กำลังคนเพื่อสุขภาพในเอเซียแปซิฟิก (๒)


ตอนที่ ๑


วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๙ วันที่ ๔ ของการประชุม เป็นการประชุมกลุ่มของแต่ละประเทศ รวม ๑๔ ประเทศ กำหนดลำดับความสำคัญ ๓ เรื่องที่จะกลับไปทำในประเทศ ตรงตามชื่อหัวข้อการประชุม “From Strategy to Implementation” ประชุมกลุ่มครึ่งวัน แล้วนำเสนอในตอนบ่าย ตามด้วยการตั้งข้อสังเกต แล้วสุดท้ายเป็นการนำเสนอโปสเตอร์ ช่วง ๑๖.๓๐ - ๑๗.๓๐ น. แต่ผมแบตหมดจึงกลับไปนั่งพักที่ห้อง พอ ๑๗.๓๐ น. ก็ออกไปเดินออกกำลังที่ถนนเลียบชายหาด


การประชุมกลุ่มทำตามคำแนะนำของทีมจัดงาน ซึ่งคิดไว้รอบคอบมาก ในเอกสารประกอบ การประชุมบอกไว้ชัดเจนว่า Global HRH Strategies 2030 มีเป้าหมาย ๔ หมวด ๑๓ ข้อ ให้แต่ละประเทศ เลือกว่าจะกลับไปทำอะไร ๓ ข้อ ให้คิดว่าจะ implement การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นๆ อย่างไร และคาดว่ามีข้อท้าทายอะไรบ้าง key success factors มีอะไรบ้าง แล้วให้เตรียมทำ PowerPoint 5 แผ่น เอาไว้นำเสนอ ให้เวลาเสนอประเทศละไม่เกิน ๗ นาที


เวลาเสนอจริง PowerPoint เกิน ๕ แผ่นทั้งสิ้น มีประเทศเดียวที่ไม่เสนอเป็น PowerPoint แต่เสนอด้วยตารางและ Word file คือทีมไทย ตามสไตล์ของ นพ. วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ประธานกลุ่ม และผู้นำเสนอคือ นพ. ฑิณกร โนรี ไฟล์ที่เสนอ ดู ที่นี่ โดยทีมไทยเตรียมจัดให้มี หน่วยประสานงานด้าน HRH เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างประสานร่วมมือกัน ผ่านกลไกการมองเป้าหมาย ภาพใหญ่ร่วมกันของทุกภาคส่วน ทุกฝ่าย เราเตรียมยุทธศาสตร์ดำเนินการจริงๆ โดยเป้าหมายที่สำคัญคือ Governance system และ information system ที่จะช่วยให้การกำหนดนโยบาย การตัดสินใจเชิงนโยบาย และการดำเนินการของแต่ละภาคส่วน ได้รับข้อเสนอแนะอย่างมี evidence-based



Situation report Thailand



แผน implementation ของฟิลิปปินส์น่าสนใจมาก เขาใช้ยุทธศาสตร์ให้ประธานาธิบดีออกประกาศ Presidential Executive Order กำหนดแผนปฏิบัติออกมาเลย ตอนแรกผมคิดว่าเป็นการทำงานแบบใช้อำนาจ สั่งการแบบ top-down แต่ก็สงสัยว่าทำไมใช้เวลาถึงปี ค.ศ. 2020 จึงจะมีคำสั่งทางบริหารของประธานาธิบดี ออกมา พอมีคนซักเข้าจึงได้คำตอบที่แสดงว่า การออก Presidential Executive Order ต้องมีขั้นตอน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำงานร่วมกันและยกร่างขั้นตอนและวิธีทำงานร่วมกันเพื่อเป้าหมายที่กำหนด การออก Presidential Executive Order จึงใช้เวลา และเป็นกระบวนการที่มีส่วนของ bottom-up process ด้วย


วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๙ วันสุดท้าย ประชุมครึ่งวัน เป็นการสรุปประเด็นการลงมือทำ (implementation) ของหน่วยงานระดับโลก, ระดับภูมิภาค, และระดับประเทศ ในเรื่องกำลังคนด้านสุขภาพ ผู้สรุปคือ นพ. วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร มือเก๋า ที่คนนับถือทั่วโลก ลุกขึ้นมาทำตั้งแต่ตีหนึ่ง เพราะต้องสรุป ประเด็นจากการประชุมวันก่อนๆ ท่านใช้ทฤษฎีของการเปลี่ยนแปลง มาทำเป็นตาราง ระบุเป้าหมาย Global HRH Strategies แต่ละข้อ ระบุการลงมือทำแบบร่วมกันทำหลาย sector ในแต่ละประเทศ การลงมือทำของ องค์การพัฒนาระหว่างประเทศระดับโลกและระดับภูมิภาค และระบุ critical success factors ในเป้าหมายนั้นๆ แบบที่ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนอึ้ง ว่าในเวลาที่จำกัด สามารถคิดออกมาเป็นระบบและครบถ้วน ได้ถึงขนาดนี้ เอกสาร ๔ หน้านี้ เสนอต่อที่ประชุมเพื่อให้ช่วยกันปรับปรุงแก้ไข ปรากฎว่า ไม่มีการปรับปรุง แก้ไขเลย มีแต่การทำความชัดเจนในบางข้อ หรือมีการย้ำประเด็นสำคัญ น่าเสียดายที่ในเว็บไซต์ของ AAAH ในส่วนของเอกสารการประชุม (ที่นี่) ไม่มีเอกสารของคุณหมอวิโรจน์ ผมจึงถ่ายรูปเอามาให้ดู เป็นตัวอย่างที่วิเศษ ของการทำงานสรุปเชิงวิเคราะห์ สำหรับเป็นโครงสร้างการทำงานต่อเนื่อง


การใช้ทฤษฎีของการเปลี่ยนแปลง นำเสนอเป็นตาราง มีลักษณะชี้ให้เห็นว่า Global HRH Strategies ข้อใดเป็น Input ข้อใดเป็น Process ข้อใดเป็น Output ซึ่งสำหรับผม การกำหนดยุทธศาสตร์ต้องคิดย้อนกลับ (backward thinking) คือเอาผลลัพธ์ที่ต้องการเป็นตัวตั้ง เอาไปคิด input และ process ตารางนี้ช่วยให้คิดอย่าง เป็นระบบดีมาก และจะใช้ในการติดตาม implementation ในแต่ละประเทศ หรือแต่ละองค์กรในการประชุม ครั้งต่อๆ ไป และใช้ในการติดตาม intersessional activities ได้ด้วย


หลังจากนั้นเป็นการสรุปการประชุมทั้งหมด โดย ทพ. วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการ สช. และเป็นทีม IHPP ดู ppt สรุป ที่นี่


download file summary of meeting โดย ทพ. วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการ สช.



การประชุมวันที่ ๒๘ นี้ นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธานทั้งสองช่วง เป็นประธานที่มีสีสันมาก ช่วยเชื่อมโยงเรื่องราวของ AAAH ในช่วง ๑๑ ปีของการก่อตั้งเครือข่ายพัฒนากำลังคน ด้านสุขภาพในภูมิภาค ให้ทราบว่านี่เป็นเครือข่ายเดียวที่อยู่ยั้งยืนยงในโลก ในขณะที่เครือข่ายอื่นสิ้นชีวิตไป ก่อนอายุครบ ๕ ปี การที่เครือข่ายนี้อยู่ยง และพัฒนาต่อเนื่อง ก็เพราะมีการจัดการเครือข่ายที่ดี ให้เป็นเครือข่ายเพื่อการลงมือทำ (Action Alliance) เห็นผลดีต่อแต่ละประเทศ ดู ppt ของคุณหมอสุวิทย์ ที่นี่ ที่ชี้ให้เห็นพลังของหมอชายแดนไทยที่จังหวัดตาก ที่มุ่งทำงานเพื่อมนุษยชาติ ไม่มีขีดคั่นของเขตรัฐชาติ


Dedication of Health Professional is the key to PH/UHC



ผมได้เรียนรู้วิธีจัดการเครือข่ายระหว่างประเทศ โดยใช้เครื่องมือหลายๆ อย่างประกอบกันที่ทีม IHPP และภาคีจากประเทศสมาชิก AAAH ๑๗ ประเทศร่วมกันคิดพัฒนาขึ้น เห็นได้ชัดเจนว่า นี่คือกลไกของ Change Management ด้านกำลังคนเพื่อสุขภาพ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอยู่ที่แต่ละประเทศผมได้ไปเห็นว่าประเทศใดที่มีความเฉื่อยต่อการเปลี่ยนแปลงจากสาเหตุใด ผู้แทนจากประเทศเฉื่อยเหล่านี้ ไปร่วมประชุมเพียงให้ได้ไปต่างประเทศเท่านั้น ไม่มีจิตจดจ่อจริงจังต่อการทำงานสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคมของตนโชคดี ที่ในวงการสุขภาพไทยของเรา มีพลังของการจัดการการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะด้านวิชาการเชิงระบบหรือเชิงนโยบาย คือ IHPP และผมภูมิใจที่น้องๆ เขาเมตตาชวนผมไปเป็นประธานมูลนิธิ IHPP และชวนผมไปร่วมการประชุมนี้


ขอขอบคุณอย่างสูง


วิจารณ์ พานิช

๑ พ.ย. ๕๙







หมายเลขบันทึก: 619366เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2016 22:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2016 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท