เพลงเพิ่มทุกข์


ในบทเรียนวิชาพุทธศาสนา การทำตนให้ยิ่งลำบาก หรือ อัตตกิลมถานุโยค มักมีการยกตัวอย่างถึงการนอนบนตะปู การอดอาหาร ฯลฯ การทำตนให้ยิ่งลำบากในบทเรียน จึงดูไม่เกี่ยวกับวิถีชีวิตคนเราในปัจจุบัน เราๆจึงมักไม่เห็นว่าในชีวิตประจำวัน เราก็อาจทำกายและใจนี้ให้ยิ่งลำบาก คือยิ่งทุกข์มากขึ้น ยิ่งเพิ่มเหตุแห่งทุกข์ให้มากยิ่งขึ้น จนตนต้องลำบากหาวิธีดับให้มากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

พระคุณเจ้าไพศาล วิสาโล ยกตัวอย่างการยิ่งทำตนให้ลำบากไว้อย่างหนึ่ง คือการฟังหรือร้องเพลงระบายความในใจ ว่าในเวลาที่เราเหงา เศร้า ละห้อยอาลัยหาสิ่งที่ผ่านไปแล้ว หวังอยากได้ในสิ่งที่ไม่สามารถเป็นจริงได้ รอคอยความหวังว่าเมื่อไรจึงจะเป็นจริง เราก็ไปหาเพลงที่มีเนื้อหาตรงกับความเป็นไปในใจเรามาฟัง มาร้องตาม เมื่อฟังไปร้องตามไป ใจก็ยิ่งอินกับบทเพลงนั้นๆ

จึงเท่ากับยิ่งทำให้ความทรงจำ หรือสัญญา ที่เคยทำให้ตนได้ทุกข์ในอดีต มาเป็นเหตุที่ทำให้ตนเป็นทุกข์ในปัจจุบัน ตนจึงนอกจากจะไม่สามารถคลายทุกข์ ยังกลับยิ่งจมอยู่ในทุกข์

เพราะในขณะที่เรายังมีความยึดมั่นในสิ่งต่างๆ ยังมีรักโลภโกรธหลง ในยามที่ตาเราได้เห็น หูเราได้ยิน เกี่ยวกับเรื่องราวที่เราปักใจ เราก็มักทุกข์เพราะการที่ไม่ได้สมดังใจบ้าง ความปรารถนาถูกขัดบ้าง ปักใจหลงใหลในสิ่งที่ไม่ควรด้วยผิดไปจากจริยธรรมบ้าง กันอยู่แล้ว เมื่อยิ่งซ้ำเติมตนอยู่อย่างนี้ ก็ยิ่งทำตนให้ตกทุกข์ได้ยาก มากยิ่งขึ้นไปใหญ่ เมื่อเราซ้ำเติมตน เดินไปบนทางสายสุดโต่งเสมอๆ แล้วเมื่อไรเราจะพบกับความสิ้นทุกข์ในแต่ละเรื่องกันสักที

เราจะใช้ชีวิตวนเวียนอยู่ในความทุกข์อย่างนี้ตลอดไปหรือ 

หรือมีทางอื่นที่สามารถทำให้เราอยู่ได้ ท่ามกลางการได้รับรู้รับเห็นอย่างนี้

เหตุที่การฟังหรือร้องเพลงในลักษณะนี้ยิ่งเพิ่มเหตุแห่งทุกข์ เพราะทำให้ตนสามารถระบายความอัดอั้นในใจได้เป็นครั้งๆไป เมื่อความในใจได้ก้าวล่วงออกมาทางกายวาจาบ้าง ความอัดอั้นก็จะทุเลาลง ตนจึงรักษาและแสดงความรู้สึกในใจได้โดยที่ไม่มีใครล่วงรู้ ตนสามารถแสดงสิ่งที่อยากแสดงออกโดยไม่รู้สึกผิด หรือ ไม่มีความผิด การระบายความอัดอั้นอย่างนี้ จัดเป็นกลไกในการป้องกันตนเองอย่างหนึ่งเพราะทำให้คลายใจ ดับทุกข์ไปได้บ้าง

แต่ การที่ทุกข์ดับเพราะได้ระบายออกนี้ ต่างจากความดับของทุกข์ที่เกิดจากการพิจารณาจนดับทุกข์ได้เป็นครั้งๆไป อันเป็นความดับของทุกข์ที่เรียกว่า สันทิฏฐิกนิพพาน เพราะทุกข์ดับด้วยการก้าวล่วงออกมาทำให้ยิ่งเพิ่มกิเลสทั้งสามประเภท ยิ่งเพิ่มเหตุแห่งทุกข์ ก่อให้เกิดทุกข์ในครั้งต่อๆไปที่ยิ่งรุนแรงขึ้น เนื่องจากเป็นการซุกปัญหาไว้ใต้พรม ปัญหาที่แท้จริงไม่ได้รับการดูแล ไม่ได้การขบเจาะให้เข้าใจทั้งเหตุที่เกิด การคงอยู่ กระทั่ง การทำให้เหตุหมดไป  

ต่างจากการพิจารณาจนเห็นตามที่เป็นจริง จนความทุกข์ดับ อันเป็นการสร้างสัญญาใหม่ขึ้นแทนที่สัญญาเก่า สัญญาที่ทำให้กิเลสบางเบา เหตุอันเป็นสมุทัยค่อยๆลด จนกระทั่งหมดไปในที่สุด

การทำตนให้ยิ่งลำบาก จึงเหมือนการรู้ว่าน้ำในหม้อร้อน รู้ว่ามีเชื้อไฟอยู่ในเตาอันเป็นเหตุให้น้ำร้อน แม้ตนต้องการให้น้ำในหม้อเย็นลง แต่กลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม คือนอกจากจะไม่ได้ดึงเชื้อไฟออกจากเตาแล้ว ยังกลับยิ่งเพิ่มเชื้อไฟลงไปเรื่อยๆ ตนเพียงระบายความร้อนด้วยการเปิดฝาหม้อเป็นครั้งๆไปเท่านั้น น้ำจึงร้อนเร็วขึ้น เร็วขึ้น ตนก็ต้องเปิดฝาหม้อบ่อยขึ้น 

แล้วตนก็บ่นว่าน้ำร้อน น้ำร้อน เมื่อไรน้ำจึงจะเย็นลงเสียที

บางท่านอาจแย้งว่า เนื้อเพลงบางเพลงมีเนื้อหาบางท่อนที่บอกว่าต้องข่มใจ ต้องตัดใจ วางใจ การร้องเพลงอย่างนี้น่าจะเป็นการเตือนตนให้ตัดใจไม่ใช่หรือ เช่น เรารู้ว่าความต้องการ ความหวัง ความเห็นที่มี ผิดไปจากทำนองคลองธรรม จึงพยายามละ วาง แต่เมื่อตาหูเป็นต้น กระทบกับสิ่งหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่กำลังทำใจอยู่  ก็ฟังหรือร้องเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำใจ การปล่อยวางความต้องการนั้นๆ เพื่อเตือนตนให้ตัดใจ ปลดปล่อยสิ่งหรือบุคคลนั้นๆออกไปจากใจออกมา อย่างนี้จะไม่ถูกต้องหรือ

ในข้อนี้อยากชวนพิจารณาว่า ในเนื้อเพลงต่างๆนั้น เป็นเรื่องราวของทางโลก จึงมักไม่ได้มีเฉพาะเนื้อเพลงท่อนที่ให้ข่มใจ วางใจ ปล่อยความเห็นผิดไป แต่มักมีท่อนที่เล่าถึงความน้อยใจ เสียใจ หรือคร่ำครวญถึงเหตุที่ผิดหวัง ไม่ได้ดังใจเอาไว้ด้วย ดังนั้นแม้จะระลึกถึงเนื้อเพลงท่อนที่เตือนตนและร้องออกมาเพื่อเตือนตน แต่เมื่อฟังหรือร้องต่อไปเรื่อยๆ  เนื้อเพลงที่เกี่ยวกับการคร่ำครวญ ละห้อยอาลัยหา ที่ตรงกับใจตนก็ค่อยๆเข้ามาทางหู ให้ได้รู้ด้วยใจ ความทรงจำเก่าๆหรือก็คือสัญญาเดิมจึงยิ่งแจ่มชัดขึ้น ตนจึงมีโอกาส “อิน” ไปกับเนื้อร้องนั้นๆ สัญญาที่ต้องการรื้อถอนจึงมั่นคงยิ่งขึ้น ความต้องการที่มีอยู่เดิม ความรู้สึกที่เคยเกิดขึ้นในอดีต การอยากได้ความรู้สึกใดความรู้สึกหนึ่งหรือความเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งในปัจจุบันและอนาคต ก็ฟุ้งขึ้นท่วมตน ความทุกข์ที่เกิดแล้วดับแล้ว ก็เกิดขึ้นมาใหม่

อันทำให้ตนยิ่งยึดมั่นในเหตุแห่งทุกข์นั้นๆมากขึ้น

จึงมักกลายเป็นว่า ยิ่งตั้งใจร้องเพลงเพื่อน้อมใจให้”ตัด” แต่ผลกลับกลายเป็นว่าตนยิ่ง “ติด” ในเหตุนั้นๆ

ตนจึงยิ่งลำบากมากยิ่งขึ้น

หรือ เพราะต้องการตัดใจที่ประกอบด้วยสิเนหา คือ เมตตาเขาโดยที่มีเราเป็นผู้ได้ผลประโยชน์ เมตตาเพราะหวังได้เสพกามสุขจากเขา จึงพยายามทำเมตตาให้บริสุทธิ์ ดังนั้นเมื่อตา หู เป็นต้น ได้รับเห็นรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเขา หรือเมื่อใจกระหวัดคิดถึงเขา ก็หาเพลงที่มีเนื้อความที่มีเนื้อร้องถึงการแสดงออกซึ่งเมตตา ส่งความปรารถนาดีให้เขามาฟัง หรือร้องเพลงส่งความปรารถนาดีให้เขาออกมา

จึงอาจมีคำถามว่า ความตั้งใจที่เป็นกุศลอย่างนี้ และทำเพื่อย้ำเตือนตนอย่างนี้ ไม่เป็นการดีหรอกหรือ

ก็อยากชวนพิจารณาดังเดิม คือเพลงต่างๆล้วนเป็นเรื่องทางโลก แม้จะมีเนื้อความท่อนใดท่อนหนึ่งบ่งบอกถึงเมตตา การส่งความปรารถนาดีให้แก่กัน แต่ก็เป็นความปรารถนาดีที่เกิดจากสิเนหา เป็นเรื่องของตัณหา และมีตัวตนของคนที่ผิดหวัง มีเรื่องราวที่ผิดธรรม มีความต้องการที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบัน อิงแอบมาด้วยเสมอ เมื่อร้องหรือฟังๆไปเรื่อยๆ ใจจึงมีโอกาสอินกับเนื้อร้องไปเรื่อยๆ กุศลฉันทะที่ตั้งขึ้นก่อนก็มักกลับกลาย กลายเป็นว่าตัณหาฉันทะมารับช่วงต่อ

จึงไม่พ้นยิ่งทำตนให้ทุกข์มากยิ่งขึ้น

เพราะเป็นไปตามคำสอนที่ว่า ไม่พึงแผ่เมตตาให้บุคคลอันเป็นที่ตั้งแห่งสิเนหา

แล้วเราควรทำอย่างไร เมื่อตาหูเป็นต้นกระทบกับสิ่งที่น่ายินร้าย ทำอย่างไรเราจึงจะไม่ทุกข์ หรือสิ้นทุกข์

พระพุทธเจ้าตรัสถึงที่สุดแห่งทุกข์ไว้ว่า การพิจารณาน้อมไปว่า “นั่นไม่ใช่ของเรา” “เราไม่เป็นนั่น” “นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา” เพื่อให้เห็นความเป็นของเกิดดับ เห็นคุณ โทษ ทางออกตามที่เป็นจริง เห็นความเป็นผัสสะ ความเป็นอายตนะ ตามที่เป็นจริง จะช่วยให้ทุกคนในโลกที่ยังมีความเห็นว่าเป็นตน เป็นของตนอยู่ มีชีวิตอยู่กับความเป็นจริงในปัจจุบันได้อย่างไม่มีความทุกข์

เช่น เมื่อตาเห็นภาพที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เราปักใจ การน้อมใน พิจารณาภาพหรือรูปอันเป็นอายตนะภายนอก ว่าไม่ใช่ของของเรา เราจึงยึดครองไม่ได้ อยากให้เป็นไปตามใจไม่ได้

รูปที่เห็นเป็นเพียงการรวมตัวขึ้นของธาตุ ที่มีสภาพเกิดดับ จึงไม่มีความเป็นของถาวรที่ใครๆจะถือครองได้

เช่นเดียวกับตาอันเป็นอายตนะภายใน ตาเป็นเพียงช่องทางที่ทำให้รู้รูปเท่านั้น เป็นเพียงการรวมตัวขึ้นของธาตุทั้งหลายเช่นกัน ตานั่นจึงไม่ใช่ของของเราด้วย

“นั่น จึงไม่ใช่ของเรา”

เมื่อรู้ถึงความเป็นสภาพอย่างนี้ เราจะไม่เป็นผู้หลง จนหลงยึดมั่นในสิ่งที่ยึดถือมั่นไม่ได้

เราจะไม่เป็นผู้ที่ไม่เมตตาตนเอง จนยอมให้ใจตนไหลลงสู่ที่ต่ำ เบียดเบียนตนด้วยความเห็น ความต้องการ ในสิ่งที่ผิด

“เรา จึงไม่เป็นนั่น”

ส่วนวิญญาณคือความรู้ที่เกิดทางตาเป็นสภาพเกิดดับ เกิดดับเป็นคราวๆเพื่อรู้รูปตามที่เราปักใจ ใส่ใจ เท่านั้น ถ้าเราไม่ใส่ใจ วิญญาณทางตาก็ไม่เกิด

วิญญาณนั่นจึงไม่ใช่ตัวตนที่ถาวร

เช่นเดียวกับผัสสะที่เกิดเพราะอายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ ก็เป็นสภาพเกิดดับ ที่เกิดเป็นคราวๆไปเพราะความใส่ใจ 

และเพราะผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เราจึงรู้สึกทุกข์ แต่เพราะผัสสะเกิดขึ้นเป็นครั้งๆ เวทนาที่เกิดจึงเกิดดับ จึงเกิดเป็นครั้งๆเช่นกัน 

ความรู้สึกทุกข์นั่นจึงไม่ใช่สิ่งที่ถาวร จะเกิดหรือไม่ก็ได้ อยู่ที่ความใส่ใจของเรา 

“นั่น จึงไม่ใช่อัตตาของเรา”

เหล่านี้เป็นต้น

หากเราเห็นว่าเหล่านั่นเป็นของเรา เราเป็นนั่นเป็นนี่ นั่นนี่เป็นตนถาวรที่เรายึดไว้ราวกับเป็นเจ้าของได้ เราก็ต้องได้ทุกข์อยู่อย่างนี้ ทั้งที่ในความเป็นจริง ทุกข์อย่างนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่อยู่ที่การกระทำทางใจของเราเท่านั้น

ตรัสถึงการพิจารณาให้เห็นตามที่เป็นจริงว่า นี้แลคือที่สุดแห่งทุกข์

และเมื่อใดที่พิจารณาจนพบความดับได้ แม้ว่าจะยังมีกิเลสอยู่เต็ม ก็ตรัสว่าผู้ปฎิบัติได้ “อยู่จบพรมจรรย์” คือศึกษาวิธีการที่ทำให้ทุกข์ดับจบครบถ้วนแล้ว ไม่มีวิธีอื่นๆให้ต้องศึกษาอีกต่อไปแล้ว ที่เหลือคือใช้วิธีที่ทำให้ทุกข์เรื่องนั้นดับได้นั้น ไปใช้กับสมุทัยอื่นๆ

เพื่อการทำให้มากซึ่งความดับของทุกข์ อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน

สรรค์ปัจจัยให้พบความสงบ สืบต่อไป

หมายเลขบันทึก: 631737เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2017 17:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กรกฎาคม 2017 06:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อ่านแล้วชอบใจในธรรมมะครับพี่

สบายดีไหมครับ

ชอบคุณอาจารย์มากค่ะ มาเยี่ยมกันเสมอๆ

สบายดีค่ะ หวังว่าอาจารย์ก็คงเช่นกันนะคะ

..เมื่อ..ความสุข+ความทุกข์ = (ความว่างเปล่า) คือ..๐...

คุณยายธีมักมีคำสรุปสั้นๆ แต่เหมาะแก่ความเสมอเลยนะคะ

ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท