การแก้ไขปัญหาการทะเบียนราษฎรเบื้องต้น


การแก้ไขปัญหาการทะเบียนราษฎรเบื้องต้น

17 เมษายน 2560

ห่างเหินไปนาน กลับมาเขียนบทความทางการทะเบียนกันต่อ ที่จริง ไม่ได้ห่างไปไหน เพียงแต่ไปเขียนบทความในด้านอื่น สาขา (fields) อื่น ได้แก่ ด้านการพัฒนาและการปกครองท้องถิ่น (Development & Local Government) และ ด้านกฎหมายปกครอง (Administrative Law) โดยไปเปิดกลุ่ม เปิดเพจในเฟซบุ๊ค (Face Book) [1]

เป็นปัญหาโลกแตก (ปัญหาที่แก้ไม่ตก จนกว่าโลกจะแตก? = Just a big problem) ของงาน “บริการ” (Public Service) ที่ประชาชนชาวบ้านทั่วไป ด้วยความไม่รู้ ไม่กล้า ไม่มีปากมีเสียง ยากจน “ผู้ด้อยโอกาส” ซึ่งเป็นบุคคลที่ด้อยโอกาสกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) [2] และให้การบริการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง

วิธีการแก้ไขปัญหามี 2 วิธี คือ

(1) การแก้ไขปัญหาแบบ "เชิงรับ" (reactive) กล่าวคือ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปวัน ๆ โดยการผัดผ่อน อ้างนั่นอ้างนี่ ซ้ำยังไปอ้างระเบียบที่ผิด ๆ ทำให้ขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อนขึ้น แทนที่จะง่าย ๆ ด้วยเจ้าหน้าที่ ไม่แม่นระเบียบ ไม่มีประสบการณ์ หรือเจ้าหน้าที่ ถูกสอนมาให้ “กลัวความผิดพลาด” ในการทำผิดระเบียบว่าจะ “ติดคุก” “ผิดวินัย” เจ้าหน้าที่จึงขาดความมั่นใจ เสียสละ และสุดท้ายไม่กล้าตัดสินใจ ... สุดท้ายผู้บังคับบัญชา ไม่รู้เรื่อง (ไม่รู้เรื่องราวที่เกิดขึ้น รวมถึงไม่รู้ระเบียบกฎหมายในระดับที่ชำนาญการ...) การแก้ไขปัญหาแบบนี้รังแก่จะยิ่งเกิดปัญหา ที่สะสมพอกพูนทับทวีขึ้นเรื่อย ๆ เรื่องมันเลยเป็นอย่างนี้

(2) การแก้ไขปัญหาแบบ “เชิงรุก” (proactive) ในการแก้ไขปัญหานี้ง่าย ๆ ด้วยการดำเนินการโดยความใส่ใจของเจ้าหน้าที่ใน 2 ระดับ (staff as executor) คือ ระดับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในระดับต่าง ๆ ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่เจ้าหน้าที่ผู้รับคำร้องเจ้าหน้าที่ทะเบียนเจ้าหน้าที่ปกครอง ผู้ช่วยนายทะเบียน ปลัดอำเภอ และ ระดับผู้บังคับบัญชา ได้แก่ ปลัดอำเภอ หน.ฝ่ายการทะเบียน นายอำเภอ ปลัดจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัด รวมไปถึงระดับนโยบาย ได้แก่ สำนักบริหารการทะเบียน หรือ สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง (ปค.) และ กระทรวงมหาดไทย (มท.)

ความใส่ใจแบบเชิงรุกมีมากมาย สำคัญว่า "เจ้าหน้าที่" ได้มีการทำกันหรือไม่ เพียงใด อาทิเช่น

(1) การสำรวจข้อมูลต่าง ๆ (all surveying, all data and information) ไว้ให้รอบด้าน [3] เช่น จำนวน คนในหมู่บ้านชุมชน คนเก่าดั้งเดิม คนมาใหม่ คนที่เกิดในพื้นที่ ต่างพื้นที่ คนที่เรียนหนังสือ ฯลฯ เป็นต้น รวมไปถึงประวัติส่วนตัวของบุคคล “เป้าหมาย” (targets) ต่าง ๆ ที่ควรมีไว้ เช่น คนร้าย อาชญากร (crime) คนที่น่าจะเป็นผู้กระทำผิด บุคคลลึกลับน่าสงสัย คนที่ยังไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน คนที่มีชื่อในทะเบียนบ้านที่ “ยังไม่มีสัญชาติไทย” โดยการแยกออกเป็นกลุ่ม ๆ เช่น กลุ่มเลข 0-00, 0-89 เลข 6 เลข 7 เลข 8 ... เป็นต้น ซึ่งงานนี้ จำเป็นอย่างยิ่งต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ มีความขยัน อดทน ใส่ใจ สุจริต เสียสละ ไม่หวังอามิจ สินจ้างรางวัล ฯลฯ....

(2) ในชุมชน หมู่บ้านที่ตั้งใหม่ ควรอย่างยิ่งที่ต้องมีประวัติการก่อตั้งชุมชน (historical background) ไว้อย่างละเอียด และ ประวัติคนก็ต้องละเอียด แต่ อาจเป็นข้อมูล “เชิงบอกเล่า” (พยานบอกเล่า : oral evidence) เพราะ เป็น “ผู้ย้ายอพยพมาอยู่ใหม่หรือมาทีหลัง” ผู้นำชุมชน (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน รวมไปจนถึงท่านผู้รู้ในหมู่บ้านฯ) และเจ้าหน้าที่อำเภอ เจ้าหน้าที่เทศบาล ก็ต้องมีระบบการสำรวจ เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนนี้ไว้ ได้แก่ การสำรวจชุมชนเพื่อจัดทำ “ผังหมู่บ้าน ผังชุมชน” [4] สำรวจโดยเป็นตัวแทนของชุมชนที่เลือกสรรแล้ว (Community Information Surveyor) [5]

(3) ควรมีการให้ความรู้แก่ประชาชน ในการเก็บรวมรวมหลักฐาน ข้อมูลเบื้องต้นก่อน เช่น “การจัดทำแผนภูมิครอบครัว หรือผังเครือญาติ หรือผังครอบครัว” (The Family Genogram, family tree, family pedigree, genealogic chart, family folder) [6] แล้ว มีการให้ความรู้ทางกฎหมายเบื้องต้นและกฎหมายการทะเบียนด้วย โดยเฉพาะแก่ เด็กนักเรียนที่เป็นเยาวชน ผู้ใฝ่รู้ ที่จะง่ายกว่าการไปให้ความรู้แก่คนกลุ่มอื่น เพื่อว่า จะได้เป็นการขยายผลได้ง่ายกว่า การไปให้ความรู้ทางกฎหมายแก่กลุ่มอื่น

(4) ควรมีข้อมูล “การทุจริตทางทะเบียน” ไว้เป็นแฟ้ม เก็บประวัติไว้ให้ดี ๆ อาจแยกเป็นเรื่อง หรือ เป็นรายบุคคล รายครอบครัว ... ก็ได้...เผื่อเจ้าหน้าที่คนย้ายมาใหม่จะได้ศึกษา หาทางป้องกัน แก้ไข มิใช่การปกปิด ซ่อนเร้นข้อมูลเจ้าหน้าที่ใครย้ายมาใหม่ก็ซวยไป คุณต้องมาศึกษาเอาใหม่ อย่างนี้จะแก้ปัญหาไม่ได้...

(5) การป้องกันการทุจริตที่จะเกิดขึ้นในทุกรูปแบบ เช่น การแสวงประโยชน์จากการขอเพิ่มชื่อ อาทิ การเรียกรับเงินโดยอ้างว่าเป็นค่าธรรมเนียม หรือค่าอำนวยความสะดวก หรือ “ค่าเซ็น” ด้วยจำนวนวงเงินที่สูง หรือ วงเงินไม่สูง แต่เรียกหลาย ๆ ครั้ง เช่น ครั้งละ 500 บาท 1000 บาท.... ไปจนถึง 5000-7000 บาท หรือ หมื่นบาท หรือ เกินกว่านี้... ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินใด ๆ การดำเนินการอื่นใดทางทะเบียน ไม่ว่า การแจ้งการเกิด การตาย การย้ายที่อยู่ การเพิ่มชื่อฯ การขอหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.20/1 หรือการขออนุญาตออกนอกเขตพื้นที่ควบคุม ฯลฯ เป็นต้น

(6) ที่สำคัญคือ ความเดือดร้อนที่จะเกิดแก่ ประชาชน ที่ต้องได้รับผลร้ายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ เช่น การไม่รับคำร้อง การปฏิเสธคำร้อง การไม่อนุมัติ มันเสมือนกับการตัดสินพิพากษาเขาไปตลอดทั้งชีวิตของเขา



[1] เป็น web blog วิชาการ gotoknow.org เริ่มมาตั้งแต่ 7 กันยายน 2550 (2007) แรก ๆ ก็เพื่อเข้าไปอ่านเรื่องบทความต่าง ๆ ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ ก็คือ บทความทางด้านการ “ทะเบียนราษฎร” ของ อ.แหวว (รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร) กับคณะจากคลินิกกฎหมายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “บางกอกคลินิก” ต่อมาก็เริ่มโพสต์บทความ ความรู้ทางด้านการทะเบียนราษฎร จาก “ประสบการณ์ตรง” ในฐานะที่เคยเป็นปลัดอำเภอ และ ปลัดเทศบาล รองปลัดเทศบาล มายาวนาน จนปัจจุบัน และปัจจุบันเวบเพจวิชาการนี้ก็ยังอยู่ และมีการโพสต์บทความ ความรู้ลงเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 เรื่อง โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ. 2557-2558 ผู้เขียนได้มีโอกาสไปปฏิบัติหน้าที่ “รัฐสภา” ในตำแหน่ง “ผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)209” ในคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น และ คณะกรรมกาธิการแรงงานและสวัสดิการสังคม

ดู กลุ่ม “การทะเบียนราษฎรและงานทะเบียนกรมการปกครอง” (สร้างกลุ่มเมื่อ 31 ธันวาคม 2557 โดย Phachern Tham), https://www.facebook.com/groups/326473924224367/

ซึ่ง Phachern Tham ได้เริ่มโพสต์แรกลง Face book มาตั้งแต่ 7 มิถุนายน 2553 (2010) เผยแพร่ข่าวสาร จิปาถะ เดิมในนามกลุ่มสาธารณะ “เครือข่ายวินัยข้าราชการส่วนท้องถิ่น จังหวัดนครราชสีมา” ปัจจุบันพัฒนาแตกขยาย กลุ่ม แยกเพจ ออก(ตามความถนัดเฉพาะทาง) ออกมาได้ประมาณ 6-7 กลุ่ม(เพจ)

[2] ดู แผนปฏิบัติการปฏิรูปประเทศไทย เพื่อสร้างสังคมแห่งความเป็นธรรม ด้วยการสร้างอนาคตของชาติด้านการพัฒนาคน เด็กและเยาวชน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2554

& ผู้ด้อยโอกาสคือใคร, สำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้ด้อยโอกาส, https://www.l3nr.org/posts/154172 & นิยามและการแบ่งกลุ่มของผู้ด้อยโอกาส, http://www.thaieditorial.com/กลุ่มของผู้ด้อยโอกาส/

ผู้ด้อยโอกาส หมายถึง ผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อน และได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข การเมือง กฎหมาย วัฒนธรรม ภัยธรรมชาติ และภัยสงคราม รวมถึงผู้ที่ขาดโอกาสที่จะเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ ตลอดจนผู้ประสบปัญหาที่ยังไม่มีองค์กรหลักรับผิดชอบ อันจะส่งผลให้ไม่สามารถดำรงชีวิตได้เท่าเทียมกับผู้อื่น แบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม (1) คนยากจน คือ คนที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายตามความต้องการขั้นต่ำ โดยในปี 2556 นี้กำหนดรายได้ขั้นต่ำไว้ที่ 2,422 บาทต่อเดือน หรือ 29,064 บาทต่อปี ซึ่งหากมีรายได้น้อยกว่านี้จะถือว่าเป็นคนยากจน (2) คนเร่ร่อน หรือไร้ที่อยู่อาศัย คือ คนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ขาดการได้รับการบริการขั้นพื้นฐานและขาดโอกาสในการได้รับการพัฒนาตัวเองในทุกๆ ด้าน (3) ผู้ที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร คือ บุคคลที่ไม่มีสัญชาติ หรือไม่มีกฎหมายของรัฐใดยอมให้สัญชาติ ซึ่งจะมีอยู่ 2 ประเภท คือ คนไร้สัญชาติที่มีสิทธิอาศัยในประเทศไทย และคนไร้สัญชาติที่ไม่มีสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศไทย (4) ผู้พ้นโทษ คือ ผู้ที่ได้รับการปลดปล่อยจากเรือนจำ ด้วยเหตุผลต่างๆ รวมไปถึงผู้ที่พ้นจากการคุมความประพฤติ และผู้พ้นจากการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด (5) ผู้ติดเชื้อ HIV คือ ผู้ที่ติดเชื้อและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากเอดส์ ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้ป่วยเอง พ่อ แม่ ลูก พี่ น้อง ตลอดไปจนถึงญาติของผู้ป่วยด้วย

[3] Wittaya Tanaree, การพัฒนาสุขภาพชุมชน, Public Health, Science and Technology Faculty, Rajabhat Chaingmai University, http://www.science.cmru.ac.th/sciblog_v2/blfile/102_s170415065627.pdf

การศึกษาชุมชน คือ การที่เข้าไปศึกษาชุมชนในด้านต่างๆทั้งทางกายภาพ ชีวภาพความเป็นอยู่ ระบบคิด การทำงาน ความสัมพันธ์ในด้านเศรษฐกิจการเมืองสังคมวัฒนธรรมตลอดจนปัญหาและปรากฏการณ์ ต่างๆที่เกิดขึ้นในชุมชนซึ่งเป็นกิจกรรมร่วมกันของนักพัฒนาและชุมชนเพื่อที่จะได้กำหนดและวางแผนเพื่อการพัฒนาชุมชนร่วมกัน

วิธีการและกระบวนการศึกษาชุมชน (1) การสังเกต (Observation) (2) การสัมภาษณ์ (Interview) (3) การสนทนากลุ่ม (Focus Group) (4) การใช้ข้อมูลเอกสาร (5) การเข้าสนาม (6) การศึกษาแบบผสมผสาน

[4] วิธีการสำรวจชุมชน, www.kruinter.com/file/15620150110114610-[kruinter.com].pdf

การสำรวจชุมชน หมายถึง การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะและสภาพต่างๆในชุมชน เพื่อ ... ช่วยให้ทราบลักษณะ และขอบเขตของปัญหาต่างๆที่มีอยู่ในชุมชนว่ามีอะไรบ้าง และ. แต่ละปัญหามีผลกระทบต่อประชาชนกลุ่มไหน อย่างไร

[5] เผด็จ จินดา, การสำรวจข้อมูลชุมชน, http://www.cinfo.co.th/images/download/Factsheet/SurveyerDocs.pdf

[6] นพ.กฤษณะ สุวรรณภูมิ, แผนภูมิครอบครัว (The Family Genogram), หน่วยเวชศาสตร์ครอบครัวและชุมชน ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, http://www.dlfp.in.th/upload/forum/genogram.pdf

& ดูใน การสร้างสุขภาพชุมชน (Healthy Community Development), http://www.phichitcdd.com/Knowledge02/Healthy%20CD/03.doc

เครื่องมือในการวินิจฉัยชุมชนพัฒนามาจากเครื่องมือของนักมานุษวิทยาที่ใช้ในการศึกษาชุมชนเชิงลึก แต่ปรับประยุกต์ให้เหมาะกับงานด้านสาธารณสุข มีทั้งหมด 7 ชิ้นด้วยกันคือ (1) แผนที่เดินดิน (2) ผังเครือญาติ (3) โครงสร้างองค์กรชุมชน (4) ระบบสุขภาพชุมชน (5) ปฏิทินชุมชน (6) ผังประวัติศาสตร์ชุมชน และ (7) ประวัติชีวิต

ผังเครือญาติ คือ การถอดความสัมพันธ์ในเชิงเครือญาติ หรือเชิงสายเลือดในชุมชนยังเครือญาติมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจชุมชนและสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมเมืองหรือสังคมชนบท เพราะเครือญาติเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นรากฐานที่สุดของชีวิตครอบครัว และจะมีความเกี่ยวข้องกันไปตลอดชีวิต โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพของสมาชิกในครอบครัว การทำผังเครือญาติจึงมีส่วนสำคัญในการทำความเข้าใจระบบความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชน



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท