LLEN มหาสารคาม : วัน "เปิดป่า" การศึกษาบนฐานปัญหาจริงในชุมชน


วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ มีโอกาสได้เข้าร่วมงาน "เปิดป่า" ที่จัดโดยนักเรียนกลุ่ม "ฮักนะเชียงยืน" โดยการสนับสนุนใน "โครงการซัมซุงสร้างพลังเรียนรู้สู่อนาคต" ของบริษทสยามแนทิส จำกัด (ผู้สนใจศึกษาต่อที่นี่) และโรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม ซึ่งดูแลโดย "ครูโค้ช" ครูเพ็ญศรี ใจกล้าและทีม

กิจกรรม "เปิดป่า" เป็นงานนำเสนอผลงานของกลุ่มนักเรียนจาก ๖ โรงเรียน ที่เข้าร่วมโครงการ "โรงเรียนซัมซุง" หรือโครงการซับซุงสร้างพลังเรียนรู้สู่อนาคต ที่ขยายผลจากความสำเร็จของกลุ่มฮักนะเชียงยืนที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวในปีการศึกษาที่ผ่านมา

ความสำเร็จในที่นี้ หมายถึง ความสำเร็จในการส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนเรียนรู้แบบใหม่ นักเรียนเรียนรู้แบบใหม่ ใช้ปัญหาจริง ๆ ในชุมชนและสังคม เป็นฐานในการเรียนรู้ ผลงานตัวอย่าง แสดงดังคลิบด้านล่าง


นักเรียนกลุ่มฮักนะเชียงยืนใช้ป่าชุมชนโคกหนองคองเป็นหล่งเรียนรู้ ผมเคยเขียนกระบวนการเรียนรู้และขยายผลประสบการณ์พวกเขาไว้ที่นี่ โดยมีขั้นตอนการดำเนินโครงการดังแผนภาพด้านล่าง



วันนี้คือกิจกรรมที่ ๖. เปิดเวที ที่ต้องเลื่อนเข้ามา น่าจะเพราะเงื่อนไขเวลาจากระดับนโยบาย กิจกรรมทั้งหมดดำเนินการและออกแบบโดยนักเรียนกลุ่มฮักนะเชียงยืนทั้งหมด โดยมีครูเพ็ญศรี คอยให้คำปรึกษาและแนะนำ

หลังจากปิดงาน ผมชวนให้เปิดวงสนทนากันเฉพาะกลุ่มครูและผู้นำชุมชน โดยผมตั้งเปิดประเด็นนำคุย เหมือนการทำ AAR ทั่วไป ผมสรุปการคุยเป็นกระบวนการเรียนรู้ชุมชนแบบ "๗ส" และวิพากษ์ตรง ๆ ว่า นักเรียนยังขาดด้านใดบ้าง


๑. ขั้นสำรวจ

ขั้นตอนนี้นักเรียนทำได้ดี นักเรียนทุกโรงเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง ได้ลงพื้นที่สำรวจจริง สังเกตว่านักเรียนได้เรียนรู้และเก็บข้อมูลได้พอสมควร แต่ถ้าจะดีขึ้น ส่วนที่ควรเพิ่มเติมคือการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ และข้อมูลเชิงกายภาพภูมิศาสตร์ เป็นต้น ส่วนการสำรวจหรือลงพื้นที่เรียนรู้ ควรจะทำบ่อย ๆ ต่อเนื่อง จนนักเรียนเกิดความค้นเคย แลผูกพันมากพอต่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง

๒. ขั้นสอบถาม

เข้าใจว่า นักเรียนกลุ่มฮักนะเชียงยืนได้ทำเป็นตัวอย่างพอสมควร คือลงพื้นที่หลายรอบ เข้าสอบถาม สัมภาษณ์ข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่ อาจารย์ ดร. ญาณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องป่า แนะนำว่า การให้นักเรียนลงพื้นที่เป็นประจำได้เรียนรู้เรื่องป่าอย่างต่อเนื่อง จะทำให้นักเรียนจะค่อย ๆ มีความคุนเค้ย มีความรู้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เกิดความรักและผูกพัน ในช่วงแรก ๆ นักเรียนอาจไม่สนใจ แต่พอได้คุ้นเคย ความผูกพันก็จะเกิดขึ้น เกิดจิตสำนึกอนุรักษ์ขึ้น

นักเรียนควรนำเสนอข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ ในแบบต่าง ๆ เช่น ประวัติศาสตร์ชุมชน แผนที่ชุมชน และ ข้อมูลเชิงปริมาณทางกายภาพอื่น ๆ

๓) สืบค้น

ทักษะการสืบค้น เป็นทักษะที่สำคัญที่สุดสำหรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ นี้ เพราะความรู้ที่เพิ่มขึ้นมากล้นมหาศาล การอ่านได้ เขียนได้ คิดเลขได้เท่านั้นไม่พอ ต้องมีทักษะในการคิดพิจาณาด้วยว่า ข้อมูลที่ได้นั้นน่าเชื่อถือหรือไม่? และจะค้นหาสิ่งที่ต้องการนั้น ๆ อย่างไร โดยเฉพาะการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต ที่ต้องเลือกและกำหนดคำสำคัญ และทักษะการอ้างอิงอย่างเป็นสากล ก็เป็นอีกทักษะหนึ่งที่ต้องฝึกตั้งแต่เป็นนักเรียน พร้อม ๆ กับความซื่อสัตย์สุจริตอันเป็นพื้นฐานสำคัญของจรรยาบรรณทางวิชาการ

๔) สังเคราะห์

หมายถึง การนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ สอบถาม และสืบค้น มาวิเคราะห์ จัดหมวดหมู่ และสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ที่ตนเองสามารถจะนำไปบูรณาการใช้ในแบบต่าง ๆ ได้ สิ่งที่ได้จากขั้นตอนนี้ ควรเป็นองค์ความรู้ หรือบทเรียน หรือแนวปฏิบัติ หรือวิธีการแก้ปัญหาที่เคยมีมาแล้ว เป็นต้น

ถ้าทำสำเร็จมาถึงขั้นนี้ นักเรียนจะมีความภูมิใจและมั่นใจในสิ่งที่ตนเองทำ อยากจะจัดเวทีคืนข้อมูล หรือคืนความรู้สู่เจ้าของพื้นที่หรือชุมชน ชุมชนจะได้รับความรู้ที่ถูกจัดระเบียบแล้ว ได้รู้ทั้งภาพรวมและภาพลึกถึงเชิงปริมาณด้านต่าง ๆ ที่โดยมากแล้วชุมชนจะไม่ทราบตนเอง

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างชิ้นงาน ของการ สำรวจ สืบค้น สอบถาม และสังเคราะห์ สำคัญมากว่า นักเรียนต้องเป็นผู้ดำเนินการ ครูเป็นผู้แนะนำ





๕) สร้างสรรค์

หากไปถึงขั้นสร้างสรรค์ผลงานของเด็กย่อมเป็นนวัตกรรม อาจเป็นวิธีการแก้ปัญหาใหม่ ๆ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ หรือองค์ความรู้ใหม่ที่ต่อยอดจากฐานภูมิปัญญาเดิมในท้องถิ่น

อะไรคือสร้างสรรค์ ? ลักษณะดังต่อไปนี้เรียกได้ว่าสร้างสรรค์

  • อะไรที่ใหม่ ใหม่จริงๆ คือ คิดขึ้นด้วยตนเอง ทำเอง ขั้นนี้เรียกได้ว่า "นวัตกรรม"
  • หากไม่ใหม่ แต่สามารถนำมาใช้ได้ดีกว่าเดิม ต่อยอดจากของเดิม ก็ถือว่า สร้างสรรค์
  • ถ้าไม่ใหม่ ไม่มีดีกว่าเดิม แต่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าเดิม ต้นทุนถูกลงกว่าเดิม ก็ถือว่า สร้างสรรค์
  • ถ้าไม่ใหม่ ไม่มีกว่าเดิม ไม่ถูกกว่าเดิม แต่ทั้งหมดทำด้วยตนเอง ใช้วัสดุในท้องถิ่นที่มีอยู่ ยังไม่มีใครเคยทำในพื้นที่ แบบนี้ก็ถือว่า สร้างสรรค์

๖) สร้างสื่อ

การนำเอาผลงานต่าง ๆ มาสร้างเป็นสื่อ เช่น คลิปวีดีโอ หนังสั้น หนังสือเล่มเล็ก เป็นต้น

ที่ประชุมเห็นว่า ควรจะมีการจัดอบรมการตัดต่อวีดีโอหรือสร้างหนังสั้นให้เด็ก ๆ ได้พัฒนาทักษะด้านนี้ขึ้นอีก

๗) เสนอ

หมายถึงทักษะการนำเสนอผลงาน นักเรียนต้องฝึกพูด เรียนรู้ลำดับพิธีการ การเพิ่มความมั่นใจในตนเอง

สามารถดาวน์โหลดรูปทั้งหมดได้ที่นี่

หมายเลขบันทึก: 624477เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2017 11:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2017 11:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท