งาน "ชื่นใจ...ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน)" ครั้งที่ ๑๑ : การเรียนรู้ที่ดีกว่า


เมื่อเราสนุกในสิ่งที่ทำ และเปิดใจให้กว้าง เราก็จะพบว่าการเรียนรู้ไม่มีคำว่าเก่ง มีแต่พัฒนาตามศักยภาพที่ถูกร้อยเรียงมาอย่างงดงามด้วยความละเอียดลออ


งานเขียนของเพื่อนครู


เรื่องเล่าของ คุณครูสุ - สุภาพร กฤตยากรนุพงศ์ เรื่องล่าสุดนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่น เอาจริงเอาจังในการเรียนรู้และการพัฒนางานอย่างต่อเนื่องของครูผู้ทำหน้าที่พัฒนาหน่วยวิชาคณิตศาสตร์ ช่วงชั้นที่ ๑ ได้อย่างชัดเจน



CQI[1]


ไม่มีความสมบูรณ์บนความสมดุลที่ลงตัว ไม่มีคุณภาพที่ดีหากไม่ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และจะไม่มีการเรียนรู้ที่ดีกว่าเดิมเกิดขึ้น หากเราขาดการทบทวน ไตร่ตรอง และมองย้อนประเมินการเรียนรู้ของตนเองอย่างสม่ำเสมอ


ถ้าไม่มีงาน“ชื่นใจ...ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน)" ครั้งที่๑๐ ก็จะไม่มีงาน “ชื่นใจ...ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน)" ครั้งที่๑๑ และถ้าในวันนั้นครูสุไม่มีโอกาสได้ทำการปฏิบัติวิภาคบทเรียน จากตัวอย่างบทเรียนคณิตศาสตร์ของญี่ปุ่น ก็จะไม่มีครูสุในปัจจุบัน


ขอบคุณประสบการณ์การปฏิบัติวิภาคบทเรียนจากตัวอย่างบทเรียนคณิตศาสตร์ของญี่ปุ่น ในงาน KM ครั้งนั้น ที่นำพาให้ครูสุได้เข้าใจกระบวนการเรียนรู้ได้ชัดเจนมากขึ้นไปอีก และประสบการณ์ในวันนั้นเอง ที่สร้างให้เกิดแผนการเรียนรู้ในบันทึกนี้


สัปดาห์ที่ ๔ ภาคเรียนวิมังสา ๒๕๕๙ ครูสุ pre แผนการสอนร่วมกับครูนกและครูขวัญ ประโยคหนึ่งที่ฟังและสะดุดหูคือครูขวัญถามขึ้นระหว่างที่คิดแผนว่า “เรื่องเศษส่วนเป็นเรื่องที่สอนยาก เด็กๆเรียนจะเข้าใจเหรอคะ” ครูสุตอบ “ไม่ยากหรอกค่ะ เรื่องนี้เด็กเรียนรู้ผ่านกิจกรรมด้วยการสังเกต ลงมือทำ และพี่คิดว่าพี่จะปรับแผนเพิ่มให้เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกายด้วยนะ” ครูนกตอบ “น่าจะสนุกดีแต่จะทำอย่างไรคะ” ก็แผนครั้งที่ ๑-๓ Concept รู้จักเศษส่วน ความหมายเศษส่วน อ่านค่าเศษส่วน แรเงาค่าเศษส่วน ใช้แผนปี ๒๕๕๘ แผนโอเคอยู่ค่ะ ส่วนแผนครั้งที่ ๔ Concept เปรียบเทียบเศษส่วนที่ตัวส่วนเท่ากัน และเปรียบเทียบเศษส่วนที่ตัวเศษเท่ากัน พี่ขอปรับกิจกรรมแรงบันดาลใจค่ะ ครูสุนิ่งไปสักครู่และมองเข้าไปที่ตู้สื่อพบไข่พลาสติกได้การ ครูสุตอบน้องๆว่า “ใช้แผงไข่ค่ะ” ครูนกและครูขวัญทำหน้างงๆ ครูสุเห็นเช่นนั้นก็บอกกับครูนกและครูขวัญว่า ถ้าเรียงไข่ใส่แผงไม่เต็มจะเกิดเศษส่วนนะ ครูนกบอกว่าจะลองกลับไปหาแผงไข่ดูก่อน เช้าวันรุ่งขึ้นได้แผงไข่มาแล้ว ครูสุให้ครูนกและครูขวัญลองวางไข่ใส่แผง ครูนกมองว่าแผงไข่มี 5 แถวแต่ละแถวใส่ไข่ได้ 6 ฟอง จากนั้นครูนกใส่ไข่ลง 1 แถว และครูนกก็บอกว่า คือ 1/5 ของแผงไข่ ส่วนครูขวัญมองว่าแผงไข่มี 6 แถวแต่ละแถวใส่ไข่ได้ 5 ฟอง จากนั้นครูขวัญใส่ไข่ลง 1 แถว และครูขวัญก็บอกว่า คือ 1/6 ของแผงไข่ ครูขวัญบอกว่าน่าสนใจแผงไข่มีวิธีคิดที่หลากหลายสนุกดี ครูสุได้สังเกตว่าขณะที่ครูทั้งสองใส่ไข่ลงแผงครูมีสีหน้าและแววตาที่สนุกทำให้ครูสุเริ่มเรียนรู้ว่าหากครูสนุก แผนก็จะสนุกด้วย


เช้าวันพฤหัสบดีที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ เวลา ๘.๕๐ น. ครูสุเดินเข้าห้องเรียนชั้น๓ห้อง๒ พร้อมถือแผงไข่เข้าห้อง ครูสุวางแผงไข่ลงตีระฆังหัวหน้าห้องบอกทำความเคารพ ทุกคนทำความเคารพเสร็จ เกรทเตอร์ถามขึ้น ครูสุครับ “เอาแผงไข่มาทำอะไรครับ” ครูสุตอบ “ลองทายดูซิคะวันนี้เราจะมีกิจกรรมอะไร” เด็กตอบกันใหญ่ เรียงไข่ใส่แผง “ใช่ค่ะวันนี้เราจะแข่งกันตักไข่ใส่แผงตามเศษส่วนที่ครูกำหนด” แต่ว่าลองสังเกตแผงไข่ก่อนนะว่าจะเรียงไข่ตามเศษส่วนได้อย่างไร พี่เบิ้มบอก “แผงไข่มีแนวตั้ง แนวนอน” ไม่เท่ากันครับ พี่เบิ้มกำลังเรียนรู้ผ่านการสังเกต เด็กหญิงคนหนึ่งบอกว่าลองนับดูมีกี่แถวกันนะ เกรทเตอร์รีบนับแล้วตอบว่า “มี 6 แถวครับ” น้ำมนบอก “ไม่ใช่มี 5 แถวค่ะ” (ครูสุนึกในใจว่าโอ...แค่นับแผงไข่เด็กยังตื่นเต้น กระตือรือร้นตอบกันใหญ่ แผนนี้น่าจะโอเคนะ) เพื่อนที่นั่งหน้าสุดบอกว่า “ก็มีทั้ง 5 แถวและ 6 แถวแหละดูดีๆซิ” “เออใช่แค่หันแผงไข่คนละด้านเอง” แป้นบอก เด็กกลุ่มนี้กำลังเรียนรู้ผ่านการสัมผัสโดยการนับ และเชื่อมโยงการเรียนรู้ว่าแผงไข่มีแนวตั้ง แนวนอน หากหันแผงไข่คนละด้านก็จะเห็นแถวของแผงไข่ต่างกัน


เมื่อเด็กส่วนใหญ่สังเกตแผงไข่แล้ว ครูสุทดสอบดูว่าความรู้สะสมเดิมของเด็กๆคือรู้จักเศษส่วน ความหมายของเศษส่วนและการอ่านค่าของเศษส่วน เด็กๆมีความรู้เดิมอยู่มากน้อยแค่ไหน โดยครูสุถาม “ต้องการ ของแผงไข่จะเรียงไข่อย่างไรคะ” เด็กๆรีบยกมือกันใหญ่ จังหวะนี้สำคัญครูจะเลือกเด็กคนไหนขึ้นตอบครูต้องคำนึงก่อนว่าคำตอบของเด็กจะทำให้เพื่อนเกิดการเรียนรู้ที่เห็นภาพชัดและเข้าใจง่าย ครูสุเลือกพี่เบิ้มขึ้นตอบเพราะครูสุรู้ว่าคำตอบของพี่เบิ้มจะทำให้เพื่อนๆเห็นภาพชัดและเข้าใจได้อย่างง่าย และเพื่อนยังต่อยอดแนวความคิดออกไปได้อีกด้วย


พี่เบิ้มตอบ “ต้องแบ่งแผงไข่เป็น 5 ส่วนแล้วใส่ไข่เต็ม1แถวจาก 5 แถวครับ” เพื่อนๆ ที่คิดได้เช่นเดียวกับพี่เบิ้มตอบว่าใช่ครับ ใช่ค่ะ จังหวะเดียวกันนั้นเอง “มีเสียงเสียงหนึ่งพูดขึ้นว่าครูใส่ไข่ลงไป 6 ฟอง ครับ” ต้นไผ่พูดขึ้น ต้นไผ่ไม่ได้หาแค่เศษหนึ่งส่วนห้าแต่ต้นไผ่กำลังคิดต่อยอดไปว่า แผงไข่ทั้งแผงแบ่งเป็น5 ส่วน แล้วส่วนหนึ่งจะใส่ไข่กี่ฟอง และคำตอบของต้นไผ่ก็ทำให้ พีคบอกว่า “นั้นแสดงว่า 1 แผง มีไข่ 30 ฟองครับ” ซึ่งคำตอบของพีคสามารถเชื่อมโยงกลับไปที่ความรู้เรื่องการคูณคือหาจำนวนไข่ทั้งแผง(5 แถวแถวละ 6 ฟองคือ 6x5) เด็กๆหลายคนบอกว่า งั้นถ้าเราใส่ไข่ 2 แถวจาก 5 แถวก็ได้ 10 ฟอง สิ่งที่ครูสุคาดเดาเป็นเช่นนั้นจริงๆโอ้คำตอบเริ่มต้นของพี่เบิ้มได้สร้างการเรียนรู้ที่สนุกกับเพื่อนๆในห้องเรียนแล้ว เมื่อครูสุเช็คความรู้สะสมของเด็กๆแล้ว กิจกรรมที่ท้าทายกำลังรออยู่ ครูสุแบ่งกลุ่มเด็ก 4 กลุ่ม กลุ่มละ 7 คน ครูสุพานักเรียนออกมาทำกิจกรรมที่โถง ครูสุอธิบายการทำกิจกรรมให้เด็กๆ ฟังเงื่อนไข



โจทย์ที่ 1 ตักให้ไว ตักไข่ให้ได้ 1/6 ของแผงไข่ ครูสุเดินเช็คแผงไข่ที่เด็กๆตัก เด็กทุกกลุ่มตักถูกหมด


โจทย์ที่ 2 ตักไข่ให้ได้ 2/5 ของแผงไข่ ครูสุเดินตรวจพบว่ามีเด็กตักถูก 3 กลุ่ม อีกกลุ่มหนึ่งยังงงและตักไม่ถูก ครูสุหยิบถาดไข่ของกลุ่มที่ถูกขึ้นมาและมีเด็กในกลุ่มที่งงพูดขึ้นว่า กลุ่มเราแบ่งถาดไข่ผิดต้องแบ่งถาดไข่ออกเป็น 5 แถวแต่เราแบ่งเป็น 6 แถว


คำตอบของเพื่อนทำให้แป้งซึ่งกำลังถามเพื่อนว่าทำไมของตนไม่ถูก ได้เข้าใจและในที่สุดแป้งก็พูดขึ้นว่า " แสดงว่าเราแบ่งไม่ถูกสิ" เพื่อนในกลุ่มบอกว่า "ใช่"


การที่ครูสุได้ยกแผงไข่ของเพื่อนกลุ่มที่ถูกขึ้นมาส่งผลให้เด็กกลุ่มนี้ทบทวนสิ่งที่ตนเองคิดและการเรียนรู้จากภาพที่สัมผัสได้ทำให้การเรียนรู้ของเด็กไม่สะดุดและเด็กก็พิสูจน์ได้ว่าตนเองเข้าใจผิดอย่างไร หากครูไม่ได้ประเมินและสังเกตการเรียนรู้ของเด็กทุกกลุ่มเด็กกลุ่มนี้อาจจะสับสนเมื่อต้องไปแก้ปัญหาต่อก็ได้


โจทย์ที่ 3 ตักไข่ให้ได้ครึ่งแผง ครูสุตรวจเช็คว่าเด็กแต่ละกลุ่มตักได้ถูกต้องหรือไม่ เด็กตักถูกทุกกลุ่มรวมทั้งกลุ่มที่ตักไม่ถูกในโจทย์ที่1 ก็ตักถูกแล้ว


โจทย์สุดท้าย เป็นโจทย์ที่เพิ่มความท้าทายของนักเรียน โดยครูสุเรียงไข่ใส่แผงไว้ 1/6 ของแผงไข่ จากนั้นครูสุบอกโจทย์ว่า ให้เด็กๆ ตักไข่ใส่แผงให้ได้มากกว่าแผงไข่ของครูสุ เด็กๆช่วยกันคิดใหญ่ พี่เบิ้มบอก “แบ่งแผงไข่เป็น 6 ส่วนตักเพิ่มอีกแถวก็มากกว่าของครูแล้ว” ส่วนอีกกลุ่ม “บูเก้บอกตักให้ได้ 10 ฟองใส่แถวละ 5 ฟอง” และแต่ละกลุ่มก็ช่วยกันตัก ครูสุตรวจเช็คคำตอบทุกกลุ่มตักไข่ได้มากกว่าไม่มีกลุ่มไหนผิดเลย เด็กๆ สนุกกันมาก พวกเขาเกิดการเรียนรู้ร่วมกันแก้ปัญหาจากโจทย์ที่ง่ายไปสู่โจทย์ที่ท้าทาย เด็กได้สัมผัสได้ลงมือทำ ครูสุทำโจทย์เช่นนี้อีก 2 ข้อปรับเป็นน้อยกว่าบ้าง มีเด็กที่สังเกตได้ว่าจะเปรียบเทียบเศษส่วนที่ตัวส่วนเท่ากันทำอย่างไรและเด็กๆ ก็แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนกันเอง ปุณวัตบอกว่าตั้งแต่เรียนมา เรื่องนี้เข้าใจสุดเลย


ก่อนพาเด็กกลับเข้าห้องครูสุปรบมือเป็นจังหวะขึ้นลงเพื่อกำกับสมาธิเด็กๆก่อนกลับเข้าห้องเรียน เมื่อกลับเข้าห้องครูสุยังไม่ได้ถามอะไร แต่พี่เบิ้มบอกขึ้นทันทีว่า“จะเปรียบเทียบเศษส่วนหากส่วนเท่ากันให้ดูที่เศษ” เพื่อนบอกจริงๆด้วย เนี่ยเมื่อกี้ที่ตักไข่เห็นชัดเลย





ครูแจกโจทย์สถานการณ์



เด็กๆ ส่วนใหญ่ลงมือแก้ปัญหาด้วยตนเองและตอบได้ทันทีว่า

A > C > B และเด็กๆช่วยกันแลกเปลี่ยนวิธีคิดตามกระดาน และร่วมกันสรุปการเรียนรู้การเปรียบเทียบเศษส่วน

-ถ้าเศษเท่ากันดูที่ส่วน ตัวที่มีส่วนน้อยจะมีค่ามากกว่า

-ถ้าส่วนเท่ากันดูที่เศษ


ในการสร้างแผนการสอนนอกจาก Met before การร้อยเรียง Concept ให้ต่อเนื่องแล้ว สิ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ การทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ มีความสนุก ให้เด็กๆ ได้สังเกต สัมผัส ลงมือทำ และก็ได้เคลื่อนไหวร่างกายทำกิจกรรมต่างๆอย่างผ่อนคลาย โจทย์มีความท้าทายกับ Learning ability ของเด็กอย่างเหมาะสม เด็กจะสามารถสร้างการเรียนรู้ของตนเองได้ เมื่อครูสุประมวลการเรียนรู้ของตนเองอย่างต่อเนื่องจนเกิดความเข้าใจ ทำให้พบว่าการปรับแผนการสอนจะส่งไปถึงการปรับหลักสูตร(O) และทุกครั้งที่ปรับแผนครูสุจะได้ทบทวนการเรียนรู้ของตนเอง ตัวเราจะละเอียด ประณีตและรอบคอบในการคิดมากขึ้น รวมถึงมีสายตาและความแม่นแม่นยำในสิ่งที่เราลงมือปฏิบัติ มากขึ้นเสมอ การ Post หลังสอน ร่วมกับบัดดี้ จะช่วยปรับแผนการสอนให้เอื้อกับการเรียนรู้ของเด็กในห้องเรียนต่อไปได้ดี


ครูสุได้เรียนรู้ว่าการสร้างแผนที่มีคุณภาพคือการสร้างหลักสูตรที่ดี ครูควรมีความประณีตและรอบคอบในทุกๆ รายละเอียด ทบทวน ตรวจสอบเสมอ เมื่อเราละเอียดต่อการคิดมากขึ้นเท่าไร เราจะมีสายตาในการซึมซับ รับรู้ รับฟัง และพร้อมจะแก้ปัญหาได้มากขึ้น นอกจากนี้เราเองยังแม่นยำในการอ่านเด็กและสังเกตการเรียนรู้ของเด็กได้ดีขึ้น สามารถแก้ปัญหาการเรียนรู้ของเด็กได้ทันเวลาเช่นกัน เมื่อเราสนุกในสิ่งที่ทำ และเปิดใจให้กว้าง เราก็จะพบว่าการเรียนรู้ไม่มีคำว่าเก่ง มีแต่พัฒนาตามศักยภาพที่ถูกร้อยเรียงมาอย่างงดงามด้วยความละเอียดลออ


เพียงแค่โอกาส คงไม่ทำให้เราเติบโตอย่างมีคุณภาพได้เท่านี้ หากปราศจากผู้ที่คอยแนะนำขัดเกลานั่นก็คือพี่ปาดและพี่ใหม่ ครูสุขอบพระคุณทุกคำสอนจากครูที่คอยเปิดประเด็นและเติมเต็มให้ครูสุได้พัฒนาศักยภาพอยู่เสมอ



คุณครูสุ - สุภาพร กฤตยากรนุพงศ์ บันทึก



[1] Continuous Quality Improvement

หมายเลขบันทึก: 628678เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2017 11:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2017 13:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท