อาชญากรรมไซเบอร์ ในรูปแบบ Romance Scams (Thailand Romance Scams : กรณีศึกษา สาวไทยกับผู้ต้องสงสัยไนจีเรีย)


Cybercrime

 

ดร.ปรเมศวร์ กุมารบุญ 

Ph.D. Criminology and Criminal Justice

 


 


 

ผมวางหลักในใจตัวเองว่า อาชญากรรมไซเบอร์ (Cyber Crime) น่าจะแบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ การกระทำต่อ วัตถุ (Matter) และ การกระทำต่อจิตใจ (Mind)
 

Romance Scam นั้นเป็นการกระทำอาชญากรรมต่อจิตใจ ด้วยการปฏิบัติการทางจิตวิทยาของอาชญากร คือ เป็นการหลอกให้รักทางออนไลน์โดยใช้สื่ออินเทอร์เน็ตและโซเชียล มีเดีย ต่างๆเป็นเครื่องมือ เมื่อเหยื่อหลงรักแล้ว ก็จะถูกหลอกเสียเงิน เสียทรัพย์ ไปจนเสียตัว

ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องตลก คนเราจะไปหลงรักคนที่รู้จักจากอินเทอร์เน็ตได้อย่างไร? ผมถึงกับพูดไม่ออกและตกใจมาก เมื่อค้นคว้าไปพบข่าวสาวชาวไทยถูก Romance Scam เลยเถิดจนต้องโทษประหารชีวิตที่มาเลเซียถึง 7 คนและอยู่ระหว่างพิจารณาคดีอีกหลายสิบคน นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แล้ว


 

อาชญากรรมนั้นจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีองค์ประกอบครบ 3 ประการ คือ 1. เหยื่ออ่อนแอ 2. มีโอกาส 3. จิตใจของอาชญากรไม่อดทนต่อการจะทำความผิด

ถ้าเราเป็นคนดีเห็นหญิงสาวผู้อ่อนแอรถเสียข้างทางในซอยแสนเปลี่ยวตอนตีสองท่ามกลางฝนตกหนัก เราคงไม่ก่ออาชญากรรมแน่นอน เพราะเราเป็นคนดีมีจิตใจไม่วอกแวก แต่จิตใจของอาชญากรนั้นเขามองหาโอกาสตลอดเวลาเรียกว่ามี Criminal mind หรือบางคนเป็นคนดีๆมานานก็ตามก็ทนเห็นโอกาสที่ยั่วยุไม่ไหวเช่นกัน แม้แต่พระที่บวชมาเป็นสิบปีเรายังเห็นข่าวทนกิเลสไม่ไหวก็มีให้เห็น

จิตใจของอาชญากรเป็นเรื่องสำคัญ แต่เราเป็นชาวบ้านธรรมดาคงไม่สามารถไปทำอะไรเขาได้และเรากลัวการตกเป็นเหยื่อ สิ่งที่เราทำได้นั้น คือ เราก็ต้องป้องกันความอ่อนแอของเรา และไม่เปิดโอกาสให้เกิดนั่นเอง

ดังนั้นบทความนี้ของผมจึงรวบรวมแนวทางการป้องกันความอ่อนแอ และความพยายามปิดโอกาสของเรา ไม่ให้อาชญากรเข้ามาได้ง่าย โดยหยิบยกทฤษฎีทางจิตวิทยามาให้พวกเราอ่านเพื่อได้เข้าใจกระบวนการทางคิดและอารมณ์ของเราเมื่อจะตกหลุมรักใครสักคน โดยเฉพาะแผนการของอาชญากรที่จะทำให้เราหวั่นไหวนั่นเอง


 

ลักษณะของอาชญากรรม

อาชญากร Romance scam หรือ Scammer ว่าแต่ผมจะเรียกเป็นภาษาไทยว่าอะไรดีนะ นักต้มตุ๋นเหรอ? หรือ “อาชญากรหลอกให้รัก” หรือ "ที่รักออนไลน์กลายมาเป็นโจร" จะดีป่าวนะ? ผมว่าเรียกทับศัพท์จะดีกว่าเดี๋ยววัยรุ่นไม่เข้าใจและที่สำคัญเราจะเสิร์ชอินเทอร์เน็ตค้นคว้าต่อง่ายด้วย

อาชญากรจะขโมยรูปภาพผู้ที่มีเสน่ห์ดึงดูด หน้าตาดี หรือมีชื่อเสียง (โดยเฉพาะในต่างประเทศ) มาสร้าง Facebook เขียน Profile หรือสร้างเพจใน Social medias ต่างๆ หรือ E-mail ตลอดจนการสมัครหาคู่รักออนไลน์ในบริการ Dating websites

ศัพท์เทคนิคทาง Cyber crime เรียกวิธีนี้ว่า Catfishing และพวกเขาจะลงภาพ Lifestyle ที่หรูหราในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อวเพื่อสร้างตัวตนขึ้นมาเสมือนว่ามีอยู่จริง

จากนั้นอาชญากรจะเริ่มทักทาย ส่งข้อความติดต่อสื่อสารกับเหยื่อ จนสนิทสนมคุ้นเคยขึ้นเรื่อยๆ และอาชญากรจะบอกเหยื่อว่า.... “ตกหลุมรักเหยื่อเข้าแล้ว” จนอยากจะแต่งงานกับคุณ และมีอนาคตร่วมกัน

ในกรณีที่อาชญากรอ้างเป็นชาวต่างชาติ จะออกอุบายว่าเดินทางจะมาพบเหยื่อ แต่เกิดเหตุสุดวิสัยขึ้น เช่น กระเป๋าตังค์หาย เกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น ให้เหยื่อโอนเงินมาให้ยืมช่วยเหลือ แล้วจะคืนให้ภายหลังเมื่อไปพบกันแล้ว

“สรุป คือ หลอกให้รัก หาอุบายยืมเงิน แล้วหนี”

 

เริ่มแรกผมว่าจะทำวิจัยเรื่องนี้จริงจังเพราะชนวนเหตุสำคัญของอาชญากรรมนี้คือการก่อ “ความรัก” ขึ้นมา เป็นพิศวาสอาชญากรรม เกิดเป็นศัพท์ใหม่ที่ผมเรียกในใจว่า "ผู้ก่อการรัก" แน่นอนความรักทำให้คนทำได้ทุกอย่างเพื่อความรัก ยิ่งไปกว่านั้นแม้ภายหลังจะรู้แล้วว่าถูกหลอกก็ยังยอมรักโจรต่อไป ถูกใช้ให้ทำความผิดด้วยก็ยอม ติดคุกด้วยก็ยอม อะไรจะขนาดนั้น

กระบวนการก่อให้เกิดความรักเป็นความสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์ แม้จะมีทฤษฎีทางจิตวิทยามากมายที่เคยมีนักวิจัยศึกษาไว้ แต่คนทั่วไปกลับไม่เคยทราบกระบวนการทางความคิดและอารมณ์ของมนุษย์ที่เกิดต่อความรัก แต่ที่แย่กว่านั้นก็คือ บรรดาอาชญากรเหล่านั้นกลับรู้ดีถึงวิธีใช้ประโยชน์จากทฤษฎีทางวิชาการเกี่ยวกับความรักเหล่านี้

 

 

 

สาวไทยกับหนุ่ม (อาชญากร) ไนจีเรีย

ผมกลับเกิดความสนใจเฉพาะกรณี (Case study) ของสาวไทยกับโจรไนจีเรียก่อน เลยมุ่งศึกษาไปที่คดีที่เกี่ยวข้องเฉพาะกับที่ชาวไนจีเรียมาก่อคดี Romance scams กับสาวไทย เนื่องด้วยเป็นเรื่องเหลือเชื่อสำหรับผมมาก เพราะถ้าหนุ่มฝรั่งหรือตี๋หล่อหน้าตาดี คารมดี มาหลอกจีบสาวไทยเพื่อหวังประโยชน์เรายังพอเข้าใจได้ง่าย แต่ชายไนจีเรียที่มาก่อคดีกับสาวไทยนั้นนอกจากไม่หล่อแล้ว เรียกว่าขี้เหร่สำหรับสเป็กสาวไทยก็ว่าได้ แถมยังพูดไทยไม่ได้อีก แล้วกระบวนการทำให้ตกหลุมรักเกิดขึ้นได้อย่างไรนะ?

 

ผมจึงมีคำถามวิจัยว่า “ลักษณะผู้ที่มีโอกาสตกเป็นเหยื่อสูงเป็นอย่างไร? หรืออาชญากรเลือกเหยื่ออย่างไร? (ซึ่งคือคำถามเดียวกัน) และกระบวนการที่เหยื่อตกหลุมรักคนร้ายเป็นอย่างไร”

 

ถ้าเรารู้ว่าคนที่มีโอกาสตกเป็นเหยื่อจะเป็นคนที่มีบุคลิกลักษณะแบบใดหรือเรียกว่าเป็นคนแบบไหนกันนะ นอกจากเราอาจจะช่วยเตือนเขาได้หรือเรารู้ตัวว่า เอ๊ะ นั่นมันเป็นคนแบบเรานี่ อาจจะช่วยป้องกันเหตุร้ายได้มากขึ้น

ที่สำคัญอย่างยิ่งกระบวนการสร้างความรักเป็นเช่นใดนะ ช้าหรือเร็วเขาควบคุมได้หรือไม่ ขณะนี้เรากำลังถูกคนที่รู้จักทางอินเทอร์เน็ตจีบอยู่หรือไม่?

ชาวไนจีเรียหลายคนก่อคดี Romance Scams กับสาวไทยนับร้อยราย เรียกได้ว่ากลายเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติไปแล้วก็ว่าได้ เพราะเท่าที่ผมทราบเบื้องต้นในกรุงเทพมหานครมีชาวไนจีเรียเข้ามาสร้างกลุ่มอาศัยอยู่ร่วมกันหลายร้อยคน ซึ่งคนที่อาจจะมีอคติไว้ก่อนอย่างผมก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะมาท่องเที่ยวหรือทำธุรกิจสุจริต เพราะชื่อเสียงพวกเขาก้องโลกไปแล้วไม่ใช่แค่ไทย หากเราจะเข้า google แล้วค้นคำว่า Nigerian romance scams ก็จะพบเรื่องราวพวกเขามากมาย

 


 

Nigerian 419 แก๊งค์ต้มตุ๋นสะท้านโลกไซเบอร์

แก๊งค์ต้มตุ๋นที่โด่งดังที่สุดในโลกไซเบอร์ก็คือ กลุ่ม อาชญากร ชาวไนจีเรีย ที่ชาวโลกขนานนามว่า Nigerian 419

 

ซึ่งตัวเลข 419 ก็คือ กฎหมายอาญา มาตรา 419 ของประเทศไนจีเรีย ซึ่งบัญญัติความผิดว่าด้วยการฉ้อโกง (Advance-Fee Frauds) เป็นกฎหมายสำคัญที่แก๊งค์ต้มตุ๋นชาวไนจีเรีย จำนวนมากต้องโทษคดี และทวีจำนวนผู้กระทำความผิดมากขึ้นเรื่อยๆ

ในยุคแรกของอินเทอร์เน็ตนั้น พวกเขาใช้ E-mail ในการหลอกลวงต้มตุ๋น อย่างที่เชื่อว่าหลายคนเคยเจอ คือ อี เมลล์ ที่แจ้งว่าคุณได้รับรางวัลหรือมรดกจำนวนมหาศาล แต่ต้องโอนเงินค่าภาษีหรือค่าธรรมเนียมไปให้เขาก่อนหรืออุบายอื่นๆ

เว็บไซต์ FBI จะใช้คำว่า 419 เข้าใจความหมายทันทีว่าเป็นแก๊งค์ต้มตุ๋นทางอินเทอร์เน็ตของชาวไนจีเรีย กลายเป็นคำสากลในอาชญากรรมไซเบอร์ไปแล้ว

แน่นอนครับสาวไทยจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะสาวต่างจังหวัด นิยมชื่นชมฝรั่งต่างด้าวอยากได้เป็นสามีเพราะดูดีมีความศิวิไลซ์ บางคนสร้างภาพมีการศึกษา มีการงานดี มีฐานะ บางทีก็แอบหมายหมั้นใจในว่าอยากช่วยชาติด้วยการนำเงินตราต่างชาติเข้าไทยหากได้เขานั้นมาเป็นสามีชีวิตคงดีดังซิลเดอร์เรลล่า

แต่ฝันร้ายกลับถูกมอบให้สาวไทยที่ฝันหวานอยู่ เมื่อชายชาวแอฟริกันตัวดำผมหยิกยากจนจากไนจีเรีย กระทำย่ำยีหัวใจสตรีชาวไทยด้วยการสร้าง facebook ปลอมขึ้นมา แล้วใช้รูปฝรั่งผิวขาวรูปหล่อขับรถสปอร์ตหรูดูดี มีชีวิตหรูหราในทุกวัน เขาเข้ามาตีสนิทกับพวกเธอ เขาเอารูปจาก facebook ใครสักคนที่ดูดีอีกซีกโลกหนึ่งมาสร้างตัวตนให้เธอเห็น และเริ่มทักทายมาเป็นภาษาอังกฤษ เธอก็รู้สึกตื่นเต้นมากเมื่อชายออนไลน์ที่หมายปองทักทายมาเรื่อยๆ จนเธอต้องเริ่มฝึกภาษาอังกฤษ ตอบไปอย่างกระท่อนกระแท่น วันคืนผ่านไปในที่สุดชายหนุ่มก็สารภาพว่าหลงรักเธออย่างไร้เหตุผลและไม่มีเงื่อนไข เขาจะไม่มีชีวิตอยู่ได้หากไม่มีเธอข้างกาย และแน่นอนเขาจะบินข้ามฟ้ามาหาเธอเพื่อขอแต่งงานให้ได้


 

เขาลาเธอ บอกว่ากำลังจะเดินทางจากดินแดนอันศิวิไลซ์ห่างไกลโพ้นเกินกว่าจะจินตนาการจะมาถึงเธออีกไม่นาน เธอเฝ้ารอด้วยหัวใจคับพองอิ่มเอมชีวิตดังความฝันกำลังจะเป็นความจริง

แต่เวลาแห่งการเดินทางของคนรักทำไมเริ่มช้าผิดปกตินะ ในที่สุดเธอได้รับข้อความว่าชายคนรักของเธอประสบอุบัติเหตุถ้าไม่รีบโอนเงินมาเป็นค่าประกันการผ่าตัด ชายคนรักของเธอต้องตายแน่ๆ เพราะทางโรงพยาบาลติดต่อใครไม่ได้ จึงขออภัยที่ต้องเปิดดูข้อความในมือถือของเขาและคิดว่าเธอเป็นแฟน

 

 หรือบางครั้ง แฟนเธอข้อความมาบอกเองว่า เขากระเป๋าเงินหายตกเครื่องขณะ transit อยู่ที่ไหนสักแห่ง การเดินทางที่แสนจะมีขวากหนามเพื่อไปหาเจ้าหญิงของเขาน่าเห็นใจยิ่งนัก เขาหาทางออกไม่ได้นอกจากจะขอยืมเงินเธอก่อน โอนมาให้เจ้าหน้าที่ขายบัตรโดยสารเลยแล้วกัน อย่างไรก็ตามเขาก็มาหาเธอที่เมืองไทยอยู่ดี แล้วจะคืนให้

คดีที่ผมประทับใจ คือการสร้าง Facebook ปลอมเป็นเจ้าชายผู้สูงศักดิ์จากตะวันออกกลาง อัครมหาเศรษฐีบ่อน้ำมัน เจ้าชายผู้สูงศักดิ์โน้มตัวลงมาหลงรักสาวชาวบ้านที่ไร้เสน่ห์แถมอายุมาก จนในที่สุดเพื่อพิสูจน์รักแท้ เจ้าชายใช้รูปเธอเป็นภาพหน้าปกบน Facebook ประกาศให้ทุกคนรู้ว่า ความรักจริงของเจ้าชายช่างยิ่งใหญ่เหลือเกิน


 


 

ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องมีดังนี้ครับ

ปรากฏการณ์อาชญากรรม Romance scams ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยนั้น เบื้องต้นผมได้ค้นคว้าทฤษฎีและงานวิชาการที่เป็นแนวทางตามคำถามการวิจัย โดยแบ่งเป็น 2 เรื่องหลักคือ กระบวนการเกิดความรัก และลักษณะบุคคลที่มีโอกาสเป็นเหยื่อ ซึ่งมีทฤษฎีที่น่าสนใจดังนี้ครับ

 

ทฤษฎีความรักทางจิตวิทยา

1.ทฤษฎีความรัก (Theory of Love)

นักจิตวิทยาชื่อ ศ.ดร. Robert Sternberg ชาวอเมริกันแห่งมหาวิทยาลัยเยลล์ ได้วิจัยพัฒนาทฤษฎีความรักขึ้นมาและเผยแพร่ในปี 1985 ในระหว่างที่เขาเป็นศาสตราจารย์ที่ ว่าด้วยองค์ประกอบ 3 ประการ เป็นทฤษฏี Triangle of Love ที่ก่อให้เกิดความรักในรูปแบบต่างๆ ขึ้นมาอธิบายได้ โดยปลายของสามเหลี่ยมแต่ละด้าน คือ

- Intimacy คือ ความรู้สึกใกล้ชิด ผูกพันยาวนาน และมีพันธนาการใจ

- Passion คือ ความรู้สึกหลงใหลไปในทางชู้สาว ถูกใจในรูปภายนอก และมีเป้าหมายอยากมีสัมพันธ์สวาท

- Commitment คือ ในระยะสั้นการตัดสินใจอะไรต้องทำร่วมกับอีกคน และในระยะยาวมีการวางแผนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตร่วมกัน

องค์ประกอบ 3 ด้าน ที่จะอธิบายสถานสภาพ "ความรักที่สมบูรณ์" โดยมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกัน 7 ข้อ มีเนื้อหาค่อนข้างยาวซึ่งผมได้เขียนไว้เป็นบทความใน Link นี้ครับ https://www.gotoknow.org/dashboard/home#/posts/618...


 

 

Sternberg กล่าวเตือนไว้ว่า แม้วันหนึ่งคุณได้มีความรักแบบ consummate love สำเร็จแล้วก็ตาม แต่การรักษามันให้คงอยู่นั้นยากกว่ามากนัก เขากล่าวไว้ว่า "even the greatest of loves can die" (1987, p.341) แม้แต่ความรักแบบ consummate love ก็ไม่ใช่สิ่งจีรังยั่งยืน อาทิเช่น ถ้าหาก Passion หายไปในเวลาใดก็ตาม ย่อมส่งผลว่าความรักนั้นมิใช่ consummate love อีกแล้ว

จากทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรักสุดเจ๋งของ Sternberg....แล้วพิจารณาประเมินความสัมพันธ์ของตนเองกับใครสักคนที่คุณมีใจให้ ความสัมพันธ์อยู่ในรูปแบบใดใน 7 แบบนี้ คุณจะเข้าใจตัวเองมากขึ้น และรู้ว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป

จากตัวอย่างรูปแบบ "ความสัมพันธ์ทางใจ" ดังกล่าวเราสามารถตั้งใจสร้างขึ้นได้หรือไม่? นั่นหมายถึงเราสร้างความรักหลอกๆ ให้คนอื่นรักเราได้ โดยที่ไม่มีความรักจริงใช่รักหรือไม่?

ข้อสันนิษฐาน

ข้อสันนิษฐานของผมไม่ใช่ข้อสรุปจากการวิจัย อาจจะยังไม่ใช่ความจริงที่จะสรุปได้ เพียงแต่เกิดจากการสันนิษฐานที่ผมได้ติดตามวิเคราะห์ข่าว โดยใช้เทคนิค Photo voice วิเคราะห์ด้วยตนเองบางส่วน และค้นคว้างานวิชาการที่คาดว่าน่าจะเกี่ยวข้อง เลยสรุปย่อมาดังนี้ครับ

 

 

1.1. การสร้าง Intimacy (ความรู้สึกใกล้ชิดผูกพันมานาน)

ผมเชื่อว่า อาชญากร สร้าง Intimacy เริ่มต้นจากการ Add friend ตามกดไลค์ทุกๆ วัน เริ่มสร้างความสัมพันธ์จากการ comment และแชร์เรื่องที่คุณแชร์ ตามเพจ กีฬา ดูหนัง ฟังเพลง อ่านข่าว แบบเดียวกัน ซึ่งการใช้ Facebook ทำให้อาชญากรหาจุดร่วมได้ง่าย สิ่งเหล่านั้นอยู่ในเพจของคุณหรือการกดไลค์เพจที่คุณติดตาม การจะสนิทสนมกันได้รวดเร็ว ต้องมีเรื่องที่ชอบร่วมกัน ในที่สุดก็เริ่มทักทาย พูดคุยกันบ่อยขึ้น กระบวนการนี้ใช้เวลานาน

แม้จะใช้เวลานาน อาจจะตั้งเป้าเป็นปี แต่แน่นอนเขาไม่ได้คุยกับเราคนเดียว อาจจะ 10-20 คน เลยไม่รีบร้อนโจมตี ใช่ครับการเร่งรีบจีบสาวที่เร็วเกินไปต้องได้คำตอบเดี๋ยวนั้น เหยื่อชั้นดีมักไม่ติดกับดักง่ายๆ มือดีย่อมรู้ว่า เวลาเป็นตัวแปรสำคัญค่อยๆ หยอดดังน้ำหยดลงหินทุกวัน

หากมาเร่งเร้าทำคะแนนท้ายปีหวังปิดยอด หยอดไม่หยุดรุกจีบหนักทักทั้งวัน แม้เหยื่อไม่ติดกับ แต่เธอก็ไม่น่าจะ Unfriend เพราะเหตุผลว่า คนนี้รู้จักมานานแล้ว “เสียดายเวลาที่รู้จักกันมานาน” ประโยคนี้เป็นเหตุผลจากสาวน้อยที่ผมรู้จักเคยเอ่ยให้ได้ยินเมื่อเธอเริ่มรุ้สึกรำคาญเพื่อนใน facebook ที่เริ่มรุกเร้าจีบเธอหนัก

เพราะนั้น Intimacy ไม่ใช่เรื่องยากที่อาชญากรจะสร้างขึ้นได้

 

1.2.การสร้าง Passion (ความรู้สึกหลงใหลไปในทางชู้สาว)

อันนี้เรื่องใหญ่เพราะเป็นเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์เราที่อยากจะมีรูปร่างหน้าตาดึงดูดเพศตรงข้ามที่หมายปองให้หลงใหล

แต่ทฤษฏีทางจิตวิทยาทั้งหมดที่หลายคนคุ้นเคย เป็นการพบเจอตัวบุคคลคนนั้นจริงๆ เจอตัวเป็นๆ สบตากันปิ๊งๆ

แต่คดี Romance scams เป็นการสร้างเสน่ห์ดึงดูดผ่าน facebook หรือ Social media อื่นๆ ไม่ใช่ตัวเป็นๆที่จะเห็นหน้ากัน แน่นอนล่ะ รูปปลอม!!

ดร.แจ๊ค เชเฟอร์ อดีตเจ้าหน้าที่ FBI ได้เขียนหนังสือ FBI Like switch กล่าวว่า โจรปล้นสวาทผ่าน facebook รูปโปรไฟล์ต้องดูดี และแน่นอนจะต้องหน้าตาดีกว่าตัวจริงมาก

ดร.แจ๊ค บอกว่า เสน่ห์ดึงดูดในโลกออนไลน์นั้น การรับรู้ของคนเราแตกต่างจากโลกปกติ เพราะในโลกปกติคนมีเสน่ห์เราจะเทียบเคียงกับคนที่แวดล้อมเขาและเธอ เราจะชื่นชมคนที่โดดเด่นกว่าคนอื่นที่ยืนในแถวนั้น แต่ในรูปโปรไฟล์เขามาคนเดียว ธรรมชาติเราจะเทียบเคียงกับ "ชายในฝัน" และ "นางในฝัน" ถ้ามันเข้าใกล้คนในอุดมคติที่เราเคยคิดไว้ เขาและเธอก็เป็นรองแค่ "ชายในฝัน" และ "นางในฝัน" ของเราเท่านั้นเอง จึงเกิดแรงดึงดูดและประทับใจไปกับรูปปลอมที่ดูดี

 

1.3. การสร้าง Commitment (วางแผนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตร่วมกัน)

การสร้าง Commitment นั้น ในระยะสั้นอาชญากรอาจจะสร้างเรื่องอะไรขึ้นมาที่ต้องเลือก โดยให้เหยื่อช่วยทำการตัดสินใจ เป็นการสร้างความรู้สึกให้มีการตักสินใจต้องทำร่วมกับอีกคน และหากเหยื่อเริ่มติดกับดัก เหยื่อก็จะเกิดความรู้สึกอยากถามความเห็นเมื่อจำต้องเลือกอะไร ก็จะหันมาขอคำปรึกษาเช่นกัน ในระยะยาวก็สร้างเรื่องวางแผนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตร่วมกัน อยากจะแต่งงานกันใช้ชีวิตร่วมกัน

การสร้าง Commitment นั้น เป็นเรื่องที่ไม่ยาก เพราะเมื่อเข้าใจจุดมุ่งหมายในชีวิตของเหยื่อแล้วก็สร้างเรื่องได้ไม่ยาก


 


 

2. ทฤษฎีลักษณะบุคคล

สาเหตุที่นำทฤษฎีลักษณะบุคคลมาช่วยใช้อธิบายปรากฏการณ์ Romance Scam นั้นก็เพื่อเป็นแนวทางให้เข้าใจว่า คนเรามีลักษณะแตกต่างกันอย่างไรบ้าง คนแบบไหนมีโอกาสเป็นเหยื่อและเหยื่อเลือกคนแบบไหนน่าจะง่ายที่สุด

ทฤษฎี Big Five Personality Theory ลักษณะเฉพาะบุคคล 5 ประการ หรือ Big 5 พัฒนาขึ้นโดย Robert McCrae และ Paul Costa บุคลิกภาพ เป็นผลรวมจากคะแนนลักษณะเฉพาะ 5 ด้าน ดังนี้

  • Surgency คือ “เป็นคนเปิดเผยต่อสังคมแค่ไหน” 
    • Extrovert เปิดเผยตัวเองมาก ชอบความตื่นเต้นเร้าใจในชีวิต สังสรรค์ ชอบรู้จักคนแปลกหน้า ชอบเพลงเสียงดัง
    • Introvert ชอบอยู่เงียบๆ เก็บตัวอยู่คนเดียว อ่านหนังสือ ไม่ชอบที่เสียงดัง ไม่ชอบความตื่นเต้น ไม่ชอบเจอคนแปลกหน้า
  • Agreeableness คือ “มีความเป็นมิตรแค่ไหน”

ผู้ที่มีคะแนนด้านนี้สูง จะเป็นคนยอมตามคนรอบข้างได้ง่าย ให้ความร่วมมือ ไม่ขัดแย้งใคร

ผู้ที่มีคะแนนด้านนี้ต่ำ จะเป็นคนไม่ยอมตามใคร ชอบขัด ชอบเอาชนะ และไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับคนอื่น

  • Conscientiousness คือ “ความสามารถในการจัดการตัวเองได้มากแค่ไหน”

ผู้ที่มีคะแนนด้านนี้สูง จะมีความรับผิดชอบสูง ทำอะไรก็เรียบร้อยรอบคอบ ตรงต่อเวลา

ผู้ที่มีคะแนนด้านนี้ต่ำ จะขาดความรับผิดชอบ สะเพร่า ไม่รอบคอบ ไม่ตรงต่อเวลา

  • Emotional Stability คือ “ความมั่นคงทางอารมณ์”

ผู้ที่มีคะแนนด้านนี้สูง จะเป็นคนมั่นคงทางอารมณ์ สุขุม ใจเย็น เวลาเจอปัญหาจะไม่วิตกกังวล หรือหวาดระแวง

ผู้ที่มีคะแนนด้านนี้ต่ำ จะเป็นคนประสาทเสียง่ายเมื่อเจอปัญหาเพียงเล็กน้อย วิตกกังวล กระวนกระวายใจ

  • Openness คือ “ความสามารถในการเปิดรับประสบการณ์ได้มากแค่ไหน”

ผู้ที่มีคะแนนด้านนี้สูง จะเป็นคนเปิดรับประสบการณ์แปลกๆ ใหม่ๆ อยู่เสมอ มีจินตนาการแปลกๆ มีความคิดสร้างสรรค์ และความเป็นศิลปิน
 

ผู้ที่มีคะแนนด้านนี้ต่ำ จะเป็นคนไม่ค่อยเปิดรับอะไรใหม่ๆ ไม่ค่อยมีจินตนาการ ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ และไม่มีความเป็นศิลปิน

 

 

บุคลิกภาพ เป็นผลรวมจากคะแนนของคุณลักษณะเฉพาะ 5 ด้าน ที่ประกอบขึ้นจากความคิด ความรู้สึก และการกระทำจะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของบุคคล ที่จะแสดงออกหรือรับมือในแต่ละสถานการณ์ที่เข้ามาแตกต่างกันอย่างไร และจะเป็นลักษณะถาวรของแต่ละบุคคล


 

ข้อสันนิษฐาน

ข้อสันนิษฐานโดยยังไม่ผ่านการวิจัยที่มีระเบียบวิธี แต่ใช้สามัญสำนึกของผู้เขียนล้วนๆ ที่มีประสบการณ์ และค้นคว้ามาเชื่อว่า บุคคลที่มีคะแนนในแต่ละด้านตามทฤษฎีลักษณะ 5 ประการนี้ต่ำ น่าจะมีโอกาสตกเป็นเหยื่อได้ง่าย เช่น

- มีคะแนน Surgency ต่ำ จะเป็นคนเก็บตัว (Introvert)

- มีคะแนน Conscientiousness ต่ำ จะเป็นคนขาดความรับผิดชอบ สะเพร่า ไม่รอบคอบ ไม่ตรงต่อเวลา

- มีคะแนน Emotional Stability ต่ำ จะเป็นคนประสาทเสียง่ายเมื่อเจอปัญหาเพียงเล็กน้อย วิตกกังวล กระวนกระวายใจ

- มีคะแนน Openness ต่ำ จะเป็นคนไม่ค่อยเปิดรับอะไรใหม่ๆ ไม่ค่อยมีจินตนาการ ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ และไม่มีความเป็นศิลปิน

ยกเว้นข้อ Agreeableness คือ “มีความเป็นมิตรแค่ไหน” เพราะผู้ที่มีคะแนนด้านนี้สูง จะเป็นคนยอมตามคนรอบข้างได้ง่าย ให้ความร่วมมือ ไม่ขัดแย้งใคร คนที่มีความเป็นมิตรมากน่าจะเรียกว่าใจอ่อน คล้อยตามคนอื่นง่าย แตกต่างจากผู้ที่มีคะแนนด้านนี้ต่ำ จะเป็นคนไม่ยอมตามใคร ชอบขัด ชอบเอาชนะ และไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับคนอื่น

จุดเด่นอีกเรื่องก็คือ “คนเก็บตัวเป็นเหยื่อง่าย”

 

ผมเชื่อว่าคนเราควรมีพัฒนาการอารมณ์ในแต่ละด้าน เช่น ความโกรธ ความรัก การคบคน การเข้าหาผู้ใหญ่หรือเข้าหาเพื่อน เป็นต้น คนเก็บตัวจึงน่าจะมีพัฒนาการด้านการคบหาสมาคมผู้คนที่น้อย

แถมโลกออนไลน์เหมาะกับคนเก็บตัวที่ไม่ชอบคุยกับคนซึ่งหน้า และเธอจะมีเวลาไตร่ตรองคำพูดก่อนเคาะส่งข้อความ ไม่กังวลและรู้สึกสบายใจ จึงชนะใจได้ไม่ยากเพราะอาชญากร Romance scams เขามีเวลาเพียงพอ


 

ทฤษฎีอาชญากรรมที่เกี่ยวข้อง

สาเหตุที่อาชญากรจำนวนมากเป็นชาวไนจีเรีย ซึ่งนอกจากสร้างความเดือดร้อนให้สาวไทยแล้วยังสร้างความโกลาหลเดือดร้อนให้สาวๆ ไปทั่วโลกอีกด้วย

Sutherland เป็นบุคคลที่สร้างทฤษฎี “การคบหาสมาคมที่แตกต่าง” (Differential Association) ขึ้นมาอธิบายปรากฏการณ์อาชญากรรม

Sutherland กล่าวไว้ว่า “คนเราจะกลายเป็นอาชญากรได้ ต้องผ่านการเรียนรู้การดำเนินชีวิตประจำวันหรือการประกอบอาชีพจนมีทัศนคติ ค่านิยม และแรงจูงใจ ที่ทำให้มองเห็นว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่ไม่น่าเคารพและปฏิบัติตาม”

เมื่อไม่นานมีข่าวเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจบุกเข้าไปตรวจสอบย่านรามคำแหงที่มีชาวไนจีเรียหลายร้อยคนมาอาศัยร่วมกันด้วยเกรงว่าจะก่ออาชญากรรม

การที่มีชาวไนจีเรียจำนวนมากถูกจับกุมในไทย จากคดี Romance Scams และข่าวเกี่ยวกับคดีนี้ในทั่วโลก ทำให้ผมเชื่อได้ว่า อาชญากรชาวไนจีเรียมีการคบค้าสมาคมเป็นกลุ่มใหญ่ มีการแลกเปลี่ยนความรู้ และถ่ายทอดพฤติกรรมไปสู่คนรุ่นใหม่ๆ ให้เข้ามาเป็นอาชญากร ตามทฤษฎี “การคบหาสมาคมที่แตกต่าง”

Cesare baccaria ได้นิยาม ทฤษฎีเจตจำนงอิสระ (Free will) ว่า อาชญากร เป็นคนเห็นแก่ตัว และมองตัวเองเป็นหลัก การตัดสินใจทำอะไรจึงเลือกว่าสิ่งนั้นจะได้ประโยชน์มากกว่าโทษ การประกอบอาชญากรรม อาชญากรเลือกอย่างมีเหตุผล (Rational choice theory)

บทลงโทษ และความสามารถของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงเป็นการคานกระบวนการตัดสินใจของอาชญากรว่า สิ่งที่เขาจะก่ออาชญากรรมจะได้รับโทษมากกว่าประโยชน์ แต่อย่างไรก็ตามการก่ออาชญากรรม Romance Scams อาจจะไม่ใช่เรื่องรุนแรงเหมือนการปล้นฆ่า แต่ว่าได้ทรัพย์สินจำนวนมากกว่าด้วยซ้ำ ทฤษฎีอาชญากรเลือกอย่างมีเหตุผลนั้นยังคงนำมาใช้ได้กับปรากฏการณ์ที่ยังมีอาชญากรรมประเภทนี้จำนวนมากขึ้น

สรุป และข้อเสนอแนะ


 

ดังที่กล่าวตอนต้นบทความว่า อาชญากรรมไซเบอร์ (Cyber Crime) ผมแบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ การกระทำต่อวัตถุ (Matter) และ การกระทำต่อจิตใจ (Mind) ซึ่งเมื่อพิจารณากฎหมายไทยแล้ว บทบัญญัติต่างๆ ยังเป็นการลงโทษที่การกระทำต่อวัตถุ ไม่ว่าจะทรัพย์หรือแม้แต่ทำร้ายร่างกาย (ชิ้นส่วนร่างกายผมมองเป็นวัตถุ) อาชญากรรม Romance scams น้้นแม้ประสงค์ต่อทรัพย์ด้วยความผิดฐานฉ้อโกงก็ตาม แต่การ "หลอกให้รัก" แล้วถูกหักอกนั้น เจ็บปวดกว่าเสียเงินทองไม่รู้กี่เท่าที่เอาหัวใจหญิงสาวที่บอบบางมาล้อเล่นเช่นนี้

 

ข้อเสนอแนะทางวิชาการของผมคือ กฎหมายควรมีบทบัญญัติที่ชัดเจนถึงข้อห้ามการทำร้ายจิตใจ (Mind) ที่ชัดเจน และมีโทษรุนแรง โดยเฉพาะกรณี Romance scams

 

แม้เรามีกฎหมายอาญา มาตรา 295 ที่บัญญัติบทลงโทษการทำอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจแล้วก็ตาม แต่ด้วยความเข้าใจของตัวผมเองคิดว่า การทำร้ายต่อจิตใจในเจตนารมณ์ดังกล่าว คือ เป็นผลโดยตรงจากการทำร้าย อันตรายร่างกายแต่ส่งผลต่อจิตใจ เช่น ผลจากการทำร้ายทำให้ผู้เสียหายจิตใจผิดปกติ สติฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ จิตใจหวาดผวา หมดสติเป็นเวลานาน มิใช่การทำร้ายหัวใจให้อกหัก


 

Romance Scam หรือการหลอกให้รัก เป็นการทำร้ายผู้อื่นแบบ Psychological trauma หรือ Psychological Harm คือการละเมิดผู้อื่นให้ได้รับความเสียหายหรือบาดเจ็บทางจิต(หัว)ใจ เข้าใจว่ายังไม่มีกฎหมายการลงโทษผู้ที่ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บทางหัวใจ ซึ่งคนละความหมายกับคำว่า "ร่างกายและจิตใจ" ตามกฎหมายไทยและสากล

 

หากเปรียบเทียบเอาว่าบทลงโทษควรจะหนักขึ้นตามวิธีการทำร้ายผู้อื่นตามความรุนแรง ผมเชื่อว่าการทำให้ใครสักต้องอกหักในความรักที่เปี่ยมด้วยความหวังแสนหวานนั้นมันช่างเจ็บปวดรุนแรงกว่าการถูกคนอื่นฆ่าตายหรือทำร้ายร่างกายมากนัก เพราะฉะนั้นควรจะมีโทษอาญาที่รุนแรงกว่าคดีอาชญากรรมทั่วไปด้วยซ้ำ

 

อาชญากรรม Romance Scams นั้น เริ่มต้นด้วยการสร้างภาพด้วย Facebook หรือสื่อออนไลน์ที่ดูดี จากนั้นผูกไมตรี แล้วสร้างกระบวนการเกิดความรัก Intimacy + Passion + Commitment เมื่อเหยื่อหลงรักแล้วก็หลอกเอาทรัพย์สิน ไปจนเสียตัวหรือถูกใช้ทำผิดกฎหมาย

 

คำแนะนำเบื้องต้นคือ “จับผิดให้เก่งอย่าได้เกรงใจ” หากเราเป็นสาวสูงวัยหัวใจยังว่าง เรามักจะเกรงใจชายในดวงใจที่เพิ่งเข้ามารู้จัก ไม่อยากหักหาญน้ำใจเดี๋ยวจะหนีไปเสียก่อน เรามักจะเชื่อคำวาจาของเขาไปก่อน ค่อยหาหลักฐานมาจับผิดทีหลัง แต่ผมอยากให้เราเปลี่ยนเป็นจับผิดก่อน แล้วให้เขาหาหลักฐานมาพิสูจน์ตัวเขา

 

ครั้นเกิดไหวตัวจับได้ว่ามีอะไรที่น่าสงสัยหรือไม่ชอบแล้วล่ะ ประโยคสำคัญที่ผมได้ยินจากหญิงสาวคือ “เสียดายเวลาที่รู้จักกันมานาน” เธอไม่ลบเขาทิ้งง่ายๆ หรอกถ้ารู้จักมานานแล้ว กฎข้อนี้ผมเชื่อว่าอาชญากรรู้คุณค่าดี ผมเรียกว่า “การลงทุนสร้างความผูกพันด้วยเวลา" การสร้าง Intimacy นั่นเอง อย่ายอมแพ้กับความรู้สึกนี้

 

อย่าใส่ “ความชอบ” ดนตรี กีฬา ภาพยนตร์ ข่าวสาร ให้ใครรู้ง่ายๆ ลองถามดูว่าเขาชอบอะไรก่อนที่จะรู้เรื่องของเราว่าตรงกันไหม หรือถ้าต้องใส่เพื่อติดตามข่าวสาร เมื่อเพื่อนใหม่ทักมาว่าชอบอะไรแบบเดียวกับ ลองแกล้งบอกเขาว่าเข้าใจผิดไม่จริงหรอกเราใส่ไปงั้นเอง เราชอบอีกอย่าง ดูสิว่าเขาจะเปลี่ยนตามเราหรือไม่

 

ส่วนเรื่องอนาคตความใฝ่ฝันของเราก็เช่นกัน อย่าบอกใครง่ายๆถ้าไม่จำเป็น ถามเขาก่อนก็ดี ถ้าตรงกับเราก็แกล้งบ่ายเบี่ยงว่าไม่ใช่ลองใจดู

 

"การรับรู้ขัดกัน" พระพุทธทาสกล่าวว่า "ความโง่นี้แปลก พอเรารู้ว่าเราโง่เมื่อไร ความโง่มันหายไปเลย" ยิ่งถ้าเราคิดว่า รู้ตัวว่าเรามีความรู้ เราฉลาด เราดูคนออก ไม่มีใครหลอกได้ แม้แต่ตัวเราเองก็จะไม่เชื่อว่าเราถูกหลอก ความรับรู้มันขัดกัน กลายเป็นเรานั่นแหละหลอกตัวเอง ข้อผิดพลาดจึงไม่ได้ถูกแก้ไข และสุดท้ายเราก็จะไม่กล้าบอกใคร จนกลายเป็นเหยื่อไปเสียแล้ว


 

อ้างอิง

  • McCrae, Robert R., and Paul T. Costa Jr. 1987. Validation of the five-factor model of personality across instruments and observers. Journal of Personality and Social Psychology 52.1: 81–90.
  • Sternberg, R. J. (1986) A triangular theory of love. Psychological Review, 93,119-135.
  • Sternberg, R. J. (1988) The Triangle of Love: Intimacy, Passion, Commitment, Basic Books (ISBN 0465087469)
  • การสร้างและพัฒนาแบบทดสอบบุคลิกภาพห้าองค์ประกอบสำหรับข้าราชการไทยระดับแรกบรรจุ ศานิฏ ปณิธานธรรม วิทยานิพนธ์ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2550
  • https://socialcatfish.com/what-is-catfishing-onlin...

 

หมายเลขบันทึก: 621397เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2017 03:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2021 15:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับ

-อ่านบทความนี้แล้วได้ความรู้มาก ๆครับ

-ขอบคุณครับ

รอมานานแล้วค่ะ ให้ใครมาช่วยกระจายข่าว และคิดแก้ไขจริงจัง  คุณประเมศวร์ ช่วยติดต่อทางอีเมลได้ไหมค่ะ ยินดีให้ข้อมูลเพิ่มเติมค่ะ ติดตามมา 3 ปีแล้ว มั่นใจว่า มีข้อมูลให้อีกเยอะเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท