วันครูและหนังสือประวัติครู เป็นประวัติศาสตร์ทางการศึกษาที่คนเป็นครูควรรู้และควรอ่าน


       

     ผมขอเกริ่นนำบันทึกนี้ด้วยการคัดลอกคำนำของหนังสือประวัติครูเล่มแรก  16  มกราคม 2500 ที่กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของการกำหนดให้มีวันครูครั้งแรก และกำหนดให้จัดทำหนังสือประวัติครู เล่มแรก และทำต่อเนื่องมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน มากล่าวเป็นเบื้องต้นก่อน   ความตอนหนึ่งว่า           
       "เนื่องในพิธีเปิดประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี 2499  ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี  ประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา กิตติมศักดิ์  ได้ฝากความเห็นต่อที่ประชุมว่า  สมควรจัดให้มีวันครูขึ้น  เพื่อให้บรรดาศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณ  ด้วยเหตุนี้  ที่ประชุมคณะอำนวยการคุรุสภา  ซึ่งมี ฯพณฯ พลเอกมังกร  พรหมโยธี  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน  จึงลงมติเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2499 รับหลักการในอันที่จะจัดการดำเนินงานวันครู โดยกำหนดวันที่ 16 มกราคม เป็นวันครู  สำหรับงานวันครูปีแรก ที่ประชุมลงมติตั้ง นายนาค  เทพหัสดิน ณ อยุธยา  รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ  กรรมการอำนวยการคุรุสภา  เป็นประธานจัดงานวันครู     ประธานกรรมการได้แต่งตั้งอนุกรรมการสาขาต่างๆ เพื่อดำเนินงานในด้านต่างๆกัน  สำหรับแผนกประวัติครูนั้น  ได้ตั้งให้ผู้มีนามต่อไปนี้เป็นอนุกรรมการ รวบรวมประวัติครูเก่าๆ ผู้ล่วงลับไปแล้ว  ที่มีความสามารถในหน้าที่ เพื่อเป็นการเผยแพร่เกียรติคุณของครูในอดีตกาล        นายรอง  ศยามานนท์ เป็นประธานอนุกรรมการ... (ต่อด้วยรายชื่ออนุกรรมการอีก 6 คน)  คณะอนุกรรมการพิจารณาเห็นว่า ในศกนี้ จะจัดทำประวัติครูเพียง 10 ท่านก่อน เริ่มแต่พระโหราธิบดี  สืบมาจนถึงบรรดาครูบางท่านในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โดยเลือกครูผู้มีความสามารถเด่นในด้านต่างๆกัน  เป็นต้นว่า  เด่นทางการสอน  การปรับปรุงการศึกษา ฯลฯ  ..."       
         นี่คือความเป็นมาโดยย่อของการจัดงานวันครู 16 มกราคมของทุกปี และการจัดทำหนังสือประวัติครูสืบเนื่องมาทุกปี เริ่มจาก 16 มกราคม 2500 จนถึงปัจจุบัน 16 มกราคม 2560  ได้รวบรวมเขียนประวัติครูมา 60 เล่ม รวมทั้งสิ้น 1,018 คนแล้ว โดยจะมีปี พ.ศ. 2507 ปีเดียวที่เว้นไม่จัดงานวันครูและจัดทำหนังสือประวัติครู  เนื่องจากเป็นปีที่กระทรวงศึกษาธิการมีอายุครบ 6 รอบ(72 ปี) ได้จัดงานฉลองใหญ่แล้ว จึงนำไปจังงานรวมกัน ณ งานนี้            
         พูดถึงหนังสือประวัติครู ดังกล่าว ซึ่งผมเชื่อว่าครูและผู้บริหารหลายๆคนไม่เคยได้อ่าน  จะด้วยเหตุผลกลใดผมไม่ทราบ  ทั้งๆที่เป็นหนังสือที่รวบรวมประวัติสุดยอดครูในอดีตในด้านต่างๆไว้มากมาย  ผู้เขียนประวัติแต่ละคนล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งที่เป็นญาติสนิท  ผู้ร่วมงาน ผู้คุ้นเคยของประวัติครูแต่ละท่านทั้งสิ้น       ช่วงที่หมอให้ผมพักฟื้นหลังการผ่าตัด ร่วม 1 เดือน คนเคยทำงานอยู่นิ่งไม่เป็น รู้สึกเบื่อ จึงไปค้นหยิบหนังสือประวัติครูเล่มเก่าๆที่เคยเก็บไว้(มีไม่ครบทุกเล่ม) บางเล่มพอเปิดขึ้นมากระดาษกรอบร่วงกรู เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย  ต้องประคับประคองอ่านอย่างทะนุถนอม   ด้วยนิสัยความเป็นครู อ่านแล้วก็อยากเล่าให้คนอื่นฟัง และอยากให้คนอื่นอ่านบ้าง  แต่ด้วยวัยและสังขารไม่อำนวยนัก ก็ไม่อาจหักโหมเหมือนตอนเป็นหนุ่มๆได้  ทำได้เพียงแค่จุดประกายให้คนเป็นครูอยากอ่านกันเท่านั้น      
         ตัวอย่าง เช่นหนังสือประวัติครู พ.ศ. 2501 เขียนประวัติครูแต่ละท่านสุดยอดจริงๆ เช่น ประวัติ ครูทิม  กาญจนโอวาท ครูใหญ่โรงเรียนสตรีวิทยา ศึกษานารี และเบญจมราชาลัย คนแรกๆ,  ครูสมิธ ครูฝรั่งผู้วางรากฐานการศึกษาไทย,  เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี(สนั่น  เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ผู้ริเริ่มการฝึกหัดครู โรงเรียนมหาดเล็กหลวง และวางรากฐานไว้อีกหลายเรื่อง,  พระยาอุปกิตศิลปสาร เขียนตำราภาษาไทยครบชุด อักขรวิธี  วจีวิภาค  วากยสัมพันธ์ และฉันทลักษณ์,   พระยาเมธาธิบดี  ผู้แต่งนิทานอีสป เป็นต้น       อ่านประวัติของหลายๆท่านทำให้เราสามารถเชื่อมโยงปะติดปะต่อเหตการณ์สำคัญๆในยุคนั้นๆ ได้มากขึ้น เช่น รู้ความเป็นมาของโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง  โรงเรียนข้าราชการพลเรือน(ต่อมาคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย),  ทราบว่าผู้นำทางการศึกษาบ้านเราสมัยก่อนจะจบจากวิทยาลัยเบอโรโรด ที่ลอนดอน, ทราบประวัติ โรงเรียนแพทยาลัย  โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง(วัฒนาวิทยาลัย),  รู้ชื่อวิชาแปลกๆ เช่น ยันตรวิทยา(วิศวกรรมศาสตร์)  คหกัมน์(เศรษฐศาสตร์) อัธยาตมวิทยา(จิตวิทยา) เป็นต้น        
          แต่ละคนที่เขียนก็ล้วนเป็นบุตร เป็นญาติ เป็นผู้ร่วมงาน เป็นเพื่อน ที่ข่างสรรหาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอันเป็นจุดเด่นมาเล่า  ผมถือว่าเป็นแหล่งปฐมภูมิ(primary source) ทางประวัติศาสตร์ของการศึกษาได้เลย  เพราะแต่ละคนเขียนเล่าขณะยังมีชีวิตอยู่  ซึ่งเมื่อคนเหล่านี้จากโลกนี้ไป หากไม่มีการสืบสานนับวันข้อมูลดีดีจะสูญหายตามไปด้วย       
          ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบฟังผู้หลักผู้ใหญ่เล่าเรื่องราวที่ผ่านมา  เช่น ท่านอาจารย์ ดร.สายหยุด  จำปาทอง ท่านจะเล่าถึงที่ตั้งของโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์สมัยก่อน ชี้ให้ดูสถานที่ตั้งในคุรุสภา การโยกย้ายเปลี่ยนแปลงสถานที่  รวมทั้งที่ทำงานของหน่วยศึกษานิเทศก์สมัยนั้นด้วย ทำให้เราเข้าใจเรื่องต่างๆมากขึ้น  ท่านอาจารย์จรูญ  มิลินทร์  อาจารย์พะนอม  แก้วกำเนิด ก็เช่นกัน นับว่าผมโชคดีมากๆ       หันกลับมาพูดถึงหนังสือประวัติครูอีกครั้ง ว่าตอนนี้คุรุสภาเขาเกรงว่าหนังสือประวัติครูเล่มเก่าๆจะสูญหาย  จึงรวบรวมจัดทำเป็นสื่อซีดีรอม ให้อ่าน แต่ก็ยังไม่ครบทุกเล่ม  สามารถเปิดหาอ่านได้ โดยเข้าไปที่เว็บ gloogle  พิมพ์คำว่า “หนังสือหายาก หอสมุดคุรุสภา”  แล้วเข้าไปเปิดดูที่เมนู “ประวัติครู” ก็สามารถเข้าไปอ่านได้   นอกจากนี้คุรุสภายังพิมพ์นามานุกรมรายชื่อครูที่เคยเขียนลงในหนังสือประวัติครูแต่ละเล่มแต่ละปี เรียงตามลำดับพยัญชนะเพื่อให้สืบค้นอ่านได้ด้วย       
          ผมโชคดีและเป็นบุญที่มีโอกาสได้ร่วมเป็นคณะทำงานเขียนหนังสือประวัติครูมาตั้งแต่ พ.ศ. 2539 จนถึงปัจจุบัน ร่วม 20 ปีแล้ว และรู้สึกมีความสุขมากที่แต่ละปีได้มีโอกาสเขียนถึงครูดีๆเผยแพร่ปีละหลายท่าน  รวมทั้งได้เป็นคอลัมน์ประจำเขียนบทความ “นิเทศการศึกษา” ลงในวารสารวิทยาจารย์มาร่วม 10 กว่าปี ลงตีพิมพ์ต่อเนื่องมาทุกเดือน  แล้วผมพยายามนำมาแบ่งปันแลกเปลี่ยนกันตามสื่อต่างๆได้อีกครับ 
         ในช่วงเวลาที่เหลือก็8'ทำได้แค่นี้แหละครับ

       


<p></p><p></p><p></p><p></p><p></p><p></p><p></p><p></p><p></p>

หมายเลขบันทึก: 631092เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2017 12:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กรกฎาคม 2017 12:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท