สานฝันน้องพี่ทำดีเพื่อสังคม : อีกหนึ่งงานค่ายในแบบใจนำพา ศรัทธานำทาง


ค่ายครั้งนี้ใช้งบประมาณเพียง 23,500 บาท แถมยังต้องสำรองจ่ายอีกต่างหาก เพราะอนุมัติอย่างเร่งด่วน จนไม่มีเวลาเหลือพอที่จะทำเรื่องขอยืมเงินทดรองจ่ายจากมหาวิทยาลัยได้แม้แต่บาทเดียว ด้วยเหตุนี้ชาวค่ายจึงต้องใช้กรอบแนวคิด “ใจนำพาศรัทธานำทาง” เป็นตัวขับเคลื่อน นับตั้งแต่สำรองเงินกันเอง กินอยู่อย่างสมถะ เปิดใจเรียนรู้และพร้อมรับมือกับปัญหาที่ยังมองไม่เห็น


วันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2560) ผมตัดสินใจแบบดิบด่วนไปเยี่ยมค่ายโครงการ “สานฝันน้องพี่ทำดีเพื่อสังคม” ของชมรม “สิ่งแวดล้อมเพื่อชุมชน” ณ โรงเรียนบ้านโนนสมบูรณ์วิทยา ตำบลเสาเล้า อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์

การไปเยี่ยมค่ายครั้งนี้เป็นการตัดสินใจลงไปดูงานด้วยตนเอง เพราะมีหลายประเด็นที่ต้องถอดรหัส กล่าวคือ เย็นวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 เจ้าหน้าที่ในกลุ่มงานกิจกรรมนิสิตและนิสิตจากชมรมสิ่งแวดล้อมเพื่อชุมชนวิ่งกระหืดกระหอบถือโครงการฯ มายังผม เพื่อขออนุมัติ “ไปค่าย” ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560

เรียกง่ายๆ ก็คือ “ขออนุมัติเย็นวันนี้ แล้วไปพรุ่งนี้นั่นแหละ”





เอาจริงๆ เลยนะ- ตอนนั้นผมไม่มีเวลาพูดคุยอะไรมากมายเลย เพราะอีกไม่ถึงสิบนาทีผมก็ต้องเข้าประชุมร่วมกับสภานิสิต องค์การนิสิต สโมสรนิสิต และกลุ่มนิสิต เพื่อหารือเกี่ยวกับวาระการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารองค์กรนิสิต ประจำปีการศึกษา 2560

ถึงกระนั้นผมก็มิได้นิ่งนอนใจ

ผใใช้เวลาพูดคุยและซักถามต้นสายปลายเหตุแบบตรงไปตรงมา ซึ่งก็พอจับประเด็นได้ว่า นิสิตชมรมสิ่งแวดล้อมฯ ไม่ได้เสนอโครงการล่าช้า พวกเขาเสนอโครงการมาตั้งแต่มกราคมแล้ว แต่ติดขัดอยู่กับระบบองค์กรบริหารของพวกเขาเอง ซึ่งผมก็มิวายถามทักเชิงลึกว่าประเด็นที่ติดขัดนั้นคืออะไร-

แต่เท่าที่ฟัง ผมก็มองว่า “เรื่องไม่เป็นเรื่อง”





ผีถึงป่าช้า : แก้ปัญหา ใช้ศรัทธาเป็นเครื่องนำทาง


กรณีดังกล่าวผมไม่มีเวลาไปซักถาม หรือถามทักข้อเท็จจริงเพิ่มเติมโดยตรงจากองค์การนิสิตและสภานิสิต เนื่องเพราะสถานการณ์ดังกล่าวมันเหมือน “ผีถึงป่าช้า” เสียแล้วจะไม่เผาก็ไม่ได้ ครั้นจะให้ถอนทัพ หรือระงับ-ชะลอโครงการไว้ก่อนก็กระไรอยู่ เนื่องด้วยได้ประสานชุมชนไว้อย่างเสร็จสรรพ อะไรๆ ก็ตระเตรียมไว้หมดแล้ว ทั้งการเช่าเหมารถ อุปกรณ์และวัสดุค่าย และที่สำคัญก็คือชุมชนอันหมายถึงโรงเรียนและชาวบ้านก็กำลังเตรียมค่ายรออยู่อย่างใจจดใจจ่อ

เป็นการรอคอยที่รู้กันเองว่า “พรุ่งนี้...นิสิตจะไปค่าย”




สถานการณ์ดังกล่าวผมตัดสินใจด้วยตนเองโดยมิได้หารือผู้บริหารใดๆ เป็นการตัดสินใจบนข้อมูลเท่าที่มีอยู่ในมือ เป็นการตัดสินใจบนฐานของเจตนารมณ์อันดีของนิสิตที่อยู่ในฐานะของการเป็น “ผู้เรียนรู้” ที่ไม่ใช่ “นักเสกสร้าง” หรือการเป็น “มืออาชีพ” ใดๆ

เช่นเดียวกับการคำนึงถึงผลกระทบของชุมชน - ดังนั้นจึงปลดทิ้งพันธนาการทั้งปวง ด้วยการยืนยันให้นิสิต “เดินหน้าไปค่าย” ได้ตามที่ออกแบบไว้ ที่เหลือผมจะเป็นผู้คลี่คลายตามระบบ หรืตามลำดับขั้นของสายงานเอง โดยไม่ลืมที่จะบอกย้ำกับนิสิตในทำนองว่า “งานค่าย คืองานเรียนรู้คู่บริการ และสำคัญคือต้องใช้ใจนำพาศรัทธานำทาง”

ในทำนองเดียวกันก็บอกย้ำประมาณว่า “พับวางปัญหาที่ผ่านมาไว้ก่อน ขอให้ตั้งมั่นมีสมาธิกับภารกิจข้างหน้า ทำให้มันดีที่สุด กลับมาค่อยมาสรุปงานกันอีกที และถ้ามีเวลาผมก็จะไปเยี่ยม”





3 วัน 2 คืน : งบน้อยนิดแต่เนรมิตหลากหลายกิจกรรม


ค่ายครั้งนี้ใช้งบประมาณเพียง 23,500 บาท แถมยังต้องสำรองจ่ายอีกต่างหาก เพราะอนุมัติอย่างเร่งด่วน จนไม่มีเวลาเหลือพอที่จะทำเรื่องขอยืมเงินทดรองจ่ายจากมหาวิทยาลัยได้แม้แต่บาทเดียว

ด้วยเหตุนี้ชาวค่ายจึงต้องใช้กรอบแนวคิด “ใจนำพาศรัทธานำทาง” เป็นตัวขับเคลื่อน นับตั้งแต่สำรองเงินกันเอง กินอยู่อย่างสมถะ เปิดใจเรียนรู้และพร้อมรับมือกับปัญหาที่ยังมองไม่เห็น –

จะว่าไปแล้ว – มองแบบผิวเผินงบประมาณข้างต้นกับระบบและกลไกค่ายอาสาพัฒนาเล็กๆ 3 วัน 2 คืนก็ดูเหมือนจะพอเป็นไปได้อยู่มากโข ทว่าหากเพ่งลึกกันจริงๆ เฉพาะค่าเช่าเหมารถและอุปกรณ์ หรือวัสดุ รวมถึงค่าอาหารการกินในวิถีค่ายอาสาพัฒนาเช่นนี้ โดยส่วนตัวผมว่าสาหัสสากรรจ์อยู่มิใช่ย่อย ดีไม่ดีอาจพลิกผันกลายเป็นภาระของชุมชนเสียด้วยซ้ำไป






ต้องยอมรับว่าค่ายครั้งนี้มีการบริหารงบประมาณต่างๆ ได้อย่างน่ายกย่อง จำนวนเงินเพียงน้อยนิดแต่เนรมิตกิจกรรมได้อย่างหลากหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น

  • ซ่อมแซมห้องสุขา เช่น ทาสีผนัง ประตู เขียนข้อความให้ความรู้เรื่องระบบสุขอนามัย
  • จัดสร้างโรงจอดรถจักรยานให้แก่นักเรียน ผ่านวัสดุ หรือวัตถุดิบจากธรรมชาติ
  • ซ่อมแซมโต๊ะและเก้าอี้ในโรงอาหาร
  • จัดตกแต่งสวนย่อม และปรับภูมิทัศน์
  • ซ่อมแซมบอร์ดเพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมและเผยแพร่ความรู้
  • ทาสีหอพระพุทธรูปประจำโรงเรียน
  • จัดทำเสาวอลเลย์บอล พร้อมส่งมอบตาข่ายวอลเลย์บอลและลูกบอล
  • ส่งมอบตาข่ายฟุตบอลและลูกฟุตบอล
  • มอบอุปกรณ์สนับสนุนการเรียนการสอน




นี่คือภาพรวมของกิจกรรมที่จัดขึ้นในห้วงเวลาอันจำกัดเพียง 3 วัน 2 คืนและขับเคลื่อนด้วยงบประมาณเพียงไม่กี่บาท แต่ก็สามารถสร้างงานได้อย่างเป็นรูปธรรม ช่วยตอกย้ำให้เห็นว่าเป็นการบริหารงบประมาณและบริหารห้วงเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สะท้อนให้เห็นภาวะผู้นำในตัวของนิสิต หรือกระทั่งในองค์กรนี้อย่างน่าสนใจ






การมีส่วนร่วมของชุมชน : ความสำเร็จอันแสนวิเศษ


สำหรับประเด็นการบริหารงบประมาณและการใช้เวลาเพียงไม่กี่วันสู่การบริการสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ผมถือว่าประสบความสำเร็จที่ต้องชื่นชม เพราะกิจกรรมหลายกิจกรรมสามารถแตะต้องสัมผัสได้อย่างไม่ต้องกังขา ถึงแม้วิถีการเรียนรู้ชุมชนอาจจะดูไม่แจ่มชัดเท่าที่ควร แต่ก็มิใช่ตัวชี้วัดว่าค่ายครั้งนี้ล้มเหลว เนื่องจากในมิติของการบริการสังคมนั้นแจ่มชัดว่าทำอะไร เกิดผลอย่างไร รวมถึงทิศทางของประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับก็แจ่มชัดและมีตัวตนไม่แพ้ค่ายอื่นๆ ที่ผมเคยได้ไปพบเจอมา


และที่ผมประทับใจเป็นพิเศษอีกเรื่องก็คือ “การมีส่วนร่วมของชุมชน”




กรณีการมีส่วนร่วมนี้ปรากฏอย่างเด่นชัด นับตั้งแต่ “พ่อช่าง” จากหมู่บ้านมาช่วยเป็นแกนนำในการสร้างโรงจอดรถจักรยาน พานิสิตตัดเหล็กเชื่อมเหล็ก พานิสิตตัดหญ้า-ทำความสะอาดภูมิทัศน์รายรอบโรงเรียน ช่วยหล่อเสาวอลเลย์บอล

ส่วนกลุ่มแม่บ้านก็มาดูแลสารทุกข์สุขดิบทั่วไป ช่วยงานครัวบ้าง ดูแลสวัสดิการน้ำท่า รวมถึงแวะเวียนมาให้กำลังใจอย่างไม่หยุดหย่อน ส่วนใหญ่ไม่ใช่ไปๆ มาๆ เท่านั้น หากแต่ฝังตัวอยู่ในค่ายเกือบทั้งวันเลยทีเดียว




ในส่วนของโรงเรียนนั้นก็มีส่วนร่วมไม่แพ้ชุมชน คณะครูถึงขั้นหอบหิ้วผ้าห่มมานอนเป็นเพื่อนนิสิต นอกจากนั้นก็บริจาคปูน หิน และทรายในการหล่อเสาวอลเลย์บอล รวมถึงบริจาคอิฐอีกหลายก้อนเพื่อจัดทำสวนหย่อม หรือกระทั่งเป็นธุระพาเข้าไปซื้อข้าวของในตัวอำเภออย่างไม่เกี่ยงงอน

ผมว่านี่แหละคือความสำเร็จของการงานทำงานค่ายแบบมีส่วนร่วม อันหมายถึงการมีส่วนร่วมของเจ้าบ้านที่ไม่ใช่อยู่ในสถานะของการ “รอรับ” แต่ไม่ “มาลงแรง” ร่วมกัน





นี่คือความสำเร็จอันแสนวิเศษของงานค่ายอาสาพัฒนาในมิติเรียนรู้คู่บริการที่ชวนค่าต่อการนำมากล่าวถึงไม่แพ้กิจกรรมขององค์กรอื่นๆ

เป็นความสำเร็จที่ไม่จำเป็นต้องอธิบายถึงผลลัพธ์ของการเรียนรู้ในมิติของจิตอาสา จิตสาธารณะ การทำงานเป็นทีม การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือกระทั่งอัตลักษณ์นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) ฯลฯ


ใช่ครับ-ไม่จำเป็นต้องพูดถึง เพราะมันงดงามในตัวเองอย่างเสร็จสรรพ

งดงามตั้งแต่การกล้าหาญที่จะเดินหน้า “ไปค่าย” โดยไม่จำนนต่อปัญหาในระบบและกลไกของส่วนงานต่างๆ

นี่แหละอีกหนึ่งกรณีที่ผมสามารถเรียกเต็มปากเต็มคำได้ว่า “ใจนำพา ศรัทธานำทาง”



....

เขียน 24 กุมภาพันธ์ 2560
ภาพ : พนัส ปรีวาสนา/ชมรมสิ่งแวดล้อมเพื่อชุมชน

หมายเลขบันทึก: 624483เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2017 11:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2017 17:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอเพียงได้คิด ลงมือทำ สำเร็จแล้วนะคะ

... ตามมาจากนั้น กำไรชีวิตมหาศาล

เชื่อว่าน้อง ๆ เก็บไว้เป็นต้นทุนทักษะ แก้ไขปัญหา

ต้นทุนใจ นึกถึงทีไร พลังสุข พลังรักจากชุมชน จากคณะครู โรงเรียน ... ท้นขึ้นมากลางใจ

สุขใจ ... ใจนำพาศรัทธานำทาง ...

-สวัสดีครับอาจารย์

-ตามมาร่วมชมกิจกรรมครับ

-การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดผลสำเร็จในเนื้องานนะครับ

-พลังเล็กๆ แบบนี้ที่ช่วยสร้างพลังอันยิ่งใหญ่ครับ

-ขอบคุณครับ

งบน้อยแต่ทำได้เยอะมาก

ผิดกับบางที่งบมากทำได้น้อย

เสียดายงบประมาณ

มาชื่นชมคนทำงานครับ

ครับ พี่หมอ ธิ

ผมมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า ทันทีที่นิสิตได้ลงมือทำกิจกรรมบริการสังคมด้วยใจอันบริสุทธิ์ เขาจะรู้สึกมีความสุขในทันที นั่นคือความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ขงการเรียนรู้เพื่อเติบโตแล้วครับ

และเขาจะยิ่งศรัทธาต่อการเรียนรู้ที่หมายถึงลงมือทำจริง เพราะจะก่อเกิดทักษะ เชี่ยวชาญ ยิ่งทำกันอย่างเป็นทีม ยิ่งน่าจะเป็นพลังบวกในชีวิตของเขา ครับ

สวัสดีครับ คุณเพชรน้ำหนึ่ง

อันที่จริงผมก็พยายามเชื่อมการเรียนรู้เรื่องการทำโรงจอดจักรยานจากวัตถุดิบในท้องถิ่นแก่นิสิตเหมือนกันครับว่านี่คือการมีส่วนร่วมของชุมชนกับนิสิต และวัตถุดิบหรือวัสดุดังกล่าวเกี่ยวโยงกับคำว่า "สิ่งแวดล้อม" อย่างไร

หรือแม้แต่การเสนอให้นิสิตได้กระตุ้นให้น้องๆ นักเรียนมีส่วนกับกิจกรรมให้มากขึ้น มิใช่แค่มาดูมาชมมาเชียร์พี่ๆ นิสิต เพราะนี่คือหัวใจ หรือภาพที่สื่อให้เห็นถึงมิติ "การมีส่วนร่วม" หรือการเป็น "เข้าของ" ที่จะดูแลต่อไป ครับ

ครับ ดร.ขจิต ฝอยทอง

ต้องยอมรับว่าค่ายครั้งนี้บริหารทรัพยากรเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างมาก สื่อทะลุถึงมิติความ "พอเพียง" ไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ ครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท