CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๑๔ : รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เรียนรู้จาก รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์


วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๙ ในเวทีประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เราได้รับเกียรติจาก รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์ มาบรรยายพิเศษแลกเปลี่ยนในหัวเรื่อง "การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในมหาวิทยาลัย" ท่านเป็นเลิศเรื่องการ "การตั้งคำถาม" คำถามของท่าน พาเราให้ลุ่มลึกในเหตุและผล ประเทืองปัญญาของแต่ละคนยิ่ง ... ผมเคยบันทึกถึงท่านเมื่อครั้งไปเจอที่ จ.สกลนคร (ที่นี่) และ ไปเยี่ยมท่านที่หาดใหญ่ (ที่นี่)

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร?

อาจารย์ไพโรจน์ เปิดประเด็นว่า การนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาตีความด้วยความเข้าใจของตน ๆ แล้วเผยแพร่กันไป ทำให้ดูเหมือนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องยาก ..... ถามตรง ๆ ว่า "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร? " หากมีเด็กนักศึกษามาถาม เราจะตอบอย่างไร?..." ก่อนจะเปิดเวทีให้อาจารย์แต่ละท่านแลกเปลี่ยนกัน และจบด้วยการสรุปด้วยสไลด์นี้


ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือ หลักคิดเชิงประบวนการที่ทำให้คนเกิดปัญญา ... ท่านยกตัวอย่างด้วยการตั้งคำถามว่า อะไรที่ทำให้คนเป็นปราชญ์ มีคนจำนวนมากทำสิ่งที่เหมือนกัน แต่มีบางคนเท่านั้นที่เป็นปราชญ์ในเรื่องนั้น มีเกษตรกรหลายล้านคน แต่มีเกษตรกรน้อยมากที่เป็นปราชญ์ เป็นผู้มีปัญญา ...คำถามคืออะไรทำให้คนกลายเป็นปราชญ์ ... ความสามารถในการคิดเชิงกระบวนการนั่นเอง

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือ หลักปฏิบัติ เป็นหลักปฏิบัติในการนำหลักคิด ปศพพ. มาใช้ ผลลัพธ์คือทำให้เกิดเป็นอุปนิสัยพอเพียง


อาจารย์ไพโรจน์ตีความปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่ออธิบายว่า ทำไมท่านถึง ใส่คำว่า "ชีวิต" เข้าไปในมิติทางเศรษฐกิจ ดังสไลด์ด้านบนครับ ... น่าสนใจมาก หากมองตรง ๆ แบบความคิดแบบตรรกะ จะแปลได้ดังนี้ครับ

  • ปรัชญา เท่ากับ หลักความรู้ หลักความจริง
  • เศรษฐกิจ เท่ากับ งานที่เกี่ยวกับการผลิต การกระจาย และการบริโภค/บริการ
  • พอเพียง เท่ากับ สมดุล (อยู่บนทางสายกลาง) ไม่เบียดเบียนตนเองและต่อผู้อื่น

ดังนั้นปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (มิติเศรษฐกิจเพื่อชีวิต) จึงเท่ากับหลักความรู้ หลักความจริง ของงานที่เกี่ยวกับการผลิต การกระจายและการบริโภค/บริการ ที่สมดุล (อยู่บนทางสายกลาง) ไม่เบียดเบียนต่อตนเองละต่อผู้อื่น

สอนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สอนอะไร?

"...ตกลงเราสอนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เราสอนอะไร?..."

๑) คือสอน "ความรู้"

สอนอะไร? ... สิ่งที่ต้องสอนในการขับเคลื่อน ปศพพ. คือ สอนความรู้ (เนื้อหา) เกี่ยวกับ ปศพพ. สอนทักษะการคิด โดยเฉพาะการคิดเป็นกระบวนการ สอนการนำไปหลัก ปศพพ. ไปใช้กำกับตนเองในการทำงาน และสิ่งสำคัญคือ การให้เด็กสะท้อนการเรียนรู้ หรือถอดบทเรียน การนำไปใช้ ให้เห็นประโยชน์ และเห็นตนเอง

"...ความรู้คืออะไร?..." คำตอบของผู้อ่านคืออะไร? ความรู้คือความเข้าใจใช่ใหม? ถ้าเราไม่เข้าใจล่ะ? ถือเป็นความรู้ไหม? สิ่งนั้นมีอยู่ แต่เราไม่รู้ไม่เข้าใจ ถือว่าสิ่งนั้นเป็นความรู้ไหม? ในทางวิทยาศาสตร์แบ่งความรู้ออกหลายประเภท ได้แก่ ข้อเท็จจริง สมมติฐาน ความคิดรวบยอด หลักการ กฎ ทฤษฎี แต่ถ้าหากเป็นทางไอที จะแยก "ความรู้" ออกจาก "ข้อมูล" (Data) แยกข้อมูลออกจาก "สารสนเทศ" (Information) ส่วนด้านการศึกษา จัดพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของมนุษย์ให้เหนือไปกว่า "ความรู้" (knowledge) ไปอีกโดยใช้คำว่า "ปัญญา" (Wisdom) แต่หากใครที่ทำงานด้านจัดการความรู้ (KM) จะบอกว่าความรู้แบ่งได้ ๒ แบบคือ ความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) และ ความรู้ฝังลึกในตัวคน (Tait Knowledge) ... ก็แล้วแต่คนจะนิยามตอบไป ...

ผมเองคิดในใจว่า "ความรู้" ก็คือ "คำตอบ" เพราะผู้หาความรู้ และกำหนดว่าอะไรเป็นความรู้คือ "มนุษย์" และเหตุที่ทำให้มนุษย์พบความรู้ก็คือ "คำถาม" หรือ "ปัญหา" สิ่งที่ได้กลับมาก็คือ "ปัญญา" หรือ "คำตอบ" นั่นเอง ....

๒) คือสอนทักษะการคิดเป็นกระบวนการ

สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับเยาวชนไทยคือ การคิดแบบแยกส่วน บางเรื่องคิดถึงแต่ "ผล" บางครั้งคิดถึงแต่ "เหตุ" ขาดทักษะในการคิดเชื่อม "เหตุ" กับ "ผล" อย่างถูกต้อง อ.ไพโรจน์ เน้นว่า การคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นสุดยอดของการคิดเป็นกระบวนการ เป็นเหตุเป็นผล ดังนั้นการสอนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ก็คือการฝึกคิดแบบเป็นกระบวนการนั่นเอง


คิดแบบเป็นกระบวนการ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เสนอด้วยแผนภาพด้านบน คือ จะทำอะไรก็ต้องคิดก่อน โดยเริ่มคิดให้ครอบคลุม ๔ มิติ ทั้งก่อนและหลังการตัดสินใจภายใต้หลักคิด ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ท่านเน้นว่า การใช้เหตุและผลต้องอยู่บนฐานความรู้ความจริง และเงื่อนไขคุณธรรมคือสิ่งที่เป็นภูมิคุ้มกันที่แท้จริง

๓) สอนทักษะการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

สิ่งที่ต้องฝึกเป็นกิจวัตรประจำวัน ฝึกให้ได้บ่อยที่สุด ฝึกจนเกิดเป็นนิสิต หรือให้เกิดอุปนิสัยพอเพียง ก็คือ การคิดก่อนพูดและทำ นั่นคือการ ใช้ ปศพพ. ทุกครั้งในการตัดสินใจ นั่นเอง


การสอนให้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ คือการคิดและตัดสินใจบนหลักคิด ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ท่านยกตัวอย่าง การไปเดินซื้อของในห้างสรรพสินค้า ก่อนจะซื้อหากคิดได้ครบ ๓ ห่วง และอยู่ภายใต้ ๒ เงื่อนไข ก็ถือว่า นำเอาหลัก ปศพพ. ไปประยุกต์ใช้แล้ว เช่น

  • คิดถึงเหตุก่อนว่า ทำไมต้องซื้อ เหตุผลที่ต้องซื้อนั้นอยู่บนหลักความจริง เป็นความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องหรือไม่ .... นี่คือหลักเหตุผล
  • สินค้าที่จะซื้อ ราคา คุณภาพ ประโยชน์ใช้สอย พอประมาณกับเงินที่มี ศักยภาพของตนเองทุนทรัยพย์ และความสามารถในการใช้งาน ว่า คุ้มค่าหรือไม่ .... นี่คือหลักพอประมาณ
  • การซื้อนั้นมีความเสียงอะไรหรือไม่ และหลังจากซื้อแล้วจะมีผลกระทบต่อตนเองและต่อผู้อื่นหรือไม่ ... นี่คือคิดบนหลักของภูมิคุ้มกัน

เมื่อครบ ๓ ห่วง และทุกห่วงที่คิดพิจารณาว่าอยู่ภายใต้สองเงื่อนไข ก็สามารถตัดสินใจได้เลย ... นี่คือการฝึกนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการตัดสินใจ

สรุปก็คือ ต้องให้นิสิตได้ฝึกคิดวิเคราะห์ก่อนจะตัดสินใจกระทำสิ่งใด ๆ และฝึกให้มีการตรวจสอบผลลัพธ์เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาอย่างแท้จริง อีกเทคนิคหนึ่งในการนำเอา ปศพพ. ไปประยุกต์ใช้คือ ให้ผู้เรียนฝึกวิเคราะห์เป้าหมาย ฝึกวิเคราะห์ว่า อะไรคือเหตุ อะไรคือผล อะไรคือเหตุที่แท้จริงของผลนั้น และเหตุผลเชื่อมโยงกันอย่างไร โดยกำกับไว้ด้วยศาสตร์ความรู้ต่าง ๆ และเงื่อนไขความซื่อสัตย์ และไม่เบียดเบียนตนเอง ดังสไลด์ด้านล่าง




๔) ให้สะท้อนการเรียนรู้ หรือถอดบทรเีรยน

การนำเสนอเรื่องราว หรือ "เล่าเรื่อง"

วิธีฝึกการนำหลัก ปศพพ. ไปประยุกต์ใช้อีกวิธีหนึ่งคือ ให้นิสิต นำเสนอเรื่องราวแบบ ๓ ห่วง ๑ เงื่อนไข โดยมีเป้าหมายว่า ให้สามารถสื่อสารได้อย่างครบถ้วน ดังแผนภาพ



อาจารย์ไพโรจน์ท่าน เปรียบถึงเครื่องฉายหนัง (สมัยเก่า) ที่มีฟิล์มหรือเรื่องราวประสบการณ์ที่อยากจะถ่ายทอด วิธีการคือให้นิสิตลองฝึกเล่าเรื่องบนหลัก ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ซึ่งเป็นเหมือน “ตัวสื่อสารหรือเรียบเรียง” เรื่องราวนั้น ๆ ให้ได้เรื่องราวที่ถูกต้องครบถ้วน

ในทางกลับกัน นิสิตต้องฝึกการฟังแบบ "กรองด้วย ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข" ฝึกการฟังเรื่องราวเพื่อเรียนรู้ "การกรองข้อมูล" โดยใช้ ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข เป็นตัวกรองให้ได้ความจริง ดังภาพด้านล่าง






เบื้องต้น กรองด้วยตัวกรองหยาบ ด้วยเงื่อนไขความรู้และคุณธรรมก่อน ก่อนจะกรองละเอียดด้วย ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ก่อนจะตัดสินใจว่า ถูกต้องเป็นจริงหรือไม่ เพื่อจะคิดอ่านนำไปทำประโยชน์ต่อไป

อาจารย์ไพโรจน์ ท่านเสนอรูปแบบกระบวนการสอนหลัก ปศพพ. ดังแผนภาพด้านล่าง


ผมประทับใจรูปแบบการเรียนรู้นี้มาก ... และได้ขออนุญาตท่านอาจารย์ไพโรจน์ ไว้แล้วว่า จะนำเอาโมเดลการฝึกอุปนิสัยพอเพียงนี้ ไปขยาย กระจายไปสู่เพื่อนครู อาจารย์ และลูกศิษย์ทั้งหลาย ให้ทดลองนำไปใช้กันในชีวิตประจำวัน

  • ใช้ ปศพพ. เป็นตัวกรอง เรื่องราวภายนอก ให้ได้แต่ความจริง สู่ภายใจ สู่ภายในตัวเรา
  • ใช้ ปศพพ. เป็นตัวสื่อสาร เรื่องราวความจริงจากภายในตน ไปสู่คนอื่นอย่างถูกต้องและครบถ้วน
  • การฝึกนำ ปศพพ. มาใช้ในการดำเนินชีวิต คือการเจริญปัญญา เป็นการพัฒนาอย่างแท้จริง

นอกจากทั้งหมดนี้แล้ว ท่านยังนำเสนอวิธีการสอน ปศพพ. ที่ท่านใช้อยู่และได้ผล ที่ มอ. หาดใหญ่ ใน ๔ ขั้นตอน ดังสไลด์ด้านล่าง



วิธีที่ท่านใช้อยู่ในกรอบสีเหลืองในสไลด์สุดท้าย ท่านใช้นิสิตปี ๒ กระบวนการทั้งหมดไม่เพียงสอนนิสิต แต่ได้สอนทั้งครูในโรงเรียน ทั้งอาจารย์ที่เป็นที่ปรึกษา ไปพร้อม ๆ กัน

ขอเสนอให้ครูอาจารย์ ที่กำลังสอนรายวิชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือขับเคลื่อนฯ อยู่ในโรงเรียนทุกท่าน นำเอาโมเดลการฝึกของท่านไปใช้ครับ

ผมเองก็จะนำไปใช้ประโยชน์ให้มากเช่นกัน ....ขอบคุณท่านอีกครั้งครับ



หมายเลขบันทึก: 621118เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2017 01:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มกราคม 2017 09:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท