ชีวิตที่พอเพียง 2974. ไปเสพสุขเอ็นดอร์ฟินที่บ้านหลอมปืน




ระหว่างนั่งฟังการบรรยายสรุปเรื่องราวของชุมชนพึ่งตนเอง ของบ้านหลอมปืน  หมู่ ๑๔  ตำบลละงู  อำเภอละงู  จังหวัดสตูล เมื่อสายวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๐   ผมก็เกิดอาการ “เอ็นดอร์ฟินหลั่ง” 


ยิ่งสภาพแวดล้อมของการประชุมเป็นธรรมชาติ  มีลมโชยมาจากชายหาด  และนั่งประชุมที่ศาลา ที่สร้างขึ้นโดยเงินส่วนหนึ่งมาจาก “โครงการสึนามิ” ของมูลนิธิสยามกัมมาจลและธนาคารไทยพาณิชย์    ยิ่งเป็นบรรยากาศ “รมณียารมณ์” ของผม    เหตุผลอยู่ที่ บันทึก และ    คำหลักคือ “ชุมชนจัดการตนเอง”


ราวๆ ๕ ปีก่อน ธนาคารไทยพาณิชย์บอกว่ามีเงินที่มีผู้บริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิเหลืออยู่ราวๆ ๒๐ ล้านบาท    ต้องการใช้ให้หมด โดยเอาไปสนับสนุนดำเนินการในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ  ให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง “จัดการตนเองได้”    มอบหมายให้มูลนิธิสยามกัมมาจลใช้เงินก้อนนี้


มูลนิธิสยามกัมมาจลเอาเงินไปทำสัญญากับมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่นดำเนินการ    เมื่อทำไปได้ราวๆ ๑ ปี เราก็ยกขบวนกันลงไปเยี่ยมชมกิจการ ตามบันทึกชุดนี้  , , , ,     ซึ่งผมบอกเขาว่า ที่ทำอยู่นั้น จะไม่บรรลุเป้าหมาย “ชุมชนจัดการตนเอง”    และแนะให้ไปดูงานชุมชนจัดการตนเองที่บ้านหนองกลางดง อ. สามร้อยยอด ที่มี ผู้ใหญ่โชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ เป็นผู้นำ   


กลับจากไปดูงาน ทีมของชุมชน และของมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น ก็ปรับตัว    ทำงานในแนวใหม่ และทำโครงการได้ผลดี


วันนี้ (๔ กรกฎาคม ๒๕๖๐) ผมไป รพ. ละงู ร่วมในทีม ศสช. เพื่อร่วมการปรึกษาหารือ ดำเนินการโครงการ DHSA / DHML ของอำเภอละงู    รวมทั้งอีก ๙ โรงพยาบาลในเครือข่ายการดำเนินการ ผลิตแพทย์ชนบท track ใหม่ของ มอ. ภายใต้ความร่วมมือของศูนย์แพทย์หาดใหญ่  ศูนย์แพทย์ยะลา  และโรงพยาบาลชุมชนในเครือรวม ๑๐ โรงพยาบาล   


DHSA = District Health Systems Academy, DHML = District Health Management Learning   ความหมายคือการมีระบบสุขภาพอำเภอที่มีการเรียนรู้ร่วมกันของทุกฝ่ายในอำเภอ    กล่าวง่ายๆ คือ มีความร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของฝ่ายการศึกษา ที่ผลิตบุคลากรในวิชาชีพสุขภาพ กับฝ่ายระบบ บริการสุขภาพ    โรงพยาบาลละงู ภายใต้การนำของผู้อำนวยการโรงพยาบาล นพ. ปวิตร วณิชานนท์  ถือเป็นแกนนำของการสร้างนวัตกรรมเชิงระบบชิ้นนี้  


ตอน ๑๐ - ๑๒ น. ทาง รพ. ละงูจัดให้ผู้เข้าร่วมประชุมราวๆ ๔๐ คนแยกย้ายกันไปเยี่ยมชมชุมชน ๓ แห่ง เพื่อทำความเข้าใจ social determinants of health ในพื้นที่    หนึ่งในสามชุมชนนั้นคือ บ้านหลอมปืน    และทีมจัดการของ รพ. ละงู บอกผมว่า ทีมประชาคมบ้านหลอมปืนเขารอพบผมยู่    ผมจึงเลือกไปชื่นชมกิจกรรม ของบ้านหลอมปืน    และได้ไปกินเอ็นดอร์ฟินตามที่เล่าแล้ว  


เอ็นดอร์ฟินหลั่ง เพราะผมได้สัมผัสความเป็น “ชุมชนจัดการตนเอง” ที่บ้านหลอมปืน   โดยฟังจากจ๊ะยะ ประธาน อสม., อดีตผู้ใหญ่บ้าน อารีย์ ติงหวัง (บังหลี), นักพัฒนาชุมชนหนุ่ม จักรกฤษณ์ ติงหวัง, และนักพัฒนาชุมชนอาวุโส สมพงษ์ หลีเคราะห์    


ชุมชนจัดการตนเอง เป็น พลัง (assets) ของการดำเนินการสร้างสรรค์ระบบสุขภาพชุมชน



วิจารณ์ พานิช

๕ ก.ค. ๖๐

 

 

 



1 ป่าไม้ชายเลน อ่าวทุ่งนุ้ย




2 ป้ายบอกเขตอนุรักษ์ทรัพยากรประมง อ่าวทุ่งนุ้ย



3 ศาลาหลังนี้เมื่อผมไปคราวก่อนเมื่อ ๓ ปีที่แล้วยังไม่มี



4 บรรยากาศการพูดคุย คนที่กำลังพูดคือบังหลี



5 จ๊ะยะ ประธาน อสม. ทำงานได้เองโดยไม่ต้องรอหมอสั่ง



6 จักรกฤษณ์ ติงหวัง



7 ผู้ชายนั่งกลางคือคุณสมพงษ์ หลีเคราะห์




8 ถ่ายรูปหมู่ร่วมกัน



หมายเลขบันทึก: 632503เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2017 13:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 สิงหาคม 2017 13:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท