หลุมพรางวิทยากรกระบวนการ


วันนี้ผมขอชวนให้ทุกคนที่ทำหน้าที่เป็น "วิทยากรกระบวนการ" (Facilitator) ได้ทบทวนว่า ที่ผ่านมาเราเคยตกอยู่ในกับดักซึ่งทำให้งานของเราไม่มีพลังหรือไม่ครับ

๑. กำหนดคำตอบล่วงหน้าไว้แล้ว ... การจัดกระบวนการก็เพื่อให้ผู้เข้าร่วมตอบคำถามอย่างที่เราอยากให้ตอบเท่านั้น แม้จะเป็นคำถามปลายเปิด แต่ก็ถูกกำหนด หรือคาดการณ์ไว้แล้วว่าคำตอบจะออกมาเช่นไร

๒. คำถามเดิมๆ คำตอบก็เดิมๆ ... การตั้งคำถามถือเป็นหัวใจสำคัญ คำถามที่ดีต้องทำให้ผู้ฟังฉุกคิดได้ ไม่ใช่ฟังคำถามเสร็จ ก็ตอบคำถามแบบพื้นๆได้โดยไม่ต้องไตร่ตรองอะไร คำถามที่ดีเท่านั้นที่จะสามารถนำมาซึ่งคำตอบที่ดีได้

๓. มีความเป็นทางการสูง ... จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ดีในสถานการณ์ที่บีบคั้น หรืออยู่ในรูปแบบการประชุมที่แข็งตัว แต่เกิดจากความว่างและสภาพแวดล้อมที่ทำให้เราสามารถ "ปิ๊งแว๊บ" อะไรใหม่ๆ ได้

๔. ร่วมคิด แต่ไม่มีใครลงมือทำ ... ภาษาในวงการเรียกกันว่า NATO หรือ No action, talk only นั่นเพราะเราต่างมุ่งเน้นไปที่การระดมสมอง แต่เรากลับละเลยการระดมจิตใจของผู้คนให้มีพันธสัญญา (Commitment) ต่อกันในการลงมือทำอะไรบางอย่างให้เกิดขึ้น

๕. ไม่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ... จัดกระบวนการกี่ครั้งก็ทำแบบเดิมๆ เพราะเชื่อว่าสิ่งทีทำอยู่ดีอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงโลกไม่เคยหยุดหมุน เราจึงควรท้าทายความคิดและตั้งคำถามกับสิ่งที่ตนเองทำอยู่เสมอว่านั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดแล้วจริงหรือไม่

๖. ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ... จัดกระบวนการมาหลายครั้ง มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก แต่ไม่เคยมีอะไรเปลี่ยนแปลง หรือไปสร้างผลกระทบใดๆเลย แบบนี้เรียกว่ามี output แต่ไม่มี outcome

หมายเลขบันทึก: 622729เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2017 20:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2017 20:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท