ชีวิตที่พอเพียยง : ๒๔๗๖. พัฒนาองค์กรระดับจังหวัด สร้างเยาวชนพลเมืองเพื่อประเทศไทยน่าอยู่



วันที่ 2 กรกฎาคม 2558 ผมไปร่วม ประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาองค์กรระดับจังหวัด เพื่อสร้าง พลเมือง เพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ครั้งที่ 1 / 2558โครงการนี้สนับสนุนโดย สสส. และมูลนิธิสยามกัมมาจล สนับสนุนให้ หน่วยงานอิสระในจังหวัดสงขลา สมุทรสงคราม ศรีสะเกษ และน่าน ดำเนินการพัฒนาเยาวชนเพื่อให้เติบโตไปเป็นพลเมือง ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีจิตสาธารณะ หรือจิตสำนึกพลเมือง

หัวใจสำคัญของการดำเนินการโครงการนี้คือ การพัฒนาเยาวชนโดยให้เยาวชนทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้พัฒนาตนเอง และทำประโยชน์ให้แก่ชุมชนหรือสังคมไปในตัว ผ่านการทำโครงการจิตสาธารณะ

พี่เลี้ยงผู้ดำเนินการโครงการนี้ทั้ง 4 จังหวัดกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องตั้งสติว่าไม่ใช่แค่ทำให้โครงการเพื่อชุมชน ของเยาวชนสำเร็จ แต่ต้องได้ผลการพัฒนาจิตสำนึกพลเมืองของเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการเป็นเป้าหมายหลัก โดยหวังว่าเยาวชน จะเกิดการเรียนรู้ 4 ด้านคือ

1. รู้จักตนเอง รู้จักชุมชน

2. พัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21

3. สร้างลักษณะนิสัย

4. สร้างความรู้จากการปฏิบัติ

ผมนั่งฟังอย่างตั้งใจ เพื่อหาร่องรอยของการขยายตัวจากโครงการของเยาวชน สู่โรงเรียนหรือสถานศึกษา เข้าสู่การเรียนรู้ในหลักสูตรตามปกติ เชื่อมโยงกับการเรียนแบบ PBL (Project-Based Learning) ที่นักเรียน/นักศึกษา เรียนโดยการทำโครงการจิตอาสาในชุมชน

พบว่า ป้าหนู (คุณ พรรณิภา โสตถิพันธุ์) แห่งสงขลาฟอรั่ม พูดถึง มรภ. สงขลา ที่คณบดี และรองคณบดี คณะครุศาสตร์บอกว่าจะเอากิจกรรมเข้าไปในหลักสูตร แต่ก็ไม่ชัดว่า เอาเข้าหลักสูตรอย่างไร ผมเองมองว่า สามารถเข้าไปในหลักสูตรได้ในทุกสาขาวิชา ไม่ใช่เฉพาะสาขาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เท่านั้น การเรียนจากกาทำโครงการในพื้นที่ จากสภาพจริงชีวิตจริง คือการเรียนที่แท้จริง เมื่อตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด ที่พี่เลี้ยงหรืออาจารย์มีทักษะในการตั้งคำถาม นักศึกษาจะได้เรียนรู้ในลักษณะที่เรียกว่า เกิด “การเรียนแบบรู้จริง” (mastery learning)

อ่านเรื่องราวและดูวีดิทัศน์กิจกรรมสร้างพลเมืองเยาวชนของสงขลาฟอรั่มได้ ที่นี่

ผมจ้องฟังว่า มี อบต. / เทศบาล / พมจ. / ฯลฯ ในพื้นที่ เข้ามาร่วมกันพัฒนาเยาวชน สู่ความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง อย่างไรบ้าง เพราะเราอยากเห็นการถักทอกันในพื้นที่ ผมจึงดีใจที่คุณใหญ่ (นงนาท สนธิสุวรรณ) เอ่ยขึ้นว่า ควรหาทางร่วมมือกับ สรส. เพื่อดึง นักถักทอชุมชนเข้ามาร่วมกันทำงานสร้างพลเมืองเยาวชนนี้ด้วย ผมสนับสนุน ความคิดนี้เต็มที่ และทางมูลนิธิสยามกัมมาจล จะเชื่อมโยงนักพัฒนา ๒ กลุ่มนี้ต่อไป

วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๘ คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม และผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการ สถาบันคลังสมองของชาติมีรายงานผลงานเรื่อง “บทบาทสถาบันอุดมศึกษาด้านอาสาสมัครต่อสังคม” ผมจึงเสนอต่อที่ประชุมว่า สถาบันคลังสมองน่าจะ เชื่อมโยงความร่วมมือกับสภากาชาด และมูลนิธิสยามกัมมาจล เพื่อสนับสนุนกิจกรรมอาสาสมัครในจังหวัดต่างๆ โดยเริ่มจาก ๔ จังหวัดในโครงการพัฒนาองค์กรระดับจังหวัดฯ นี้ เพื่อร่วมกันสร้างพลเมืองเยาวชนที่ฉันทะและทักษะในการทำงานอาสา เพื่อประโยชน์ส่วนรวม

กลับมาที่การประชุมเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม คุณรุ่ง แห่ง สกว. ท้องถิ่น จ. ศรีสะเกษ นำเสนอด้วยท่าทีและวาจา ในทำนอง “มาทำงานร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล” ผมนึกในใจว่า หากทำงานพัฒนาพื้นที่/ชุมชน ด้วยท่าทีเช่นนี้ ก็จะไม่ไปไหน เพราะมัวแต่มุ่งทำตามความต้องการของแหล่งทุน คนทำงานเพื่อการพัฒนาพื้นที่/ท้องถิ่น ต้องทำงานด้วยพลังขับดันภายใน (passion) ของตนเป็นหลัก มุ่งประโยชน์ของพื้นที่/ชุมชน เป็นหลัก หาสรรพกำลัง/ทรัพยากร มาหนุนให้ตนได้ทำตามแรง ปรารถนา ไม่ใช่ไปรับใช้แรงปรารถนาของคนอื่น แทนที่คุณรุ่งจะมองว่าตน มาร่วมงานกับมูลนิธิสยามกัมมาจล ควรมองว่า มูลนิธิสยามกัมมาจลไปช่วยให้คุณรุ่งบรรลุฝันของตน

นี่คือขบวนการสร้างสำนึกพลเมือง สร้างคนที่มีคุณค่าต่อสังคม ไม่ใช่เฉพาะเยาวชนที่มาร่วมดำเนินการโครงการเท่านั้น พี่เลี้ยง ผู้จัดการโครงการ ทีมของมูลนิธิสยามกัมมาจล และสมาชิกของคณะกรรมการกำกับทิศฯ ของโครงการ ต่างก็ได้พัฒนา ตนเองด้วยกันทั้งสิ้น รวมทั้งเราต้องการขยายผลไปยังพ่อแม่ผู้ปกครอง และคนในหน่วยงานพัฒนาเยาชนในพื้นที่ และคนใน พื้นที่ทั้งหมด คุณแอนน์ ผู้อำนวยการสำนักภาคีสัมพันธ์ของ สสส. ให้ความเห็นในประเด็นนี้ ซึ่งผมสนับสนุนเต็มที่

คุณเมธ์วดี แห่ง อโชกา ให้ความเห็นว่า ต้องสร้างระบบนิเวศในพื้นที่ ให้พี่เลี้ยงและทีมแกนนำทำงานนี้ต่อไปได้สะดวกและ ต่อเนื่องยั่งยืน จะเห็นว่า การทำโครงการยังไม่เพียงพอ ต้องหาทางเปลี่ยนระบบสังคม ให้เอื้อต่อการพัฒนาเยาวชนพลเมือง ไม่เอื้อต่อการมอมเมาเยาวชน เพื่อแสวงผลประโยชน์ต่างๆ

ระบบนิเวศน์ ที่ชักจูงเยาวชนไปในทางเสื่อมเสีย จะต้องได้รับการแก้ไข มีคนเอ่ยว่าวัด (เดาว่าเป็นบางวัด) ก็เป็นแหล่งมั่วสุมของวัยรุ่น ประเด็นนี้โครงการพัฒนาองค์กรระดับจังหวัดฯ ไม่ได้แตะ เน้นทำงานเชิงบวก เปิดโอกาสให้ เยาวชนฝึกฝนตนเองโดยการทำความดีเป็นหลัก เพราะหน่วยงานที่ทำกิจกรรมนี้ในจังหวัดทั้งสี่ ไม่ใช่องค์กรที่มีอำนาจ แต่ก็ควรสื่อสารผลงานของโครงการ และเสนอแนะหน่วยงานที่มีอำนาจในพื้นที่ ดำเนินการปรับระบบนิเวศน์

ผมให้ความเห็นในเรื่องการใช้ข้อมูล ให้เป็นประโยชน์ โดยยกตัวอย่าง PowerPoint ของทีมสมุทรสงคราม ที่ระบุปัญหาเยาวชน ว่าได้แก่ “ติดสารเสพติด แข่งรถ ติดเกม/เล่นพนัน ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ก้าวร้าว ติดเพื่อน รักสบาย ตื่นสาย ฯลฯ” ซึ่งเราเชื่อว่าจริง แต่เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการระยะยาวต่อเนื่อง และเพื่อแสวงหาทรัพยากรในพื้นที่มาสนับสนุน กิจกรรม จึงควรเก็บข้อมูล ว่าแต่ละปัญหามีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด เมื่อมีการดำเนินการพัฒนาองค์กรระดับจังหวัดฯ ตัวเลขในแต่ละเรื่องเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โดยผู้เก็บและวิเคราะห์ข้อมูลควรเป็นเยาวชนในพื้นที่นั่นเอง ถือเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน เพื่อสร้างพลเมืองเยาวชน

การเก็บข้อมูลเป็นระยะๆ จะช่วยให้เยาวชนเห็นความก้าวหน้าหรือไม่ก้าวหน้าของโครงการด้วยตนเอง จะได้ระดม ความคิดกันทำความเข้าใจ เหตุผลที่ก้าวหน้าหรือไม่ก้าวหน้า และคิดปรับปรุงกิจกรรมต่อไป การส่งเสริมกิจกรรม ของเยาวชนนั้น ต้องไม่มุ่งทำเป็นโครงการระยะสั้น และแยกๆ กันทำเป็นชิ้นงานย่อยๆ เยาวชนต้องได้ทำงานามที่ตนรับผิดชอบ โดยเข้าใจภาพใหญ่ในพื้นที่/ชุมชน ของตน และมุ่งวางพื้นฐานให้มีการส่งต่องานรุ่นต่อรุ่น โดยมีเป้าหมายหลักที่การพัฒนา เยาวชนในพื้นที่ ไม่ใช่ที่การสนองโครงการของ สสส. และมูลนิธิสยามกัมมาจล

ผมอยากเห็นโครงการที่เป็นการพัฒนาธุรกิจขนาดเล็ก(จิ๋ว)ที่ยั่งยืน เป็นสัมมาชีพได้ ได้ทั้งการพัฒนาสัมมาชีพ ของเยาวชนผู้ทำโครงการ และเกิดประโยชน์ต่อชุมชน อยากให้ทีมขอมูลนิธิสยามกัมมาจล จับภาพกิจกรรมที่เกิดผลเช่นนี้ และวิเคราะห์ทำความเข้าใจว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

วิธีการโค้ชเยาวชน ที่ทำโดยพี่เลี้ยง น่าสนใจมาก ผมอยากให้มีการจดบันทึกวิธีการโค้ช และนำมา ลปรร. (แลกเปลี่ยนเรียนรู้) กันในวงเสวนา ๔ จังหวัด ผมเชื่อว่า ทีมพี่เลี้ยงของแต่ละจังหวัด ได้คิดริเริ่มสร้างสรรค์วิธีการขึ้นมากมาย ทั้งที่ได้ผลดี และที่ล้มเหลว หากมีการจดบันทึก และนำมา ลปรร. ทีมจังหวัดอื่นจะได้ไม่ทำผิดซ้ำ และจะได้นำวิธีการที่ได้ผลดีไปประยุกต์ใช้ และต่อยอดความรู้ต่อไป

ในสายตาของผม วิธีโค้ชเยาวชนที่น่าจะได้ผลดี รูปแบบหนึ่ง คือการใช้ BAR และ AAR การโค้ชด้วยกระบวนการ BAR และ AAR นี้ มีพลังมาก ทั้งในด้านตอกย้ำให้ทีมเยาวชนเป็นเจ้าของโครงการที่ทำ และในแง่ที่ทำให้เป้าหมายของกิจกรรม /โครงการมีความชัดเจน ในระดับคุณค่า รวมทั้งในแง่ที่ ช่วยให้เยาวชนได้เห็นความก้าวหน้า หรือความสำเร็จในระดับ เป้าหมายรายทาง (milestones) ที่จะไปสู่เป้าหมายปลายทาง (goal) ในที่สุด

วิธีตั้งคำถาม ในการทำกระบวนการ BAR มีตัวอย่าง ที่นี่ และตัวอย่างคำถามใน AAR ที่นี่

รูปแบบหนึ่งของ AAR คือการชวนกลุ่มเยาวชน ไตร่ตรองสะท้อนคิด (reflection) ว่าตนเอง/กลุ่ม ได้เรียนรู้/เติบโต อย่างไรบ้าง ในด้านการเป็นพลเมือง และด้านอื่นๆ โดยทำเป็นระยะๆ และชวนกันไตร่ตรองว่า หากจะให้ได้เรียนรู้/พัฒนา ยิ่งกว่าที่ผ่านมา ควรทำอย่างไร

อีกคำถามหนึ่ง คือ ชวนกันตั้งคำถาม และหาคำตอบว่า หากจะให้โครงการได้ผลต่อเนื่องยั่งยืน จะดำเนินการต่อเนื่อง จากโครงการปัจจุบันอย่างไร จะไปชวนใคร/หน่วยงานใด มาร่วม ร่วมในลักษณะใด

ผมอยากให้ ทีมของทั้ง ๔ จังหวัด ร่วมกันถอดบทเรียน รวบรวมทักษะของการทำหน้าที่พี่เลี้ยง

และอยากให้พี่เลี้ยง และเยาวชน ร่วมกันคิดเชื่อมโยงสู่กิจกรรมอื่น เยาวชนกลุ่มอื่น พี่เลี้ยงกลุ่มอื่น และหน่วยงานสนับสนุนอื่น ในพื้นที่ เพื่อสร้างความยั่งยืนต่อเนื่องของกิจกรรมพัฒนาเยาวชน ในพื้นที่


วิจารณ์ พานิช

๘ ก.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 593604เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2015 17:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 สิงหาคม 2015 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท