วันครอบครัวไทย



วันครอบครัวไทย

ดร.ถวิล อรัญเวศ
รอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 4


ความเป็นมา

คนไทยสมัยก่อนจะอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ลักษณะเป็นครอบครัวขยาย ประกอบด้วย พ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติ รวมกันอยู่ในบริเวณบ้านเดียวกัน ความใหญ่เล็กของบ้านขึ้นอยู่กับจำนวนคนและต่อเติมขนาดของบ้านเรื่อยไปตามจำนวนคนที่เพิ่มขึ้น เมื่อถึงเทศกาลก็ทำข้าวของอาหารไปทำบุญที่วัดใกล้บ้านญาติพี่น้องจะเข้ามาร่วมมือช่วยเหลือกันข้าวของอาหารที่เหลือก็จะแบ่งปันแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านใกล้เคียง แต่ด้วยวิถีชีวิตของครอบครัวในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก สมาชิกในครอบครัวต่างต้องดิ้นรนทำมาหาเลี้ยงชีพ หนุ่มสาวที่อยู่ต่างจังหวัดก็เข้ามาในเมืองเพื่อหางานทำ ทำให้ต้องทิ้งพ่อแม่ที่ชราภาพไว้ตามลำพังก็มี พ่อแม่ที่ต้องทำงานหนักเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับลูก และครอบครัว ไม่มีเวลาสั่งสอนอบรมลูก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่จะสร้างปัญหาให้กับสังคมไทยเรา

ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2532 คณะรัฐมนตรี ซึ่งมีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็น นายกรัฐมนตรี ได้เสนอมติโดยคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้เสนอ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยและอนุมัติ ให้วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็น "วันครอบครัว" ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ของไทย เพราะโดยส่วนใหญ่ในวันนี้เป็นวันที่สมาชิกในครอบครัวมีโอกาสพบปะกันได้โดยสะดวก จึงให้ถือโอกาสเดียวกันนี้เป็นวันแห่งการรวมญาติ รวมครอบครัว ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบุพการี รดน้ำดำหัว ตลอดจนการขอพรผู้ใหญ่ตามประเพณีไทยที่เคยปฏิบัติกันมา

ครอบครัว

ครอบครัว ถือว่าเป็นสถาบันสังคมหน่วยย่อยที่สุดและสำคัญที่สุดของสังคมมนุษย์ เพราะเป็นสถาบันครอบครัว ซึ่งอย่างน้อยมีพ่อมีแม่ ที่มีหน้าที่ปลูกฝังวิถีการดำเนินชีวิต คอยกำหนดสถานภาพ สิทธิ และหน้าที่เบื้องต้นของบุคคล รวมไปถึงการสอนให้รู้ถึงหน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อคนอื่นในสังคมว่าจะดำรงตนอย่างไรจึงจะทำให้ครอบครัวอบอุ่น มั่นคง

วัตถุประสงค์

การกำหนดวันครอบครัวขึ้นมานั้นก็เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัว โดยเมื่อ วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2532 คณะรัฐมนตรี ซึ่งมีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เสนอมติโดยคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้เสนอ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยและอนุมัติ ให้ วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็นวันแห่งครอบครัว ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ของไทย เพราะโดยส่วนใหญ่ในวันนี้เป็นวันที่สมาชิกในครอบครัวมีโอกาสพบปะกันได้โดย สะดวก

การที่ทางราชการกำหนดวันครอบครัวขึ้นมานั้น เนื่องจากคณะกรรมมาธิการกิจการสตรีและเยาวชน สภาผู้แทนราษฎร ได้สรุปผลจากการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ว่าปัญหาครอบครัวเป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ตามมาเป็นอันมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติดอาชญากรรม และปัญหาต่าง ๆ อีกมากมาย ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากครอบครัวด้วย เนื่องจากครอบครัว ที่ไม่มีความอบอุ่น ขัดแย้ง ความไม่เข้าใจกันระหว่างคนในครอบครัว ลักษณะวิถีชีวิตของครอบครัวในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก สมาชิกในครอบครัวต่างต้องดิ้นรนทำมาหาเลี้ยงชีพ หนุ่มสาวที่อยู่ต่างจังหวัดก็เข้ามาในเมืองเพื่อหางานทำ ทำให้ต้องทิ้งพ่อแม่ที่ชราภาพไว้ตามลำพัง พ่อแม่ที่ต้องทำงานหนักเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับลูก และครอบครัว ไม่มีเวลาสั่งสอนอบรมลูก สิ่งเหล่านี้ล้วน แต่จะสร้างปัญหาให้กับสังคม

ความสำคัญของวันครอบครัว

ครอบครัว ถือว่าเป็นสถาบันมูลฐานของมนุษย์ชาติ เป็นหน่วยขนาดเล็กที่สุดของสังคม เป็นผู้สร้างและกำหนดสถานภาพ สิทธิ หน้าที่ของบุคคลอันพึงปฏิบัติต่อกันในสังคม เป็น สถาบันแห่งแรกในการถ่ายทอดวัฒนธรรมและพัฒนา บุคคลในครัวเรือน คือ สามี ภรรยา และบุตร การที่ทางราชการกำหนดวันครอบครัวขึ้นมานั้น ก็เพื่อต้องการให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัวให้มากขึ้น เพราะการที่วิถีชีวิตของคนในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป ย่อมทำให้ครอบครัวมีความขัดแย้ง และห่างเหินกันมากขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมาทีหลังได้

ความหมายของสถาบันครอบครัว

ความหมายทั่วไป

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายของคำว่า

"ครอบครัว" ไว้ว่า สถาบันพื้นฐานของสังคมที่ประกอบด้วยสามี ภรรยาและหมายความรวมถึงบุตรด้วย

ความหมายตามแนวพุทธศาสตร์

ครอบครัวตามแนวพุทธศาสตร์ ไม่มีการกำหนดตายตัว แต่กล่าวถึงลักษณะอันเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของสมาชิกในครอบครัวเท่านั้น ในทางพุทธศาสนาจะกล่าวถึงครอบครัวในรูปของสามีภรรยา บิดา มารดา เท่านั้น ซึ่งถือว่า มารดา บิดาก็ดี สามี ภรรยาก็ดี เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของครอบครัว

ความหมายในมิติสถาบัน

ครอบครัว หมายถึง การอยู่ร่วมกันของชายหญิง ในรูปของสามี ภรรยา มีหน้าที่ให้กำเนิดบุตรและเลี้ยงดูบุตร เพื่อให้สามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมได้ สมาชิกในครอบครัวมีการแสดงออกทางพฤติกรรมต่อกันและกัน ในรูปของการปฏิบัติตามสถานภาพและบทบาทอันเป็นหน้าที่ของสมาชิก

บทบาทหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวที่พึงปฏิบัติต่อกัน

1. ให้ความรัก ความอบอุ่นและความเอื้ออาทรต่อกัน

2. หันหน้าเข้าหากันและยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน

3. ช่วยเหลือ ดูแล เกื้อกูล ซึ่งกันและกัน

4. ดูแลเอาใจใส่และให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น

5. รู้จักวางแผนการใช้จ่ายอย่างประหยัด/ไม่ฟุ่มเฟือย

6. รู้จักให้อภัยซึ่งกันและกัน

7. ปฏิบัติกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวรวมกันเช่น การเข้าวัดอบรมปฏิบัติ

ธรรมะสำหรับครอบครัว

ควรนำหลักฆราวาสธรรม หรือธรรมะสำหรับผู้ครองเรือนมาเป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติ คือ

1. สัจจะ ซื่อสัตย์ต่อกันและกัน เพราะความซื่อสัตย์ต่อกันจะทำให้ไว้วางใจกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง

2. ทมะ รู้ข่มใจไว้เวลาโกรธหรือมีอารมณ์ไม่ดีมากระทบกระทั่ง

3. ขันติ อดทนอดกลั้น ต่อความยากลำบาก ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจและการที่ต้องดูแลซึ่งกันและกัน

4. จาคะ รู้จักเสียสละและให้อภัยแก่กันและกันได้ เพราะเมื่ออีกฝ่ายได้หลงผิดประพฤติในสิ่งที่ไม่ดีไม่งามเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ดี เพราะสภาพแวดล้อมนำไปก็ดีหรือด้วยการที่ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ในขณะนั้นก็ดี หรือด้วยการหลงผิดเข้าใจผิดก็ดีจนทำให้มีผลกระทบต่อครอบครัวก็มาปรับความเข้าใจกัน และสามารถให้อภัยแก่กันและกันได้ นี้คือหัวใจสำคัญของการดำเนินชีวิตในครอบครัว

ครอบครัวอบอุ่นด้วย 5 อ.

ควรใช้หลัก 5 อ. เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต คือ

อ.ที่ 1 อดทน อดกลั้น อดออม

ความอดทนเป็นบันไดขั้นต้นของการอยู่ร่วมกัน การอดทนต่อความยากลำบากต่าง ๆ ในครอบครัว คือการอดกลั้นต่อสิ่งที่มากระทบจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือกิเลสที่มากระตุ้นเราให้ลุ่มหลง และให้รู้จักอดออมเงินทองที่หามาได้แบ่งไว้ใช้เป็นสัดส่วน ส่วนที่หนึ่งไว้ ใช้จ่ายในครอบครัว ส่วนที่สองสำหรับการศึกษาของบุตร สวนที่สามสำหรับค่ารักษาพยาบาล เมื่อยามเจ็บไข้ ส่วนที่สี่บริจาคทานทำบุญสร้างกุศลไว้เป็นเสบียง เมื่อยามจะจากโลกนี้ไป แล้วอีกส่วนหนึ่ง เก็บออมไว้ใช้เมื่อยามแก่เฒ่าชราซึ่งเป็นวัยที่ไม่สามารถทำงานได้ปกติ

อ. ที่ 2 อารมณ์ไม่ดี

เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีอารมณ์ไม่ดีเพราะได้รับสิ่งกวนใจจากภายนอกหรือสิ่งใดก็แล้วแต่ ก็สามารถข่มใจไม่โกรธ ไม่โต้ตอบได้กันและกัน หรือรู้จักปรับความเข้าใจกันได้ยอมกันได้ ไม่ติดใจในเรื่องที่ไม่ดีนั้น

อ. ที่ 3 เอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน

สมาชิกครอบครัว ต้องร่วมด้วยช่วยเหลือซึ่งกันในงานของครัวเรือนไม่ควรคิดว่า นั้นไม่ใช่เรื่องของฉัน นั้นไม่ใช่หน้าที่ของฉัน ฉันไม่เกี่ยว เช่น คุณแม่ซักผ้า ถูบ้าน ลูกล้างจาน คุณพ่อหาเงินมาใช้จ่ายในครัวเรือน อย่าคิดว่าเป็นงานของใครคนใดคนหนึ่ง

อ. ที่ 4 อารมณ์ผ่อนคลายและคลายเครียด

สมาชิกครอบครัว ควรฝึกให้เป็นผู้มีอารมณ์ผ่อนคลาย รู้จักละวางเสียได้ในในบางโอกาส ดังคำที่พระสอนว่า “ทุกข์อยู่ที่ถือ สุขอยู่ที่การรู้จักปล่อยวาง” มีการไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจบ้างตามสมควร

อ.ที่ 5 คืออภัยให้กันและกันได้

ถือว่าเป็นที่สุดและที่สุดของ 4 ข้อที่กล่าวมา เพราะครอบครัวที่ล่มสลายมีท่านผู้รู้และเชี่ยวชาญในด้านนี้กล่าวไว้ว่า คือไม่สามารถให้อภัยกันได้ ตายไปคนละข้างเลยก็ว่าได้ อ่อนไม่ได้แล้ว งอไม่ได้แล้ว อภัยไม่ได้แล้ว ต้องไม่มีวันยอม ประหนึ่ง บุญไม่ต้องทดแทน และเมื่อแค้นต้องชำระ ทำนองนั้น

สรุป

สถาบันครอบครัว ถือว่าเป็นสถาบันเล็กของสังคม แต่ส่งผลกระทบต่อสถาบันใหญ่ทางสังคมในภาพรวม ครอบครัวที่อบอุ่น สมาชิกเข้าอกเข้าใจกัน รู้บทบาทหน้าที่ในครอบครัว ช่วยเหลือกันและกัน ให้อภัยแก่กันและกันได้ จะทำให้ครอบครัวเป็นปึกแผ่น มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยเฉพาะหลักธรรม คือซื่อสัตย์จริงใจต่อกันข่มจิตข่มใจไว้ได้ในยามเผชิญวิกฤติของครอบครัว อดทน อดกลั้นได้ และเสียสละให้อภัยแก่กันและกันได้ ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้ครอบครัวมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนได้ขึ้นอยู่กับทุกฝ่ายในครัวเรือน โดยเฉพาะแม่บ้าน ซึ่งเป็นผู้คอยดูแลเอาใจใส่และประสานคนในครัวเรือนให้เข้าอกเข้าใจกันได้ และให้ทำบทบาทหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดนั้นเอง


แหล่งข้อมูล (เพิ่มเติม) :

https://hilight.kapook.com/view/84557

http://www.tlcthai.com/education/history-of-thailand/4457.html

http://guru.sanook.com/5933/

http://www.thairath.co.th/content/254160

http://www.lib.ru.ac.th/journal/apr/apr14-FamilyDay.html






































หมายเลขบันทึก: 627502เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2017 12:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2017 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท