จับตากระแสท้องถิ่นภายหลังรัฐธรรมนูญ “เหล้าเก่าในขวดใหม่”


จับตากระแสท้องถิ่นภายหลังรัฐธรรมนูญ “เหล้าเก่าในขวดใหม่”

18 พฤษภาคม 2560

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

กระแสแรงมาตั้งแต่กลางปี 2558 ประมาณว่า ... รัฐธรรมนูญใหม่ รื้อใหญ่ท้องถิ่น จับตายุบ อบต. 5 พันแห่ง ควบรวมเทศบาลเล็ก เพิ่มอำนาจเก็บภาษี จุดเปลี่ยนใหญ่ท้องถิ่นไทย

ผู้เขียนได้เขียนจับตากระแสท้องถิ่นภายหลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มา 5 ตอน ซึ่งบทความตอนท้ายใน ตอนที่ 5 วกมากล่าวถึงการปฏิรูปสำคัญของประเทศที่จะเว้นว่างการกล่าวถึงไม่ได้เลย คือ “การปฏิรูปการศึกษา และ การจัดการศึกษาปฐมวัยของท้องถิ่น” กำลังว่าจะวิพากษ์เรื่องการศึกษาต่อ คงไปต่อยังไม่ได้ ในท่ามกลางกระแสการเคลื่อนไหว กลับวกหน้าวกหลัง กลับมาในกระแสเดิม ๆ ซ้ำซาก ที่ไม่จบสิ้น เหมือน “เหล้าเก่าในขวดใหม่” ยังไงก็ยังงั้น ลองมาตอกย้ำ ฟังกันอีกรอบ

งบประมาณท้องถิ่นที่ลดน้อยถอยลง

ท่ามกลางกระแสท้องถิ่นที่ร้อนแรงช่วงนี้ มีข้อคิดว่า สิ่งใดที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก สิ่งนั้นย่อมล่มสลายไป สภาพปัญหาท้องถิ่นที่สำคัญประการหนึ่ง คือ “เรื่องงบประมาณ” หรือ รายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ลดน้อยลงทุกวัน แต่ภาระรายจ่ายกลับเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะรายจ่ายด้านบุคลากรที่มียอดภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทุกปี [2] จะว่าไปคนที่เสียโอกาส ก็คือประชาชนที่จะรับได้งบประมาณในการพัฒนาที่ลดน้อยถอยลง งบประมาณจึง “เหมือนน้ำบ่อน้อยที่ต้องแบ่งกระจายกันในหมู่บ้านให้ได้” แต่โครงการที่ได้รับการจัดสรรจากส่วนกลางกลับเป็น “เป็นโครงการที่หยิบย่อย เป็นโครงการที่เล็ก ๆ ที่ไม่ได้เกิดจากปัญหาความต้องการของท้องถิ่นส่วนล่าง” แต่เกิดจากการสั่งการหรือความต้องการจากส่วนกลาง ครั้น อปท.จะทำโครงการที่เพื่อหารายได้เข้าท้องถิ่นก็ติดข้อด้วยข้อกฎหมายที่ห้ามส่วนราชการท้องถิ่นแข่งขันกับเอกชน นอกจากนี้ อปท.น่าจะทั้งหมดที่หันไปใช้เงินสะสมจนถึง “เงินสำรองเงินสะสม” เพื่อมาจัดทำโครงการพัฒนาต่าง ๆ กันมากขึ้น ทั้งนี้โดยนัยยะว่า เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล หมายความว่า หาก อปท. เป็นบริษัทก็คือ การนำเงินเก็บ (saving fund) ออกมาใช้กันนั่นเอง [3] ผลสุดท้าย “การปฏิรูปท้องถิ่น” คงคลาดแคล้วไปไม่ถึงฝั่ง ที่อาจไม่ต้อง “ควบรวม อปท.” แต่ท้องถิ่นนั้นคงจะล่มสลายไปเสียก่อนเพราะทุนหมด เรียกว่า “บริษัทถึงกาลเจ๊ง”

ท่านผู้รู้สายหนักส่ายหน้าตั้งข้อสังเกตว่า การให้ผู้บริหารท้องถิ่นคนเดิมรักษาการไปเรื่อยๆ เงินท้องถิ่นต้องหมดแน่นอน การใช้จ่ายเงินสะสมอย่างเดียวที่ไม่มีแผนพัฒนาที่ชัดเจนว่าจะไปพัฒนาในด้านนั้นด้านนี้ แต่เน้นไปที่ด้านโครงสร้างพื้นฐานเพียงอย่างเดียว ก็เพราะการมี “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ที่มากมาย นโยบายการจัดซื้อจัดจ้าง “ตกลงราคาห้าแสนยิ่งไปกันใหญ่” [4]

การทำงานของ อปท. ไม่มีสังกัดเหมือนเจ้าไม่มีศาล

ท่านผู้รู้บ่นเสียดายเวลาสามปีที่ผ่านไปว่า “การปฏิรูปท้องถิ่นยังไม่ตกผลึกทางความคิดเลย” จึงย้อนถามว่า อำนาจกระทรวงมหาดไทย (มท.) ที่กำกับดูแล อปท. อยู่ สมควรปลดระวางได้หรือยัง เพราะพิจารณาจากบทบาทที่ผ่านมาแล้ว มท. ได้ช่วยอะไรบ้าง ไม่ว่าการส่งเสริมสนับสนุนท้องถิ่น ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ “การให้บริการสาธารณะ” ได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพสมปรารถนาเป็นที่ “พึงพอใจของประชาชน” อาทิ การสั่งการที่ชัดเจนในอำนาจหน้าที่ การเป็นพี่เลี้ยงในการแก้ไขปัญหา การโต้แย้งต่อหน่วยงานตรวจสอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)” ที่มาทักท้วงทัดทานการปฏิบัติงานของ อปท. ที่เป็นปัญหาทางปฏิบัติ ด้วยบรรดางานภารกิจหน้าที่ที่เกี่ยวกับประชาชนนั้น จากส่วนกลางในทุกกระทรวง ทบวง กรม ล้วนเกี่ยวข้องกับประชาชนในพื้นที่เกือบทั้งหมด เพราะ อปท.อยู่กับประชาชนในพื้นที่แทบทุกตารางนิ้ว การสั่งการหรือการใช้งาน อปท. โดยส่วนกลาง จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ พูดมาถึงตรงนี้ ก็จุดประกายความคิดว่า “การตั้งกระทรวงท้องถิ่น” รวมทั้งการให้บรรดาเหล่าผู้กำกับดูแล ได้แก่สำนักงานท้องถิ่นจังหวัด (สถ.จ.) สำนักงานท้องถิ่นอำเภอ (สถอ.) มาใช้ระเบียบ กฎหมาย เดียวกับ อปท. ด้วย ไม่ว่าการสั่งการตรงเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณจากกระทรวงการคลัง หรือกระทรวงอื่นใดก็แล้วแต่ ควรมีข้อยุติชัดเจน เรียกว่าออกเป็น “ระเบียบกระทรวงท้องถิ่น” ไว้เลย ด้วยความมั่วในการปฏิบัติหน้าที่ทำเอาเจ้าหน้าที่ฝ่ายประจำแทบไม่อยากทำงาน ชีวิตราชการมีแต่ความกังวล อีกทั้งอาจถูกกดดันจากฝ่ายการเมืองซ้ำหนักเข้าไปอีก ด้วยเกรงว่าตนจะทำผิดระเบียบ จึงเกิดความไม่มั่นใจในอำนาจหน้าที่ที่ตนได้กระทำอยู่ ชีวิตราชการของฝ่ายประจำจึงวนไปวนมาอยู่กับความไม่มั่นใจในความไม่แน่นอน

ในกระแสล่าสุดในประมวลกฎหมายหัวใจของท้องถิ่น คือร่างประมวลท้องถิ่น จากการสนธิของสามสมาคมสายนักการเมืองท้องถิ่น ได้แก่ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย (อบจ.) สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และ สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย (อบต.) ได้จัดทำร่างเสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2560 [5] นับได้ว่า เป็นจุดสำคัญยิ่งในการโต้แย้งร่างของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) [6] ที่กำลังค้างการพิจารณาอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในขณะนี้

การยึดอำนาจการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น

ปัญหาการบริหารงานบุคคล ของ อปท.ที่เกิดขึ้นสาเหตุส่วนใหญ่มาจากตัวนายก อปท. ปลัด อปท. และระเบียบข้อกฎหมายที่เปิดช่องให้อำนาจนายก อปท. มากเกินไป ในหลาย ๆ เรื่องเป็น “อำนาจดุลพินิจ” ที่ออกจากไม่มีตัวชี้วัดหรือขอบเขตที่ชัดเจน จนเกิดคดีปกครองในการบริหารงานบุคคลมากมาย ปลัด อปท.บางส่วนติดผลประโยชน์ทับซ้อน จากระบบอุปถัมภ์ เกิดการทำงานเชิงประจบประแจงแข่งขัน ที่มีแต่พรรคพวก คนดีมีความรู้ความสามารถ ที่ไม่ใช่พรรคพวก จึงไม่ได้รับการพิจารณาจากระบบ ตำแหน่งว่างเมื่อใดจึงไม่คิดที่จะสรรหาคนใหม่ หากแต่รอว่าคนพรรคพวกของตนจะมีสิทธิ์เมื่อใด จึงค่อยสรรหา ก.จังหวัดก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะอำนาจเด็ดขาดอยู่ที่นายก อปท. ฉะนั้นเจตนารมณ์ของ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (หน.คสช.) ที่ 8/2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น [7] ที่ให้อำนาจการบริหารงานบุคคลในการสอบแข่งขัน (บรรจุใหม่) และ การคัดเลือก การสอบคัดเลือกสายงานบริหาร อำนวยการ และ ผู้บริหารสถานศึกษา มาอยู่ที่คณะกรรมการกลางบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.กลาง) จึงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560

ก.กลาง ได้เร่งรัดดำเนินการสอบแข่งขัน และ สอบคัดเลือก และ การคัดเลือกไว้แล้ว ที่สำคัญคือ การวางกฎระเบียบ หลักเกณฑ์ กติกา (ประกาศมาตรฐานทั่วไป ก.กลาง) ในเรื่องดังกล่าวให้สมกับเจตนารมณ์ของ คสช. ที่ระบุไว้ชัดเจนในคำสั่งว่า “มีการใช้ระบบอุปถัมภ์ในการสอบแข่งขัน การเลื่อนตำแหน่ง การโอน และการย้าย รวมถึงมีการเรียกรับผลประโยชน์ นอกจากนี้ ยังปรากฏปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการส่วนท้องถิ่น และกลุ่มผู้นำชุมชนในพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถโอนข้าราชการส่วนท้องถิ่น หรือพนักงานส่วนท้องถิ่นระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักความสมัครใจได้”

แผนการสอบฯ ดังกล่าวเริ่มปรากฏร่างขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2560 [8] ประมาณว่าสายบริหาร ปลัด อปท. รองปลัด อปท. สายอำนวยการท้องถิ่น ผอ.หน.ฝ่าย รวมทั้งสิ้น 1,166 อัตรา คาดว่าใน เดือนพฤษภาคม 2560 หลักเกณฑ์ฯ ประกาศ ก.กลาง คงเรียบร้อย หลังจากนั้น จะต้องดำเนินการสรรหาฯ ต่อไป อย่างไรก็ตาม ข้าราชการส่วนท้องถิ่นก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า การกำหนดหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าวนั้น เป็นการกำหนดโดยผู้ร่างที่เป็นข้าราชการส่วนกลาง กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ขาดความเชื่อมั่นว่า มิใช่การกำหนดร่างโดยคนท้องถิ่น [9] ฉะนั้น การร่างหลักเกณฑ์ฯ โดยเบี่ยงเบน ผิดวัตถุประสงค์ของคำสั่ง หน.คสช. จึงเกิดขึ้นได้ทุกขณะ หากไม่มีการตรวจสอบทักท้วง จึงน่าเป็นห่วงมาก

เอาแค่สามเรื่องนี้ก็น่าเวียนหัวเหลือเกิน



[1]Phachern Thammasarangkoon, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 18 พฤษภาคม 2560 ปีที่ 67 ฉบับที่ 23397 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น : บทความพิเศษ &หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 64 ฉบับที่ 36 วันศุกร์ที่ 19 – วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม 2560, หน้า 66

[2]ในระหว่างปีงบประมาณ 2558 กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีแนวทางการปรับเพิ่มอัตราเงินเดือน ตามบัญชี 4 ทำให้ข้าราชการ พนักงานงานและลูกจ้าง มีฐานเงินเดือนเพิ่มมากขึ้น และมีเงินตกเบิกที่จะต้องเบิกจ่ายให้กับ ข้าราชการ พนักงานส่วนตำบลและลูกจ้าง แต่จะต้องพิจารณาว่าภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรมีภาระค่าใช้จ่ายเกิน 40% ตามมาตรา 35 แห่ง ตาม พรบ.บริหารงานบุคคล พ.ศ. 2542

[3]ทีมเศรษฐกิจสมคิดยืม”เงินฝากท้องถิ่น”แสนล้านมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจครึ่งปีแรก, 8 กุมภาพันธ์ 2559, http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=chusaengs...

& มท.ดึงเงินค้างท่ออปท. ใช้กระตุ้นศก, กรุงเทพธุรกิจ, 10 มีนาคม 2559, http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/690147

กำหนดหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ 3 ข้อดังนี้

1. ให้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินสะสมตามระเบียบดังกล่าว โดยตระหนักถึงเจตนารมณ์ของการกำหนดให้มีเงินสะสมนั้น ก็เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีฐานะการเงินการคลังที่มั่นคง พร้อมที่จะรับภาระในการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในอนาคตที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ หรือ นำไปใช้เพื่อการจัดบริการสาธารณะแก่ประชาชนให้ทั่วถึงและมีคุณภาพ ดังนั้นจึงเห็นควรพิจารณาใช้จ่ายเงินสะสมอย่างระมัดระวังเพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อการบริหารงานตามอำนาจหน้าที่

2. หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินสะสมเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ให้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติในปีงบประมาณ 2559 ดังนี้

-2.1 การขออนุมัติใช้จ่ายเงินสะสมให้ตรวจสอบยอดเงินสะสมที่นำไปใช้ได้ ณ ปัจจุบัน โดยหักเงินสะสม ที่ส่งฝากเงินทุนส่งเสริมกิจการเทศบาล (ก.ส.ท.) หรือเงินทุนส่งเสริมกิจการองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ก.ส.อ.) แล้วนำไปหักรายการเงินสะสมที่มีภาระผูกพันแล้วแต่ยังไม่ได้ดำเนินการ หรืออยู่ระหว่างดำเนินการ และยังไม่ได้เบิกจ่ายเพื่อพิสูจน์ยอดเงินสะสมคงเหลือณปัจจุบันที่สามารถนำไปใช้ได้

-2.2 เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยที่กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องมียอดเงินสะสมคงเหลือเพียงพอที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายประจำ และกรณีฉุกเฉินที่มีสาธารณภัยเกิดขึ้น ดังนั้น ก่อนจะนำเงินสะสมไปใช้ให้สำรองเงินสะสมไว้เพื่อใช้จ่ายในกรณี สำรองเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร สำรองจ่ายกรณีที่ยังไม่ได้รับงบประมาณเงินอุดหนุนทั่วไป และสำรองจ่ายกรณีสาธารณภัย

3. ลักษณะและประเภทโครงการที่สามารถนำเงินสะสมไปใช้จ่ายได้ จะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์และตรงกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง โดยนำข้อมูลปัญหาและความต้องการพื้นฐานจาก”แผนพัฒนาท้องถิ่นมาใช้ในการจัดทำโครงการ”ทั้งนี้ ไม่ให้นำเงินสะสมไปใช้จ่ายในโครงการหรือกิจกรรมที่ฟุ่มเฟือย หรือไม่ก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงกับประชาชน เช่น การก่อสร้างปรับปรุงอาคารที่ทำการ การจัดหารถส่วนกลางหรือรถประจำตำแหน่ง การจัดหาครุภัณฑ์สำนักงาน การศึกษาดูงาน เป็นต้น โดยให้กระทำได้เฉพาะโครงการหรือกิจการซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ในด้านการบริการชุมชนและสังคม กิจการที่เป็นการเพิ่มพูนรายได้ หรือกิจการที่จัดขึ้นเพื่อบำบัดความเดือดร้อนของประชาชน

& ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548 ข้อที่ 87 กำหนดว่า “ทุกวันสิ้นปีงบประมาณ เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ปิดบัญชีรายรับรายจ่ายแล้ว ให้กันยอดเงินสะสมประจำปีไว้ร้อยละยี่สิบห้าของทุกปี เพื่อเป็นทุนสำรองสะสม โดยที่ทุนสำรองเงินสะสมนี้ให้เพิ่มขึ้นร้อยละยี่สิบห้าของทุกปี”

สรุป มีรายรับสูงกว่ารายจ่าย ให้นำเงินจำนวนนั้นแยกเป็นทุนสำรองเงินสะสมร้อยละ 25 ส่วนที่เหลือก็เป็นเงินสะสม ในส่วนทุนสำรองเงินสะสมจะต้องสะสมให้มียอดรวมแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยไม่รวมเงินอุดหนุน

หมายเหตุ อปท. ไม่สามารถนำเงินของท้องถิ่นมาใช้ทั้งหมดเพราะเป็นเงินสะสมของท้องถิ่นสามารถใช้ได้บางส่วน ส่วนจะใช้ได้เท่าไรนั้นปัจจุบันกฎหมายไม่มีกำหนดไว้ว่าสัดส่วนอยู่ที่กี่เปอร์เซ็นแต่กระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างศึกษาว่านำมาใช้เท่าไรจึงจะไม่กระทบต่อฐานะของท้องถิ่น (สมศักดิ์ โชติรัตนศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, 7 กุมภาพันธ์ 2559)

[4]มหาดไทย แจ้ง อปท.”ขยายเวลาการซื้อ/จ้าง วงเงิน 5 แสนบาท”, 20 กันยายน 2559, http://www.thailocalmeet.com/index.php?topic=63087...

หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนมาก ที่ มท 0808.2/ว5347 เรื่อง การขยายระยะเวลากำหนดวงเงินวิธีการจัดหาพัสดุ โดยยกเว้นระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ลงวันที่ 20 กันยายน 2559

& ตามหนังสือเวียน ด่วนที่สุด ที่ กค (กวพ) 0421.3/ว 299 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2558 ได้ขยายวงเงินในการจัดหาพัสดุ และตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวพ) 0421.3/ว 145 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2559 เรื่อง การขยายระยะเวลากำหนดวงเงินวิธีการจัดหาพัสดุฯ โดยได้ขยายระยะเวลาออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2559

[5]การประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับร่างกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, 4 พฤษภาคม 2560, http://www.paoc.or.th/modules.php?m=newsupdate_pub...

ที่ประชุมมีมติให้ 3 สมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันยกร่างประมวลกฎหมายท้องถิ่น โดยให้ยึดร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา) เป็นหลักในการร่วมกันยกร่างประมวลกฎหมายท้องถิ่นครั้งนี้

[6]ร่าง พ.ร.บ.ประมวลกฎหมาย อปท. ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบจาก สปท. (22 สิงหาคม 2559), http://www.thailocalgov2013.com/law.php?id=1816

[7]คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 8/2560 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 54 ง วันที่ 21 กุมภาพันธ์ หน้า 109-110, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/...

[8]การประชุม ก กลาง (ก.จ. ก.ท. และ ก.อบต.) ครั้งที่ 3/2560 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2560

[9]Organizational commitment (ความผูกพันต่อองค์การ) V.S. Sense of belonging (ความรู้สึกความเป็นตัวตนหรือเจ้าของหรือความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของ) หากบุคคลใดทั้งในลักษณะกลุ่มคณะบุคคล หรือ บุคคล ที่ “ไม่มีความผูกพันต่อองค์การใด” แล้วไปกระทำการใดที่ตนเองมิได้มีความเกี่ยวข้องหรือไม่มีประโยชน์ได้เสียต่อองค์กรนั้น ย่อมขาด “ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของ” อาจทำให้องค์กรนั้นเสียหาย ด้วยเหตุแห่งความไม่ผูกพันกัน

หมายเลขบันทึก: 628606เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2017 00:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2017 21:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

1.ทุกการเปลี่ยนแปลงต้องระบุเหตุผลไว้ด้วยว่าประชาชนในท้องถิ่นจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง มีการวัดอย่างไร ประมวลผลอย่างไร ว่าประโยชน์นั้นมีกระบวนการจัดทำจริงอย่างต่อเนื่องทุกปี

2.การพัฒนาและสรรหาบุคคลากรใน อปท.ทุกตำแหน่งขาดความชัดเจนเรื่องคุณธรรม จริยธรรม คือไม่สามารถสร้างเครื่องมือวัดคนดี ที่เป็นคนเก่งได้ และไม่มีระดับใดเห็นความสำคัญของการพัฒนาและบำรุงรักษาคนดี จึงทำให้ราชการท้องถิ่นขับเคลื่อนไปบนผลประโยชน์ส่วนบุคคล มากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม

ธรรมโชติ ศรัทธาธรรรม

1.การบริหารท้องถิ่นต้องมีความอิสระภายใต้กรอบกฎหมาย แต่ที่ผ่านดูเหมือนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หรือกระทรวงมหาดไทย หรือคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ที่กำกับดูแลอปท.ไม่ได้ส่งเสริมและสนับสนุนเท่าที่ควร บางอย่างล้าช้าหรืออาจจะพูดได้ว่าละเลยในการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมาย หรือช่วยอุดช่องโหว่ของกฎหมาย ทำให้การปฏิบัติงานของอปท.ต้องตีความกันเอง เป็นช่องทางให้นักการเมืองหรือข้าราชการบางคนกระทำการทุจริตได้

2.คนเป็นทรัพยากรที่สำคัญและเป็นปัจจัยชี้ขาดในการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่น จำเป็นต้องมีระบบการคัดสรรที่เป็นธรรม เพื่อที่จะได้คนดี มีคุณธรรมเข้าสู่ระบบ


เหล้าเก่า..คงหมายความว่า..เหมือนเดิม..อย่างเคยๆ....ขวดใหม่..คงเปลี่ยนกระดาษ..เครื่องหมายชื่อผู้ผลิต...

( แปลว่า...เหล้าเก่ารึขวดใหม่..คนกิน กัน เมาเละ...มาตลอด..ถูกย้อมมอมเมา.

55555...แอบหัวเราะ. ค่อยๆ. ห้ามดัง....แม้จะแอบเมา..อิอิ)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท