​ชีวิตที่พอเพียง : 2895. นวัตกรรมว่าด้วยนักศึกษา



ในการประชุมคณะกรรมการบริการสถาบันคลังสมอง เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๐มีการนำเสนอแนวคิด “โครงการสร้างความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่ด้วยนวัตกรรม เพื่อการพึ่งพาตนเอง ร่วมกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานสังคมชุมชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”


ผมมองว่าเป็นการนำนวัตกรรมเข้าไปในมหาวิทยาลัยในพื้นที่ และในขณะเดียวกันก็นำเอานวัตกรรมเข้าไปในการทำมาหากินและดำรงชีวิตของคนในชุมชน


ในมุมมองของผม นวัตกรรมในมหาวิทยาลัย ไม่มีสิ่งใดสำคัญ ยอดเยี่ยม และสร้างสรรค์ เท่ากับนวัตกรรมด้านนักศึกษา คือตีความความหมายของนักศึกษาเสียใหม่ จากมองว่า เป็นผู้เข้ามาเรียนเพื่อซึมซับหรือรับถ่ายทอดความรู้ตามแต่อาจารย์จะถ่ายทอดให้ เปลี่ยนเป็นมองว่า เป็นผู้เข้ามาร่วมทำงานสร้างสรรค์เพื่อสร้างความรู้ใส่ตน และสั่งสมทักษะต่างๆ เอาไว้ใช้ในอนาคต โดยที่นักศึกษาเลือกเรียนตามแรงบันดาลใจ หรือตามความใฝ่ฝันของตน นักศึกษาไม่ใช่ผู้รับถ่ายทอดความรู้ตามแต่อาจารย์จะให้ แต่เป็นผู้เลือกเข้าเรียนเพื่อเรียนรู้ตามที่ตนต้องการ


นวัตกรรมในเรื่องนักศึกษาดังกล่าวในย่อหน้าบนไม่มีทางทำได้สำเร็จ หากโรงเรียนระดับประถมมัธยมยังสอนกันอย่างในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยในพื้นที่จึงต้องเข้าไปร่วมมือกับโรงเรียน อปท. คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองนักเรียน ผู้นำชุมชน และกลไกของกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนรู้ให้เป็นแบบเรียนสร้างความรู้ใส่ตัว (active learning) เช่น ตามแนวของ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา และโรงเรียนในเครือข่าย ตามแนวของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา และโรงเรียนอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง เพื่อให้นักเรียนที่จบ ม. ปลาย มาเข้ามหาวิทยาลัย เป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเอง และมีเป้าหมายในชีวิต ตาม Chickering’s Seven Vectors of Identity Development


นวัตกรรมการเรียนรู้ในการศึกษาระดับพื้นฐาน คือการเรียนเพื่อพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ โดยทีมนักเรียนและครูร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อตอบโจทย์ที่กำหนด เพื่อการเรียนรู้ของนักเรียน และของครู โดยที่โจทย์มาจากวิถีชีวิตและการทำมาหากินของชาวบ้านในพื้นที่นั้นเอง การเรียนแบบนี้จะทำให้นักเรียนรู้จักคิด และพัฒนาเอกลักษณ์ตัวตนของตนเอง และที่สำคัญยิ่งคือพัฒนาเป้าหมายชีวิต เมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัยก็พร้อมที่จะเรียนแบบทำงานสร้างสรรค์ ที่จะช่วยมีส่วนพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่หรือชุมชนได้



วิจารณ์ พานิช

๒๖ มี.ค. ๖๐


หมายเลขบันทึก: 627497เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2017 00:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2017 00:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท