​ชีวิตที่พอเพียง : 2989b โรงงานผลิตปัญญา : 8. PPP ในอุดมศึกษา


ในสหรัฐอเมริกา ทั้งสถาบันอุดมศึกษา ภาครัฐ และประชาชน มีเป้าหมายเดียวกัน คือใช้อุดมศึกษาเป็นกลไกก่อร่างสร้างบ้านเมือง โดยการส่งเสริมให้เยาวชนได้ยกฐานะตนเองจากการอยู่ใน ครอบครัวยากจน เป็นครอบครัวคนชั้นกลาง

ชีวิตที่พอเพียง  : 2989b โรงงานผลิตปัญญา :  8. PPP ในอุดมศึกษา

บันทึกชุด โรงงานผลิตปัญญา ตีความจากหนังสือ Wisdom’s Workshop :  The Rise of the Modern University    สำหรับตอนที่แปดนี้ ตีความจากบทที่ 3 The Collegiate Way Abroad  

ผมพิศวงว่าอุดมศึกษาอเมริกันพัฒนาบนฐานคิด PPP (Public Private Partnership) ตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๗    คือคนอเมริกันอพยพไปจากยุโรป   เหตุผลที่อพยพมักเพราะความคับแค้นในการปกครองที่กดขี่ทางความคิด   เขาต้องการเสรีภาพ และเห็นโอกาสชีวิตที่ดีกว่า จึงเสี่ยงอพยพไปสร้างสังคมใหม่    จึงต้องช่วยกันสร้าง ไม่ใช่รอให้ฝ่ายปกครองบันดาลให้    แต่เขาก็หาทางชักชวนฝ่ายปกครองให้ออกเงินและออกกติกาเพื่อสร้างความ ต่อเนื่องยั่งยืน

ที่จริงการก่อตั้งสถาบันอุดมศึกษาในอเมริกาในยุคนั้นน่าจะถือว่าเป็น CPPP มากกว่า    C ย่อมาจาก church คือวงการศาสนา     ในช่วงก่อนประกาศอิสรภาพ มีสถาบันอุดมศึกษาในอเมริกา ๓๖ แห่ง    อธิการบดี เป็นพระเสีย ๓๕ แห่ง    และอาจารย์ส่วนใหญ่ก็เป็นพระหรือหวังว่าต่อไปจะเป็นพระ    

เข้าใจว่าการปลดแอกจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ  กลายเป็นสาธารณรัฐ (สหรัฐ)     ได้ทำให้ วิญญาณของอิสรชน วิญญาณประชาชน และวิญญาณของการสร้างชาติ เฟื่องฟู     การสร้างชาติที่สำคัญคือ การสร้าง “อภิชาตบุตร” หนังสือใช้คำว่า “enable sons of ordinary colonists to do better than their fathers”     และการตั้งมหาวิทยาลัยให้การศึกษาเป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งเพื่อการนี้  

ทำให้ผมหวนมาคิดถึงการสร้างชาติไทยยุค ประเทศไทย ๔.๐    ที่ “การสร้างอภิชาตบุตร” น่าจะยังใช้ เป็นยุทธศาสตร์ได้     หากคนไทยทั้งมวลมีจิตวิญญาณนี้    และเข้าใจว่าการพัฒนาเยาวชนให้มีชีวิตที่ดีกว่าพ่อแม่ ต้องการ กลไกที่มากกว่าโรงเรียน    เพราะผลกระทบต่อการสร้างเยาวชนมาจากโรงเรียนเพียงหนึ่งในสาม  อีกสองในสามมาจากปัจจัยนอกโรงเรียน    เราต้องช่วยกันสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อหล่อหลอมเยาวชนของเรา ให้เป็นคนแกร่ง และมีจิตใจมุ่งมั่นสร้างอนาคตของตนเอง  

เขียนมาถึงตรงนี้ ทำให้หวนมาคิดถึงตนเอง สมัยเด็กๆ ผมติดใจคำว่า “อภิชาตบุตร” มาก    และตั้งคำถาม กับตนเองว่า เราจะเป็นอภิชาตบุตรได้ไหม    หรือจะเป็นได้แค่อวชาตบุตร     เพราะผมรู้สึกว่าพ่อของผมเป็นคนเก่ง ฉลาดเฉลียวเหลือเกิน    ส่วนผมเป็นคนทื่อๆ ไร้ความหลักแหลม    แถมในสมุดพกของโรงเรียน ครูลงรายงาน ในสมุดพกของผมเหมือนกับของเพื่อนๆ ว่า “สติปัญญาปานกลาง”    ก็ยิ่งทำให้ผมปักใจว่าตนเองคงจะไม่ได้เป็น อภิชาตบุตร    โชคดีที่ผมไม่ท้อถอย หมั่นเล่าเรียน และหมั่นพัฒนาตนเอง    แม้เมื่อผมมีผลการศึกษาดีเยี่ยมผมก็ ไม่หลงตนว่าเก่ง    ยังมุ่งมั่นเรียนรู้พัฒนาตนเองจนปัจจุบันนี้ 

ที่น่าชื่นชมคือ ในสหรัฐอเมริกา ทั้งสถาบันอุดมศึกษา  ภาครัฐ  และประชาชน  มีเป้าหมายเดียวกัน คือใช้อุดมศึกษาเป็นกลไกก่อร่างสร้างบ้านเมือง    โดยการส่งเสริมให้เยาวชนได้ยกฐานะตนเองจากการอยู่ใน ครอบครัวยากจน เป็นครอบครัวคนชั้นกลาง  ที่หนังสือใช้คำว่า “greater movement up the social ladder”    ผมฝันอยากให้สังคมไทยเรามีจิตวิญญาณเช่นนั้น คือจิตวิญญาณ ของการก่อร่างสร้างบ้านเมือง ... ประเทศไทย ๔.๐    ไม่อยากให้ มหาวิทยาลัยมุ่งคิดแต่ผลประโยชน์ของตนเอง

หนังสือระบุว่า Before the revolution, …, one of Princeton’s primary functions in American society was to ‘transform the sons of modest farmers into prospective clergymen, lawyers and medical men’    โดยผม ขอตั้งข้อสังเกตว่า เขาเน้นที่การสร้างชีวิตคน    ไม่ใช่ที่ “การศึกษา” อย่างที่สังคมไทยเน้นอยู่ในปัจจุบัน 

CPPP ในอุดมศึกษา ต้องเน้นที่การสร้างชาติ    เน้นสร้างคนไปสร้างชาติ    ไม่ใช่เน้นสร้างปริญญา หรือสร้างคนที่มีปริญญา อย่างเลื่อนลอย

CPPP มาจากวิญญาณ หรือความเชื่อว่า    เมื่อคนรุ่นหลังมีการศึกษาดี มีความแข็งแรงและจิตใจดี    ย่อมส่งผลให้สังคมดี   สังคมดีไม่ใช่สิ่งที่ได้จากการร้องขอ    แต่ต้องช่วยกันสร้าง 

วิจารณ์ พานิช

๙ ก.ค. ๖๐

 

หมายเลขบันทึก: 634900เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2017 07:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 สิงหาคม 2017 07:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท