่ถูกใช้ในลักษณะของการพุ่งไปข้างหน้า หรือถูกใช้เป็นอาวุธยาวปลายเรียวแหลมชนิดหนึ่ง ซึ่งเข้าใจว่าเป็นคำที่พัฒนาต่อยอดลงมาจากรากเดียวกัน มีคำจำกัดความว่า

น. ไม้ที่เสี้ยมแหลม เป็นอาวุธสำหรับแทง, โดยปริยายเรียกสิ่งอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น หลาวทองเหลือง.

และการพ่นพุ่งยาวไปข้างหน้า หรือ ‘squirt’ ในภาษาอังกฤษ ยังถูกใช้โดยพวกไหลคล้ายๆ กับพวกไทยสยาม เช่นพวก Ha Em, Lauhut, Tongzha , Zandui, Baoting, Moyfaw, Baisha และ Yuanmen ต่างเรียกเหมือนกันว่า ɬa:w1 และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Hlai ว่า *hla:w และคำ Pre-Hlai ว่า *la:w

คำว่า ‘ราว’ (about, bar) มีความหมายอยู่สองนัยยะคือ เป็นการประมาณคร่าวๆ และความยาวหลาวเรียว ซึ่งความหมายอย่างหลังนี้มีคำจำกัดความตามพจนานุกรมไทยฯ ว่า

(๑) น. แถว, แนว, เช่น ราวป่า (๒) น. เครื่องยึดเหนี่ยวสำหรับเกาะหรือขึ้นลงเป็นต้น เช่น ราวบันได ราวสะพาน, เรียกไม้ โลหะ และเชือกหรือลวดเป็นต้นที่ขึงสำหรับพาดหรือตากผ้า ว่า ราว ราวผ้า หรือราวตากผ้า, ถ้าใช้ขึงสิ่งอื่น ๆ เช่น ขึงมุ้ง เรียกว่า ราวมุ้ง ขึงม่าน เรียกว่า ราวม่าน, ไม้หรือโลหะเป็นต้นสำหรับพาดปักวางสิ่งต่าง ๆ เช่น ราวพระแสง ราวเทียน.

คำนี้มักถูกนำไปใช้เข้าคู่กับ ‘เรื่อง’ กลายเป็น ‘เรื่องราว’ ในความหมายว่าเล่าติดต่อกันยาวออกไปเรื่อยๆ และคำว่า ‘ราว’ ยังอาจกินความไปถึงคำในรูปสระ ‘เอีย’ ว่า ‘เปรียว’ (agile), ‘เพรียว’ (slim), ‘เรียว’ (slender) ในความหมายแนวเดียวกันว่าบอบบางสูงยาวโปร่งไม่ตันหนาหรืออ้วนฉุ เคลื่อนไหวรวดเร็วว่องไว มีคำจำกัดความตามพจนานุกรมไทยฯ เช่น  

เปรียว: (๑) [เปฺรียว] ว. ไม่เชื่อง, ว่องไว, (ใช้แก่สัตว์บางชนิดเช่นนกหรือไก่เป็นต้นที่ไม่คุ้นคน), โดยปริยายใช้แก่สิ่งอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น

เพรียว: [เพฺรียว] ว. เปรียว, ฉลวย, เรียว, เช่น รูปร่างเพรียว เรือเพรียว.

เรียว: (๑) น. สิ่งที่มีลักษณะโคนโตปลายเล็ก เช่น เรียวหวาย เรียวไม้, เรียกไม้ปลายเรียวเล็กสำหรับตีเด็ก ว่า ไม้เรียว. (๒) ว. เล็กลงไปตามลำดับอย่างลำไม้ไผ่ เช่น นิ้วเรียว ขาเรียว (๓) ว. โดยปริยายหมายถึงเสื่อมลงตามลำดับ เช่น ศาสนาเรียว.

และจนถึงคำในรูปสระ ‘อิ’ ว่า ‘ริ้ว’ (strip) บนความหมายร่วมสมัยว่า

น. เส้นลายหรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะเป็นรอย เป็นทาง ๆ เป็นแถวหรือเป็นแนวยาวไป เช่น ผ้าขาดเป็นริ้ว ริ้วขบวน ริ้วปลาแห้ง, ลักษณนามเรียกสิ่งที่มีลักษณะเช่นนั้น เช่น เรียกปลาแห้งที่ผ่าเป็น ๕ ริ้ว ว่า ปลา ๕ ริ้ว หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ปลาห้า.

คำว่า ‘สาว’ (to pull, to strip, to take off) ถือเป็นคำสำคัญคำหนึ่งในหมู่ไท-กะได ที่แตกต่างทั้งในเชิงความหมายและที่มาจากคำว่า ‘สาว’ (unmarried woman, bride) ผู้เป็นนายเหนือบ่าวและเป็นเจ้าของนาข้าวผืนกว้าง ผู้สืบมรดกตกทอดมาแต่ครั้งบรรพชนอย่างยาวนานจนถึงทุกวันนี้ หากเป็น ‘สาว’ ที่เกิดจากขบวนการขัดเกลา ถูกใช้ในความหมายของการดึงสาวหรือลอกเปลือกเป็นเส้นยาวๆ ออกจากลำต้นลำตัว หรือการสาวเส้นใยต่างๆ และขยับขยายลงมาจนถึงการสาวเรื่องราว สาวความ สาวไส้ให้กากิน จนถึงสาวมือสาวตีน ซึ่งพจนานุกรมไทยฯ ให้คำจำกัดความไว้ส่วนหนึ่งว่า

(๑) ก. เอามือทั้ง ๒ ข้างสลับกัน ชักหรือดึงสิ่งที่เป็นเส้นยาว ๆ เข้าหาตัว เช่น สาวไหม สาวเชือก (๒) ก. โดยปริยายหมายถึงอาการที่คล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น เรื่องนี้พอสาวเข้ามาก็พบว่ามีผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง.

ในคำศัพท์พื้นฐานไท-ไตของอาจารย์พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ไม่ได้บรรจุคำเรียก ‘สาว’ แบบสาวมือสาวไม้ไว้แต่อย่างใด หากคำนี้ไปปรากฏในคำศัพท์พื้นฐานของพวกไหลโดย Peter Norquest ในคำที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘to strip’ ซึ่งถูกแยกเป็นสองคำ ได้แก่ ‘to strip’ 1เช่น Bouhin, Ha Em, Lauhut, Moyfaw และ Baisha เรียกว่า row1, Tongzha เรียก row4 , Zandui เรียก low4, Baoting เรียก (law5) และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Hlai ว่า *ɾu: และ Pre-Hlai ว่า *C-ɾu: ; ‘to strip’ 2 เช่น Ha Em และ Lauhut เรียกว่า law3 Baisha เรียก 1, Yuanmen เรียก 4 และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Hlai ว่า *C-lu:ʔ

และในอีกคำเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘to take off’ เช่น Bouhin, Ha Em, Lauhut, Changjiang และ Moyfaw เรียกว่า za:w2 , Tongzha, Zandui และ Baoting เรียก ɬa:w2, Cunhua เรียก law5 นอกนั้นเรียกต่างออกไป และสังเกตด้วยว่า Bouhin, Ha Em, Lauhut, Moyfaw พวกหนึ่ง กับ Tongzha, Zandui, Baoting อีกพวก แต่ละพวกต่างใช้คำเรียก ‘to take off’ และ ‘spade’ ด้วยคำเดียวกัน และต่อเนื่องขึ้นไปยังคำสืบสร้างโบราณที่หน้าตาเหมือนกันทั้งสองคำ   

นอกจากนั้นยังควรขยายขอบเขตการขัดเกลาไปที่คำว่า ‘ซาว’ (to wash) ซึ่งมีความหมายตามพจนานุกรมไทยฯ อยู่ส่วนหนึ่งว่า 

ก. เอาข้าวสารล้างนํ้าด้วยวิธีใช้มือคนให้ทั่วเพื่อให้สะอาดก่อนหุงต้ม เรียกว่า ซาวข้าว.

ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่มีใช้ในหลายพวกของไท-ไต เช่น Siamese เรียก sa:wA2, Cao Bang เรียก ra:wA2, Lungchow และ Shangsi เรียก ɬa:wA2 สืบสร้างเป็นคำ Proto-Tai ว่า *za:wA และตรงกับคำเรียกของไหลบางพวก เช่น Cunhua เรียก saw3 และ Moyfaw เรียก sa:w3 สืบสร้างเป็นคำ Proto-North Central Hlai ว่า *ɕa:wʔ เป็นต้น

สายที่เกี่ยวพันอยู่กับการขึ้นโครงขัดรูปร่าง:

คำว่า ‘คร่าว’ (outline, frame) เป็นคำควบกล้ำที่มีความหมายใกล้เคียงกับ ‘ราว’ คือโดยประมาณ อย่างหยาบ เป็นเค้าโครงรวมของทั้งเรื่องราว ในเชิงช่างนำมาใช้กับการขึ้นโครงคร่าวก่อนการขัดฝาใดๆ ได้ยินกันทั่วไปในพวกไทยลุ่มเจ้าพระยา มีคำจำกัดความว่า

[คฺร่าว] น. โครงสร้างซึ่งทำขึ้นด้วยวัสดุอย่างใดอย่างหนึ่งเช่นไม้ โลหะ เพื่อใช้ในการยึดแผ่นวัสดุที่ทำเป็นฝา รั้ว หรือฝ้าเพดาน ส่วนใหญ่จะยึดกับโครงสร้างที่สำคัญมีเสาคาน เป็นต้น คร่าวตีได้ทั้งในแนวตั้ง แนวนอน หรือเป็นตาราง. ว. เลา ๆ พอเห็นเป็นเค้า, ยังไม่เรียบร้อย.

หากว่าไปแล้วลักษณะของโครงคร่าวนี้ก็คือการตีระแนงนั่นเอง ซึ่งทางพวกไหลใช้ในคำว่า ‘to sift’ หรือร่อนตะแกรง เช่น Bouhin และ Ha Em เรียก zaw1, Lauhut เรียก raw1, Tongzha และ Baoting เรียก taw4, Zandui เรียก thaw4 และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Hlai ว่า *ɾjəw และขึ้นไปเป็น Pre-Hlai ว่า *Ciɾəw  

เป็นการขึ้นโครงคร่าวตีระแนงร่อนตะแกรงขัดแฝกฝาจนกลายเป็นตะกร้าใบเขื่อง ที่ใช้ประโยชน์ได้สารพัดเช่นการเรียกยุ้งฉาง ‘barn’ ของพวกไหลแบบคำคล้าย เช่น Ha Em, Lauhut, Changjiang, Moyfaw และ Baisha เรียกเหมือนกันว่า za:w3, Tongzha, Zandui และ Yuanmen เรียกต่างโทนไปนิดว่า za:w6, Nadouhua เรียก zaw3 และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Hlai ว่า *hja:wʔ และเป็นคำ Pre-Hlai ว่า *ja:wʔ หรือการเรียกรวงรังหรือที่พักขนาดพอดีตัว ‘den/nest’ ของพวกกระ เช่น Paha เรียก ðaau C1 และ Pubiao เรียก θoo C1 และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Kra ได้อย่างน่าสนใจว่า *trau C

ซึ่งต่อเนื่องไปยังคำว่า ‘เล้า’ ที่หมายถึงกรงสุ่มเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่ชนิดโรงเรือนปิดล้อม คำว่า ‘รั้ว’ ที่ใช้ในความหมายว่าการตีระแนงล้อมรอบพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเพื่อแสดงอาณาเขตความเป็นเจ้าของ และคำว่า ‘หลัว’ ที่หมายถึงตะกร้าสานด้วยหวายหรือไม้ไผ่โดยตรง หากสามคำนี้ยังไม่แน่ว่าจะเป็นคำดั้งเดิม บางทีอาจเป็นคำยืม แต่ทำไมช่างบังเอิญมาตรงกันทั้งรูปคำและความหมายเบื้องหลัง ซึ่งคงต้องช่วยกันตรวจสอบต่อไป

ก่อนปิดท้ายเป็นที่สังเกตว่า พวกไท-กะได ผู้ชื่นชอบการควบรวมหดสั้น ยังสามารถรักษารูปคำและความหมายดั้งเดิมของ *raw ไว้ได้ค่อนข้างดี แม้มีการแตกตัวออกลูกหลานไปหลากหลายคำ หรือหลายต่อหลายคำได้แปรเปลี่ยนเป็นเสียง ล.ลิง ซึ่งทำให้สับสนได้ง่ายกับคำในกลุ่มตัวผู้รากคำ *law หากไม่จับรากความหมายพื้นฐานชนิด ‘subsurface etyma’ ของแต่ละกลุ่มไว้ให้มั่น หรือหลายคำได้กลายเป็นคำโดดพยางค์เดียว ที่ใช้เสียงพยางค์ต้นคำกระพี้ ที่แปรผันและหดหายไป มาเป็นตัวนำก็ตาม

จากการสืบสาวลอกเปลือกริ้วหนาแหบห้าว ครูดขูดจนเหลือเพียงเนื้อในที่สวยงามและเปลือยเปล่าของรากคำ *raw ชนิด ‘คำรากแก้วพยางค์เดียว’ ผู้ถือเป็นอีกหนึ่งคำแก่นแกนดั้งเดิมของทั้ง ‘คนพูดไท’ และ ‘คนพูดออสโตรนีเซียน’ บนความหมายนามธรรมร่วมกันอันเก่าแก่ของ ‘การเหลาเกลาและขัดโครงคร่าว’ ซึ่งเป็นหนึ่งในนามธรรมหลักของรากคำ *raw และสามารถสะท้อนถึงวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยนั้นว่า ควรเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องไม้เรียวยาวโดยเฉพาะไม้ไผ่กับหวายในระดับที่พอตัว คงมีการนำมาประยุกต์ใช้งานในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่เรื่องของเครื่องมือหากิน ทำอาวุธป้องกันตัว จักตอกสานเครื่องใช้ในครัวเรือน จนถึงการขัดโครงสร้างที่พักอาศัย และเป็นไปได้สูงว่าผู้คนเหล่านี้ยังอาจมีความรู้ความสามารถในการสาวเส้นใยปั่นถักทอเสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่มอีกด้วย

จวบจนต่างคนต่างแยกย้าย จึงต่างสืบสานและพัฒนาต่อยอดกันลงมาตามแนวทางสันดานที่ชอบของแต่ละหมู่พวก เช่นบางพวกชอบที่จะรักษาความเก่าเดิมแบบคำสองพยางค์ ซึ่งประกอบไปด้วยรากคำ *raw บวกกระพี้ (ในบางกรณีอาจเป็นรากคำบวกกับรากอีกคำ) บางพวกชอบที่จะเปลี่ยนแปรเสียงรากคำ หรือต่อเติมให้รูปคำยาวย้วยขึ้น บางพวกชอบที่จะควบรวมหดสั้น จากเดิมสองพยางค์ลดครึ่งพยางค์และเหลือเพียงพยางค์เดียวในตอนท้าย บนความพยายามในการรักษารากคำไว้ให้นานที่สุด     

จึงเป็นอีกหนึ่งบทความที่พยายามเสนอ ‘เกาให้ถูกที่คัน’ ตามเส้นทางอันเก่าแก่ของหมอผีพื้นถิ่น ผู้นิยมในการเสกน้ำเป่ามนต์พื้นบ้าน แบบองค์รวมประทับทรงมากกว่าอื่นใด

 

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

จันทบุรี 18 สิงหาคม พ.ศ. 2560  


หมายเลขบันทึก: 634903เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2017 10:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 สิงหาคม 2017 10:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านเสริมเติมรู้  ขอบคุณที่เขียนให้อ่านนะครับได้รับความรู้และสาระมากโขเทียว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท