กำลังคนเพื่อสุขภาพในเอเซียแปซิฟิก (๑)



ระหว่างวันที่ ๒๔ - ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๙ มีการประชุม 9th AAAH Conference ที่กรุงโคลัมโบ ศรีลังกา AAAH = Asia – Pacific Action Alliance on Human Resources for Health ซึ่งมีสำนักประสานงานอยู่ที่ เมืองไทย คือที่ IHPP ปีนี้หัวข้อการประชุมคือ Global HRH Strategies 2030 : From Strategy to Implementation โดยมีเป้าหมายสุดท้าย คือ UHC & SDG แปลความว่า มีเป้าหมายบริการสุขภาพถ้วนหน้า และการพัฒนา อย่างยั่งยืน

ดู AAAH Conference website ได้ ที่นี่และดาวน์โหลด PowerPoint ของการประชุมได้ ที่นี่

ส่วนที่ยากของ HRH คือการทำให้บุคลากรสุขภาพทำงานในชนบทนานๆ ซึ่งในหลักการง่ายนิดเดียว คือเอาคนในชนบทมาเรียน มีข้อตกลงให้กลับไปทำงานที่ภูมิลำเนานานๆ และมีวิธีฝึกอบรมที่สร้างคุณค่าและ สมรรถนะสำหรับการทำงานในชนบท แต่ในทางปฏิบัติมีความซับซ้อนมาก และตกลงกันยาก เพราะคนฐานะดีในเมือง ครอบครองผลประโยชน์จากระบบอยู่อย่างเหนียวแน่น


ผมไปถึงเช้ามืดวันที่ ๒๕ จึงพลาดการประชุมในวันที่ ๒๔ ที่ตอนบ่ายเขาแลกเปลี่ยนวิธีการพัฒนา อาจารย์ (faculty development) ของประเทศต่างๆ ที่ ศ. นพ. พงษ์ศักดิ์ วรรณไกรโรจน์ วิจารณ์ว่าประเทศไทยเราทำมากกว่า


จากการคุยกันในวงคนไทย เราพบว่าการพัฒนาคุณภาพกำลังคนด้านวิชาชีพสุขภาพ และการพัฒนา อาจารย์ ทำเป็นท่อนๆ ไม่เป็นระบบที่เชื่อมต่อกัน ไม่ไปสุดเป้าหมายปลายทาง คือสมรรถนะ (competency) ของบัณฑิต มีการคบคิดกันว่าในประเทศไทย น่าจะจัดการประชุมใหญ่ระดับชาติ นำเอาภาพใหญ่ที่เป็นเป้าหมายของประเทศมาทำความเข้าใจร่วมกัน แล้วให้ผู้ลงมือทำจริงๆ ในแต่ละท่อนมานำเสนอว่าทำอย่างไร เกิดผลอย่างไร ประชุมทุกปี เป็นการประชุมเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง


ในพิธีเปิดมีการมอบรางวัล AAAH Award 2016 ซึ่งปีนี้บังเอิญได้แก่คนไทยทั้งสองรางวัล คือ นพ. สันติ ลาภเบญจกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำสนธิ ผลงาน Long Term Care โดยฝึกชาวบ้านเป็น care giver โดย อบต. ออกเงินค่าตอบแทน (เดือนละ ๖,๐๐๐ บาท) มีการสร้าง intermediate care ward และ Social Enterprise ให้บริการ


ผู้ได้รับรางวัลอีกท่านหนึ่งคือ อาจารย์ เสาวลักษณ์ แย้มตรี คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย ในการผลิตพยาบาลชนบท ร่วมกับโรงพยาบาลน้ำพอง โรงพยาบาลอุบลรัตน์ โรงพยาบาล... และโรงพยาบาลขอนแก่น


ต้องอ่านคำประกาศเกียรติคุณของทั้งสองท่านนี้ ในเอกสารประกอบการประชุมนะครับ จึงจะซาบซึ้ง ในนวัตกรรมด้านกำลังคนเพื่อสุขภาพที่ทั้งสองท่านสร้างขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีคนคิดนวัตกรรมต่อเนื่อง นำไปสู่ UHC & SDG


หลังฟังการประชุมวันที่ ๒๕ ครบทั้งวัน ผม AAR กับตัวเองว่า งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ความพยายามดำเนินการเพื่อบรรลุ SDG จาก SDG ไปสู่ WHO Global HRH Strategies (ดาวน์โหลดได้ ที่นี่และดู WHA69) แล้ว AAAH ก็รับลูกมาขับเคลื่อน WHO Global HRH Strategies นี้ การประชุม 9th AAAH Conference เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนี้


AAAH มีสมาชิก ๑๗ ประเทศ ฟังเนื้อหาเฉพาะวันที่ ๒๕ ต.ค. นี้แล้ว ผมคิดว่าระบบกำลังคนด้าน วิชาชีพสุขภาพของไทยเรามีภาษีกว่าเพื่อน แม้ว่าเราจะยังห่างไกลจากเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก


ประเทศที่มาพูดและบอกว่าตนใช้วิธีนำเข้ากำลังคนด้านสุขภาพจากประเทศอื่นคือภูฏาน ซึ่งมีประชากร แค่ ๖ แสนคน ตรงกันข้าม ฟิลิปปินส์ ซึ่งมีพลเมืองเกือบร้อยล้าน บอกว่าตนเป็นประเทศส่งออกกำลังคนด้านสุขภาพ ส่วนไทยเราอยู่ตรงกลาง คือพยายามสร้างความสามารถในการพึ่งตนเองด้านกำลังคนสุขภาพ ประเทศที่ส่งออกกำลังคนด้านสุขภาพที่พูดถึงกันมากเป็นประเทศยากจน คือคิวบา แต่คิวบาไม่ได้อยู่ใน AAAH


ใน ๔ กลุ่มของเป้าหมาย HRH ของ WHO เป้าหมายที่ท้าทายประเทศไทยที่สุดคือเป้าหมายที่ ๔ เรื่องระบบข้อมูลกำลังคนด้านสุขภาพ


ฟังมาถึงวันที่สอง (๒๖ ต.ค.) ผมสรุปกับตัวเองว่า หัวใจของความสำเร็จในเรื่อง SDG และกำลังคนด้านสุขภาพคือ ระบบต่างๆ ของประเทศต้องเชื่อมโยงและเสริมพลัง (synergy) ซึ่งกันและกัน ประเทศที่อ่อนแอก็เพราะขาดความสามัคคีร่วมมือกัน ต่างหน่วยงานต่างทำ หรือทำไปทะเลาะกันไป และไม่รู้จักหาวิธีทำงานอย่างฉลาด คือทำน้อยได้ผลมาก มีคนยกตัวอย่างประเทศฟิลิปปินส์กับเวียดนาม ที่รัฐบาลริเริ่มการปฏิรูประบบสุขภาพ หวังผลให้ระบบบริการดีขึ้น เป็นประโยชน์แก่ประชาชน แต่ผลในทางปฏิบัติกลับไปในทาง ตรงกันข้าม คือประชาชนได้รับบริการเลวลง ผมถามผู้นำเสนอจาก USAID ว่าความล้มเหลวนั้นมีสาเหตุจากอะไร ท่านบอกว่า เข้าใจว่าเพราะส่วนต่างๆ ของระบบสุขภาพทำงานแบบแยกส่วน ตัวใครตัวมัน เอาตัวรอด ไม่มองภาพรวมและร่วมมือกัน


จึงมาถึงประเด็น governance (การกำกับดูแล) ของระบบสุขภาพและระบบกำลังคนด้านสุขภาพ ที่เขาว่าต้องเป็น governance as leadership และ governance as empowerment เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จทั้งในระดับภาพรวม และระดับส่วนย่อย ซึ่งแปลว่าระบบสุขภาพ และระบบกำลังคนด้านสุขภาพ ต้องมีระบบข้อมูลสนับสนุน


ฟังฝรั่งมาพูดเรื่อง governance ในระบบสุขภาพแล้ว ผมได้นิยามใหม่ของ governance ว่าหมายถึงการกำหนดกติกาและกลไกการทำงานให้ส่วนย่อยขององค์กร หรือของระบบทำงานประสาน ร่วมมือและเสริมพลังกัน เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จเป้าใหญ่ และการทำงานมีผลิตภาพสูง มีการเรียนรู้และนวัตกรรมสูง


ผมฟังผู้แทนหน่วยงานระดับโลกพูดเรื่องระบบข้อมูลแล้ว รู้สึกว่าในเอกสาร Global Strategy on Human Resources for Health : Workforce 2030 เน้นการกำกับดูแลระดับโลกมากไปหน่อย และคิดว่า ประเทศต่างๆ ควรใช้ยุทธศาสตร์ ทำความเข้าใจสาระของ WHO Guidelines แล้วเอามาปรับใช้กับประเทศ ของตน ให้เหมาะสมกับบริบท อย่าไปหลงทำตามที่เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศแนะนำแบบทื่อๆ


แต่ที่คนจากองค์การระหว่างประเทศย้ำแล้วย้ำอีก (และผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง) คือต้องทำงานแบบยกย่อง และดึงการมีส่วนร่วมของภาคส่วน (sector) อื่นๆ ไม่ใช่ทำกันอยู่ภายในวงการสุขภาพเท่านั้น ตัวอย่างรูปธรรม อยู่ที่อำเภอลำสนธิ ที่ทำงานภายใต้แนวคิดว่า การทำงานเพื่อสุขภาวะของคนในอำเภอมี ๒ สาย สายสุขภาพ รับผิดชอบโดย รพช. และ รพสต. กับสายสังคม รับผิดชอบโดย อปท.



วิจารณ์ พานิช

๒๗ ต.ค. ๕๙

ห้อง ๗๒๕ โรงแรมคิงสเบอรี่ นครโคลัมโบ ศรีลังกา



1 บรรยากาศในห้องประชุม



2 ยืนถวายอาลัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หังภูมิพลฯ



3 นพ. สันติกล่าวต่อที่ประชุม



4 คณบดีเสาวลักษณ์กล่าวหลังรับรางวัล

หมายเลขบันทึก: 619073เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2016 22:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2016 09:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท