ค่ายธรรมะเยียวยาครอบครัวสูญเสีย ตอนที่ 3


ถอดบทเรียน บันทึกงานค่าย ตอนต่อไปนะคะ เป็นกิจกรรม วันที่ 6 เมษายน วันที่ 3 ของการจัดกิจกรรมค่าย ทุกคนตื่นแต่เช้า ตามปกติ คือตี 4 และมาทำวัตรเช้าพร้อมพระอาจารย์ และฟังธรรมะ วันนี้ท่านก็เทศสอนเรื่องการสูญเสียและการปล่อยวาง ในอีกแง่มุมหนึ่ง ท่านเล่าเรื่องนักเรียนถูกตัด คะแนน น้องยุ้ยนักเรียนคนหนึ่ง บอกว่า “ครูตัดคะแนนฉันได้แต่ครูเอาความรู้จากฉันไม่ได้” ข้อคิดนี้คือ สอนในเรื่อง ทรัพย์ ของนอกกาย “คุณจะเอาเงินฉันไป ได้ เอาข้าวของฉันไปได้ แต่ไม่มีใครเอาความสุข จากฉันไปไม่ได้” จริงๆ ไม่มีใครเอาความสุขเราไปได้ แต่คนส่วนใหญ่มักจะปล่อยให้ความสุขหลุดลอย เสียทั้งเงิน เสียทั้งความสุข เปรียบเรามีเศษแก้ว อยู่ในมือถ้าเราไม่บีบหรือกำ มันจะเป็นอะไรมั๊ย


ความสุขที่พูดถึงคือความสุขที่เกิดจากการปล่อยวาง ไม่ยอมปล่อย ยอมวาง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เสียสุขภาพ คือป่วย ทำงานก็ไม่มีสมาธิ งานก็เสียด้วยเสียความสุขนี่คือการซ้ำเติมตัวเอง ความสูญเสียพลัดพรากเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วอย่าให้มันเสียมากกว่านั้น คนที่ป่วยกาย แต่ก็ใจยังเป็นสุขก็มี เค้าฉลาดถ้าจะเสียก็ขอให้เสียอย่างเดียว ป่วยมะเร็ง ก็แค่เสียสุขภาพไป แต่อย่า เอาความสุขไป บางคนมีความสุขมากกว่า ตอนที่ไม่ป่วยเสียอีก ยกตัวอย่างผู้หญิงคนหนึ่งสูญเสียสามี เศร้าโศก โกรธหมอ โกรธโรงพยาบาล ยังจัดอาหารให้สามีกิน ทุกเช้าจะโทรหาสามี ไม่ยอมรับว่าสามีจากไปแล้ว หมกมุ่น ไม่สนใจลูกสาววัยรุ่น ลูกสาวขาดที่พึ่งต่อไปอาจจะไม่เพียงแต่สูญเสียสามี อาจต้องสูญเสียลูกสาว ลูกอาจ หาทางออกทางอื่น นี่เค้าว่าไม่รักษาใจ ซ้ำเติมตัวเอง เพราะไม่ยอมรับความจริง ความสูญเสียพลัดพราก สิ่งไม่รัก ไม่ชอบ ไม่อยากให้เกิด แต่เราควบคุมไม่ได้ เหมือนเราสวดมนต์ วันก่อน เราจะหนีจากความแก่ ไปไม่ได้ เราจะหนีจากความตายไม่ได้ โลกนี้มีสองด้านทั้งสุขและทุกข์ เจอและจาก พบและพรากของคู่กัน จะเอาแต่สุขไม่เอาทุกข์ เอาเจอแต่ไม่เอาจากเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องรู้จักวางใจให้ถูก





หลังฟังเทศน์จบก็แยกย้ายกันไปทำกิจ ส่วนหนึ่งทำครัวและส่วนหนึ่งตามบิณฑบาต และ กลับมารวมตัวถวายจังหันเช้าและทานข้าว กิจกรรมแรกของเช้านี้ เป็นกิจกรรมเรียนภาวนากับพระอาจารย์ เอ็ม จนถึงเที่ยง





และกิจกรรมช่วงบ่ายถือเป็น high light คือกิจกรรมคลี่คลายปม “จดหมายจากแดนไกล”

โดยให้ทุกคน เลือกมุมส่วนตัวในการเขียนจดหมายถึง
ให้เขียนจดหมายถึงคนที่เรารักที่ได้เสียชีวิตแล้ว โดยเนื้อความในจดหมายให้เขียนดังนี้
1. บอกสิ่งที่อยากจะบอกแล้วยังไม่ได้บอกกับผู้ที่จากไป บอกรักเป็นต้น
2. กล่าวขอบคุณในสิ่งที่อยากขอบคุณชื่นชมมิตรภาพที่ดีระหว่างเรา
3. ขอโทษหากได้ทำผิดต่อและให้อภัยหากผู้จากไปทำผิดต่อเรา
4. เขียนบางสิ่งบางอย่างที่อยากจะบอกเปิดเผยสิ่งสำคัญหรือเล่าเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นหลังจากเขาจากไป
5. กล่าวคำอำลาท้ายจดหมาย
6. เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้างในช่วงเวลหลังผู้จากไปไม่อยู่แล้ว เล่าให้ฟัง 7. อื่นๆ ที่อยากจะบอกได้อย่างอิสระ







ขณะเขียนอาจมีอารมณ์ความรู้สึกเกิดขึ้น เช่น เศร้า โกรธ ก็สามารถ เปิดอารมณ์ได้เต็มที่
เมื่อทุกคนเขียนเสร็จแล้ว ให้จับคู่อ่านจดหมายให้กันฟัง ยกตัวอย่างจดหมายจากแม่ตุ้ม(นามสมมุติ) (เสียลูกสาว)กับพี่แวว (นามสมมุติ) เสียคุณแม่ขณะเขียนไม่เศร้าเท่าไหร่แต่พออ่าน เศร้า แล้วก็ร้องไห้ เพราะสะดุดตรงที่ “การที่เราไม่ได้บอกความจริงกับลูก
ถูกตำหนิ อ้าวยังไม่ได้บอกลูกเหรอ ลูกอยู่กับความหวัง ลูกคิดว่าลูกต้องหาย เราสร้างความหวังในทางที่ผิดให้กับลูกหรือเปล่า ตอนนี้มันก็ยังติดค้าง ลูก ตามองไม่เห็น ก็ยังดึงตาลูกขึ้นมาอ่านข้อความที่พ่อเขียนตัวใหญ่ว่า “ สายป่านอยู่โรงพยาบาลแล้ว สายป่านหายแล้วนะ” ส่วนพี่แวว ก็ไม่ได้บอกแม่เลยว่าเป็นมะเร็งบอกแค่ว่าเป็นก้อน แว๊ปขึ้นมาว่า “เราบาปหรือเปล่า บางทีก็คิดว่าเราบริสุทธิ์ใจ รู้สึกผิด ในใจ” แต่ย้อนเวลาไปได้ก็เลือกที่จะไม่บอกอยู่ดีให้เค้าไปแบบไม่รู้เลย ดีกว่า จนกระทั่ง ตัวอย่างเนื้อความในจดหมาย จากแดนไกลจากแม่ต๊ะถึงน้องสายป่าน

“ที่อยู่ที่บ้าน 6 เมษายน สองพันห้าร้อยหกสิบ”
สวัสดีค่ะน้องสายป่าน แม่อยากบอกว่าแม่รักลูกมาก สายป่านสบายดีใช่มั๊ยลูก แม่หวังว่า สายป่านคงสุขสบายนะลูกนะ สายป่านคงหายจากการเจ็บปวดทรมานแล้ว สายป่านคงเป็นนางฟ้าอยู่บนสวรรค์แล้ว แม่เสียใจมากที่ สายป่านจากมา พ่อ พี่สายฟ้า ทุกคนก็เสียใจมาก แต่การจากมาของหนู ทำให้ หนูหายจากความทรมาน ทุกคนก็ต้องยอมรับ ตอนนี้พ่อยังคิดถึงสายป่านมากนะแต่ สายป่านไม่ต้องห่วงพ่อนะลูกแม่กับน้องจะดูแลพ่อเองแม่อยากขอโทษ สายป่านเรื่องหนึ่งที่แม่และทุกคนปิดบังสายป่านมาตลอดว่า สายป่านเป็นมะเร็งระยะที่เท่าไหร่ทั้งที่ ป่านพยายามถามตลอดเวลา แต่พวกเราก็โกหก ป่านว่าเป็นมะเร็งเฉยๆไม่มีระยะ มะเร็งของ สายป่านรักษาหายนะลูก เป็นการสร้างความหวังโดยที่ลูกไม่รู้อะไรเลย ลูกอาจจะอยู่กับความหวังว่าจะหาย ลูกไม่ได้อยู่กับโรคและยอมรับมันได้ แต่ลูกอยู่กับการโกหกและปิดบังของพ่อแม่ ทุกคนไม่อยากให้ สายป่านเสียใจไปมากกว่านี้ ทุกคนทำดีที่สุดแล้ว คุณหมอทีมงานทำดีที่สุดแล้ว สายป่านอย่าโกรธพ่อแม่นะลูก ชาติหน้ามีจริงขอให้เราได้เกิดเป็นครอบครัวเดียวกันอีกนะลูก แม่มาเข้าโครงการธรรมะเยียวยาที่วัดป่ามหาวัน อำเภอภูเขียวจังหวัดชัยภูมิวันที่ 4-7 เมษายน แม่ขอบุญกุศลที่แม่ได้ทำจงดลบันดาลให้ สายป่านมีความสุข ยิ่งๆขึ้นไป พรุ่งนี้สายฟ้า (น้องชายสายป่าน )จะคัดเลือกทหาร เป็นกำลังใจให้น้อง นะลูกนะ สุดท้ายนี้แม่อยากบอกลูกว่าสายป่านอย่าได้ห่วงพวกเราทุกคน ให้จากมาอย่างสบายใจนะลูก อย่าได้ทุกข์โศก อย่าได้ห่วงใยกัน มีความสุขบนสวรรค์ เป็นคุณครูที่แสนดีอยู่บนสวรรค์
รักลูกมาก แม่ " ยินดีที่จะอ่านจดหมายแบ่งปันให้กลุ่มฟัง


สะท้อนบทเรียน(After Action Review) หลังกิจกรรมจดหมาย

1. ขณะเขียน ไม่ร้อง แต่อ่านเสียงดังแล้วร้อง และคู่ อ่านเราก็ร้องตามต่างก็มีอะไรที่เหมือนกันจึงเข้าใจกัน เราจะไประบายอย่างนี้ให้คนอื่นฟังเค้าก็คงไม่เข้าใจ ไม่ลึกซึ้ง แต่พื้นที่นี้ ปลอดภัย อบอุ่น กล้าที่จะเล่า 2. อยู่คนเดียวเครียดคนเดียว ร้องไห้คนเดียว 3.ดีที่ เพื่อนที่นั่งฟังก็สูญเสียเหมือนกัน 4. แทรกบทเรียนวิธีการเยียวยาตัวเอง การร้องไห้ หรือเขียนจดหมายสามารถนำไปใช้ได้
5. ได้บทเรียนเรื่องการบอกความจริง
การบอกความจริง ขอให้ดูคนไข้ว่ารับได้ อยากให้ถามญาติก่อน
สะท้อนว่าถ้าเป็นเราเอง เราอยากรู้ ว่าเป็นมะเร็ง และป่วยระยะสุดท้าย ทุกคนในกลุ่ม อยากรู้ และ ในกรณี ที่ไม่ได้บอกความจริงกับคนจากไป ย้อนเวลากลับไปก็ยังยืนยันว่า จะไม่บอก
บทเรียนรู้นี้สอนในเรื่องการบอก ความจริงกับคนไข้ บอกหรือไม่บอกอยู่ที่เจตนาว่าส่วนใหญ่เหตุผลหลัก เพื่อปกป้องไม่ให้คนที่เรารัก เจ็บปวดจากการฟังข่าวร้าย บอกแล้วจะเกิดผลดีหรือเสีย อย่างไร
ครอบครัวที่มา สะท้อนว่า จริงๆ แล้วรู้สึกผิด รู้สึกกลัวว่าจะเป็นบาป แต่ก็ยังคงต้องการเยียวยาคนที่เรารักไม่ให้เค้าเจ็บปวด โดยขอเลือกที่จะเจ็บเองคือเจ็บยาวมาจนหลังสูญเสีย และติดค้างแต่ก็ยอม






หมายเลขบันทึก: 627500เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2017 07:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2017 20:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พื้นที่ปลอดภัย ความจริง การยอมเจ็บแทน

น้องกุ้งมีช่วงที่ให้เขาสะท้อนใช่มั้ย อยากรู้ว่า อะไรน่าจะเป็น key success ของการเยียวยาให้เขาได้ครับ

กุ้งพึ่งเห็นที่อาจารย์เต็มเข้ามา   key sucess ของการเยียวยานะคะ

 1. มาเจอคนที่สูญเสียเหมือนกัน 

2. การได้ออกมาจากสิ่งแวดล้อมที่เคยดูแลคนป่วยพอเค้าเสียชีวิต มันเหมือนได้โบยบิน ออกไปมองสิ่งอื่นๆรอบตัว ที่ สวยงามกว่า ที่ เคย พบเจอในช่วงทุกข์ๆ 

 3. พิธีกรรมของพระอาจารย์ไพศาล  การปลดเปลื้องสิ่งค้างคาใจ ได้ขอขมา และท่าน สวดชยันโต  ให้ ขอบิณฑบาตรความเลวร้ายต่างๆ  อันนี้กุ้งคิดว่าคือ  key  success 

อีกอย่าง การมา เรียนรู้ coping  skill จากคนอื่น ได้แชร์ ความทุกข์จากการสูญเสีย

  เปิด พื้นที่ ให้ เปิดเผยความรู้สึก ในวง ของ คนที่ ทุกข์เหมือนกัน   

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท