เก็บตกวิทยากร (36) : บอกย้ำหมุดหมายการเรียนรู้ผ่านสื่อสร้างสรรค์ (ยึดโยงอดีตสู่ปัจจุบันและอนาคต)


การอธิบายให้รู้ว่าเวทีครั้งนี้มีหมุดหมายการเรียนรู้หลักเกี่ยวกับอะไรบ้าง ผมไม่ได้เจาะจงแต่เฉพาะการบอกเล่าผ่านไมโครโฟนเท่านั้น ทว่ายังหยิบเอาคลิป หรือวีดีทัศน์เก่าๆ ของปีที่แล้วมาให้นิสิตได้ดูได้ชมร่วมกัน เพื่อตอกย้ำให้รู้ว่าเวทีวันนี้เกี่ยวโยงกับอดีตอย่างไร ผูกพันอยู่กับปัจจุบันอย่างไร และจะสัมพันธ์กับการก้าวเดินในภายภาคหน้าอย่างไร

การเป็นกระบวนกรจัดการเรียนรูู้ในวันที่ 25 มีนาคม 2560 ที่ว่าด้วยการ "เยี่ยมค่าย-มอบค่าย" หลักๆ แล้วก็คือการประชุมเชิงปฏิบัติการที่ว่าด้วยเรื่องการทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางของการออกค่ายอาสาพัฒนาและการจัดกิจกรรมนอกสถานที่ ซึ่งเดิมมักจัดขึ้นในช่วงปิดภาคเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนพฤษภาคม ที่กำลังย่างกรายมาถึง


หลายปีที่ผ่านมา มักจัดเวทีทำนองนี้หลังสอบปลายภาค อันหมายถึงกลางเดือนพฤษภาคมนั่นแหละ แต่เมื่อวิเคราะห์ย้อนหลังแล้วเราตระหนักว่าการจัดในห้วงเช่นนั้นดูจะไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนิสิตนัก เพราะส่วนใหญ่ได้ออกแบบกิจกรรมไว้หมดแล้ว อีกทั้งเป็นช่วงที่หลายองค์กรก็กำลังเดินทางไปค่ายอาสาฯ กันแทบทั้งสิ้น จึงมักไม่มีคนเข้าร่วมเวทีนี้เท่าที่ควร ถึงจะมีมาบ้าง คนเหล่านั้นก็ไม่ใช่ "ตัวจริง-เสียงจริง"


นั่นจึงเป็นมูลเหตุหลักที่ผมตัดสินใจพลิกห้วงเวลามาจัดล่วงหน้าเป็นเดือนสองเดือนเฉกเช่นนี้ ---




ในทางกระบวนการชี้แจงต่อผู้เข้าร่วมเวทีถึงที่มาที่ไปของการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ทั้งผมและพิธีกร ได้อธิบายตั้งแต่ก่อนพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ รวมถึงการอธิบายเป็นระยะๆ ในห้วงเวลาต่างๆ เช่น ก่อน BAR ก็อธิบาย หลังพิธีเปิดผมก็จับไมค์สื่อสารอีกรอบ ด้วยหวังว่านิสิต หรือผู้นำองค์กรนิสิตจะเข้าใจว่ากิจกรรมวันนี้ หรือเวทีวันนี้คืออะไร ---


การอธิบายให้รู้ว่าเวทีครั้งนี้มีหมุดหมายการเรียนรู้หลักเกี่ยวกับอะไรบ้าง ผมไม่ได้เจาะจงแต่เฉพาะการบอกเล่าผ่านไมโครโฟนเท่านั้น ทว่ายังหยิบเอาคลิป หรือวีดีทัศน์เก่าๆ ของปีที่แล้วมาให้นิสิตได้ดูได้ชมร่วมกัน เพื่อตอกย้ำให้รู้ว่าเวทีวันนี้เกี่ยวโยงกับอดีตอย่างไร ผูกพันอยู่กับปัจจุบันอย่างไร และสัมพันธ์กับการก้าวเดินในภายภาคหน้าอย่างไร


สื่อที่ว่านั้น ก็คือ เยี่ยมค่าย ซึ่งเป็นชุดที่เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ในการไปเยี่ยมค่าย (ไปเยี่ยมยามถามข่าว) ไปให้กำลังใจ ไปประเมินงาน หรือหนุนเสริมการทำงานนั่นแหละ โดยมีการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งนิสิตชาวค่าย และชุมชนมาสร้างสรรค์เป็นสื่อสร้างสรรค์ เพื่อเรียนรู้ร่วมกันอีกรอบ




ผมเชื่อเองว่า การใช้สื่อเช่นนั้นจะช่วยให้นิสิตเข้าใจเจตนารมณ์ของเรามากขึ้น เป็นการเข้าใจพร้อมๆ กับการมีแรงบันดาลใจและสมาธิที่จะเรียนรู้ร่วมกันในวันนี้ ผูกโยงถึงการมีแรงใจบางอย่างในการที่จะออกเดินทางสู่การเรียนรู้คู่บริการต่อสังคมในภายภาคหน้าผ่านวิถีค่ายอาสาพัฒนา หรืกิจกรรมนอกหลักสูตร


นอกจากนั้น ผมยังอาจคาดหวังเล็กๆ ว่า สื่อ-วีดีทัศน์-คลิปที่นำมาสื่อสารครั้งนี้ จะหนุนเสริมให้นิสิตมีพลังในการที่จะสร้างสื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพราะการสร้างสื่อการเรียนรู้ที่ว่านั้นก็คือการประเมินผลโครงการในอีกช่องทางหนึ่ง เป็นการสร้างคลังความรู้ไว้ในองค์กร เป็นการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ผ่่านสื่อสารสนเทศ หรือไอทีอย่างสร้างสรรค์


นอกจากนี้แล้ว ผมยังถือโอกาสนำสื่ออื่นๆ มาเปิดให้นิสิตได้ดูร่วมกัน ซึ่งก็มีอยู่หลายเรื่อง โดยแต่ละเรื่องที่นำมาก็มีประเด็นการแทรกเสริมไว้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานกับชุมชน การทำงานเป็นทีม การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การสร้างแรงบันดาลใจ ฯลฯ ยกตัวอย่างเช่น สวัสดีคุณครู,ชั้นประถม, หรือแม้แต่ เสียงกู่จากครูใหญ่ ก็ไม่เว้น

เพียงแต่เลือกเองว่าเรื่องไหนเหมาะที่จะเปิดในเวทีกระบวนการตรงๆ เรื่องไหน เหมาะที่จะเปิดในช่วงพักรับประทานอาหาร หรือช่วงพักต่างๆ


พอดูจบ ก็ถามทักพอเป็นพิธีว่าได้เรียนรู็อะไรจากสื่อเหล่านั้นบ้าง ซึ่งไม่บอกย้ำว่า ผิด หรือถูก แต่พยายามสร้างเวทีให้รู็ว่าเรื่องหนึ่งเรื่องมีคำตอบอยู่อย่างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าคนแต่ละคนจะมองด้วยมุมมองใดเท่านั้นเอง




เช่นเดียวกับในช่วงท้ายของเวที ผมก็ถามนิสิตว่า "อะไรคือความกลัว" โดยไม่ได้เจาะจงว่าต้องพูดกันทุกคน ทว่าให้เป็นไปตามความสะดวกใจที่จะบก-หรือสื่อสาร ซึ่งนิสิตก็สะท้อนมาหลายประเด็น เช่น กลัวการเริ่มต้น กลัวความผิดพลาด กลัวไม่มีเพื่อน กลัวในสิ่งที่ไม่รู้ กลัวความไม่ชัดเจนของอนาคต กลัวว่าจะไม่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ฯลฯ

โดยท้ายที่สุด ผมก็นำคลิปนี้มาเปิดให้นิสิตได้ชมร่วมกัน คลิปที่ว่าด้วยการ การกล้าที่จะทำ กล้าที่จะเอาชนะความกลัวของตนเอง




หมายเลขบันทึก: 626806เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2017 10:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2017 16:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับอาจารย์แผ่นดิน

ความกลัวเป็นธรรมชาติของมนุษย์จริงๆ

แม้วัยทำงานจวบใกล้วัยเกษียณ ก็ยังกลัวอยู่

ความกล้า การยอมรับ การปล่อย การวาง ฯลฯ

ธรรมะของพระพุทธเจ้า เอาชนะความกลัวได้

ขอบคุณครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท