ความเคลื่อนไหวด้านงาน NCDs


ในปี พ.ศ. 2560 จะมีการจัดงานใหญ่ NCD Forum 2017 ระหว่างวันที่ 3-4 สิงหาคม 2560 ซึ่งจะมีการแจกรางวัล NCD Clinic Plus Award ด้วย

หลังจากได้ไปร่วมประชุมกับคณะกรรมการพัฒนาและกำกับทิศทางการควบคุมป้องกันและรักษาโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อหลายเดือนก่อน ดิฉันก็ได้รับทราบและร่วมทำงานสองเรื่องคือการประเมินคุณภาพ NCD Clinic และมาตรฐานการบริการป้องกันควบคุมโรคเบาหวาน-ความดันโลหิตสูงสำหรับสถานบริการสาธารณสุข ที่อยู่ในความรับผิดชอบของคุณหมอติ๋ง พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ และทีมงานของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ตลอดระยะเวลาที่ทำงานด้วยกัน ดิฉันได้เห็นกระบวนการทำงานที่มีความร่วมมือกันระหว่างสำนักโรคไม่ติดต่อ สมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย รวมทั้งความพยายามที่จะให้เกิดการประสานการทำงานร่วมกันระหว่างกรมต่างๆ ภายในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน/ทับซ้อนของงานที่จะเพิ่มภาระให้กับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ มีการหารือร่วมกันโดยมี นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559



เข้าพบท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุขและหารือกับอธิบดีกรมต่างๆ /ผู้แทน (เย็นวันที่ 7 ธันวาคม 2559)


การประเมินคุณภาพ NCD Clinic สามปีที่ผ่านมาได้มีการประเมินกระบวนการพัฒนาคุณภาพตาม 6 องค์ประกอบของ Chronic Care Model ปีนี้ได้มีการปรับปรุงเกณฑ์และคะแนนการประเมิน และที่สำคัญคือเพิ่มการประเมินผลลัพธ์ตัวชี้วัดการบริการ 15 ตัวชี้วัด (คิดคะแนน) + อีก 4 ตัวชี้วัดที่ยังไม่นำมาคิดคะแนน ตามแนวทางของ TCEN ให้น้ำหนักคะแนนกระบวนการ 50 คะแนน ผลลัพธ์ 50 คะแนน ชื่อจึงเป็น NCD Clinic Plus

การจัดทำชุดมาตรฐานการบริการป้องกันควบคุมโรคเบาหวาน-ความดันโลหิตสูงสำหรับสถานบริการสาธารณสุข (Standard DM/HT Prevention Package) เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานได้นำไปใช้ปฏิบัติ ซึ่งโครงการ Thai DPP ได้มีโอกาสเอาตัวอย่างกิจกรรมที่จัดให้กลุ่มเสี่ยงได้เรียนรู้และนำไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง ใส่ไว้ในภาคผนวกด้วย

เมื่อวันที่ 20-21 ธันวาคม 2559 สำนักโรคไม่ติดต่อได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดชุดมาตรฐานการบริการป้องกันควบคุมโรคเบาหวาน-ความดันโลหิตสูงสำหรับสถานบริการสาธารณสุข และแนวทางการประเมินคุณภาพ NCD Clinic Plus ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร มีผู้เข้าประชุมเกือบ 300 คน

การประชุมในวันที่ 20 ธันวาคม 2559 ภาคเช้า มีการบรรยายเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อพัฒนาคุณภาพบริการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อ โดย นพ.ดิเรก ขำแป้น ผู้อำนวยการสำนักโรคไม่ติดต่อ และการอภิปรายเรื่องการพัฒนาคุณภาพบริการด้วย Standard DM/HT Prevention Package โดยอาจารย์ นพ.เพชร รอดอารีย์ รศ.พญ.วีรนุช รอบสันติ รศ.พญ.ทิพาพร ธาระวานิช พญ.ระวีวรรณ เลิศวัฒนารักษ์ และ พญ. พิมพ์ใจ อันทานนท์ โดยมี พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย ดิฉันไม่ได้เข้าฟัง เพราะไปร่วมฟังการประชุมของคณะกรรมการพัฒนาและกำกับทิศทางการควบคุมป้องกันและรักษาโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ภาคบ่ายมีการแบ่งกลุ่มย่อยคิดกิจกรรมโครงการสำหรับพื้นที่ วางแผนดำเนินการเพื่อลดกลุ่มเสี่ยงในกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ได้แก่ กลุ่มญาติผู้ป่วย กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มวัยทำงานในสถานประกอบการ กลุ่ม อสม. กลุ่มเสี่ยงสูง กลุ่มเสี่ยงต่ำ/ ประชาชนทั่วไป กลุ่มเด็กและวัยรุ่น แล้วให้ทุกกลุ่มนำเสนอ โดยมี นพ.ดิเรก ขำแป้น พญ.เขมรัสมี ขุนศึกเม็งราย อาจารย์ นพ.เพชร รอดอารีย์ พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ นพ.กฤษดา มโหทาน รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญด้านโภชนาการจากกรมอนามัย เป็นผู้วิพากษ์และให้ข้อเสนอแนะ

ดิฉันมาทันเห็นการทำงานของกลุ่มย่อย ที่ทุกกลุ่มดูตั้งอกตั้งใจทำงานกันอย่างแข็งขัน ในช่วงการนำเสนอก็ต้องชื่นชมว่าคนที่มาเข้าประชุมครั้งนี้นำเสนอได้เก่งมาก ชัดเจน บ่งบอกถึงความเข้าใจในงาน NCD ที่ทำอยู่ บรรยากาศในห้องประชุมมีความเป็นกันเอง ผู้ทรงคุณวุฒิก็ให้ข้อเสนอแนะที่เปิดมุมมองในส่วนที่คนทำงานไม่รู้หรือมองข้ามไป ทำงานกันจนเกือบถึงเวลาห้าโมงเย็น

การประชุมในวันที่ 21 ธันวาคม 2559 เริ่มตั้งแต่ 08.30 น. มีการอภิปรายเรื่อง “NCD Clinic Plus” ก้าวต่อไปกับการพัฒนาคุณภาพบริการโรคเบาหวาน-ความดันโลหิตสูง โดยมี พญ.จุรีพร คงประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักโรคไม่ติดต่อ เป็นผู้ดำเนิการอภิปราย พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ นำเสนอความเป็นมาและรายละเอียดของเกณฑ์การประเมินคุณภาพ NCD Clinic Plus นพ.สุพัฒน์ ธาตุเพชร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นผู้ฉายภาพการนำสู่การปฏิบัติ ว่าทำอย่างไรจึงจะทำงานได้ง่ายและมีคุณภาพ รวมทั้งได้แสดงให้เห็นว่าการรายงานผลลัพธ์ตัวชี้วัดนั้นสามารถดึงข้อมูลออกมาจาก Health Data Center ได้เลย ดิฉันเป็นผู้เพิ่มเติมข้อแนะนำในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปรับระบบและกระบวนการบริการ ระบบสนับสนุนการจัดการตนเอง และระบบสนับสนุนการตัดสินใจ



บนเวที จากซ้าย พญ.จุรีพร คงประเสริฐ นพ.สุพัฒน์ ธาตุเพชร ดิฉัน และ พญ.สุมณี วัชรสินธุ์


ต่อจากนั้นเป็น session ที่ดิฉันเล่าเรื่องงานโครงการ Thai DPP พร้อมฉาย movies สั้นๆ ให้เห็นภาพกิจกรรมการเรียนรู้ในหัวข้อ “เส้นทางที่ไม่ย้อนกลับ” ของทีมโรงพยาบาลครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ที่ออกแบบให้กลุ่มเสี่ยงเบาหวานเรียนรู้การดำเนินของโรคตั้งแต่ยังเป็นคนปกติ เสี่ยง เกิดเบาหวาน มีโรคแทรกซ้อน จนกระทั่งต้องมีชีวิตอยู่กับความพิการ และกิจกรรมหัวข้อ “การสร้างสุขจากภายใน” ของทีมโรงพยาบาลท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช



ส่วนหนึ่งของทีมงานที่แข็งขันของสำนักโรคไม่ติดต่อ ซ้าย คุณศกลวรรณ แก้วกลิ่น ขวาคุณอัจฉรา ภักดีพินิจ


ภาคบ่ายเป็นการเปิดให้ผู้เข้าประชุมซักถามแนวทางในการดำเนินงานประเมินคุณภาพ NCD Clinic Plus ส่วนการเสนอความคิดเห็นต่อ Standard DM/HT Prevention Package นั้นมีแบบฟอร์มให้ผู้เข้าประชุมเขียน



พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ นพ.สุพัฒน์ ธาตุเพชร และ พญ.จุรีพร คงประเสริฐ ตอบข้อซักถามของผู้เข้าประชุม



ช่วงสุดท้าย ยังมีผู้เข้าประชุมอยู่กันหนาตา


ในปี พ.ศ. 2560 จะมีการจัดงานใหญ่ NCD Forum 2017 ระหว่างวันที่ 3-4 สิงหาคม 2560 ซึ่งจะมีการแจกรางวัล NCD Clinic Plus Award ด้วย


วัลลา ตันตโยทัย

บันทึกเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2559

หมายเลขบันทึก: 620641เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2016 18:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มกราคม 2017 08:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เยี่ยมยอดไม่หยุดยั้ง พลังต้านNCD

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท