คณะกรรมการราชทัณฑ์ (Board of Correction) หมายถึง คณะกรรมการตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๖๐
ความสำคัญของคณะกรรมการราชทัณฑ์ คณะกรรมการราชทัณฑ์เป็นแนวความคิดที่สำคัญประการหนึ่งในการตราพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่เชื่อว่า คณะกรรมการราชทัณฑ์ เป็นเสมือนยาครอบจักรวาล หรือ ยาดำ ที่สามารถแก้ปัญหาของงานราชทัณฑ์ ได้ทุกเรื่อง ทั้ง การลดภาพลักษณ์ของความเป็นแดนสนธยาคุก และ การขับเคลื่อนการปฏิบัติงานคุกไปสู่การยอมรับของประชาชน เป็นต้น จึงได้อธิบายความหมาย องค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการราชทัณฑ์ โดยสังเขป ดังนี้
องค์ประกอบของคณะกรรมการราชทัณฑ์
มาตรา ๘ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการราชทัณฑ์” ประกอบด้วย
(๑) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการ
(๒) ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธานกรรมการ
(๓) กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวนเก้าคน ได้แก่ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของ มนุษย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม อัยการสูงสุด และเลขาธิการคณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
(๔) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนเจ็ดคน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความสามารถความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ด้านนิติศาสตร์ ด้านศาสนา ศิลปะ หรือวัฒนธรรมด้านอาชญาวิทยา ด้านทัณฑวิทยา ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านจิตวิทยา และด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการ ราชทัณฑ์ ด้านละหนึ่งคนให้อธิบดีเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้อธิบดีแต่งตั้งข้าราชการในกรมราชทัณฑ์จำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วย เลขานุการ
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการราชทัณฑ์
มาตรา ๑๒ คณะกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ กำหนดนโยบายและทิศทางในการบริหารงานราชทัณฑ์ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจด้านการราชทัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งพิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับการบริหารงานราชทัณฑ์ตามที่คณะรัฐมนตรีขอให้พิจารณา
ข้อ ๒ ให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาแก่รัฐมนตรี ในการออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งให้คำแนะนำแก่อธิบดีในการวางระเบียบกรมราชทัณฑ์ให้ความเห็นชอบกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้
ข้อ ๓ ให้ความเห็นชอบกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้
ข้อ ๔ กำหนดหรือเสนอแนะแนวทาง กลยุทธ์ และ มาตรการในการปรับปรุงและพัฒนาการบริหารงานราชทัณฑ์ หรือการดำเนินการตามแผนการบริหารงานราชทัณฑ์ให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพและ สัมฤทธิ์ผล รวมทั้งแนวทางในการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังให้กลับตนเป็นคนดี การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยผู้ต้องขัง และการดูแลช่วยเหลือผู้ต้องขังหลังปล่อยเพื่อมิให้กลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก และ เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง และ การดูแลช่วยเหลือผู้ต้องขังหลังปล่อยเพื่อพิจารณา
ข้อ ๕ กำหนดมาตรฐานการดำเนินการด้านต่าง ๆ ของเรือนจำให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัตินี้
ข้อ ๖ ปฏิบัติการอื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น
นอกจากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการราชทัณฑ์ ๖ ข้อ ตาม มาตรา ๑๒ แล้ว คณะกรรมการราชทัณฑ์ ยังมีอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการราชทัณฑ์ ที่ปรากฏอยู่ในมาตราต่างๆ ในที่นี้จะขอนับเป็นอำนาจ และ หน้าที่ของคณะกรรมการราชทัณฑ์ เป็นลำดับที่ ๗ ดังนี้
ข้อ ๗ อำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบ มาตรการบังคับโทษด้วยวิธีการอื่นนอกจากการควบคุม ขัง หรือจำคุกไว้ในเรือนจำ (มาตรา ๖)
ข้อ ๘ อำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการมอบหมาย (มาตรา ๑๔)
ข้อ ๙ อำนาจหน้าที่ในการมอบหมายให้กรมราชทัณฑ์รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ และ ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพฤตินิสัย ผู้ต้องขัง การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยผู้ต้องขัง และการดูแลช่วยเหลือผู้ต้องขังหลังปล่อย และ อื่นๆ (มาตรา ๑๖)
ข้อ ๑๐ อำนาจหน้าที่ใน การ ให้ความเห็นชอบให้กรมราชทัณฑ์จัดให้เจ้าพนักงานเรือนจำเข้ารับการฝึกอบรม ก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้มีการประเมินและพัฒนาความรู้ ความสามารถ และสมรรถนะในการปฏิบัติหน้าที่ รวมไปถึงการจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะและความเชี่ยวชาญ ทั้งนี้ ตามหลักสูตรการฝึกอบรมที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ (มาตรา ๑๘)
ข้อ ๑๑ อำนาจหน้าที่ใน การ ให้ความเห็นชอบ ให้รัฐมนตรีกำหนดอาณาบริเวณภายนอกรอบเรือนจำซึ่งเป็นที่สาธารณะเป็นเขต ปลอดภัย และ ให้ความเห็นชอบให้เจ้าพนักงานเรือนจำมีอำนาจตรวจค้นบุคคลหรือยานพาหนะนั้นใน เขตปลอดภัย (มาตรา ๒๗)
ข้อ ๑๒ อำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบในการจำแนกและการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง (มาตรา ๔๐)
ข้อ ๑๓ อำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบในการจัดให้มีระบบการจัดชั้น การจัดกลุ่มผู้ต้องขัง และการแยกคุมขัง (มาตรา ๔๑)
ข้อ ๑๔ อำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบในการ จัดให้มีระบบการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังด้วยวิธีการและแนวทางที่เหมาะสม (มาตรา ๔๒)
ข้อ ๑๕ อำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดที่จะสั่ง ให้ออกไป ทำงานสาธารณะ หรือ ทำงานอื่นใดเพื่อประโยชน์ของทางราชการตามมาตรา ๔๘ นอกเรือนจำ (มาตรา ๔๙)
ข้อ ๑๖ อำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบในการเลื่อนชั้น ตาม มาตรา ๕๒ (๒)
ข้อ ๑๗ อำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานเรือนจำ ตาม มาตรา ๕๒ (๓)
ข้อ ๑๘ อำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบในการลดวันต้องโทษจำคุกกรณีเป็นการลดไม่เกินเดือนละ ๕ วัน ตาม มาตรา ๕๒ (๕)
ข้อ ๑๙ อำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบในการลดวันต้องโทษจำคุกกรณีเป็นการลดไม่เกินจำนวนวันที่ออกทำงานสาธารณะนอกเรือนจำ ตาม มาตรา ๕๒ (๖)
ข้อ ๒๐ อำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบในการพักการลงโทษ ตาม มาตรา ๕๒ (๗)
ข้อ ๒๑ อำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบในการอนุญาตให้ออกไปฝึกวิชาชีพในสถานประกอบการหรือรับการศึกษาอบรมนอกเรือนจำ ตาม มาตรา ๕๒ (๘)
ข้อ ๒๒ อำนาจหน้าที่ใน การตรวจสอบว่านักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกตามมาตรา ๕๒ (๕) หรือ (๖) หรือได้รับการพักการลงโทษตามมาตรา ๕๒ (๗) ได้พยายามหรือได้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร หรือ ได้ปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไขหรือไม่ ตาม มาตรา ๕๓
ข้อ ๒๓ อำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ระยะเวลาการรักษาตัว รวมทั้งผู้มีอำนาจอนุญาต ตาม มาตรา ๕๕
ข้อ ๒๔ อำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบกรณีผู้บัญชาการเรือนจำในการลงโทษทางวินัยผู้ต้องขังกระทำผิดอาญาภายในเรือนจำ
โดยสรุป
อาจกล่าวได้ว่า คณะกรรมการราชทัณฑ์ หรือ คณะกรรมการเรือนจำ ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นการนำแนวคิดจาก Board of Correction / Correction Committee / Board of Prison มาจากสหรัฐอเมริกา การนำแนวคิดของคณะกรรมการเรือนจำตาม พระราชบัญญัติราชทัณฑ์พุทธศักราช ๒๔๗๙ (มาตรา ๔๔) การนำแนวคิดของคณะกรรมการเรือนจำตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการตรวจเรือนจำของคณะกรรมการเรือนจำ พ.ศ. ๒๕๔๗ และ แนวคิดจากสภาที่ปรึกษาการราชทัณฑ์ ตามระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยสภาที่ปรึกษาการราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๔๗ มาเป็นต้นแบบ จึงได้เปรียบเทียบ ลักษณะเหมือน ลักษณะต่าง ของหน่วยงาน ดังกล่าว โดยสังเขป เพื่อท่านผู้อ่านจะได้ทราบบริบทของคณะกรรมการราชทัณฑ์ ดังนี้
ด้านอำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการราชทัณฑ์ ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ และ สภาที่ปรึกษาการราชทัณฑ์ มีอำนาจหน้าที่ที่คล้ายคลึงกัน คือ
- อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการราชทัณฑ์ มีอย่างน้อย ๒๔ ข้อ (เป็นเรื่องการกำหนดนโยบายและทิศทางในการบริหารงานราชทัณฑ์ การให้คำปรึกษา แนะนำ และ การให้ความเห็นชอบ โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบซึ่งมีไม่น้อยกว่า ๑๕ ข้อ กำหนด / บังคับ ให้กรมราชทัณฑ์ในฐานะฝ่ายเลขาจัก ต้องจัดให้มีการประชุม)
- อำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาการราชทัณฑ์ มี ๘ ข้อ (ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการให้ข้อเสนอแนะ และ ติดตามประเมินผล ซึ่งทางกรมราชทัณฑ์ ในฐานะฝ่ายเลขา จะดำเนินการประชุมหรือไม่ก็ได้)
ด้านจำนวนคณะกรรมการสภาที่ปรึกษาการราชทัณฑ์ ประกอบด้วยคณะกรรมการ จำนวน ๒๕ คน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้อำนาจแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ
ด้านจำนวนของคณะกรรมการราชทัณฑ์ มีจำนวน ๑๘ คน (มาตรา ๘) ซึ่งน้อยกว่าจำนวนคณะกรรมการของสภาที่ปรึกษาการราชทัณฑ์
ด้านข้อมูลการดำเนินงาน ถึงปัจจุบัน สภาที่ปรึกษาการราชทัณฑ์มีการประชุมรวมทั้งสิ้น ๓ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๘ ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๘ โดยภายหลังจากที่ได้มีการประชุมสภาที่ปรึกษาการราชทัณฑ์ครั้งล่าสุดในปี ๒๕๔๘ ถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา ๑๐ ปี ที่ยังไม่มีการประชุมสภาที่ปรึกษาการราชทัณฑ์
นอกจากนั้น ยังพบว่าข้อเสนอแนะจากประชุมสภาที่ปรึกษาการราชทัณฑ์ ที่สำคัญหลายเรื่อง แต่ยังไม่พบข้อมูลการนำข้อเสนอแนะไปใช้
ด้านข้อมูลการดำเนินงาน ของคณะกรรมการเรือนจำตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์พุทธศักราช ๒๔๗๙ (มาตรา ๔๔) คณะกรรมการเรือนจำตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการตรวจเรือนจำของคณะกรรมการเรือนจำ พ.ศ. ๒๕๔๗ ยังไม่พบข้อมูลการดำเนินงาน
จึงกล่าวได้ว่า ปัญหาอุปสรรคที่สำคัญของคณะกรรมการเรือนจำฯ และ สภาที่ปรึกษาการราชทัณฑ์ ดังกล่าว คือ ปัญหาการขาดความต่อเนื่องในการดำเนินงานของกรมราชทัณฑ์เอง
ด้านจุดแข็งและจุดอ่อน เมื่อพิจารณาจากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการราชทัณฑ์ ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ แล้ว จะพบว่า
- จุดแข็ง ของคณะกรรมการราชทัณฑ์ คือ การนำแนวคิดต้นแบบการบริหารงานราชทัณฑ์แบบการเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม ตามแนวคิด Board of Correction / Correction Committee / Board of Prison จากสหรัฐอเมริกามาใช้ เพื่อช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นแก่ประชาชนว่า จะช่วยลดข้อครหาจากความเป็นแดนสนธยาคุก และ สามารถขับเคลื่อนการปฏิบัติงานคุกไปสู่การยอมรับของประชาชน เป็นต้น เพราะเรื่องราวต่างๆในการบริหารจัดการคุกเกือบทุกเรื่องจะต้องผ่านการให้ความเห็นชอบจากคณะกรรมการราชทัณฑ์ ซึ่งมาจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ที่หลากหลาย
- จุดอ่อน คือ จากการที่กรมราชทัณฑ์ต้องจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการราชทัณฑ์เรื่องต่างๆ ในการบริหารจัดการคุกเกือบทุกเรื่องอาจก่อให้เกิดความล่าช้า ในการขอความเห็นชอบ และ เกิดความเสียหายแก่ราชการได้
ในกรณีที่มีจุดอ่อน ดังกล่าว อุปมา อุปมัย ดั่ง ยาครอบจักรวาล หรือ ยาดำยังไม่ตกผลึก ตามแนวคิด และ วัตุประสงค์ ข้างต้น จึงเห็นว่า เรื่อง คณะกรรมการราชทัณฑ์ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้อง หรือ ผู้สนใจ ในงานราชทัณฑ์ ควรจะได้ติดตามผลการดำเนินงานของคณะกรรมการราชทัณฑ์ต่อไป
...............................
วินัย เจริญเฉลิมศักดิ์
ประธานนักศึกษาปริญญาเอกนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปทุมธานี ๒๕๖๐
๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๐
อ้างอิง
พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๒๑ ก ราชกิจจานุเบกษา ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ และ
วินัย เจริญเฉลิมศักดิ์ คณะกรรมการเรือนจำ (Board of Prison) ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://www.gotoknow.org/posts/586438
วินัย เจริญเฉลิมศักดิ์ สภาที่ปรึกษาการราชทัณฑ์ ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://www.gotoknow.org/posts...
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ https://www.idoc.idaho.gov/content/dir...
สืบค้นเมื่อ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๐
ขอบคุณอาจารย์ Chaiwud Boonwiwattanakarn (คนใต้โดยภรรยา) มากน่ะครับ ที่กรุณาติดตาม และ ให้กำลังใจผมด้วยดีตลอดมา ขอบคุณมากน่ะครับอาจารย์
อ.วินัยครับ ผช.เลขา2คนคือหนึ่งในคณะกรรม แล้วอธิบดีรวมอยู่ในยอด7คนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหรือไม่ ขอไลน์กับเฟสด้วยครับถ้าสดวก
อ.วินัยครับ ผช.เลขา2คนคือหนึ่งในคณะกรรม แล้วอธิบดีรวมอยู่ในยอด7คนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหรือไม่ ขอไลน์กับเฟสด้วยครับถ้าสดวก