ชีวิตที่พอเพียง ๒๓๘๖. ไปเรียนรู้ชุมชนจัดการตนเองบนฐานข้อมูลที่สตูล



ผมไปสตูลในโครงการเดียวกันนี้เมื่อปีเศษที่แล้ว ได้ลงบันทึกไว้ที่ , , , ,

โครงการชุมชนบริหารจัดการตนเองในพื้นที่ประสบพิบัติภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิ ก้าวเข้าช่วงที่สองแล้ว อีกประมาณหนึ่งปีก็จะจบโครงการ วันที่ ๑ - ๒ มีนาคม ๒๕๕๘ ทีมมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่นและมูลนิธิสยามกัมมาจล จึงจัดให้คณะกรรมการกำกับทิศทางของโครงการไปลงพื้นที่ เพื่อไปดูของจริง ว่าการดำเนินการแบบที่ทำอยู่ จะก้าวหน้าไปสู่ "ชุมชนจัดการตนเอง" ได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืนหรือไม่ ควรมีการปรับปรุงวิธีดำเนินการอย่างไรบ้าง

ผมได้บันทึกไว้ ที่นี่ ว่าในช่วงแรกของโครงการ ยังดำเนินการในลักษณะที่ชุมชนจะไปไม่ถึงความสามารถในการ จัดการตนเอง และได้แนะนำให้ไปดูงานที่บ้านหนองกลางดง ซึ่งนำมาซึ่งการปรับวิธีคิด และวิธีทำงานของโครงการในพื้นที่ และในวันที่ ๑ มีนาคม ผมก็ไปรับฟังการเล่าเรื่องโดยผู้นำชุมชนบ้านบ่อเจ็ดลูก อำเภอละงู ฟังแล้วชื่นใจว่ายุทธศาสตร์ การพัฒนาบ้านบ่อเจ็ดลูกน่าจะเดินสู่ความเป็นชุมชนจัดการตนเองอย่างถูกทางแล้ว

โดยที่บ้านบ่อเจ็ดลูกมีกลไกกลางเรียกว่า "สภากาแฟ" บ้านบ่อเจ็ดลูก สมาชิก ๓๒ คน กำหนดยุทธศาสตร์ของหมู่บ้าน บ้านอื่นก็มีสภาของตน เช่นบ้านหลอมปืนมี "สภาปืนใหญ่" และมีกลไกกลางระดับจังหวัดเรียกว่า "รักจังสตูล" ทำหน้าที่จัดสมัชชาจังหวัด

แต่ละชุมชนก็จะเห็นภาพรวมของตน โดยมีข้อมูลด้านต่างๆ ทั้งที่เป็นสถานภาพชุมชน ทรัพยากรที่ไหลเข้ามาในชุมชน และกิจกรรมพัฒนาที่สนับสนุนโดยหน่วยงานต่างๆ จากภายนอก จะมีการประสานเข้าด้วยกันโดยกลไกกลาง ไม่ใช่อยู่ในสภาพ ต่างคนต่างทำ และไม่ใช่ทำเพื่อตอบสนองแหล่งทุนเป็นหลัก แต่ทำเพื่อสร้างความเจริญให้แก่พื้นที่เป็นหลัก

ในการนำเสนอ มีผู้ใหญ่บ้านทำหน้าที่หัวหน้าทีม พูดภาษาใต้ ผมประทับใจที่ผู้ใหญ่บอกว่าทุกคนสำคัญเท่ากันหมด และเวลาประชุมต้องฟังคนอื่นเป็น คือห้ามขัดหรือห้ามเถียงกลางคันนั่นเอง นี่คือเงื่อนไขสำคัญของประชาธิปไตย หรือชุมชนจัดการตนเอง นอกจากนั้นยังมีบังยุหนา ที่เป็นประธานกลุ่ม เป็นผู้นำโดยธรรมชาติ พูดจาคล่องแคล่ว และตอบคำถามเก่ง

คราวนี้ทีมคณะกรรมการกำกับทิศของโครงการ ไปกันครบครัน ได้แก่ รศ. ปาริชาติ วลัยเสถียร, ผศ. ดร. บัญชร แก้วส่อง (ผอ. ฝ่ายวิจัยชุมชน สกว.), คุณปรีดา คงแป้น ประธานมูลนิธิชุมชนไทย, คุณสมบูรณ์ อัพภาสกิจ ผู้ประสานงานวิจัยท้องถิ่น สกว. ภาคใต้, ขาดแต่ ศ. ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง ที่ส่งคุณชิษณุวัฒน์ มณีศรีขำ ไปแทน

อาจารย์ปาริชาติ ชวนลูกศิษย์ที่เป็นรองอธิบดีกรมพัฒนาชุมชน ชื่อ สายพิรุณ น้อยศิริ ไปร่วมประชุมด้วย จึงมีพัฒนาการจังหวัดสตูล และพัฒนาการจังหวัดตรัง และข้าราชการในสายพัฒนาชุมชนราวๆ สิบคน ไปนั่งฟังด้วย ผมดีใจที่ข้าราชการไปฟัง และตอนพักดื่มเครื่องดื่มและกินอาหารว่าง ทีมราชการได้ AAR กัน ผมไม่ได้เข้าไปฟัง

วันที่ ๒ มีนาคม เราไปเยี่ยมกิจกรรมชุมชนบริหารจัดการตนเองของชุมชนตำบลขอนคลาน ที่เมื่อปีที่แล้ว ก็เป็นกิจกรรมที่ชุมชนเก็บข้อมูลและร่วมกันกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ของชุมชน มีลักษณะของชุมชนบริหารจัดการ ตนเองอยู่แล้ว โดยใช้กลไกสภาองค์กรชุมชน มาปีนี้ยิ่งดีขึ้นไปอีก โดยมีการเสนอเป้าหมายที่ชัดเจนว่าทรัพยากรสำคัญที่สุด ของชุมชนคือทะเล หรืออ่าวขอนคลาน และมีการเตรียมพัฒนาเยาวชน ให้เข้าใจคุณค่าของทะเล มีความเข้าใจห่วงโซ่อาหาร และผลผลิตจากทะเลตามฤดูกาล

วันนี้ทีมของกรมพัฒนาชุมชนก็ยังอยู่กับเรา และยังมีคุณสมชาติ รองผู้อำนวยการ พอช. และคุณปฏิธาน ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช. มาสมทบด้วย การอภิปรายแลกเปลี่ยนนำไปสู่ข้อคิดเห็นร่วมกันว่า ชุมชนเข้มแข็ง หรือบริหารจัดการตนเองได้ ต้องมีความสามารถบูรณาการทรัพยากรและกิจกรรมที่หน่วยงานภายนอกนำเข้าไป ให้เข้าไปอยู่ภายใต้วิสัยทัศน์ เป้าหมาย และยุทธศาสตร์ของชุมชนเอง อย่างที่เห็นที่ตำบลขอนคลาน และที่บ้านบ่อเจ็ดลูก

หลังอาหารเที่ยง เราไป AAR กันที่บ้านลลิตา รีสอร์ท ทำให้หน่วยงานสนับสนุนภายนอกต่อชุมชน เช่น กรมพัฒนาชุมชน พอช., สกว., ที่ไปร่วม ได้เห็นว่า หน่วยสนับสนุนก็น่าจะรวมตัวร่วมมือกัน ไม่ใช่ทำงานสนับสนุนชุมชนแบบ ต่างหน่วยต่างทำ โดยแนวทางหนึ่งคือทุกหน่วยงานเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการกำกับทิศทางของการพัฒนาพื้นที่ ที่ผมเติมในใจว่า กำกับแบบพูนพลัง (empowerment) ไม่ใช่แบบสั่งการ

ผมขึ้นเครื่องบินกลับกรุงเทพด้วยความสุข (แม้ว่าจะเหนื่อย) ว่าทีมงานของโครงการชุมชนบริหารจัดการตนเอง ได้ทำงานถูกทิศทาง จะเอื้ออำนวยให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งในลักษณะที่บริการจัดการตนเองได้


วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ชุมชนบ่อเจ็ดลูก


ผู้ใหญ่บ้าน กับหมอเชษฐ์


มะฉิ้ง หัวหน้ากลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ


บังยุหนา ประธานกลุ่ม


พัฒนาการจังหวัดสตูล


การประชุมที่ตำบลขอนคลาน


กำนันประพันธ์ ขาวดี กล่าวต้อนรับ


บังร่อศักดิ์ ประธานสภาองค์กรชุมชนขอนคลาน


กอเต๊บวิชา หนีคล้า



วิจารณ์ พานิช

๒ มี.ค. ๕๘

บนรถตู้จากสตูลไปสนามบินหาดใหญ่


หมายเลขบันทึก: 588640เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2015 18:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2015 18:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท