​ใช้โรงพยาบาลชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ของบุคลากรสุขภาพ



สามพรานฟอรั่ม วันที่เก้าเดือนเก้า พ.ศ. ๒๕๕๙ มีคนมาประชุมคับคั่งเป็นพิเศษถึง ๔๑ คน เพราะคุยกันในเรื่องที่จัดว่าก้าวหน้ามากสำหรับการศึกษาของบุคลากรสุขภาพ คือเรื่อง “การพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน” ที่เราเรียกชื่อย่อว่า DHSA – District Health Systems Academy `


โมเดลการใช้โรงพยาบาลชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ของนักศึกษาแพทย์ที่ดีที่สุดน่าจะอยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีสองโมเดล คือ (๑) โมเดลอำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ที่จะเป็นหลักสูตรพิเศษ มีการเตรียมพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนให้มีความสามารถให้บริการแนวใหม่ โมเดลนี้นำโดย ศ. นพ. จรัส สุวรรณเวลา (๒) โมเดลความร่วมมือกับเครือข่ายโรงพยาบาลชุมชนในเขตสาธารณสุขที่ ๑๒ มีโรงพยาบาลศูนย์ หาดใหญ่ และโรงพยาบาลศูนย์ยะลา เป็นแม่ข่าย ซึ่งรับนักศึกษาแล้วในปีนี้ โมเดลนี้ใช้หลักสูตรปกติของคณะ แพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แต่จัดดำเนินการหลักสูตรในรูปแบบที่ใช้โรงพยาบาลชุมชน เป็นฐานการฝึกประสบการณ์ทางคลินิกครบทุกสาขา โมเดลนี้มี รศ. นพ. อานุภาพ เลขะกุล กับ นพ. ปวิตร วณิชชานนท์ (ผู้อำนวยการโรงพยาบาลละงู จังหวัดสตูล) เป็นแกนนำ


วันนี้มีการพูดคุยกันสองเรื่อง คือ

(๑) ภาพใหญ่ของเครือข่ายโรงพยาบาลชุมชน ที่จะร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยในการฝึกอบรมนักศึกษาวิชาชีพสุขภาพ สำหรับเป็นกลไกหนึ่งของบูรณาการระหว่างระบบบริการสุขภาพ กับระบบการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพ เสนอโดย นพ. วีระพันธุ์ สุพรรณไชยมาตย์ กับ ศ. พญ. วณิชา ชื่อกองแก้ว สรุปได้ว่ามีความเข้าใจหลักการกันมากขึ้น และเครือข่ายเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้น

(๒) การผลิตพยาบาลชุมชนของวิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย ร่วมกับโรงพยาบาลน้ำพองและโรงพยาบาลอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เสนอโดยอาจารย์เสาวลักษณ์ แย้มตรี คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย ได้ความรู้ด้านรายละเอียดของกระบวนการจัดการเรียนรู้ทั้งด้านวิชาการ และด้านเจตคติ ต่อการทำงานในชนบท รวมทั้งพัฒนาการด้านจิตใจ และด้านจิตอาสามากมาย และมีนักศึกษาแพทย์ เทคนิคการแพทย์ และอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปร่วมฝึกงานในโรงยาบาลชุมชนด้วย เป็น IPE – Interprofessional Education เติมช่องว่างด้าน process ที่ผมเอ่ยไว้ในบันทึกเมื่อวาน


หลังจากนั้น ผู้อำนวยการหรือผู้แทนผู้อำนวยการของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีหลายแห่ง ได้เล่าการปฏิรูปการจัดการเรียนรู้เพื่อเตรียมความพร้อมให้บัณฑิตออกไปทำงานในชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดการฝึกงานในโรงพยาบาลชุมชน


ศ. นพ. ประเวศ วะสี ย้ำว่า การปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานคือ เปลี่ยนจากการเรียนโดยเอาวิชาเป็นตัวตั้ง มาเป็นเรียนโดยเอาชีวิตจริงและการมีชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้ง


ศ. นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ มีคำถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการริเริ่มเป็นจุดๆ แยกส่วนกัน ทำอย่างไรจึงจะมีการทำอย่างเป็นระบบ เชื่อมโยงกัน ซึ่งทำได้ ๒ แบบ คือแบบระบบอย่างเป็นทางการ กับระบบเครือข่ายกึ่งทางการ แบบแรกจะเข้าไปอยู่ในระบบราชการ มีข้อดีที่มีงบประมาณสนับสนุน แบบที่น่าจะต่อเนื่อง แต่จะมีข้อจำกัดที่ระบบ bureaucracy มีความยืดหยุ่นน้อย อาจทำให้ใช้ความริเริ่ม สร้างสรรค์ได้น้อย แบบหลังต้องดิ้นรนหาเงินสนับสนุนเอาเอง ใช้ฝีมือในการทำงานประสานสิบทิศ ดีตรงใช้ความริเริ่มสร้างสรรค์ได้มาก ผมเดาว่าต้องเป็นแบบลูกผสม และใช้เครื่องมือจัดการ การเปลี่ยนแปลงเชิงบวก (positive change management) คือ KM + Research ในเรื่องวิจัยได้ข่าวว่า สภาการพยาบาล ได้มอบหมายให้ ดร. กฤษดา แสวงดี ทำวิจัยหารูปแบบความร่วมมือในการฝึกอบรมนักศึกษาพยาบาล เรื่องวิจัยนี้มีโจทย์มากมาย ที่เมื่อทำวิจัยตอบโจทย์จะชี้ลู่ทางสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ได้ผล เรื่อง KM ก็เช่นกัน มีช่องทางดำเนินการได้อย่างแยบยล


ในที่ประชุมมีการพูดถึงการเรียนรู้ชุมชนไม่ใช่แค่ออกไปชุมชนแล้วจะได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้งจริงจัง มีคนพูดถึง รศ. นพ. วิชัย โปษยจินดา อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ จุฬาฯ ผู้ล่วงลับ ที่มีวิธีการทางมานุษยวิทยา ให้นักศึกษาเรียนรู้ชนบท ซึ่งเวลานี้ผมคิดว่าต้องเป็น นพ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และหนังสือวิถีชุมชน ซึ่งมีเครื่องมือ ๗ ชิ้น เพื่อการศึกษาชุมชนอันลือลั่น และอีกคนหนึ่งที่เป็นดาวรุ่ง มีวิธี facilitate การสะท้อนคิดจากการนำนักศึกษาเข้าชุมชนคือ ดร. วรชาติ เฉิดชมจันทร์ คณบดีคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยรังสิต


นพ. อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์แกนนำของฝ่าย Health Systems เสนอโมเดลการทำงานที่เชื่อมโยงกว้างขวางไปสู่ความอยู่ดีมีสุขของคนในพื้นที่ คือเชื่อมกับการปลูกต้นไม้ การทำมาหากิน และการพัฒนาคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเยาวชน ผมจึงขอเสนอในที่นี้ว่า เครือข่ายนี้น่าจะเชื่อมโยงกับมูลนิธิสยามกัมมาจล และ สรส. (คุณทรงพล เจตนาวนิชย์) เพื่อเรียนรู้วิธีการเชื่อมโยง อปท. เข้ามาทำงานด้านการพัฒนาเยาวชน โดยฝึก “นักถักทอชุมชน


ผมฟังความเห็นของ นพ. ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการ สปสช. ด้วยความตื่นตาตื่นใจ ในความคิดเห็นที่เป็นระบบของท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการใช้พลังของกองทุนในท้องถิ่น และการใช้พลังของ social enterprise จัดบริการสุขภาพเสริมระบบบริการของกระทรวงสาธารณสุข และของธุรกิจเอกชน เช่นบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการ บริการตรวจทางรังสี ร้านขายยา และบริการอาชีวเวชศาสตร์ในโรงงาน เป็นต้น



วิจารณ์ พานิช

หมายเลขบันทึก: 616932เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2016 08:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ตุลาคม 2016 08:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท