ถามแว่นตา



หนังสือ แว่นตา อารมณ์ สังคม ความจริง หนึ่งทศวรรษเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย สนับสนุนการจัดพิมพ์ โดย สกว. ทำให้ผมตั้งคำถามต่อการวิจัยด้านมนุษยศาสตร์ไทย และตั้งคำถามต่อวิธีการสนับสนุนการวิจัย ด้านมนุษยศาสตร์


เมื่อไรที่เราเข้าสู่วงการวิชาการ เราต้องตระหนักว่าเราเข้าไปในดง แว่นตา” เป็นแว่นตาใน อัญญประกาศ คือมีความหมายเฉพาะ ว่าความรู้ทางวิชาการเป็น “มายา อย่างหนึ่ง คือได้จากการตีความ เรื่องราวหรือเหตุการณ์ด้ายกรอบความคิดหรือทฤษฎี (แว่นตา/แว่นใจ) แบบใดแบบหนึ่ง


หากใช้คำหลักว่า หนึ่งทศวรรษเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ค้นด้วยกูเกิ้ล จะได้ข้อมูลที่แสดง ความคึกคักของเวทีนี้ ที่ ศ. ดร. เจตนา นาควัชระ เคยเล่าให้ผมฟังด้วยความดีใจว่า เป็นเวทีฟื้น ความคึกคักของการวิจัยด้านมนุษยศาสตร์ในประเทศไทย


แต่เมื่อผมอ่านหนังสือ แว่นตา อารมณ์ สังคม ความจริง หนึ่งทศวรรษเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ผมกลับมอง (ด้วยความเคารพ และตระหนักว่าผมอาจจะมองผิด) ว่าเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทยหยุดนิ่งอยู่กับที่ หรืออยู่กับอดีต ไม่เคลื่อนไปกับปัจจุบันและอนาคต


ข้อความในหน้า (11) ในหนังสือ ระบุชัดเจนว่า หนังสือเล่มนี้เสนอ “การวิจัยมนุษย์ในมุมมองใหม่ แต่ผมกลับมองต่าง


ผมคิดว่า การวิจัยสำคัญที่สุดที่การตั้งโจทย์ เมื่อเห็นโจทย์วิจัยในหนังสือเล่มนี้ผมก็ตีความว่า วงการ ระดับผู้นำการวิจัยมนุษยศาสตร์ไม่ได้ตั้งคำถามว่า การวิจัยมนุษยศาสตร์ในศตวรรษที่ ๒๑ ควรปรับเปลี่ยน การตั้งโจทย์ให้แตกต่างจากเดิมไปอย่างไร ซึ่งคำตอบอาจออกมาว่า ควรมีทั้งส่วนที่ไม่เปลี่ยน และส่วนที่เปลี่ยน ก็ได้ แต่ผมไม่เชื่อว่า คำตอบจะออกมาว่า โจทย์วิจัยทางมนุษยศาสตร์เป็นอกาลิโก ไม่มีการเปลี่ยนแปลง


ผมมองว่า การวิจัยมนุษยศาสตร์ในประเทศไทยควรเน้นทำความเข้าใจมนุษย์จากบริบทที่จำเพาะ คือบริบทของสภาพสังคมไทยในหลากหลายรูปแบบ แล้วตีความกลับไปหาธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ ผมมีคำถามว่า นักมนุษยศาสตร์ควรใช้ข้อมูลความรู้จากศาสตร์อื่นมาช่วยไขความกระจ่างต่อคำถาม เชิงมนุษยศาสตร์หรือไม่ เช่นความรู้ด้านการทำงานของสมอง ด้านจิตวิทยา ซึ่งเวลานี้ก้าวหน้าไป มากเหลือเกิน ศาสตร์หนึ่งๆ ควรดำรงอยู่โดยมีสมมติฐานความหยุดนิ่งคงที่ของความรู้สาขาหรือศาสตร์อื่น หรือไม่ หรือควรจะมีวิธีสร้าง/พัฒนาศาสตร์นั้นๆ โดยใช้ศาสตร์อื่นเข้ามาช่วยเกื้อกูล


ผมจึงถามแว่นตาว่า ที่ผมระบายออกมานี้ เป็นมิจฉาทิฐิหรือไม่


อย่างไรก็ตาม หลายเรื่องในหนังสือเล่มนี้ มีความลุ่มลึกมาก ดังตัวอย่างเรื่อง ศาสตร์การตีความเรื่องเล่าของ ปอล ริเกอร์ ในการวิจัยทางการพยาบาล โดย รศ. ดร. ปกรณ์ สิงห์สุริยา เปิดกระโหลกผมว่า การตีความ” ที่ผมใช้เป็นประจำทุกวัน นั้น มีคนคิดศาสตร์ไว้ ยิ่งกว่านั้น ยังมีศาสตร์ที่จำเพาะลงไปอีก คือ “การตีความเรื่องเล่า” ดร. ปกรณ์ค้นคว้าทบทวนความรู้เรื่องนี้ไว้ อย่างละเอียดมาก อ่านบทความ ๓๖ หน้านี้แล้วผมเอามาตีความต่อ


ผมตีความว่า บทความนี้เน้นเสนอในเชิงทฤษฎี แต่ผมสนใจการใช้ประโยชน์ (ของการตีความ) ผมมีความเห็นว่า มองจากมุมของการใช้ประโยชน์ ต้องมีการตีความหลากหลายแบบ ใช้หลายทฤษฎี (โดยไม่ต้องรู้จักทฤษฎีก็ได้) นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในวง AAR / Reflection ทำให้ผู้ร่วมวงเกิดปัญญาแตกฉาน แล้วหลังจากนั้นจึงช่วยกันสรุปเลือกแนวทางนำความเข้าใจหลากหลายแบบนั้น ไปสู่การปฏิบัติเพื่อความสำเร็จ ในงาน ผมมองการตีความเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ในการทำงานร่วมกันของทีมงาน


สุดยอดของความลุ่มลึกอยู่ที่บทความสุดท้าย ที่มาจากการอภิปรายของปราชญ์ ๓ ท่าน คือเรื่อง ความจริงและการหาความจริงทางมนุษยศาสตร์ ที่อภิปรายกันตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ แต่อ่านตอนนี้ไม่ล้าสมัยเลย อ่านแล้วผมฟันธงเลยว่า ความจริง” มันมีหลายหน้ามาก แล้วแต่ว่ามองด้วยแว่นของศาสตร์ไหน แต่ลงท้ายแล้วส่วนใหญ่เป็น สมมติสัจจะ” ไม่ใช่ “ปรมัตถสัจจะ” และ ความเข้าใจเรื่อง ความจริง ในชีวิต ก็คือ ผมจะไม่เชื่อใน ความจริง” ที่มีผู้หยิบยื่นให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความจริง” จากบางแหล่ง หรือจากคนบางคน ผมจะต้องตรวจสอบด้วยตนเองเสียก่อน ผมระวัง “ความจริงเจือมายา” และ “ความจริงที่เสนอเพียงบางส่วน” (partial fact) ที่มุ่งหลอกให้เราหลงผิด หรือหลงเชื่อ


อ่านบทความนี้แล้ว ผมได้ความรู้ว่า มีคนเรียก ความจริงที่มนุษย์เข้าไม่ถึง ว่า โลกอื่น คือปราชญ์รู้ มานานแล้ว ว่ามนุษย์เรามีข้อจำกัดในการรับรู้ จึงเอาเรื่องข้อจำกัดนี้มาถกเถียงกันทางปรัชญา และใช้คำว่า “โลกอื่นบอกข้อจำกัดนั้น การใช้คำแบบนี้ในบริบทสังคมไทย ชวนให้คนคิดถึงโลกสวรรค์ และโลกนรก แต่ไทยเรามีคำ “สวรรค์ในอก นรกในใจ เสียอีก เป็นคำที่บอกว่า โลกอื่น” อยู่ในตัวเรานี่เอง ถ้าคิดต่อเนื่อง อย่างนี้ คนเราแต่ละคนก็อยู่ในหลายโลกในชีวิตหนึ่ง หรือในหลายกรณีในวันหนึ่งเราอยู่ ในทั้งโลกมนุษย์ โลกสวรรค์ และโลกนรก และผมก็คิดต่อไปอีกว่า คนเราฝึกตัวให้จิตใจมั่นคงได้ ให้อยู่ในโลกมนุษย์เจือสวรรค์ ได้ แม้จะมีเรื่องยุ่งๆ แผดเผาอยู่ จิตใจก็ไม่ลงนรก ไม่ทราบว่า ข้อความในย่อหน้านี้ เป็น “ปรากฏการณ์เลี้ยวเข้าหา ภาษาศาสตร์ ของ ศ. ดร. ธงชัย วินิจจะกูล (หน้า ๓๘๕) หรือไม่


ผมคิดว่า ปราชญ์ท่านแรกที่อภิปรายเรื่องความจริง คือท่าน ศ. ดร. เจตนา นาควัชระ ชำนาญในการใช้ ภาษาศาสตร์เป็นเครื่องมืออธิบายเรื่องยากๆ เรื่องที่ซับซ้อนให้เข้าใจได้ รวมทั้งยังได้สุนทรียะด้านภาษาอีกด้วย


ผู้อภิปรายที่ยกเรื่อง โลกอื่น มาพูดคือ รศ. ดร. มารค ตามไท ยกมากับข้อเขียนเชิงปรัชญาของเลิฟจอย และบอกว่า โลกอื่นหมายถึง สิ่งซึ่งจริง และดีแท้จริง เป็นคุณลักษณะที่ไม่สามารถพบได้ในชีวิตธรรมชาติ ของมนุษย์ ในประสบการณ์ปกติของเราทุกวัน” อ่านแล้วก็ตีความว่ามนุษย์เราพบได้ ในสภาวะจิตใจที่พิเศษ


ตอนที่เปิดกระโหลกผมมากที่สุดคือหัวข้อ ความจริงทางประวัติศาสตร์สองระดับ (หน้า ๓๘๙ - ๓๙๑) ของ ศ. ดร. ธงชัย ที่บอกว่าบางช่วงยุคสมัย หรือในบางเรื่อง มีความจำเป็นต้องเขียนประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างอุดมการณ์ร่วมของคนในชาติ ประวัติศาสตร์แบบนี้จะเป็นความจริงระดับ “ลัทธิความเชื่อหรืออุดมการณ์ซึ่งแตกต่างจากความจริงที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์


ผมได้ชื่อ ความจริงตามที่เชื่อ ยิ่งคนจำนวนมากเชื่อร่วมกันยิ่งจริง ห้ามเถียง ห้ามแย้ง


ผมตีความว่า ความจริงสองแบบทางประวัติศาสตร์ ก็เป็นเรื่อง แว่นตาหรือ แว่นใจนั่นเอง


กลับมาที่ “ถามแว่นตา ตามชื่อบันทึก ผมถามว่า โจทย์วิจัยด้านมนุษยศาสตร์ไทย มาจากวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และพฤติกรรมของคนไทย ที่เคลื่อนไปตามกระแสได้หรือไม่ อ่านข้ออภิปรายของ ศ. ดร. ธงชัย แล้ว ผมคิดว่าน่าจะได้


จุดสุดยอดของความรู้ มาอยู่ที่ตอนถาม-ตอบ ซึ่งประเทืองปัญญามาก ทำให้ผมได้ความรู้ว่า มนุษยศาสตร์ขับเคลื่อนด้วยสิ่งที่มนุษย์ปราถนา และความรู้เป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้น (social construct) ทั้งสิ้น


วิจารณ์ พานิช

๑๑ พ.ย. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 620065เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2016 23:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2016 23:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท