บทความ : พระพุทธรูปในความเชื่อแบบวิญญาณนิยม


บทความ : พระพุทธรูปในความเชื่อแบบวิญญาณนิยม


ในสังคมพุทธศาสนานิกายเถราวาทของไทยในปัจจุบัน เป็นการผสมผสานระหว่างศาสนาผีดั้งเดิม ศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยทั้งสามศาสนาเกิดการผสมผสานวัฒนธรรมและความเชื่อร่วมกันเป็นพุทธศาสนาเถราวาทของไทย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน จะเห็นได้จากชาวไทยเรานับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ นับถือผีปู่ย่าตามความเชื่อท้องถิ่น และนับถือหมอพราหมณ์ตามราชประเพณีสำคัญหรือการสะเดาะเคราะห์ตามความเชื่อแบบชาวบ้าน ซึ่งทั้งสามศาสนาเกิดการผสมผสานกันอย่างสมดุล ทำให้เกิดบรรทัดฐานทางความเชื่อท้องถิ่นตลอดจนเป็นลักษณะของสังคมไทย

กรณีศึกษาเรื่อง การบูชาพระพุทธรูปในความเชื่อแบบวิญญาณนิยม มุ่งเน้นการอธิบายถึงความสัมพันธ์ของศาสนาพุทธและศาสนาผีตามความเชื่อท้องถิ่น โดยอธิบายเรื่องแนวคิดวิญญาณนิยม(Animism) ระบบความเชื่อ การผสมผสานของความเชื่อในศาสนา และพระพุทธรูปในความเชื่อทางวิญญาณ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

๑.แนวคิดเรื่องการบูชาพระพุทธรูป

๑.๑ หลักเจดีย์ ๔ เรื่อง อุเทสิกเจดีย์

หลักเจดีย์ ๔ เรื่อง อุเทสิกเจดีย์ อธิบายว่า เจดีย์สร้างอุทิศพระพุทธเจ้า ได้แก่ พระพุทธรูป รวมไปถึงสิ่งของที่สร้างอุทิศถวายแด่พระพุทธเจ้าโดยไม่จําเพาะเจาะจงว่าต้องมีลักษณะเช่นใดถ้าหากสิ่งนั้นไม่ได้ถือว่าเป็นธาตุเจดีย์บริโภคเจดีย์หรือ ธรรมเจดีย์แล้วก็ให้ถือว่าเป็น “อุเทสิกเจดีย์” ทั้งสิ้น ในยุคแรกๆที่ยัง
ไม่มีการสร้างพระพุทธรูป สันนิษฐานว่าน่าจะมีการสร้างเป็นพุทธบัลลังก์ (อาสนะเปล่า) เพื่อเป็นที่สักการบูชาในฐานะ “อุเทสิกเจดีย์” เรียกว่าอาสนะบูชา[1]

เจดีย์เหล่านี้ในที่มาแต่ละแห่ง ท่านแสดงไว้๓ ประเภท นับรวมที่ไม่ซํ้าเข้าด้วยกัน จึงเป็น๔ ต่อมา เมื่อมีการประดิษฐ์พระพุทธรูปที่มีลักษณะเป็นประติมากรรมรูปบุคคลแล้ว จึงมีการนิยมสร้างและนับถือพระพุทธรูปในฐานะ “อุเทสิกเจดีย์” เรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้

ในสมัยราชวงศ์กุษาณะ (ราวพุทธศตวรรษที่ ๖-๗) ถือว่าเป็นยุคแรกที่มีการสร้างรูปพระพุทธเจ้าเป็นรูปมนุษย์ทั้งนี้อาจจะเป็นอิทธิพลจากชาวกรีกที่ตั้งถิ่นฐานในแคว้นคันธาระ ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือจนก่อให้เกิดเป็นความนิยมสร้างพระพุทธรูปอย่างกว้างขวาง วัสดุที่ใช้สร้างก็มีทั้ง ศิลา ปูนปั้น และดินเผา[2]

โดยสรุปแล้ว ในสมัยพุทธกาลจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๓ ยังไม่มีการสร้างพระพุทธรูปแต่อย่างใด ชาวพุทธพึ่งมาสร้างพระพุทธรูปช่วงพุทธศตวรรษที่ ๖-๙ ซึ่งพระพุทธรูปในความหมายของอุเทสิกเจดีย์ก็คือความเชื่อว่า พระพุทธรูปเป็นสัญลักษณ์ที่ทําให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า แท้ที่จริง พระพุทธรูปไม่มีพลังอํานาจอื่นใดที่จะให้คุณ ให้โทษแก่มนุษย์เป็นปูชนียวัตถุที่มนุษย์ให้คุณค่าในฐานะเป็นสิ่งที่ควรกราบไหว้ สักการะเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้าเพียงเท่านั้น

๑.๒ หลักอนุสติ ๑๐ เรื่อง พุทธานุสติ

หลักอนุสติ ๑๐ คือ เรื่อง พุทธานุสิต คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระองค์ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับพระพุทธรูป เพราะพระพุทธรูปเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า และระลึกถึงความดีของพระพุทธเจ้าหรือ เรียกว่า พุทธคุณ ๙ อันได้แก่

๑. อรหํ เป็นพระอรหันต์
๒. สมฺมาสมฺพุทฺโธเป็นผู้ทรงตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง
๓. วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เป็นผู้ทรงเพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
๔. สุคโต เป็นผู้เสด็จไปดี คำว่า “ไปดี”
๕. โลกวิทู เป็นผู้ทรงรู้แจ้งโลก
๖. อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ เป็นสารถีผู้ทรงฝึกคนได้อย่างยอดเยี่ยม
๗. สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
๘. พุทฺโธ เป็นผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
๙. ภควา เป็นผู้มีโชค ผู้ทรงแจกแบ่งธรรม

โดยสรุปแล้ว หลักพุทธานุสติ เป็นการรำลึกนึกถึงคุณความดีของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีสื่อแทน คือ พระพุทธรูปที่เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า เป็นสัญลักษณ์ว่า พระพุทธรูปเป็นตัวแทนของพุทธานุสติไปด้วย โดยประกอบด้วยพุทธคุณ ๙ ประการนั่นเอง

๒.ที่มา ประเภท และระดับความเชื่อ

๒.๑ ที่มาและประเภทของความเชื่อที่เกี่ยวข้อง โดย มณี พยอมยงค์ กล่าวว่าความเชื่อมีที่มาจาก ๓ แหล่งด้วยกัน ได้แก่
๑. ความเชื่อที่เกิดจากธรรมชาติหรือปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เป็นต้น
๒. ความเชื่อที่มากับศาสนา ซึ่งเกิดขึ้นจากความรู้ที่ตนได้รับเกี่ยวกับคําสอนและพิธีการที่เจ้าของศาสนาบัญญัติไว้หรือพระสาวกปฏิบัติจนเป็นแบบอย่างสืบมา
๓. ความเชื่อเกิดจากความคิดของมนุษย์เห็นได้จากความคิดแนวปรัชญาทางจิตวิทยาและจินตนาการอื่นๆ

ความรู้ของคนโบราณมี ๒ ลักษณะ ลักษณะแรกคือ รู้จากการสัมผัสและการคิดไตร่ตรองความรู้ชนิดนี้ไม่ต้องการความเชื่อเช่นเห็นคนเดินมาก็รู้ว่าเป็นคน คนนั้นกล่าวทักทายก็รู้ว่าเป็นคนนั้น ไม่เคยไปอังกฤษก็รู้ว่ามีประเทศอังกฤษ ความรู้เช่นนี้จึงไม่ต่างไปจากสิ่งที่ศาสตร์สมัยใหม่กล่าวถึง แต่ความรู้ลักษณะที่สองนั้นมาจากความเชื่อเป็นสําคัญ เชื่อเพราะ “รู้สึก”แตกต่างไปจากการสัมผัสอื่นๆ ในลักษณะ “ปกติ” เชื่อเพราะมีอะไรบางอย่างที่มากไปกว่านั้น และอะไรที่มากไปกว่านั้นเคยแสดงให้ปรากฏในภาวะปกติแล้ว อย่างน้อยก็เท่าที่เล่าลือหรือบอกกล่าวสั่งสอนกันมา[3]

โดยสรุปแล้ว ความเชื่อเรื่องการเคารพบูชาพระพุทธรูป เป็นความเชื่อที่มาจากศาสนาและความคิดของมนุษย์ กล่าวคือ การสร้างรูปเคารพเป็นความเชื่อทางศาสนาที่รำลึกนึกถึงคุณพระพุทธ แต่ความศักดิ์สิทธิ์และอภินิหาร ขององค์พระต่างๆ นานา เป็นเรื่องของความคิดมุนษย์ที่สร้างขึ้นมาประกอบกับศาสนาดั้งเดิมอย่างผสมผสานกัน

๒.๒ ระดับของความเชื่อ โดย เรณู อรรฐาเมศร์ แบ่งความเชื่อออกเป็น ๒ ระดับ คือ
๑.ระดับความเชื่อพื้นบ้าน โดยในส่วนของระดับความเชื่อพื้นบ้านนั้นมีการผสมผสานกัน ๒ กระแส ได้แก่ ความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณของธรรมชาติโดยเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติมีจิตวิญญาณหรือมีผู้บงการอยู่เบื้องหลังธรรมชาติจึงปฏิบัติต่อธรรมชาติเสมือนว่าธรรมชาติมีชีวิต คือ มีการบูชาอ้อนวอน ขอบคุณ และความเชื่อเรื่องผีวิญญาณ ซึ่งมีหลายประเภท ได้แก่ ความเชื่อในผีสายตระกูลคือ ผีบรรพบุรุษ ผีปู่ตา ผีปู่ย่า และความเชื่อต่อผีอารักษาเป็นลําดับแห่งความศรัทธาในลัทธิศาสนาที่ยิ่งใหญ่อันหนึ่ง
๒.ระดับความเชื่อในศาสนา สําหรับระดับความเชื่อในศาสนานั้นถูกอธิบายว่าเป็นความเชื่อที่มีเหตุผลมากขึ้นกว่าความเชื่อพื้นบ้านตามแนววิทยาศาสตร์ซึ่งศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือก็ได้แก่ศาสนาพุทธ[4]

โดยสรุปแล้ว การเคารพบูชาพระพุทธรูปมีความเกี่ยวข้องระดับของความเชื่อทั้งความเชื่อพื้นบ้านและความเชื่อเรื่องศาสนา เพราะนอกจากที่ผู้คนจะรำลึกนึกถึงพระพุทธเจ้าแล้ว ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจด้านความเชื่อของชาวพุทธในด้านอื่นๆอีกด้วย เช่น การขอพร การบนบานศาลกล่าว หรือ วัฒนธรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งความเชื่อในมิตินี้อาจเรียกว่า “เชื่อว่าพระพุทธรูปมีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถขอสิ่งใดได้สมปรารถนาเหมือนศาสนาผีอีกด้วย”


.แนวคิดเรื่องวิญญาณนิยมกับการบูชาพระพุทธรูป

๓.๑ วิญญาณนิยม(Animism)

ความเชื่อในเรื่องวิญญาณนิยม (Animism) เป็นความเชื่อของมนุษย์ที่พัฒนามาถึงอีกระดับหนึ่งสูงกว่าความเชื่อแบบพลังลึกลับ โดยเชื่อว่ามนุษย์ในโลกนี้มีพลังชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นหน่วยรวม ไม่ได้กระจายอยู่ทั่วไปเหมือนพลังลึกลับ หน่วยพลังนี้อาศัยอยู่ในคน สัตว์พืช และสิ่งของเฉพาะอย่าง เป็นสิ่งที่รู้จักคิด มีความต้องการ มีการตัดสินใจได้ มีลักษณะเป็นตัวตนบุคคลที่สามารถจะแปรเปลี่ยนไปในทางดีหรือชั่วได้ด้วยการตัดสินใจของตนเองเรียกว่าวิญญาณ

ความหมายของวิญญาณของคําว่า “Animism” มาจากภาษาลาตินว่า “Anima” ซึ่งแปลว่า“วิญญาณ ภาษาอังกฤษ”ใช่คําว่า “soul” บ้าง “spirit” บ้าง คําว่า soul หมายถึงวิญญาณที่อยู่ในร่างกายของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นตัวตนแท้ของคน มีฐานของชีวิต เป็นอมตะไม่รู้จักตาย ส่วนจิต หรือใจภาษาอังกฤษเรียกว่า mind เป็นอาการหรือคุณสมบัติของ soul ที่มีการรู้จักคิด มีความรู้และคําว่า spirit หมายเอาวิญญาณที่ออกจากร่างกายเมื่อคนตายไปและคงอยู่ในโลกของวิญญาณ[5]

โดยสรุปแล้ว ปกติความเชื่อแบบวิญญาณนิยม จะมีความเชื่อที่ว่า กายของมุนษย์มีนามธรรมที่เรียกว่า “วิญญาณ” ซึ่งเป็นสมบัติของสิ่งมีชีวิต เมื่อวิญญาณออกจากร่างกายจึงเป็นจุดสิ้นสุดของชีวิตในโลกมนุษย์ และเข้าไปสู่โลกแห่งวิญญาณ หรือ เรามักเรียกว่า “ผี” นั่นเอง เพราะแนวคิดวิญญาณนิยมเป็นรากฐานของการกำเนิดศาสนาต่างๆ

๓.๒ ศาสนาผี หรือ ศาสนาวิญญาณ

ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ กล่าวว่า "ศาสนาวิญญาณ" หรือศาสนาผี ในทางวิชาการศาสนวิทยาเรียกว่า ศาสนาประเภท "วิญญาณนิยม" ภาษาอังกฤษเรียก Animism ส่วนพวกที่นับถือผีก็จะเรียกว่า animist พื้นฐานมาจากคำว่า "anima" แปลว่า “ลมหายใจ” หรือ “วิญญาณ” (หมายเหตุ: คำว่า "ศาสนาวิญญาณนิยม" หรือ "ศาสนาผี" บางครั้งจะถูกเรียกทางวิชาการเพื่อเลี่ยงนัยของการดูถูกว่า "primitive religion" ซึ่งคงเรียกเป็นภาษาไทยว่า ศาสนาบรรพกาล ซึ่งหมายถึงศาสนาของยุคโบราณที่ล้วนมีลักษณะของ "ศาสนาวิญญาณนิยม" ทั้งนั้น)

ศาสนาวิญญาณนิยม เป็นแนวความเชื่อที่ว่า (๑) วิญญาณ (หรือผี) มีจริง ต่อมาก็เชื่อว่า
(๒) วิญญาณเป็นอมตะ ต่อมาก็เชื่อว่า (๓) วิญญาณ เหล่านี้เป็นอำนาจเหนือธรรมชาติ ที่คอยรักษากฎเกณฑ์ของธรรมชาติและสังคมมนุษย์ให้เสมอภาคและยุติธรรม

โดยสรุปแล้ว ศาสนาผี หรือศาสนาวิญญาณ เป็นศาสนาบรรพกาล ยุคโบราณ เป็นรากฐานความเชื่อดั้งเดิมของมนุษย์ เช่น ในเอเชียอุษาคเนย์ นั้นมีรากฐานของศาสนาผีมาก่อนศาสนาพุทธ เชื่อเรื่องวิญญาณ เชื่อว่าสิ่งมีชีวิตมีวิญญาณ(จิต) และหลายเรื่องจะเชื่อว่าสิ่งไม่มีชีวิตก็มีวิญญาณ เช่น ศาลเจ้าที่ ต้นไม้ตะเคียนเก่าแก่ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น ซึ่งเกิดจากอิทธิพลทางศาสนาและความคิด ความเชื่อของชาวบ้าน นั่นเอง

๓.๒ ศาสนาของขลัง

ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ กล่าวว่า ศาสนาวิญญาณได้พัฒนาไปสู่การเป็นศาสนาของขลัง หรือศาสนาบูชาวัตถุศักดิ์สิทธิ์ (คือบูชาผีที่สิงสถิตอยู่ในวัตถุต่างๆ) ภาษาเทคนิคเรียกว่า Fetishism คำว่า Fetish มาจากคำว่า Feitico ในภาษาโปรตุเกส ต่อมาชาวยุโรปในศตวรรษที่ ๑๕ ใช้คำว่า Fetish หมายถึง เวทมนต์ คาถา อาคม ที่มีอยู่ในเครื่องราของขลัง ดังนั้น คำว่า Fetishism จึงหมายถึงศาสนาหรือลัทธิที่บูชาวัตถุที่ถือเป็นของขลังหรือของศักดิ์สิทธิ์

ศาสนาบูชาของขลังเป็นผลสืบเนื่องต่อจากความเชื่อว่า วิญญาณมีอยู่จริง ต่อมาก็เลยมีความเชื่อว่า มีวิญญาณอยู่ในวัตถุต่างๆ อย่างไรก็ดี มีนักวิชาการบางท่านกล่าวว่า ความเชื่อของชาวแอฟริกาที่ว่า วัตถุต่างๆ อย่างเช่นเครื่องรางของขลัง มีอำนาจศักดิ์อยู่มิได้ขึ้นอยู่กับความเชื่อในเรื่องการมีอยู่ของวิญญาณ หากแต่เชื่อว่า “มีพลังชีวิต” อยู่ในนั้น

โดยสรุปแล้ว ศาสนาของขลังมีอยู่ทั่วโลกแต่จะมีวิธีคิด วิถีความเชื่อแตกต่างกันออกไปตามความเชื่อท้องถิ่น โดยเฉพาะในพุทธศาสนาแบบเถราวาทไทย เราจะเห็นของขลังและวัตถุมงคลจำนวนมาก ที่เชื่อว่าวัตถุนั้น “มีวิญญาณอยู่จริงๆหรือมีชีวิตจิตใจ” เช่น พระพุทธรูป พระกริ่ง พระเครื่อง ผ้ายันต์ ตระกุด เป็นต้น ซึ่งเชื่ออีกว่าสิ่งเหล่านี้มีอำนาจหรือพลังที่ดลบันดาลให้ผู้ครอบครองประสบความสำเร็จดังปรารถนา

ตามความเชื่อท้องถิ่นในประเทศไทย เราจะพบคติความเชื่อ เรื่อง ความศักดิ์สิทธิ์แบบวิญญาณนิยมที่อยู่ในรูปของอุเทสิกเจดีย์(พระพุทธรูป) จำนวนมาก เช่น แต่ละท้องถิ่นมีพระคู่บ้านคู่เมือง ขอสิ่งใดก็จะมีพลังที่ดลบันดาลให้ผู้ครอบครองประสบความสำเร็จดังปรารถนา เป็นการผสมผสานกันระหว่างศาสนาพุทธ เรื่อง การบูชาพุทธคุณโดยวัตถุและศาสนาผีที่บูชาเรื่องวิญญาณ

ความเป็นวิญญาณนิยมในพระพุทธรูป คือ ความเชื่อว่าพระพุทธรูปมีจิตสำนึกรับรู้ดุจสิ่งมีชีวิต มีการเปรียบเทียบเป็นลักษณะของบุคคลาธิษฐาน เชื่อว่าเป็นบุคคล มีการตั้งชื่อให้ เช่น หลวงพ่อต่าง ๆ ตามวัด ที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันก็ยังมีความเป็นของขลัง มีความเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สามารถป้องกันภัยอันตรายได้ เกื้อหนุนเราให้เจริญรุ่งเรืองได้ ซึ่งปัจจุบันเราอยู่ในสภาวะของพุทธที่ว่า "พระพุทธรูปบังพระพุทธเจ้า" เพราะเวลาที่เรากราบไว้พระพุทธรูป เราจะนึกถึงเฉพาะการขอวิงวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ตนเองเเละคนรอบข้างเจริญรุ่งเรือง เรามักยังคงเชื่อแบบพื้นบ้านว่า "ความเป็นจิตกำหนดวัตถุ" แม้กระทั่งในศาสนาเองก็ยังคงเชื่อว่า พระพุทธรูปซึ่งเป็นวัตถุมีจิต เราประดิษฐ์สร้างพิธีกรรมทุกอย่างเพื่อยกให้พระพุทธรูปอยู่จุดสูงสุดของจิตวิญญาณ ตั้งคำถามไม่ได้ เพราะจะบาปตกนรกไปตาม ๆ กัน  เวลาไหว้พระเรามักจะนึกถึงสิ่งอื่น น้อยนักที่จะนึกถึงหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเราต้องกลับมาใช้ปัญญาในการใคร่ครวญว่าแก่นของพุทธศาสตร์ คือ อะไร เเล้วเราจะเดินทางตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างไรให้บรรลุถึงจุดสูงสุดของศาสนา

.บทสรุป

พระพุทธรูปในความเชื่อแบบวิญญาณนิยม เป็นความเชื่อที่ผสมผสานระหว่างศาสนาพุทธและศาสนาผี โดยศาสนาพุทธ เชื่อเรื่อง การสร้างอุเทสิกเจดีย์ขึ้นมาเพื่อรำลึกถึงพุทธานุสติและพุทธคุณ ๙ หรือรำลึกถึงความดีของพระพุทธเจ้านั่นเอง เมื่อมีการสร้างพระพุทธรูปท่ามกลางดินแดนที่เคยเป็นศาสนาผีมาก่อนในบริเวณเอเชียอุษาคเนย์ ย่อมทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างความเชื่อทางศาสนาผี คือ เรื่องของวิญญาณและของขลังร่วมด้วย

ทั้งนี้วิธีการปฎิบัติตามความเชื่อในการเคารพบูชาพระพุทธรูปแบบวิญญาณนิยมของแต่ละท้องถิ่น ก็จะแตกต่างกันออกไป ตามพื้นฐานทางศาสนา ภูมิศาสตร์ การเมือง หรือเศรษฐกิจ แต่มีจุดร่วมเหมือนกัน คือ เป็นการผสมผสานระหว่างรูปเคารพของชาวพุทธแต่มีพลังอำนาจในเชิงวิญญาณนั่นเอง

นักวิชาการหลายท่านอาจตีความว่าเป็นวิกฤติทางความเชื่อ แต่โดยส่วนตัวผู้เขียนมองว่าเรื่องราวเหล่านี้ไม่ใช่วิกฤติทางความเชื่อแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องของการประณีประนอมทางความเชื่อ เพื่อจะดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขระหว่าง ๒ ศาสนาทั้งพุทธและผีนั่นเอง

อย่างไรก็ดี พุทธทาสกล่าวว่า “อย่าให้พระพุทธรูปบังพระพุทธเจ้า” เมื่อเรากราบไว้พระพุทธรูปให้รำลึกถึงพุทธานุสติ เพราะแก่นแท้ของชาวพุทธอยู่ที่การปฏิบัติให้รู้ ตื่นและเบิกบาน ให้พ้นทุกข์ตามพุทธดำรัส จุดสูงสุด คือ นิพพาน นั่นเอง

เขียนโดย
ธีระวุฒิ ศรีมังคละ
๑๖ ก.พ. ๒๕๖๐


[1] ดำรงราชาชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา, ตํานานพระพุทธเจดีย์, (พระนคร: ศลิปาบรรณาคาร, ๒๕๑๓), หน้า ๑๐

[2] สุภัทรดศิ ดิศกลุ , หม่อมเจ้า, ศิลปะอินเดีย, (กรุงเทพมหานคร: องค์การค้าของคุรุสภา , ๒๕๑๖), หน้า๗๖-๘๓

[3] เสรีพงศ์พิศ, “ไสยศาสตร์ในสังคมไทย”, ใน เอกสารการสอนชุดวิชา ความเชื่อและศาสนาในสังคมไทย, (นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ๒๕๓๓), หน้า ๓๑๔

[4] เรณูอรรฐาเมศร์, คติชนวิทยา, (เชียงใหม่ : คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์สถาบันราชภัฏ

เชียงใหม่, ๒๕๓๓), หน้า ๑๕๘.

[5] พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์, ศาสนาเบื้องต้น, (เชียงใหม่; ภาควิชาปรัชญาและศาสนาคณะมนุษยศาสตร์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,๒๕๔๗), หน้า ๓๙ -๔๐.

หมายเลขบันทึก: 623461เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2017 20:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กันยายน 2019 22:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ฟอนท์เพี้ยนหลายจุดครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท