สานฝันน้องพี่ทำดีเพื่อสังคม : ว่าด้วยอัตลักษณ์เฉพาะทางของชมรมสิ่งแวดล้อมเพื่อชุมชน


เมื่อน้องๆ ได้พยายามแก้ปัญหาร่วมกันแล้ว แต่ยังไม่สามารถทะลุทะลวง หรือคลี่คลายได้ เหล่าบรรดารุ่นพี่ก็พลิกสถานการณ์เข้ามาเกื้อหนุนช่วยแนะนำ ขยับเข้ามาออกแบบทีมทำงานขึ้นมาใหม่บนสถานการณ์นั้นๆ เพื่อให้งานไม่หยุดชะงัก ตลอดจนเพื่อรักษาองค์กรและมิตรภาพของสมาชิกไว้อย่างยี่หระ


จากบันทึกก่อนหน้านี้ คือ สานฝันน้องพี่ทำดีเพื่อสังคม : อีกหนึ่งงานค่ายในแบบใจนำพา ศรัทธานำทาง

ยังคงมีเรื่องที่อยากจะเล่าต่อเนื่องเกี่ยวกับโครงการ “สานฝันน้องพี่ทำดีเพื่อสังคม” ที่ดำเนินการโดยชมรม “สิ่งแวดล้อมเพื่อชุมชน” เมื่อวันที่ 17-19 กุมภาพันธ์ 2560 ณ โรงเรียนโนนสมบูรณ์ ตำบลเสาเล้า อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์







ว่าด้วยการใช้เครื่องมือสำรวจค่ายสู่การเกาถูกที่คัน



ค่ายครั้งนี้เริ่มสำรวจพื้นที่ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา เบื้องต้นคัดกรองมา 2 โรงเรียนจากจังหวัดขอนแก่นและกาฬสินธุ์ แต่ในกรณีโรงเรียนในเขตอำเภอพลของจังหวัดขอนแก่นนั้นติดขัดเงื่อนไขบางประการ เช่น ความต้องการของโรงเรียนดูจะใหญ่โตเกินกว่าศักยภาพของนิสิตจะพึงสร้างสรรค์ขึ้นได้ รวมถึงระยะทางก็ดูจะไกลมากโขเมื่อเทียบกับโรงเรียนโนนสมบูรณ์

ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการชมรมจึงนำข้อมูลเบื้องต้นของโรงเรียนโนนสมบูรณ์เข้าสู่ที่ประชุม ที่ประชุมลงมติให้เดินทางไปสำรวจค่ายและพบปะกับชุมชนด้วยตนเอง

ดังนั้นแกนนำชมรม 4-5 คนจึงออกเดินทางไปยังโรงเรียนด้วยรถยนต์ส่วนตัว มีการแบ่งสายงานการสำรวจและเก็บข้อมูลเป็นสองส่วนหลัก คือ คณะครูและนักเรียน โดยก่อนการเดินทาง นิสิตที่เป็น “รุ่นพี่” ในชมรมได้มาแนะนำกระบวนการ “เก็บข้อมูล” หรือที่เรียกว่าการ “สำรวจความต้องการของชุมชน” ในทำนองว่า

“ให้เป็นการสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการ เน้นการพบปะพูดคุย สนทนา สังเกตการณ์บริบทโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งชุมชนว่าอยากมาทำอะไร และมีงบประมาณเท่าไหร่”





คำแนะนำข้างต้นสื่อถึงเรื่องการ “สอนงานสร้างทีม” ภายในองค์กรของนิสิตอยู่อย่างเด่นชัด เป็นต้นว่าเรื่อง “เครื่องมือของการออกค่ายอาสาพัฒนา” ที่ว่าด้วยการสำรวจความต้องการเบื้องต้นของชุมชน หรือที่เรียกว่า “พัฒนาโจทย์” หลักๆ ต่างล้วนเป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้จริงในชีวิตประจำวันของนิสิตยู่แล้ว เช่น การสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์ สนทนา – โสเหล่ รวมถึงการใช้อินเทอร์เน็ตสืบค้นก็ด้วยเช่นกัน

กรณีการลงสำรวจความต้องการด้วยตนเองเช่นนี้ ช่วยให้นิสิตได้เห็นสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ ได้พบปะแลกเปลี่ยนเรื่องโจทย์การทำงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องในชุมชน มิใช่การ “นั่งเทียน” ราวกับมี “ตาวิเศษ” ที่จะมองทะลุปรุโปร่งว่าอะไรคือสิ่งที่โรงเรียนหรือชุมชนต้องการให้นิสิตได้เข้าไปจัดกิจกรรม “เรียนรู้คู่บริการ” ร่วมกัน





ยิ่งในครั้งนี้นิสิตไม่ได้พูดคุยแต่เฉพาะครู นักเรียนหรือตัวแทนชุมชนเท่านั้น หากแต่ได้เจอกับคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาประเมินโรงเรียนโดยบังเอิญ ส่งผลให้ได้รับข้อมูลอันเป็นโจทย์ที่แจ่มชัดและเป็นรูปธรรมว่าต้องขับเคลื่อนเรื่องอะไรบ้าง เช่น สนามวอลเลย์บอล อุปกรณ์กีฬา ซ่อมแซมห้องสุขา เป็นต้น

นี่คือมรรคผลของการลงสำรวจพื้นที่และใช้เครื่องมือในแบบธรรมชาติๆ ที่น่าสนใจไม่ใช่ย่อย ช่วยให้นิสิตได้รู้ชัดเจนเลยว่าชุมชนต้องการอะไร จะได้กำหนดเป้าหมายและคลี่คลายให้ตรงจุดในแบบ “เกาให้ถูกที่คัน” นั่นเอง






หุงข้าวหม้อสนาม : รหัสความรู้ว่าด้วยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


ค่ายครั้งนี้มีหลายกระบวนการที่ยังคงยึดมั่นในครรลองขององค์กรอย่างแน่นเหนียว ยกตัวอย่างเช่น การหุงข้าวด้วยหม้อสนาม การทำอาหารจากเตาถ่าน หรือพูดกันง่ายๆ เลยก็คือจะไม่มีการใช้เตาแก๊ชหุงต้มหรือประกอบอาหารใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อจะประหยัดพลังเชื้อเพลิง ไม่รบกวนชุมชน รวมถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติและการฝึกทักษะชีวิตให้กับนิสิตไปในตัว





กระบวนทัศน์และวิธีการดังกล่าวถูกออกแบบตามศาสตร์หรือวิชาชีพของผู้ที่ร่ำเรียนในสาขาสิ่งแวดล้อมอย่างไม่ผิดเพี้ยน อย่างน้อยก็สะท้อนให้เห็นถึงเจตนาของการพยายามสร้างการเรียนรู้เพื่อให้รู้คุณค่าและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นเหตุผลผล ผูกโยงสู่การพึ่งพาตนเอง-ดำรงชีวิตอย่างสมถะ ให้ความเคารพต่อวิถีธรรมชาติ อาทิเช่น การตระหนักถึงการเลือกไม้มาทำเชื้อเพลิงทั้งในภาวะปกติและภาวะที่ต้อง “เดินป่า” กระบวนทัศน์ที่ว่านี้คืออีกหนึ่งกระบวนการของการบ่มเพาะจิตวิญญาณของการเป็นนักรบสิ่งแวดล้อมอย่างไม่ผิดเพี้ยน ขึ้นอยู่กับว่านิสิตจะเข้าใจและหยั่งลึกกับการเรียนรู้กรณีนี้หรือไม่

หรือในทำนองเดียวกันนั้น เมื่อต้องเลือกเฟ้นไม้สักท่อนมาก่อไฟเพื่อประกอบอาหาร บางครั้งอาจได้มาจากรอบรั้วโรงเรียน บางครั้งอาจต้องเดินเท้าเข้าหมู่บ้าน หรือไม่ก็จำต้องเดินทะลุไปยังหัวไร่ปลายนา เช่นเดียวกับเดินเข้าไปในป่าสาธารณะ สิ่งเหล่านี้คือ “ห้องเรียน” ของบรรดานักรบสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น สำคัญว่าพวกเขาจะเข้าใจและมีทักษะในการถอดรหัสความรู้ต่อสิ่งที่มีในห้องเรียนนั้นหรือไม่เท่านั้นเอง ไม่ว่าจะเป็น ชนิดและสรรพคุณ วิถีการใช้ประโยชน์ ความเชื่อ-คติชนที่มีต่อเหล่านั้น

แต่ที่แน่ๆ การหุงข้าวด้วยหม้อสนามครั้งนี้ก็ช่วยให้นิสิตหลายต่อหลายคนเรียนรู้ด้วยตนเอง มีทั้งที่หุงแล้วสุกและหุงแล้วไม่สุก แค่ทั้งปวงก็คือการเรียนรู้และคลี่คลายไปพร้อมๆ กันอย่างเป็นทีม




นอนรอบกองไฟ : อีกหนึ่งรหัสในวิถีค่ายของชาวค่ายสิ่งแวดล้อมฯ



การนอนรอบกองไฟเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ยึดปฏิบัติกันมายาวนานของชาวชมรมสิ่งแวดล้อมเพื่อชุมชน ค่ายทุกค่ายกิจกรรมที่ว่านี้เป็นไฟต์บังคับคู่ไปกับการประกอบอาหารผ่านหม้อสนามและฟืนไฟในป่า -

กิจกรรมจะเริ่มต้นหลังอาหารเย็นเสร็จสิ้นลง ชาวค่ายจะมานั่งล้อมวงรอบกองไฟ มีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นต่างๆ นับตั้งแต่การทบทวนแรงบันดาลใจของการมาค่าย สิ่งที่ได้เรียนรู้จากค่ายทั้งในแง่ของปัญหาและความสำเร็จ ทั้งที่เป็นรายวันและภาพรวมของทุกๆ วัน หลอมรวมถึงเรื่องอื่นๆ อันเป็นวิถีชีวิตและประสบการณ์ชีวิตที่แต่ละคน “เปิดใจ” นำมาแบ่งปันเสริมพลังปลุกฝันและพลังชีวิตมิให้มอดดับเฉกเช่นกองไฟที่ยังลุกโชนอยู่ตรงหน้า




กิจกรรมดังกล่าวจะดำเนินไปเรื่อยๆ ใครเหนื่อยก็นอนได้ตามสะดวกใจ ใครใคร่นอนรอบกองไฟก็นอน ใครใคร่นอนในอาคารเรียนก็นอน แต่ที่แน่ๆ ก็คือมีการจัดเวรยามสอดส่องเป็นห้วงๆ เฝ้าดูแลผองเพื่อนและดูแลกองไฟมิให้มอดดับจนรุ่งสาง จวบจนค่ำคืนสุดท้ายนั่นแหละถึงจะมีกิจกรรม “ขอบคุณกองไฟ” ร่วมกัน

นี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งรหัสความรู้บางอย่างที่ถูกออกแบบและซ่อนซุกไว้ให้ชาวค่ายได้เรียนรู้





สอนงานสร้างทีม : สอนงานสร้างน้อง


นอกเหนือจากประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น ค่ายครั้งนี้ยังมีเรื่องชวนกล่าวถึงอีกหลายเรื่อง เป็นต้นว่า วิธีการสอนงานสร้างทีมอันเป็นวัฒนธรรมภายในองค์กรของนิสิต กล่าวคือ พี่ที่อาวุโสแล้วจะมอบหมายให้น้องใหม่และคณะกรรมการชมรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชั้นปีที่ 2 ได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำเองแบบจริงๆ จังๆ นับตั้งแต่การสำรวจพื้นที่ การเลือกพื้นที่ การเขียนโครงการ การเดินเรื่องเพื่อขออนุมัติโครงการ การจัดเตรียมข้าวของทั้งที่เป็นอุปกรณ์และเสบียงอาหารการกิน การแนะนำเรื่องหลักฐานการเบิกจ่าย ฯลฯ

กรณีดังกล่าวนี้พี่ๆ จะเฝ้ามองอยู่ห่างๆ คอยถามทักเป็นระยะๆ และปรากฏตัวจริงๆ จังๆ เมื่อสถานการณ์บีบคั้น หรือเผชิญกับปัญหาที่น้องๆ กำลังจะทานทนไม่ไหว ดังจะเห็นได้จากเมื่อน้องประสบปัญหาเรื่องการ “เดินงาน” จวนเจียนจะไม่ได้ “ออกค่าย” พี่ๆ ก็แนะนำให้เข้าพบส่วนงานที่เกี่ยวข้อง หรือกระทั่งการพาน้องเข้ามาติดต่อประสานงานด้วยตนเอง





นี่คืออีกหนึ่งครรลองของการสอนงานสร้างทีมที่สื่อให้เห็นคำว่า “พี่เลี้ยง” ที่ชวนศึกษาไม่แพ้ค่ายอื่นๆ สื่อแสดงให้เห็นระยะห่างระหว่างพี่กับน้อง หรือระยะห่างระหว่างคนทำงานรุ่นเก่ากับรุ่นปัจจุบันอย่างน่าสนใจ มิใช่อยู่ใกล้จนกลายเป็นการ “ครอบงำ” ไปแบบไม่รู้ตัว

เช่นเดียวกับการเฝ้ามองปัญหาการบริหารชมรมอย่างเงียบๆ เมื่อรุ่นพี่รับรู้ว่าภายในองค์กรประสบปัญหาเรื่องแกนนำ และส่วนใหญ่ก็เป็น “มือใหม่หัดขับ” กันจริงๆ ยังไม่มีประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมในการบริหารองค์กร อีกทั้งยังไม่รู้จักมักคุ้นกับองค์กรบริหารและส่วนงานของมหาวิทยาลัย จึงเกิดอาการเขินอายและไม่มั่นใจที่จะ “เดินงาน” อย่างเต็มสูบ

หรือกระทั่งไม่มีความมั่นใจในการที่จะนำเสนองานต่อองค์กรบริหารต้นสังกัดของตนเอง

กรณีดังกล่าวนี้เมื่อน้องๆ ได้พยายามแก้ปัญหาร่วมกันแล้ว แต่ยังไม่สามารถทะลุทะลวง หรือคลี่คลายได้ เหล่าบรรดารุ่นพี่ก็พลิกสถานการณ์เข้ามาเกื้อหนุนช่วยแนะนำ ขยับเข้ามาออกแบบทีมทำงานขึ้นมาใหม่บนสถานการณ์นั้นๆ เพื่อให้งานไม่หยุดชะงัก ตลอดจนเพื่อรักษาองค์กรและมิตรภาพของสมาชิกไว้อย่างยี่หระ

นี่คืออีกหนึ่งกระบวนการของการจัดการความรักในองค์กรที่เดินทางคู่เคียงไปกับการจัดการความรู้ในองค์กรอย่างน่าประทับใจ





บางมุมมองจากคนสังเกตการณ์


สำหรับค่ายนี้ต้องยอมรับว่ามีหลายประเด็นชวนคิดชวนคุยอย่างมหาศาล เป็นค่ายในวิถีสิ่งแวดล้อมที่มีจุดเด่นด้านเรื่องแกนนำและสมาชิกที่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นนิสิตที่เรียนในสาขาสิ่งแวดล้อม ดังนั้นนี่คือ “ทุนทางปัญญา” หรือ “ทุนทางสังคม” ที่สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบออกแบบค่ายบริการสังคมชั้นยอดได้อย่างไม่ยากเย็น

กระนั้นในระยะหลังๆ ค่ายของชมรมสิ่งแวดล้อมเพื่อชุมชนกลับยังไม่สามารถบูรณาการความรู้ในวิชาชีพมาใช้กับค่ายนี้ได้อย่างเต็มกำลัง กิจกรรมในค่ายไม่ต่างจากค่ายอาสาพัฒนาทั่วๆ ไป ครั้นผมเมื่อมีโอกาสได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนด้วยตนเอง จึงถือโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนิสิตในหลายประเด็น เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กึ่งเสนอแนะไปในตัว –

  • แนะนำให้สร้างสื่อการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมมอบให้กับโรงเรียนและชุมชน โดยมีทั้งข้อมูลสิ่งแวดล้อมทั่วไปและข้อมูลอันเป็นบริบทของโรงเรียนและชุมชน
  • แนะนำให้สร้างกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกับนักเรียน เช่น สำรวจเรื่องราวสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนและชุมชน หนุนเสริมด้วยกิจกรรมอื่นๆ เช่น วาดภาพ เล่าเรื่อง เขียนเรียงความ เขียนคำขวัญ ตาม-ตอบ
  • แนะนำให้ออกแบบค่ายการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นฐานๆ กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมมีทั้งนิสิตและชุมชน หรือเจาะจงไปยังนักเรียนเพื่อสร้างแกนนำสิ่งแวดล้อมในหมู่บ้านและโรงเรียน
  • แนะนำให้มีการศึกษาวิถีการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมในชุมชนคู่ไปกับงานค่ายในมิติบริการสังคม เพื่อยกระดับสู่การเป็นค่ายเรียนรู้คู่บริการ
  • แนะนำให้มีละครสั้น หรือการแสดงผ่านศิลปะแขนงต่างๆ เพื่อสื่อสารความรู้ในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ


ทั้งปวงที่ผมแนะนำไปนั้น ยืนยันว่าเป็นการแนะนำในบนฐานคิด “การแลกเปลี่ยนเรียนรู้” ร่วมกัน เป็นการฝากให้คิดต่อ มิใช่บังคับให้เปลี่ยนแปลงกันตรงนั้น

ในมุมมองของผม- ผมเชื่อ (เอง) ว่าหากนิสิตเปิดใจรับฟังและนำไปประยุกต์ใช้กับค่ายของชมรมฯ จะช่วยให้ค่ายอาสาพัฒนาของพวกเขามีอัตลักษณ์ที่ชัดเจนในตัวเองและเป็นค่ายอาสาพัฒนาที่มีพลังต่อการพัฒนานิสิตและสังคมคู่กันไปอย่างไม่ต้องกังขา ก่อเกิดทั้งทักษะวิชาชีพและทักษะทางสังคม สอดรับกับปรัชญาการศึกษาเพื่อรับใช้สังคมและเป็นการผสมผสานระหว่างการเรียนรู้ในหลักสูตรกับกิจกรรมนอกหลักสูตรอย่างลงตัว -

ดีไม่ดีอาจถึงขั้นวิวัฒน์สู่การเป็นค่ายอาสาพัฒนาที่มีสถานะของการบริการวิชาการอย่างเต็มภาคภูมิได้ในที่สุด



หมายเหตุ

ภาพ : พนัส ปรีวาสนา/ชมรมสิ่งแวดล้อมเพื่อชุมชน

เขียน : 4 มีนาคม 2560 (ปตท.ร้อยเอ็ด)

หมายเลขบันทึก: 625122เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2017 10:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มีนาคม 2017 20:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มานั่งเขียนระหว่างทางเลยนะครับนั่น ;)...

ใช่ครับ อ.วัส Wasawat Deemarn

ใช้เวลานิดๆ หน่อยๆ แบบสุนทรียะ

กาแฟ และความร่มรื่นของต้นไม้

พร้อมๆ กับแอบชำเลืองดูวิถีผู้คนแบบสุภาพๆ

ก็จบด้วยเรื่องเล่า 2 หน้ากระดาษนี่แหละครับ

ชมรมสิ่งแดล้อม ทำไมต้องนอนรอบกองไฟ

: การนอนรอบกองไฟถือเป็นกิจกรรมหนึ่ง ซึ่งหากแต่เดิมนั้นเราชื่นชอบวิถีของการเดินป่า เที่ยวป่า เรียนรู้จากธรรมชาติ ได้ร่วมเดินทางกับคนที่มีอุดมการณ์การเดียวกันหรืออาจจะแปลกแตกต่าง เพราะเมื่อเข้าป่า ต้องมีกองไฟ ภาพที่ทุกคนนั่งล้อมวงกองไฟพูดคุย ความในใจมันเป็นภาพที่ประทับใจที่สุดเลยก็ว่าได้ อีกทั้งกองไฟเป็นทั้งที่ทำอาหาร จุดศูนย์รวมของพวกเรา และมีการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ตัวตนของแต่ละคนที่แท้จริงเมื่อถึงจุดที่เราเหนื่อยมากๆ ท้อมากๆ จนแสดงอีกด้านออกมา ตั้งแต่เริ่มเดิน-จนถึงจุดหมาย และตั้งแต่จุดหมาย-จนถึงทางกลับ หรืออาจจะเป็นตั้งแต่เราขึ้นรถไปด้วยกันแล้วจนกระทั่งนั่งรถกลับมา ส่วนเราชาวค่ายนั้น "ทำไมต้องนอนรอบกองไฟ" เพราะว่า จะได้พูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ ทั้งในเรื่องของการไปทำกิจกรรมกับองค์กรอื่นๆ ในสถานที่ต่างๆ การพูดคุยแลกเปลี่ยนอย่างเป็นกันเอง หัวเราะ ร้องไห้ หรือเหมือนกับการที่ใครบางคนรู้สึกอย่างไร หากดึกๆ มีคนหิวก็จะมีเสียงทำอาหารยามราตรีกัน โดยกลิ่นจะโชยไปยังผู้ที่หลับใหลที่รู้สึก หิว ให้ได้ตื่นขึ้นมานั่งชิม นั่งบ่นกันเลยทีเดียวเชียว หรืออาจจะเป็นที่ระบายสำหรับใครบางคนก็เป็นได้ โดยเฉพาะคนที่เป็น "รุ่นพี่" (พี่ที่อาวุโสที่สุดในค่าย หรือ ประธานค่าย) จะต้องเป็นคนที่อยู่ คอยดูความเรียบร้อย จัดเวรยามให้กับรุ่นน้อง เพื่อฝึกให้รุ้จักการเสียสละ การห่วงใยซึ่งกันและกัน โดยรุ่นพี่ห้ามหลับก่อนน้องเด็ดขาด โดยทุกคนมีหน้าที่ดูแลกองไฟห้ามให้กองไฟดับก่อนจะจบค่าย หรือ ตะวันขึ้น เด็ดขาด เพราะตราบใดที่ยังมีความมืด เราต้องมีกองไฟเสมอ เสร็จค่ายเราก็จะมีกิจกรรมอำลากองไฟ ต้อนรับน้องใหม่ โดยจะให้กล่าวขอบคุณกองไฟ ขอบคุณสิ่งต่างๆ รอบตัวเราครับ

------------------------------------------------------------------------------------------------

มิติชาวสิ่งแวดล้อมเขามองและเชื่ออย่างไร

: สำหรับผม ผมเชื่อในกองไฟ มองดูไฟแล้วมันทำให้เรามีแรงผลักดันครับ "ไฟแห่งฝัน ไฟแห่งความคิด และไฟแห่งจิตวิญญาณ"

-----------------------------------------------------------------------------------------------

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท