​ชีวิตที่พอเพียง : 2847. พัฒนาองค์กรระดับจังหวัด เพื่อพัฒนาเยาวชน



โครงการพัฒนาองค์กรระดับจังหวัด เพื่อพัฒนาเยาวชน ของมูลนิธิสยามกัมมาจล ทำที่จังหวัดสงขลา น่าน ศรีสะเกษ และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันตก จังหวัดละ ๑ องค์กร หลักการคือองค์กรเหล่านี้ไปหนุนเยาวชนให้รวมกลุ่มกันทำงานพัฒนาพื้นที่เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง โดยมีพี่เลี้ยงคอยแนะนำ


เกิดการเรียนรู้ขึ้นในหลายมิติ ทั้งในเยาวชนที่รวมตัวกันทำโครงการ ในผู้คนชุมชน ในองค์กรที่ทำหน้าที่จัดการหรือเป็นพี่เลี้ยง และในมูลนิธิสยามกัมมาจล และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือการเรียนรู้ในระดับองค์กร ขององค์กรที่ทำงานพัฒนาเยาวชน


ผมเคยเล่าเรื่องนี้ไว้ ที่นี่


เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๐ มูลนิธิสยามกัมมาจล นำความก้าวหน้าของโครงการมารายงานต่อคณะกรรมการมูลนิธิ เห็นความก้าวหน้าอย่างน่าชื่นใจ โดยในด้านผลต่อเยาวชน เน้น ๖ ด้านดังนี้


  • รู้จักตนเอง
  • รู้จักชุมชนถิ่นเกิด เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของชุมชน สังคม และโลก
  • มีทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ
  • มีทักษะในการทำงาน และทักษะในการทำงานเป็นทีม
  • มีทักษะในการสื่อสาร และรู้เท่าทันสื่อ
  • มีสำนึกความเป็นพลเมือง


ที่จริงเป้าการสร้างสำนึกพลเมืองของโครงการนี้อยู่ที่เยาวชน จังหวัดละ ๑๐๐ คนต่อปี แต่ฟังความคืบหน้าแล้ว ผมคิดว่าได้มากกว่านั้นแยะ คือชาวบ้านในท้องถิ่นนั้นก็ได้ร่วมโครงการกับเยาวชนด้วย หรือได้ร่วมรับผลดีจากโครงการ สำนึกพลเมืองน่าจะเกิดขึ้นในวงกว้าง รวมทั้งสำนึกรักบ้านเกิด


โครงการนี้เน้นที่การพัฒนาองค์กร ให้ทำงานเก่ง จึงต้องมีการวัดผลงาน โดยวัด ๔ มิติ ได้แก่


  • ระบบบริหารองค์กร
  • ทักษะของพี่เลี้ยง (โค้ช)
  • การพัฒนาคุณลักษณะของเยาวชน ๑๕ ด้าน
  • ปัญหาที่ได้รับการคลี่คลาย


คุณลักษณะของเยวชน ๑๕ ด้าน ที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนา ได้แก่ (๑) รู้จักชุมชน (๒) มีสำนึกต่อส่วนรวม (๓) ร่วมแก้ปัญหาชุมชน (๔) คิดวิเคราะห์เป็น (๕) บริหารจัดการโครงการเป็น (๖) บริหารจัดการการเงินเป็น (๗) พูดสื่อสารเป็น (๘) สืบค้นข้อมูลมาใช้เป็น (๙) เขียนข้อเสนอโครงการเป็น (๑๐) รู้ศักยภาพของตนเอง (๑๑) ทำงานเป็นทีมเป็น (๑๒) รับฟังผู้อื่นเป็น (๑๓) จัดการอารมณ์ตนเองเป็น (๑๔) มีความรับผิดชอบ (๕) มีทักษะการแก้ปัญหา


เนื่องจากบันทึกนี้เป็นเรื่องการพัฒนาองค์กร จึงขอนำประเด็นการพัฒนาระบบบริหารจัดการองค์กร ๔ ด้านคือ

  • การสร้างพื้นที่การเรียนรู้ภายในทีม เพื่อพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่
  • การทำงานเชื่อมโยงกับเครือข่าย
  • การสื่อสาร
  • การระดมทุน


ในด้านทักษะของพนักงานขององค์กร ที่ทำหน้าที่พี่เลี้ยงแก่เยาวชน ประเมินความก้าวหน้าของทักษะ ๖ ด้านคือ

  • เข้าใจปัญหาชุมชน
  • เสริมพลัง สร้างแรงบันดาลใจ
  • ออกแบบการเรียนรู้
  • วิเคราะห์พัฒนาการ
  • สื่อสาร
  • เชื่อมโยงงานเยาวชนกับจังหวัด


วิจารณ์ พานิช

๑๙ ม.ค. ๖๐


หมายเลขบันทึก: 622739เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2017 22:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2017 22:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท