DHML



วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ทีม DHML (District Health Management Learning) จัดประชุม AAR การทำงานของโครงการ ตามด้วย BAR สำหรับการทำงานช่วงต่อไปในวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๙ ผมได้รับเชิญไปร่วมงาน BAR


DHML เป็นโครงการที่มีโครงสร้างการจัดการที่มีลักษณะเฉพาะตัว ภายใต้การริเริ่มของ สปสช. และสนับสนุนเงินโดย สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข ผมชื่นชมโครงสร้างการทำงาน ที่ออกแบบอย่างเป็นระบบครอบคลุมทั่วประเทศเป็นอย่างยิ่ง มีระบบศูนย์เรียนรู้ ศูนย์ประสานงานการเรียนรู้ มีสถาบันการศึกษา (วิทยาลัยพยาบาล และวิทยาลัยสาธารณสุข) เข้าร่วมในฐานะพี่เลี้ยงทางวิชาการ โดยมีเป้าหมายคือ การเรียนรู้ของทีมสุขภาพปฐมภูมิ ในพื้นที่ ที่ผมมองว่าเป็นกุศโลบายสร้างการทำงานเป็นทีม จากเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ในพื้นที่ โดยเอางานของเขานั่นเองเป็นประเด็นเรียนรู้ แต่ที่พิเศษคือเรียนรู้ร่วมกันในกลุ่มผู้เข้ารับการอบรมที่เรียนมาคนละสายวิชาชีพ และทำงานอยู่ในต่างสายงาน การเข้ารับการอบรมช่วยให้แต่ละคนมีความรู้เพื่อทำงานของตนไดีดีขึ้น มั่นใจขึ้น และรู้ว่าจะประสานงานกับหน่วยอื่นในพื้นที่ได้อย่างไร แถมยังรู้จักคนในหลากหลายสายงาน ที่จะช่วยเอื้อความคล่องตัวในการประสานงาน


ข้างบนนั้นเป็นการตีความของผมเองจากการปะติดปะต่อจากการไปพูด keynote ในการประชุม DHML 2016 การเสริมสร้างสมรรถนะการบริหารจัดการระบบสุขภาพระดับอำเภอ เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๙ ที่เล่าไว้ ที่นี่ ไม่ทราบว่าตีความถูก หรือไม่


หลังจากฟัง ผศ. ดร. อรุณศรี มงคลชาติ นำเสนอภาพรวมแล้ว ผมก็ได้รับเชิญให้เสนอข้อคิดเห็นเป็นคนแรก เนื่องจากต้องออกจากที่ประชุมเวลา ๑๐.๐๐ น. ไปงานอื่นที่นัดไว้ก่อน


ผมได้ชี้ให้เห็นว่าโครงการ DHML มีการออกแบบไว้ดีมากตามที่กล่าวข้างบน เป็นการฝึกทักษะการเรียนรู้จากบริบทของงาน ที่เรียกว่า context-based learning ที่เมื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติงานประจำวัน เพื่อการเรียนรู้เป็นทีม หรือเป็นกลุ่มในที่ทำงานเดียวกัน ด้วยกระบวนการ BAR และ AAR ก็จะเกิดการเรียนรู้ต่อเนื่องไม่มีวันจบสิ้น ยิ่งมีทีมเรียนรู้ข้ามสายงาน การเรียนรู้จะยิ่งเชื่อมโยงกว้างขวางขึ้น และขุดลงลึกได้มากยิ่งขึ้น ทำต่อเนื่องไประยะหนึ่ง เจ้าหน้าที่ก็จะเคยชินกับการเรียนรู้ในการทำงาน ที่เรียกว่าเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ เกิดเป็นวัฒนธรรมเรียนรู้ตลอดชีวิตของบุคคล และองค์กรเข้าสู่ความเป็น องค์กรเรียนรู้ (Learning Organization)


ผมได้ชี้ว่า DHML เป็นกิจกรรมที่มีความซับซ้อน (complexity) ไม่สามารถมองจากมุมเดียว มิติเดียว หรือระนาบเดียว แล้วเข้าใจกิจกรรมนี้อย่างครบถ้วนได้ จึงจะลองเสนอมุมมองจากบางมิติที่ผมพอจะตีความได้


มิติแรก มองจากมุมของ การเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน (Transformation) โดยในเบื้องต้น ขอสนับสนุนมุมมองของ ดร. อรุณศรีที่เสนอว่ากิจกรรมนี้จะต้องดำเนินต่อไป ซึ่งผมใช้คำอีกคำหนึ่งว่า กิจกรรมนี้เป็น journey ไม่ใช่ destination มอง transformation หนึ่งเป็นโอกาสหรือเส้นทางสู่ transformation อื่นๆ อีกต่อไป โดยอาจมอง transformation ที่หลากหลายด้าน เช่น (๑) การเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงาน (work process) เราอยากเห็น การทำงานเป็น ทีมสุขภาพ (health team) อยากเห็นการทำงานแบบบูรณาการกันในพื้นที่ โดยหลายหน่วยงาน (๒) เปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ของการทำงาน ที่ประชาชนได้รับบริการที่สะดวกขึ้น คุณภาพดีขึ้น รวดเร็วขึ้น มีการบริการด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ (๓) เปลี่ยนแปลงที่หน่วยงาน ปฏิสัมพันธ์ของบุคลากรในหน่วยงาน ที่ทำให้หน่วยงานเป็น Happy Workplace (๔) เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเรียนรู้ จากเน้นการเรียนผ่านการ ฝึกอบรม ที่อาจเรียกว่า hotel-based training มาเป็นเน้นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติงานจริง ที่เรียกว่า workplace-based learning (๕) เปลี่ยนแปลงฐานความรู้/ข้อมูลความรู้ ขององค์กร


มิติที่สอง มองจากมุมของ การเรียนรู้ ที่เน้นที่การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ หรือการทำงาน ที่เรียกว่า CBL – Context-Based Learning ที่เป็นการเรียนรู้อย่างแท้จริง เพราะเวลานี้ผลการวิจัยด้าน neuroscience และด้าน cognitive psychology บอกว่า การเรียนรู้ไม่ได้เกิดจากการรับถ่ายทอด แต่เกิดจากการปฏิบัติ แล้วคิดด้วยตนเอง แต่การเรียนรู้แบบของ DHML จะง่ายยิ่งขึ้น เพราะเรียนจากสภาพจริง และเรียนเป็นทีมข้ามสายงาน ควรหาทางเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ โดยการฝึก Learning Facilitator ที่ถามคำถามเก่ง ชวนให้คิด (reflection) ลึกและเชื่อมโยง และไตร่ตรองโยงเข้าหาทฤษฎี เพื่อยกระดับ ความรู้ความเข้าใจขึ้นไปอีก ซึ่งจะเชื่อมโยงกับ KM และ R2R


มิติที่สามมองจากมุมของ การสร้างความรู้ จากการทำงานในบริบทใหม่ คือบริบทของ DHS, PCC (Primary Care Cluster) ซึ่งเป็นนโยบายของท่านรัฐมนตรีปิยะสกล และท่านปลัดฯ โสภณ สำหรับใช้ในการ ทำงานในระบบใหม่นั้น ซึ่งจะเป็นโครงสร้างเชิงรุก ทั่วถึง และเชื่อมโยงคนในชุมชน หรือเจ้าของสุขภาพเข้ามามีบทบาทสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอย่างมีวิชาการ มีความรู้ มากยิ่งขึ้น สามารถตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ใน DHML ให้โฟกัสไปที่การหนุนนโยบายดังกล่าว แล้วแจกแจงลงสู่เวทีเรียนรู้ที่หลากหลาย โดยมีทีมวิชาการคอยสะกัด รวบรวม สังเคราะห์ และยกระดับความรู้จากการปฏิบัติอย่างมีเป้าหมายเหล่านั้น เอามาจัดระบบฐานความรู้ ให้ผู้ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ใช้งาน


ท่านที่ต้องการรู้เรื่อง DHML เพิ่มเติม อ่านได้ที่ https://www.gotoknow.org/posts/tags/DHML


วิจารณ์ พานิช

๓ ธ.ค. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 620581เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2016 00:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ธันวาคม 2016 00:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท