หัวปลาต้มซีอิ๊ว


เมนู "เมกาโลดอนต้มซีอิ๊ว"

อ่านนิยานเรื่อง “Megalodon มนุษย์ คลื่นยักษ์ ฉลามดึกดำบรรพ์” ของอาจารย์ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ใช้เวลาเพียง ๒ วันก็จบ เพราะมันวางไม่ลง สนุกจริงๆ

ดูเหมือนนิยายรักที่แปลกๆ ที่ใส่เนื้อหาวิทยาศาสตร์ทางทะเล มันทำให้คนอ่านอย่างผมอินกับเนื้อหาของสารคดีมากกว่าความรักของทั้ง ๒ คู่

ไม่น่าเชื่อ ว่าหนังสือเล่มนี้ออกมาก่อนเกิดสึนามิจริงๆเพียง ๒ เดือน ซึ่งนั่นหมายความว่า ดร.ธรณ์เขียนมันมาก่อนหน้านี้นานกว่า ๒ เดือน ไม่อยากจะนึกว่าครั้นเมื่อเกิดสึนามิจริงๆในวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๗ นั้น อาจารย์จะรู้สึกอย่างไร

มันเป็นไปได้อย่างไร

แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความคัางเติ่งของอารมณ์ นอกจากจะเอาไอ้เมกาโลดอนมานอนฝันจนสะดุ้งตื่นแล้ว ผมยังไม่หายแค้นมัน จึงเป็นที่มาของเมนูอาหารในวันนี้

"หัวเมกาโลดอนต้มซีอิ๊ว"

อยากรู้ไหมครับว่าผมทำอย่างไร

ผมใช้หัวเมกาโลดอน ๑ หัว เอามันมาล้างด้วยน้ำเกลือเพื่อเอาเมือกมันออกเสียบ้าง จากนั้นผึ่งตากไว้ในร่มสักครู่ ไม่เอาตากแดดนะครับ ไม่อยากกินเมกาโลดอนแดดเดียว

ระหว่างที่รอ ผมก็หั่นหัวไชเท้า

ชื่อมัน พาให้นึกไปถึงพยาธิปากขอที่ชอบไชเท้าคนเดินเท้าเปล่าไปขี้กลางทุ่งเมื่อกว่า ๒๐ ปีก่อน นักเรียนแพทย์รุ่นผม เมื่อรับคนไข้ที่มีเลือดจาง จำต้องขอขี้คนไข้มาส่องดูเสมอ ใครไม่มีขี้ให้ก็ต้องขออนุญาตล้างตูดเอามาจนได้ ใครเจอไข่พยาธิ จะเป็นอันได้เดินยืดอกประหนึ่งฮึโร่ไปได้หลายวัน (แลกกันกับกลิ่นขี้ติดมือ หากเราเผลอไปปิดแผ่นแก้วใกล้เกินไป แล้วน้ำขี้กระเด็นใส่นิ้ว มาถึงตอนนี้ยังจำได้ในวันนั้น วันที่สอบ lab กรี๊ง ในกองอายุรศาสตร์ ข้อที่ตัองดูอึหาไข่พยาธิ ไม่รู้คนด้านหน้าผมมันทำอะไรไว้ เวลาจับตัวดูดอึมาแต้มบนแผ่นแก้วเตรียมส่องกล้องจุลทรรศน์ ผมรับรู้ได้ถึงความเปียกแฉะที่นิ้ว แน่นอนแล้ว "ขี้หก" เอานิ้วมาดมก็ถึงกับเคลิ้ม จากนั้น ผมเชื่อว่า แผ่นกระดาษคำตอบของสถานีด้านหน้า ย่อมอุดมไปด้วยน้ำที่ติดนิ้วมือนักศึกษาแพทย์มาแล้วลูบลงบนกระดาษคำตอบซ้ำแล้วซ้ำเล่า อาจารย์ที่ตรวจข้อสอบท่านจะรู้ไหมนะ)

ผมหั่นแครอทสีส้มสด หั่นขิงแก่มากประสบการณ์ หั่นเห็ดหอมใกล้เน่าเพราะค้างตู้เย็นมาหลายวัน และเห็ดชิตาเกะ อ้อ....อย่าลืมกระเทียมด้วย

เมื่อเตรียมของพร้อมก็ลงน้ำมันงาในกระทะหรือหม้อ (แต่ผมใช้หม้อนะ ผมชอบหม้อ) ใส่หัวเมกาโลดอนลงไปทอดรวนในกระทะร้อนควันฉุยด้วยความเคียดแค้น ปิดฝาหม้อแล้วยกมันเขย่าแรงๆ แทนการใช้ตะหลิวผัด ทำไมน่ะเหรอ ก็หัวปลาชุ่มน้ำ เมื่อลงในน้ำมันก็เกิดการกระเด็นสะเทือนชายหาดเลยน่ะสิ

จนเมื่อหัวของฉลามดึกดำบรรพ์เริ่มเปลี่ยนสีก็ตักมันออกจากหม้อ

สังเกตว่าน้ำมันในหมัอมันเพิ่มขึ้นแฮะ ไอ้ฉลามพันธุ์นี้น้ำมันมันแยะจริงๆ เมื่อหม้อว่างก็เอากระเทียมโยนลงไป (เอาฝาหม้อมาทำเป็นโล่กันน้ำมันกระเด็นด้วยนะ) ใส่ขิงลงไปเพิ่มจะเริ่มได้กลิ่นเย้ายวน เอาผักหัวพยาธิปากขอ แครอท เห็ด ลงไปผัดจนมันเริ่มหอม ใส่พริกไทยดำลงไป แล้วก็บรรจงใส่หัวเมกาโลดอนที่ผัดจนเกือบสุกลงไปร่วมสังคายนาด้วย ได้ที่จึงเติมน้ำลงไปจนท่วมเหงือกปลา มันจะได้ไม่ขาดอ็อกซีเจ้นตายเสียก่อน

คราวนี้ก็ถึงเวลาใช้ฝีมือของแต่ละคนในการปรุงรสนะครับ

ผมใส่เกลือหยิบมือหนึ่ง น้ำส้มมิริน ๑ ทัพพี ซีอิ๊วญี่ปุ่น ๒ ทัพพี ซีอิ๊วขาวไทย ๑ ทัพพี ถึงขั้นตอนนี้ใครอยากใส่น้ำตาลปี๊บสักนิดก็ได้นะครับ แต่ผมไม่ใส่ เพราะลืม

แค่นี้เอง แล้วก็ปิดฝาตั้งไฟอ่อนบ้างแรงบ้าง สลับกับตักคราบเมือกปลาออกเป็นระยะๆ

ช่วงเวลาที่รอมันสุก ผมก็ไปปอกเปลือกมะละกอสายพันธุ์นารีอุปถัมป์

ฮ่า ฮ่า อ่านไม่ผิดหรอกครับ มันคือพันธุ์นี้จริงๆ หวานไม่มากนักแต่หอมกลิ่นดอกไม้เหลือเกิน ชะรอยคงเป็นที่มาของชื่อพันธุ์

"นารีอุปถัมป์" แท้จริงแล้วมันคือพันธุ์อะไรก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าคนไข้เอามาให้ มันจึงถูกตั้งชื่อพิศดารเช่นนั้นแล


ว่าไปเรื่อย อันที่จริงมันก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับจานหลักหรอก แต่มันจะต้องเป็นเมนูตบท้ายของมื้อเย็นครั้งนี้น่ะสิ ฮ่า ฮ่า

รอนานประมาณครึ่งชั่วโมง ของที่อยู่ในหมัอก็เปื่อยได้ที่

บรรจงประคองมันลงจัดใส่จาน จัดรูปวางไว้ให้เหมือนปลาฉลามดึกดำบรรพ์ "เมกาโลดอน" พุ่งทะยานขึ้นมาจากทัองทะเล ผ่านซากปะการังที่ถูกสึนามิถล่มมากองกันอยู่ (เรียกว่า อารมณ์ค้าง ยังไม่หายจากการอ่านหนังสือที่จบลงเมื่อครู่)


จ้าบอกว่าอร่อย แป้งพยักหน้าไม่ปฏิเสธ (เข้าใจว่าคงอร่อยจริง ยังไม่กล้าถามเมีย)

ผมนั่งกินไป จิบไวน์แดงยี่ห้อนารีอุปถัมป์ไป ใช้ตะเกียบคลักลูกตาปลาให้พี่แป้ง หนีบแก้มปลาให้น้องจ้า รินไวน์ให้เมีย

คุณว่าผมมีความสุขไหมล่ะ

ธนพันธ์ ชูบุญผู้เป็นแฟนคลับอาจารย์ธรณ์มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ จาก Advance Thailand Geographic นู่น

๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

<img src="//cdn.gotoknow.org/assets/media/files/001/205/694/large_IMG_2261.JPG" "="">

หมายเลขบันทึก: 622728เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2017 20:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2017 20:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท